ความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษา ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ข้าราชการระดับสูง สกสค. และหน่วยงานในสังกัด ปรากฏว่าข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพาดพิงถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
วันที่ 16 มกราคม 2558 นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ทำจดหมายถึง พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชันของชาติ (ภตช.) ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โดยขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในองค์การค้าฯ ทั้งกรณีองค์การค้าฯ ขายตำราเรียน 1,400 ล้านบาท ให้บริษัท ล็อกซเลย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) และกรณีเช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียนบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) สูงกว่าราคากลาง 3 เท่าตัว วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาเดินทางไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นองค์การค้าฯ
ล่าสุด องค์การค้าฯ จัดทำรายงานข้อเท็จจริง“กรณีลงนามในสัญญาเช่าแท่นพิมพ์กับเอกชนพร้อมซอฟแวร์ระบบบริหารการพิมพ์และเครื่องจักรผลิตเล่ม”หนาเกือบ 200 หน้า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (บอร์ด สกสค.) รับทราบอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สกสค. และลงนามในสัญญาเช่าเรียบร้อยแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ได้อธิบายถึงเหตุผลสำคัญที่องค์การค้าฯ ต้องเปลี่ยนระบบบริหารการพิมพ์ใหม่ จากเดิมใช้วิธีจัดสรรโควตางานพิมพ์ให้โรงพิมพ์เอกชนกว่า 10 แห่ง มารับเหมางานพิมพ์ออกไป เปลี่ยนมาใช้วิธีเช่าแท่นพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนาฯ พิมพ์ตำราเรียนเองภายในโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว
เหตุผลคือต้องการลดต้นทุนการพิมพ์และแก้ปัญหาตำราเรียนปลอมแพร่ระบาด รายงานฉบับนี้สรุปค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจ้างบริษัทเอกชนมารับเหมางานพิมพ์ พบว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมา องค์การค้าฯ เสียค่าจ้างให้โรงพิมพ์ภายนอกคิดเป็นมูลค่า 2,270 ล้านบาท และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์การค้าฯ ต้องเปลี่ยนนโยบายการพิมพ์ใหม่(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
รายงานฉบับนี้ได้มีการทำข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนพิมพ์ตำราเรียน 4 สี แบ่งออกป็น 5 กรณี ดังนี้ 1. กรณีโรงพิมพ์เอกชนมารับเหมางานพิมพ์หนังสือเรียนจากองค์การค้าฯ โดยยกตัวอย่างการจ้างเอกชนรับเหมาพิมพ์หนังสือเรียนในสมัยนายบำเหน็จ ทิพย์อักษร ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ในปีการศึกษา 2555 ใช้ราคากลางที่ 0.492 บาทต่ออิมเพรสชั่น องค์การค้าฯ จ่ายค่าจ้างเอกชนพิมพ์ตำราเรียน ซึ่งรวมค่ากระดาษแล้วคิดเป็นมูลค่า 592 ล้านบาท
2. กรณีองค์การค้าฯ รับจ้างพิมพ์งานภายนอกในสมัย น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คิดค่าบริการรับจ้างพิมพ์งานภายนอก 0.471 บาทต่ออิมเพรสชั่น
3. ราคาค่าพิมพ์งานตามหนังสือกระทรวงการคลัง กค 0526.5/48298 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 กรณีผู้ว่าจ้างรับภาระค่ากระดาษ คิดค่าพิมพ์ 3-4 สีต่อต่ออิมเพรสชั่น หมื่นละ 4,000 บาท [0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น รวมกำไรและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)] มีต้นทุนการพิมพ์ทั้งหมด 0.471 บาท
4. กรณีการรับจ้างพิมพ์งานของโรงพิมพ์ภายนอก ตามวารสารในวงการพิมพ์ บริษัทที่มีบริการงานพิมพ์ครบวงจรได้เสนองานพิมพ์ 4 สี 1 หน้า (ราคาตัด 2) ที่ราคา 0.45 บาท รวม VAT มีต้นทุนค่าพิมพ์ 0.4815 บาทต่ออิมเพรสชั่น
5. กรณีเช่าแท่นพิมพ์บริษัทศิริวัฒนาฯ พิมพ์ตำราเรียนภายในองค์การค้าฯ ไม่รวมค่ากระดาษ มีต้นทุนค่าพิมพ์ 0.45 บาทต่ออิมเพรสชั่น
และจากการเปรียบเทียบต้นทุนการพิมพ์ตำราเรียน 4 สี หากนำต้นทุนกรณีโรงพิมพ์เอกชนมารับเหมางานพิมพ์ตำราเรียนจากองค์การค้าฯ ในปี 2555 มูลค่า 592 ล้านบาท มีต้นทุนเฉลี่ย 0.492 บาทต่ออิมเพรสชั่น มาเปรียบเทียบกับกรณีเช่าแท่นพิมพ์บริษัทศิริวัฒนาฯ พิมพ์ตำราเรียนภายในองค์การค้าฯ มีต้นทุนเฉลี่ย 0.45 บาทต่ออิมเพรสชั่น พบว่า กรณีการเช่าแท่นพิมพ์บริษัทศิริวัฒนาฯ รับพิมพ์งานในองค์การค้าฯ ช่วยให้องค์การค้าฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 0.042 บาทต่ออิมเพรสชั่น และถ้านำตัวเลขดังกล่าวนี้ไปคำนวณหาต้นทุนการจัดพิมพ์หนังสือเรียนทั้ง 77 รายการ ในจำนวนเท่ากัน จะทำให้องค์การค้าประหยัดเงินถึง 123 ล้านบาท
สรุป ประโยชน์ที่องค์การค้าฯ ได้รับจากการเช่าแท่นพิมพ์มีดังนี้
1. ลดต้นทุน 123 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีจ่ายโรงพิมพ์เอกชนรับเหมาพิมพ์ตำราเรียน ในปีการศึกษา 2555 มูลค่า 592 ล้านบาท จากการจัดพิมพ์หนังสือเรียนในรายการเดียวกัน จำนวนเท่ากัน
2. แก้ปัญหาตำราเรียนปลอมระบาด
3. พัฒนาระบบการพิมพ์ขององค์การค้าฯ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันใช้ในการตัดสินใจ
4. เพิ่มรายได้
ผลจากการที่องค์การค้าฯ มีต้นทุนทางการพิมพ์ลดลง 123 ล้านบาท ทำให้ผลประกอบการปี 2556 องค์การค้าฯ มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ตัวเงิน (EBITDA) 147.61 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งองค์การค้าฯ เปิดให้เอกชนเข้ามารับงานพิมพ์
แหล่งข่าวจากองค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า ข้อสังเกตรายงานขององค์การค้าฯ ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงราคากลาง (กรณีเช่าแท่นพิมพ์) ที่เคยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การค้าฯ เดือนมกราคมปี 2556 การเช่าเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น 4 สี ราคากลางอยู่ที่ 0.1261 บาทต่ออิมเพรสชั่น และเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วน 4 สี ราคากลางอยู่ที่ 0.2428 บาทต่ออิมเพรสชั่น ซึ่งตัวเลขนี้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าทราบดี ทำไมถึงกลายเป็น 0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น
แหล่งข่าวจากองค์การค้าของ สกสค. กล่าวต่อว่า หากนำรายละเอียดของค่าเช่าเครื่องออฟเซตทั้งแบบป้อนม้วนและป้อนแผ่นที่ราคา 0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น ตามที่ระบุในรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยค่าเครื่องพิมพ์ 0.28 บาท ค่าซอฟต์แวร์ 0.04 บาท ค่าบริหารการพิมพ์ 0.04 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 0.04 บาท เฉพาะค่าเครื่องพิมพ์ 0.28 บาทต่ออิมเพรสชั่น ก็ยังสูงกว่าราคากลางที่ 0.13 บาทต่ออิมเพรสชั่น ส่วนค่าซอฟต์แวร์ ค่าบริหารการพิมพ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้ว 0.12 บาทต่ออิมเพรสชั่น ไม่ควรนำมารวมอยู่ในค่าเช่าเครื่องพิมพ์เรียกเก็บเงินกับองค์การค้า เพราะเป็นระบบการบริหารงานการพิมพ์ที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบเอง หากไปจ้างโรงพิมพ์ภายนอก องค์การค้าฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
สำหรับความเป็นมาของโครงการเช่าแท่นพิมพ์บริษัทศิริวัฒนาฯ รายงานฉบับนี้ระบุว่า เกิดขึ้นก่อนที่นายสมมาตร์เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 20 มกราคม 2552 มีมติเห็นชอบให้องค์การค้าฯ เช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เครื่องพิมพ์ป้อนม้วน 4 สี (แท่น CW1) แท่นพิมพ์หลักที่ใช้ผลิตตำราเรียนเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 จนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้กำลังการผลิตลดลง 50% เหลือแค่ 280,000 อิมเพรสชั่นต่อวัน ขณะที่องค์การค้าฯ ต้องเร่งพิมพ์ตำราเรียน 40 ล้านเล่ม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556
วันที่ 25 ตุลาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. มีอนุมัติโครงการเช่าเครื่องพิมพ์ตามที่องค์การค้าเสนอ วันที่ 26 ตุลาคม 2555 ออกประกาศเชิญชวนประกวดราคา มีผู้มาขอรับซองประกวดราคาทั้งสิ้น 20 ราย จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์ ได้เชิญผู้รับซองมารับฟังคำชี้แจงเพิ่มเติมวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ตกลงกันว่า “ต้องให้คณะกรรมการผู้รับซองไปถ่ายรูปเครื่องจักรเพื่อประกอบการพิจารณา”
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 วันเปิดซองประกวดราคา มีผู้ยื่นซองแค่ 2 ราย คือ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษาเสนอราคามาต่ำกว่า แต่ไม่มีภาพถ่ายเครื่องจักร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการพิจารณา จึงไม่ผ่านคุณสมบัติ เหลือบริษัทศิริวัฒนาฯ ที่ผ่านการคัดเลือกรายเดียว องค์การค้าฯ จึงยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2549
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 องค์การค้าฯ รายงานผลการคัดเลือกผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ครั้งที่ 7/2555 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หากจัดให้มีการประกวดราคาอีกครั้ง คงจะพิมพ์หนังสือเรียนไม่ทันเปิดเทอม เพราะการจัดประกวดราคามีขั้นตอนและการติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลา 1-2 เดือน จึงเสนอที่ประชุมให้ใช้วิธีส่งจดหมายเชิญโรงพิมพ์เอกชนและโรงพิมพ์ของส่วนราชการขนเครื่องพิมพ์มาทำการทดสอบสมรรถนะ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 องค์การค้าฯ ส่งจดหมายเชิญโรงพิมพ์เอกชน 7 แห่ง โรงพิมพ์ของส่วนราชการ 3 แห่ง นำเครื่องจักรขนาดใหญ่มาติดตั้งภายในพื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว ซึ่งจดหมายเชิญกำหนดเงื่อนไขว่าต้องติดตั้งเครื่องจักรทางการพิมพ์ให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน และต้องแจ้งความประสงค์ในการขอเข้าร่วมทดสอบเครื่องภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความประสงค์มา 3 ราย ได้แก่ บริษัทศิริวัฒนาฯ, ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา และห้างหุ้นส่วนจำกัดวรรณชาติเพรส ในจำนวนนี้มีบริษัทศิริวัฒนาฯ เพียงรายเดียวที่แจ้งรายละเอียดของเครื่องจักรที่จะเข้าร่วมทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ครบถ้วนตามเงื่อนไข
วันที่ 13 ธันวาคม 2555 บริษัทศิริวัฒนาฯ ทยอยขนเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งในพื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภา ปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดวรรณชาติเพรส เพิ่งแจ้งความประสงค์ขอทดสอบสมรรถนะเครื่องจักรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาในการแจ้งความประสงค์ไปแล้ว จึงเหลือบริษัทศิริวัฒนาฯ รายเดียวที่นำแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่เข้ามาติดตั้งภายในโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว
วันที่ 27 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ครั้งที่ 8/2557 มีมติอนุมัติให้องค์การค้าฯ เช่าแท่นพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนาฯ หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทดสอบเครื่องจักร วันที่ 30 มกราคม 2556 คณะกรรมการทดสอบเครื่องจักร มีมติให้บริษัทศิริวัฒนาฯ ผ่านการทดสอบ และได้รายงานผลการทดสอบรายงานคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556ที่ประชุมมีมติรับทราบ
บริษัทศิริวัฒนาฯ ทำใบเสนอราคาค่าเช่าแท่นพิมพ์ ซึ่งเป็นราคารวมค่าหมึก ค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค ค่าซอฟต์แวร์ ค่าบริหารการพิมพ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีดังนี้ 1. ค่าเช่าเครื่องพิมพ์ออฟเซตแบบป้อนแผ่น ราคา 0.57 บาทต่ออิมเพรสชั่น 2. ค่าเช่าเครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วน ราคา 0.57 บาทต่ออิมเพรสชั่น 3. ค่าเช่าเครื่องทำเล่มใส่สันทากาว 1.52 บาท/เล่ม
จากนั้น องค์การค้าแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคาค่าเช่าเครื่องพิมพ์กับบริษัทศิริวัฒนาฯ และได้มีการเจรจากันในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ข้อสรุปว่าบริษัทศิริวัฒนาฯ ยอมปรับลดราคาค่าเช่าเครื่องพิมพ์ ไม่รวมค่าแรง ค่าหมึก ค่าไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคดังนี้ คือ ค่าเช่าเครื่องพิมพ์ ทั้งแบบออฟเซตป้อนม้วนและป้อนแผ่นลดราคาเหลือ 0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น และเครื่องทำเล่มไสสันทากาว 1 บาท/เล่ม
แหล่งข่าวจากองค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 องค์การค้าฯ เตรียมนำรายงานฉบับนี้เสนอให้ที่ประชุมบอร์ด สกสค. รับทราบ แต่เนื่องจาก ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานบอร์ด สกสค. มีภารกิจเร่งด่วน ไม่มาประชุม จึงไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ คาดว่าจะมีการนำรายงานฉบับนี้เสนอที่ประชุมบอร์ด สกสค. ครั้งต่อไป