กลายเป็นสิ่งท้าทายนโยบายปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยประกาศต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อกระบวนการตรวจสอบทุจริตการซื้อ-ขายหนังสือเรียนที่ยืดเยื้อมานานยังวุ่นวายไม่เลิก หลังจากนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการ “ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) “ และคณะ เข้าพบนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) วันที่ 20 สิงหาคม 2557 สั่งการให้ สกสค. ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในองค์การค้าของ สกสค. โดยเฉพาะ “กรณีการเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนของบริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน)” แพงกว่าราคากลาง 3.5 เท่า และ “กรณีการขายหนังสือเรียนมูลค่า 1,400 ล้านบาทให้กับบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน)”
จากกรณีดังกล่าวทำให้กลุ่มพนักงานองค์การค้าของ สกสค. ภายใต้การนำของนายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ออกมาปฏิเสธกระบวนการตรวจสอบโดย ภตช. ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ จัดประชุมสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, เปิดเฟชบุ๊ก “รวมพลคนรักองค์การค้าของ สกสค.”, ยื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานเลขานุการกองทัพบก และเดินสายชี้แจงสื่อมวลชน โดยระบุว่า ภตช. ไม่มีประวัติการจัดตั้งองค์กรที่ชัดเจน ภตช. ใช้อำนาจอะไรสั่งการผู้บริหารของ สกสค. ตรวจสอบองค์การค้าฯ
ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบมีความชอบธรรม วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ภตช. จึงไปยื่นหนังสือร้องเรียน “เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)” เพื่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันโดยตรงเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน ภตช. จากนั้น ภตช. เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 ขอให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางเดินเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกรณีการเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯ และกรณีการขายหนังสือเรียนลอตใหญ่ให้บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ
เบื้องหลังการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม ภตช. กับสหภาพแรงงานของคุรุสภาครั้งนี้ แหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากปมความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ 2 ประเด็น คือ 1. เรื่องการปรับระบบการผลิตหนังสือลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาตำราเรียนปลอม
2. การปรับระบบการจัดจำหน่ายหนังสือเพื่อเพิ่มยอดจำหน่าย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ระบบการจัดจำหน่ายขององค์การค้าฯ เดิมมี 2 ช่องทาง คือ องค์การค้าฯ ขายหนังสือเรียนเองกับขายผ่านตัวแทนร้านค้าส่งต่างจังหวัด ภายใต่้แฟรนไชส์ที่ชื่อว่า “ศึกษาภัณฑ์”
์
วันที่ 9 กันยายน 2557 กลุ่มสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา จึงรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานรับจ้างพิมพ์หนังสือเรียนในอดีตไปร้องเรียน พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยขอให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. กับบริษัทเอกชนที่ประมูลงานพิมพ์หนังสือเรียน และจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขององค์การค้าฯ
ผลจากการที่ ภตช. ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ให้เข้ามาตรวจสอบทุจริตภายในองค์การค้าฯ ล่าสุด วันที่ 17 กันยายน 2557 นายก่อเกียรติ ซ้องสุข ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ป.ป.ท. ทำหนังสือถึงนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. โดยขอให้คณะกรรมการ สกสค. จัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเช่าเครื่องพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนาฯ และกรณีการขายหนังสือเรียนลอตใหญ่ให้บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ ส่ง ป.ป.ท. ภายใน 15 วัน
วันที่ 22 กันยายน 2557 นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกศค. ทำหนังสือด่วนถึงองค์การค้าของ สกสค. สั่งการให้นายสมมาตร์รีบจัดส่งเอกสารหลักฐานตามที่ ป.ป.ท. ร้องขอภายใน 15 วัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ขอเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการขายหนังสือให้กับบริษัทล็อกซเล่ย์ฯ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 อาทิ ระเบียบเกี่ยวกับการขายหนังสือให้เอกชน, หลักฐานประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาซื้อหนังสือ, หลักฐานการนำประกาศเชิญชวนเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์, เอกสารการขออนุมัติและอนุมัติให้บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ ขายหนังสือเรียน และสัญญาการซื้อ-ขายหนังสือระหว่างองค์การค้าฯ กับล็อกซเล่ย์ เป็นต้น
2. ขอหลักฐานเกี่ยวกับการฝากขายสินค้าระหว่างองค์การค้าฯ กับบริษัทล็อกซเล่ย์ฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 และระเบียบการขายขายสินค้าขององค์การค้าฯ
3. ขอหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเช่าเครื่องพิมพ์ การอนุมัติ การตรวจรับ และสัญญาการเช่าเครื่องพิมพ์วันที่ 5 มีนาคม 2556
4. ช่วงปี 2556 องค์การค้าฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายสมมาตร์ มีศิลป์ ให้ดำรงตำแหน่งใด มีอำนาจอย่างไร รับเงินเดือนค่าจ้างจากหน่วยงานใดพร้อมสำเนาการจ้างงาน
ทันที่จดหมายจากสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ไปถึงองค์การค้าฯ วันที่ 3 ตุลาคม 2557 ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภาและตัวแทนพนักงานออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการไป “ยื่นหนังสือร้องเรียนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)” ขอให้ ปปง. เข้ามาตรวจสอบเส้นทางเงินของร้านค้าส่งและสำนักพิมพ์เอกชนส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค
หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายประจำเขตการศึกษาภูมิภาคขององค์การค้าฯ ตรวจพบบันทึกข้อความปลอมแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ ว่าในปีการศึกษา 2557 องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์หนังสือเรียนไม่ทันเปิดเทอม ทำให้โรงเรียนหันไปซื้อหนังสือเรียนจากร้านค้าส่งและสำนักพิมพ์เอกชน ซึ่งมีราคาแพงกว่าหนังสือเรียนที่ผลิตโดยองค์การค้าฯ ถึง 2 เท่า ทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณ
เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับองค์การค้าฯ กำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ ทั้งดีเอสไอ, ป.ป.ท. และ ปปง. ที่เข้ามาตรวจสอบองค์กรแห่งนี้ตามคำเชิญของทั้ง 2 ฝ่าย สุดท้ายแล้วนโยบายหลักที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยประกาศต่อหน้าที่ประชุม สนช. ว่า “จะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย พบที่กระทรวงไหนให้จัดการทันที” คำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์จะมีมนต์ขลังแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป