ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กระทรวงศึกษาฯ ป่วน ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้รมต. ตั้งสอบทุจริตผู้บริหาร สกสค. “สมมาตร์ มีศิลป์” – สหภาพฯ ชี้ขัดผลประโยชน์ “ผู้มีอิทธิพล”

กระทรวงศึกษาฯ ป่วน ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้รมต. ตั้งสอบทุจริตผู้บริหาร สกสค. “สมมาตร์ มีศิลป์” – สหภาพฯ ชี้ขัดผลประโยชน์ “ผู้มีอิทธิพล”

19 กุมภาพันธ์ 2015


ความวุ่นวายภายในกระทรวงศึกษาธิการ กลับมาเป็นประเด็นข่าวใหญ่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง หลังจากที่ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 20/22 วันที่ 15 มกราคม 2558 แจ้งผลการวินิจฉัยส่งถึงนายสมคิด หอมเนตร สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ร้องเรียน) เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในสำนักคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค. ที่อาจจะไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ พบว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวมีมูล ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงใช้อำนาจตามมาตรา 32 และ 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ 24/2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557 จัดทำข้อเสนอแนะถึง พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารระดับสูง สกสค. และองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด 4 ประเด็น มีดังนี้

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

1. กรณีนายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ 2 ราย โดยไม่มีอำนาจ จากนั้น องค์การค้าของ สกสค. ได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้กับบริษัท 2020 เวิลด์มีเดีย จำกัด จำนวน 40 ล้านบาท และบริษัท โลยัล คอมแพเนียล จำกัด จำนวน 15 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท ทั้งๆ ที่คดีบริษัท 2020 เวิลด์มีเดีย ยังไม่ถึงที่สุด ทำให้เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ ต้องถอนคดีออกจากศาลอุทธรณ์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การดำเนินการดังกล่าวทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง

2. กรณีนายสมมาตร์ มีศิลป์ อาจเข้าข่ายเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ข้อที่ 1.10 ถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานรัฐ และข้อที่ 1.11 เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับองค์การค้าฯ ทั้งนี้เนื่องจากองค์การค้าคุรุสภา (ชื่อเดิม) เคยมีคำสั่งเลิกจ้างนายสมมาตร์และดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์สินขององค์การค้าคุรุสภา ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หากผลการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่านายสมมาตร์เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามจริง ขอให้ พล.ร.อ. ณรงค์พิจารณามอบหมายให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งเลิกจ้างนายสมมาตร์ต่อไป

3. กรณีนายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และคณะ อนุมัติเงินจากกองทุนเงินสะสมของการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) จำนวน 140 ล้านบาท และอนุมัติเงิน ช.พ.ค. ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) จำนวน 80 ล้านบาท ไปปล่อยกู้องค์การค้าของ สกสค. เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยที่ไม่มีอำนาจอนุมัติ และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์

4. กรณีการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่มูลค่า 360 ล้านบาท ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า อาจมีการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเอกชนคู่สัญญาถูกศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ล้มละลาย และเมื่อตรวจสอบระบบคลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ไม่ปรากฏอาชีพที่แน่นอนของบริษัทที่นำมากล่าวอ้างแต่อย่างใด รวมทั้งนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีสำนักงานใหญ่ตามที่จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยกเลิกสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้

ปรากฏว่า 1 ใน 4 ข้อเสนอแนะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แนะนำให้กระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่งเลิกจ้างนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ทำให้เหตุการณ์ความวุ่นวายภายในกระทรวงศึกษาธิการที่เงียบหายไประยะหนึ่ง กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง วันที่ 16 มกราคม 2558 นายสมมาตร์ ให้องค์การค้าของ สกสค. ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับองค์การค้าฯ และเบื้องหลังความพยายามในการปลดนายสมมาตร์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เพราะนายสมมาตร์ไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล

“สมมาตร์” แจงเหตุ-ขัดผลประโยชน์ขายตำราเรียน

ตามหนังสือร้องเรียนของนายสมมาตร์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การค้าของ สกสค. จนถึงปี 2540 โดยเฉพาะในสมัยที่นายสมมาตร์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. สมัยแรก ผลประกอบการขององค์การค้าฯ มีกำไร และสามารถส่งรายได้สนับสนุนกิจการของคุรุสภาและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงปี 2541 นายสมมาตร์เข้าไปปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนใหม่ โดยกระจายการจัดจำหน่ายหนังสือออกไปทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานศึกษา จึงไปขัดผลประโยชน์กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้นายสมมาตร์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายสมมาตร์ได้ฟ้องกลับองค์การค้าคุรุสภา (ชื่อเดิม) 10 คดี (ปัจจุบันองค์การค้าคุรุสภาดำเนินคดีกับอาญานายสมมาตร์ และนายสมมาตร์ฟ้องกลับคุรุสภา คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา)

และหลังจากที่นายสมมาตร์ถูกกลั่นแกล้งจนต้องออกจากตำแหน่ง ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา องค์การค้าฯ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนมียอดขาดทุนสะสมกว่า 4,000 ล้านบาท (30 กันยายน 2556) ต่อมานายสมมาตร์สมัครเข้ารับการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ครั้งนี้นายสมมาตร์อ้างว่าได้รับการคุ้มครองจากศาลปกครอง และได้ผ่านการคัดเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2555

การเข้ามาบริหารครั้งนี้ องค์การค้าฯ อยู่ในสภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่อง นายสมมาตร์จึงแก้ปัญหาขาดทุน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการพิมพ์ ลดต้นทุนการผลิต และการทำการตลาดเชิงรุก การดำเนินการดังกล่าวนี้ จึงไปขัดผลประโยชน์กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลเดิมที่เป็นคนกลางและมีอำนาจการต่อรองเหนือองค์การค้าฯ และเป็นเหตุให้มีการปล่อยข่าวปลดนายสมมาตร์ให้ได้ภายในเดือนมกราคม 2558 โดยเริ่มมีขบวนการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข่าวลือ ผลักดันให้หน่วยงานต้นสังกัดองค์การค้าฯ แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและปลดนายสมมาตร์ออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลเลือกจังหวะในช่วงที่องค์การค้าฯ เปิดโครงการกระตุ้นการขายหนังสือแก่ร้านค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อย เป้าหมายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้ร้านค้าต่างๆ ไม่กล้าสั่งซื้อหนังสือจากองค์การค้า และคู่ค้าขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมกับองค์การค้าฯ

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลต้องการปลดนายสมมาตร์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ หนังสือร้องเรียนของนายสมมาตร์ระบุว่า เกิดมาจากนโยบายตรึงราคาหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้องค์การค้าให้ส่วนลดหนังสือเรียนแก่พ่อค้าคนกลาง 25% ของราคาหน้าปก ขณะที่โรงพิมพ์เอกชนให้ส่วนลดแก่พ่อค้าคนกลาง 40-60% ของราคาหน้าปก หากโรงเรียนไม่สามารถซื้อหนังสือเรียนจากองค์การค้าฯ ได้ หรือได้รับหนังสือล่าช้า โรงเรียนก็จะหันไปซื้อหนังสือเรียนจากโรงพิมพ์เอกชนแทน ทำให้พ่อค้าคนกลางและกลุ่มอิทธิพลได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างปีละหลายร้อยล้านบาท

จากการที่กลุ่มอิทธิพลไม่ส่งหนังสือเรียนที่พิมพ์โดยองค์การค้าฯ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของชาติอย่างร้ายแรง เนื่องจากครูผู้สอนได้รับการอบรมจากกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลโนยี (สสวท.) โดยใช้หนังสือเรียนภายใต้ลิขสิทธิ์ของกระทรวงศึกษาธิการและ สสวท. เป็นหลักในการอบรม แต่ครูผู้สอนถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลบังคับให้ใช้หนังสือเรียนของเอกชน จึงเป็นสาเหตุให้ครูไม่สามารถสอนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้การศึกษาไทยตกมาอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศสมาชิกอาเซียน

ตามเอกสารที่นายสมมาตร์ทำถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า “กลุ่มอิทธิพลพยายามจะปลดผมออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดการกระจายหนังสือเรียนประจำปีการศึกษา 2558 ที่โรงเรียนต้องตัดสินใจซื้อภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และส่งมอบหนังสือภายในเดือนเมษายน 2558 ขั้นตอนการดำเนินงานของกลุ่มอิทธิพลมีดังนี้

1. เดือนสิงหาคม 2557 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) ทำเรื่องขอตรวจเยี่ยมและรับฟังคำชี้แจงผ่านคณะกรรมการ สกสค. โดยอ้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งร้องเรียนผ่านรายการข่าวสามมิติ
2. กลุ่มอิทธิพลทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหานายสมมาตร์ต่อกระทรวงศึกษาธิการ จนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงวันที่ 12 กันยายน 2557
3. กลุ่มอิทธิพลทำหนังสือร้องเรียนนายสมมาตร์ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต่อมา ป.ป.ท. มีหนังสือมาขอคำชี้แจงประเด็นร้องเรียนจากองค์การค้าฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557
4. กลุ่มอิทธิพลทำหนังสือร้องเรียนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5. มีการให้ข่าวผ่านสื่อมวลชน โดยไม่มีผู้รับผิดชอบในการให้ข่าว

ภตช. บี้ “บิ๊กตู่” ลงโทษบอร์ด สกสค. ตั้งผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็น ผอ.องค์การค้าฯ

ขณะที่ ภตช. ซึ่งถูกพาดพิงถึง ก็ได้ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 โดยขอให้ คตช. ตรวจสอบการกระทำที่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการในองค์การค้าของ สกสค. และให้ดำเนินคดีเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ข้อหาทำให้ราชการเสียหาย โดยอ้างถึงคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 และหนังสือสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินด่วนที่สุดที่ ผผ 20/22 พร้อมกับแนบเอกสารการพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯ ปี 2555-2556, สำเนาข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ASTV ผู้จัดการออนไลน์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า โดย ภตช. ขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดกับนายสมมาตร์ มีศิลป์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่กระทำผิดกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการ ทำให้ราชการได้รับความเสียหายในช่วงปี 2555 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งถึงปัจจุบันให้ถึงที่สุด (กรณีองค์การค้าฯ ขายหนังสือเรียนมูลค่า 1,400 ล้านบาท ให้บริษัท ล็อกซเลย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) และกรณีการเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนกับบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้น จำกัด)

2. กรณีการสรรหาและแต่งตั้งนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เมื่อเดือนกันยายน 2555 หากพบว่าคณะกรรมการของ สกสค. และคณะกรรมการสรรหา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยขัดกฎหมาย และระเบียบทางราชการ ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาฯ ข้อ 1.10 และ 1.11 ซึ่งไม่ยึดหลักคุณธรรม ตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ขอให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเอาผิดกล่าวโทษกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัยราชการด้วย

3. องค์การค้าของ สกสค. เป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดพิพม์หนังสือเรียนและจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้โรงเรียนทั่วประเทศ เกี่ยวข้องกับนักเรียน 14 ล้านคน หากยังปล่อยให้องค์กรแห่งนี้เป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มโดยมิชอบ มีปัญหาทุจริต ผิดระเบียบ และผู้บริหารมีประวัติเสื่อมเสีย การบริหารงานไม่มีความโปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาลแล้ว ก็ควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการด้วย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงข้อกล่าวหาของ ภตช.
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงข้อกล่าวหาของ ภตช.

ล่าสุด ทางสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ ภตช. โดยนายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพฯ และกลุ่มสมาชิกสหภาพฯ เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี ภตช. กล่าวหานายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ว่า “ขายหนังสือไม่เปิดประมูล เอื้อเอกชน และเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์สูงกว่าราคากลาง 3.5 เท่า” และกล่าวหานายสมมาตร์ว่า “มีลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.” โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

หนังสือร้องเรียนของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ระบุว่า ปลัดประทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. นำข้อร้องเรียนของ ภตช. เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้องค์การค้าฯ ดำเนินคดีกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช. โดยนายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นโจทก์ฟ้องนายมงคลกิตติ์ต่อศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2784/2557 ส่วนข้อกล่าวหานายสมมาตร์เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามประกาศหลักเกณฑ์การสรรหาและรับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ก็เป็นความเท็จ เพราะในกรณีลักษณะต้องห้ามตามที่มีการกล่าวหานั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่านายสมมาตร์ มีศิลป์ อำนวยการการองค์การค้าของ สกสค. มีสิทธิเข้ารับการสรรหา และรับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ได้ ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร รับทราบแล้ว รวมทั้ง ปปง., ป.ป.ท., คสช. และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็รับทราบแล้วเช่นกัน

ป้ายคำ :