ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. จี้ สสส. ติดตาม-ประเมินผลโครงการ “UnLtd Thailand – Social Hub”- ChangeFusion แจงโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการสังคมริเริ่มใหม่สำเร็จกว่า 60%

สตง. จี้ สสส. ติดตาม-ประเมินผลโครงการ “UnLtd Thailand – Social Hub”- ChangeFusion แจงโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการสังคมริเริ่มใหม่สำเร็จกว่า 60%

24 ตุลาคม 2015


ก่อนหน้านี้ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวผลสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สตง. เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในหลายด้าน ประเมินทั้งความไม่โปร่งใส การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์การตั้ง สสส.

นอกจากนี้ ยังมีรายงาน สตง. ถึงการใช้เงินในอีกหลายโครงการ โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 สตง. ได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการ สสส. เรื่องการตรวจสอบแผนงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ปีงบประมาณ 2553-2558 โดยการตรวจสอบเอกสารและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ 31 มกราคม 2558

จากการตรวจสอบพบว่า โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเบิกจ่ายจริงต่ำกว่างบประมาณที่ได้รับจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงาน กล่าวคือ ตามแผนระยะที่ 1 (ก่อนปรับแผน) ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2553 ถึง 19 มีนาคม 2555 มีโครงการเบิกจ่ายจริงเพียง 20.18 ล้านบาท จากงบประมาณ 105.35 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.16 และตามแผนระยะที่ 1 หลังปรับแผน ตั้งแต่ 20 มีนาคม 2555 – 30 เมษายน 2557 มีการเบิกจ่ายจริงเพียง 34.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.39 จากงบประมาณทั้งหมด 108.70 ล้านบาท ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น (UnLtd Thailand) ไม่บรรลุตามเป้าหมายอันจะส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมระยะที่ 1 (ก่อนปรับแผน) โดย สสส. ได้อนุมัติเงินงบประมาณให้สถาบัน Change Fusion จำนวน 14.90 ล้านบาท จัดทำโครงการกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น (UnLtd Thailand) เพื่อเป็นกองทุนต้นแบบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 มีนาคม 2554 – 31 สิงหาคม 2556 และมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้มีกิจการเพื่อสังคมที่มีศักยภาพ และคุณภาพมากยิ่งขึ้น กิจการเพื่อสังคมตัวอย่าง กองทุนที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมพร้อมทั้งเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน และกิจการที่ได้รับการสนับสนุน สามารถอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน พบว่า การดำเนินโครงการ UnLtd Thailand ไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด มีกิจการที่ได้รับการสนับสนุนบางส่วนไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการยกเลิกกิจการจำนวน 10 แห่งจากทั้งหมด 26 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 38.46

การตรวจสอบยังพบว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติปิดโครงการ ซึ่ง สสส. ยังไม่มีแผนการดำเนินงานเพื่อติดตามโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะการติดตามกิจการที่ยังคงดำเนินการอยู่ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ และการติดตามการชำระคืนเงินเพื่อสมทบกองทุนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

ที่มาภาพ : http://changefusion.org/unltd-thailand/
ที่มาภาพ : http://changefusion.org/unltd-thailand/

ต่อกรณีดังกล่าว จากการสอบถามข้อมูลจาก Change Fusion ได้รับการชี้แจงว่า “โครงการ UnLtd Thailand จริงๆ ในส่วนที่ สสส. สนับสนุนนั้นได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วปิดไปนานแล้ว เป็นการสนับสนุนการจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่และคนหน้าใหม่ รวมทั้งสิ้น 26 ทีม โดยมี 16 ทีมที่ได้พัฒนาเป็นกิจการและดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นอัตราการอยู่รอด 61.5% ประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมายตัวชี้วัดของโครงการที่กำหนดไว้ที่ 50% ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับอัตราการอยู่รอดของบริษัทขนาดเล็กของไทยที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีเพียง 5% และที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งชาติ (สสว.) ระบุว่ามี 30% ภายใต้โครงการบ่มเพาะของสำนักงานฯ อันถือว่าเป็นอัตราที่ดีแล้ว นอกจากนั้น ยังสูงกว่าการอยู่รอดของบริษัทเกิดใหม่ในเกาหลีที่มีอัตราอยู่รอดหลัง 3 ปีเพียง 36%”

พร้อมกล่าวย้ำว่า การสนับสนุนของโครงการ UnLtd Thailand นอกจากจะช่วยให้เกิดกิจการใหม่แล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้ผู้ประกวดที่ไม่ได้ดำเนินกิจการต่อหันมาทำงานด้านการพัฒนาและช่วยเหลือสังคมในรูปแบบอื่นๆ มากกว่า 60% (อ่านรายละเอียดโครงการ UnLtd Thailand เพิ่มเติม)

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคม (Social Hub) ล่าช้ากว่าแผนมาก ทำให้โครงการหรือกิจกรรมอื่นที่ยังไม่ได้งบประมาณเสียโอกาส ซึ่งโครงการนี้ได้เงินสนับสนุน 40 ล้านบาท และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคม งบประมาณ 35 ล้านบาท ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์การใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์ในการพัฒนาพื้นที่หอพักเก่าของมหาวิทยาลัยในซอยงามดูพลี เขตสาทร ให้เกิดเป็นศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 10 ปี

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ 1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเสริมองค์กรทางสังคม 2. เพื่อเป็นต้นแบบกิจการเพื่อสังคมที่พึ่งพาตนเองได้ โดยเน้นการจัดการแบบมีรายได้แต่ไม่แสวงหาผลกำไรเป็นหลัก และ 3. เพื่อเป็นต้นแบบของการส่งเสริมโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเน้นการจ้างงานกลุ่มคนพิการ กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 7 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ได้เห็นชอบในหลักการ ต่อมาได้รับการอนุมัติวันที่ 21 มีนาคม 2557

จากการตรวจสอบพบว่า ณ 31 มกราคม 2558 โครงการมีการเบิกจ่ายเงิน 100,000 บาท จากวงเงิน 35 ล้านบาท โดยการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนมาก ทำให้กิจกรรมอื่นที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเสียโอกาส สาเหตุมาจากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยงของการดำเนินงานให้ครบถ้วน ทั้งด้านการตลาด ด้านเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ และด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปัญหาการขอใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ปัจจุบันทาง สสส. อยู่ระหว่างการหารือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว

ทาง สตง. ได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. ให้ สสส. ควบคุมกำกับการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งมีการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและติดตามงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนงานปีต่อๆ ไป 2. จัดเตรียมความพร้อมรองรับกิจการเพื่อสังคม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะประกาศใช้หลังได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 3. ติดตามโครงการ UnLtd Thailand และ 4. พิจารณาทบทวนโครงการ Social Hub

581023สสส
เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ออกมาแถลงสนับสนุนการทำงานของ สสส. ที่มาภาพ: http://www.consumerthai.org/

NGO 14 เครือข่าย ออกแถลงการณ์หนุน สสส. – ชี้ตีความนิยามสุขภาวะแบบกว้าง WHO ยังยอมรับ

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการพัฒนาสุขภาวะของประชาชน รวม 14 เครือข่าย ได้รวมตัวกันในชื่อ “เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ กระทั่ง ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ โดยมีสาระสำคัญ รวม 3 ข้อ

  1. ขอสนับสนุนการทำงานของ สสส. มีขอบเขตการสร้างเสริมสุขภาพ ตามนิยามของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544
  2. สนับสนุนหลักการให้ สสส. และองค์กรอิสระอื่น เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากลและไม่เลือกปฏิบัติ
  3. สสส. เป็นองค์กรที่เป็นกลไกอิสระ แม้จะมีการปรับปรุงการทำงานของ สสส. แต่ต้องคงเจตนารมณ์กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไว้

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล เครือข่ายองค์กรผู้หญิง กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมเกิดความสับสนและไม่เข้าใจการทำงานของ สสส. ในหลายประเด็น ซึ่งจุดยืนของเครือข่ายฯ เห็นว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดีและสามารถทำได้ อะไรที่ต้องปรับปรุงก็ต้องทำ แต่ขณะเดียวกันควรให้โอกาส สสส. ได้อธิบายถึงโครงการที่มีการระบุว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

“การออกมาครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการปกป้อง สสส. แต่ต้องการแสดงจุดยืนของเครือข่ายฯ ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง”

พระดุษฎี เมธังกุโร เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า การสวดมนต์ข้ามปีถือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรงทั้งทางกายทางใจ เป็นการสร้างพื้นที่ทางเลือกให้กับประชาชนหันมาสวดมนต์แทนการไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามปี ขับรถจนเกิดอุบัติเหตุหรือก่อเหตุอาชญากรรมตามมาได้

นายคำรณ ชูเดชา องค์กรงดเหล้า กล่าว่า นิยามคำว่าสุขภาวะตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 สะท้อนแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวมที่ทั่วโลกยอมรับ เห็นได้จากการประเมินผลการทำงานของ สสส. ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โดยองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ก็ชื่นชมการทำงานของ สสส. และขอให้เป็นต้นแบบขยายไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

สำหรับรายชื่อภาคประชาสังคม 14 เครือข่าย ที่อยู่ในเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ประกอบด้วย

1. เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์

2. เครือข่ายองค์กรผู้หญิง

3. เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

4. เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน

5. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ

6. เครือข่ายผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

7. เครือข่ายผู้บริโภค

8. เครือข่ายผู้ติดเชื้อ

9. เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

10. เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์

11. เครือข่ายศาสนา

12. เครือข่ายประกันสังคม คนทำงานเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน

13. เครือข่ายพุทธิกา

14. เครือข่ายสุขภาวะทางเพศ