ผลสำรวจคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร พบกว่า 1,300 คน เป็นเพศชายกว่า1,000 คนและส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากที่สุด ถนนราชดำเนิน สนามหลวง หมอชิต 2 หัวลำโพง นักวิชาการชี้คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่เหมือนไร้ตัวตน ไร้สัญชาติ จึงเข้าไม่ถึงบริการและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยโดยเฉพาะการรักษาพยาบาล
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิยายน ทีมนักวิชาการโครงการ “การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการสำรวจคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสำรวจระหว่างเวลา 22.00 น. วันที่ 4 กันยายน ถึงเวลา 04.00 น. วันที่ 5 กันยายน 2558
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานครกล่าวว่า ผลการสำรวจคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครพบคนไร้บ้านจำนวน 1,307 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,087 คน หรือร้อยละ 83 เพศหญิง 202 คน หรือร้อยละ 15 เพศทางเลือก 13 คน และไม่สามารถระบุเพศได้ 5 คน ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งเขตเมืองชั้นในและเขตชานเมือง โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ 1,178 คน หรือร้อยละ 90 และอาศัยในศูนย์พักชั่วคราว 129 คน ทั้งนี้ หากดูเฉพาะคนไร้บ้านในศูนย์พักชั่วคราวพบว่า มีสัดส่วนของเพศหญิงประมาณร้อยละ 31.78 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนค่าเฉลี่ยรวม แสดงถึงความสำคัญของศูนย์พักชั่วคราวต่อเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้คนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนอายุ 40-59 ปี ประมาณร้อยละ 49 รองลงมาคือวัยแรงงานอายุ 19-39 ปี ประมาณร้อยละ 27 และวัยสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ร้อยละ 20 วัยรุ่นร้อยละ 2 วัยเด็กร้อยละ 1 และไม่ทราบร้อยละ 1 โดยทั้งหมดนี้มีลักษณะปัญหาทางกายที่เห็นได้ชัด 3 เรื่องสำคัญ คือ ความพิการ การติดสุรา และปัญหาสุขภาพจิต
นายอนรรฆกล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มคนไร้บ้านคือการติดสุรา โดยพบคนไร้บ้านติดสุราที่เห็นได้ชัดถึงร้อยละ 11.94 โดยวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่ติดสุรามากที่สุด รองลงมาคือวัยสูงอายุ วัยกลางคน และวัยรุ่น ตามลำดับ ด้านคนไร้บ้านที่พิการอย่างเห็นได้ชัด อาทิ แขนขาพิการ ตาบอด ฯลฯ ร้อยละ 3.52 ทั้งนี้ หากดูเฉพาะศูนย์พักชั่วคราวจะพบคนไร้บ้านที่พิการประมาณร้อยละ 15.5 หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 7 เท่า ส่วนปัญหาสุขภาพจิตพบสัดส่วนผู้ป่วยที่เห็นได้ชัดเจนร้อยละ 9.64 ของทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนที่อยู่ตัวคนเดียว
นอกจากนี้การสำรวจในครั้งนี้เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านตั้งแต่การออกแบบการสำรวจจนถึงการสรุปผล ซึ่งสำรวจในเรื่องของจำนวน ตำแหน่งที่พบ สถานที่หลับนอนหรือที่อยู่อาศัย ลักษณะการอยู่อาศัย และลักษณะทางกายภาพทั้งเพศ ช่วงอายุ ความพิการ อาการทางจิต การติดสุรา และบาดแผล โดยใช้ทีมสำรวจรวม 24 ทีม เพื่อสำรวจคนไร้บ้าน 24 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ 21 แห่งและศูนย์พักคนไร้บ้าน 3 แห่ง โดยมีหัวหน้าทีมเป็นแกนนำคนไร้บ้านหรืออดีตคนไร้บ้าน
นายอนรรฆกล่าวต่อว่า ศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้านมีความสำคัญในการดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้มีปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะเพศหญิงซึ่งสังเกตได้จากจำนวนของหญิงพิการและมีบาดแผลอย่างเห็นได้ชัดที่อยู่ในศูนย์พักชั่วคราว และในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าคนไร้บ้านจะมีกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เพราะจากการสำรวจครั้งนี้แสดงข้อมูลว่าร้อยละ 70 ของผู้ไร้บ้านมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งภาครัฐต้องเริ่มคิดนโยบายและวางแผนงานเพื่อรองรับปัญหาผู้สูงอายุไร้บ้านในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านคนไร้บ้านเป็นปัญหาสำคัญของเขตเมืองมาตลอด เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เป็นธรรมทางนโยบาย และระบบสวัสดิการของสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพ ที่ทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งสำหรับประเทศไทยคนไร้บ้านยังเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยากทั้งเรื่องการจัดเก็บข้อมูล และการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการสังคม จึงเป็นที่มาของโครงการนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำข้อมูลคนไร้บ้านและการต่อยอดเรื่องสุขภาพ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีเสวนา “การสำรวจกับการขับเคลื่อนทางสังคมและสุขภาพคนไร้บ้าน” โดยนางรุ่งกานดา พงศ์ธรกุลพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานการสงเคราะห์และสวัสดิภาพสังคม สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. มีบ้านอิ่มใจซึ่งเป็นที่พักพิงให้กับคนไร้บ้าน เริ่มตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสร้างความปลอดภัยและให้บริการขั้นพื้นฐานกับคนไร้บ้าน โดยเป็นที่ตั้งหลัก ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต มีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้เขาหลุดพ้นจากวงโคจรของคนไร้บ้าน ในปี 2558 มีผู้ใช้บริการบ้านอิ่มใจประมาณ 32,000 ครั้ง แบ่งเป็นเพศหญิง 8,100 ครั้ง และเพศชาย 23,000 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 2556 ที่ประมาณ 23,000 ครั้ง และปี 2557 ที่ประมาณ 29,000 ครั้ง ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้บริการวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ที่ผ่านมาบ้านอิ่มใจได้ดำเนินการจัดหางานให้ผู้ไร้บ้านไปแล้วกว่า 600 ราย ทั้งที่ผ่านกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน รวมถึงช่วยประสานงานกับเครือข่ายเพื่อจัดหาที่พักให้ผู้ไร้บ้านได้เข้าพักที่บ้านอิ่มใจ รวมถึงจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ การแก้ปัญหาชีวิต และการสร้างเสริมบุคลิกภาพ เช่น ฝึกอาบน้ำ ปรับทัศนคติให้มีบทบาทของผู้ให้มากกว่าผู้รับ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า คนไร้บ้านที่ไม่กลับมาใช้บริการที่บ้านอิ่มใจอีก ซึ่งแปลว่าหลุดพ้นไปจากวงโคจรของผู้ไร้บ้านเพียงร้อยละ 10
นายธเนศร์ จรโณทัย ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน และคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิบุคคล กล่าวว่า คนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสวัสดิการรัฐใดๆ จากสังคมไทยเลย โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวบุคคล ซึ่งคนไร้บ้านจำนวนมากที่ถูกตัดขาดจากครอบครัวไม่ได้นำเอกสารราชการใดๆ ติดตัวมา รวมถึงหาพยานบุคคลเพื่อยืนยันตัวตนลำบาก ดังนั้น เมื่อไม่มีทะเบียนราษฎร์ ก็ไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ จึงทำให้ไม่สามารถไปรับสิทธิใดๆ ได้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาด้วยการรอให้คนไร้บ้านได้เลขประจำตัวหลัก 0 เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาตินั้นก็ดูไม่เป็นธรรมนัก เพราะคนไร้บ้านกลุ่มนี้คือคนสัญชาติไทย
“การไม่มีบัตรประชาชนเหมือนตายทั้งเป็น และกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำเอกสารใหม่นั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะเจ้าหน้าที่ก็ทุจริตเยอะ และคนไร้บ้านก็ไม่รู้ว่าจะหาใครมาเป็นพยาน” นายธเนศร์กล่าว
ด้านนายสุขศาสตร์ วงษ์สัจจานันท์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทำบัตรประชาชนเป็นเรื่องยากจริง ขึ้นอยู่กับเอกสาร พยานหลักฐานในมือของผู้ต้องการทำบัตร ไม่ได้ทำยากที่เจ้าหน้าที่ โดยกระบวนการทุกอย่างเริ่มต้นจากทะเบียนราษฎร์ซึ่งบัญญัติชัดเจนตามกฎหมาย แต่ก็มีบางกรณีที่ทำยากเนื่องจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการทำบัตรจริงๆ ต้องพิสูจน์ตัวตนให้ได้ และถ้ายังทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งถอย เพราะการถอยจะทำให้เอกสารต่างๆ ที่พยายามหามาจะสูญเสีย จนทำให้การกลับมาทำบัตรอีกครั้งยากยิ่งขึ้น
ในขณะที่นายวงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้คนไร้บ้านต้องร่วมระดมความคิดเห็นในระดับนโยบายและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน แล้วจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยรัฐต้องใช้การบริการขั้นพื้นฐานเข้าหากลุ่มคนไร้บ้าน ทั้งนี้ การให้บริการทางสุขภาพบางกรณีจำเป็นต้องดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ดังนั้น ถ้าผู้ไร้บ้านย้ายที่อยู่บ่อยการแก้ปัญหาก็จะซับซ้อนและลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะอาการของโรคจะแสดงออกมากขึ้น สำหรับการให้บริการในกรณีฉุกเฉินต้องคุยถึงกลไกการช่วยเหลือเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินผลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คนไร้บ้านด้วย