ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะต้นทุนผลิตตำรา 40 ล้านเล่ม คุรุสภาฯ จ่ายถูกหรือแพง?

เจาะต้นทุนผลิตตำรา 40 ล้านเล่ม คุรุสภาฯ จ่ายถูกหรือแพง?

16 มิถุนายน 2013


เป็นเวลากว่า 1 เดือน หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบข้อหารือถึงกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2556 ยืนยันว่า นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้าไปตรวจสอบองค์การค้าของ สกสค. กรณีการเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้กับ ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า จนถึงบัดนี้ ทั้ง ดร.ประแสงและนายพงษ์เทพ ยังไม่ได้รับหนังสือตอบข้อหารืออย่างเป็นทางการ จึงกำชับให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เร่งทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยเร็ว ทันทีที่ได้รับหนังสือ และจะเริ่มทยอยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามอีกครั้ง

กรณีการเช่าเครื่องพิมพ์ขององค์การค้าฯ ครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ ถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. หรือ บอร์ดบริหารของ สกสค. แต่ก็มีหลายประเด็นที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตั้งเป็นข้อสังเกตว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ร่วมประกวดราคาบางราย

เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องการกำหนดนโยบายในการบริหารการพิมพ์ ในแต่ละปี องค์การค้าฯ มีภารกิจที่จะต้องผลิตตำราเรียนประมาณ 40 ล้านเล่ม ขณะที่โรงพิมพ์ในสังกัดองค์การค้าฯ มีกำลังการผลิตรวมกันไม่ถึง 20 ล้านเล่ม ส่วนที่เกินจากกำลังการผลิต องค์การค้าฯ แก้ปัญหาด้วยการไปจ้างโรงพิมพ์ภายนอก อย่างเช่น ในปี 2555 องค์การค้าฯ จ้างพิมพ์หนังสือเรียน 25 ล้านเล่ม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท

ความต้องการเครื่องจักร

และจากการที่องค์การค้าฯ จัดสรรโควตางานพิมพ์หนังสือให้โรงพิมพ์ภายนอก ทำให้มีตำราเรียนปลอมแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ยอดขายขององค์การค้าฯ ประกอบกับเครื่องพิมพ์องค์การค้าฯ เกิดเหตุระเบิดพังเสียหาย ในปีการศึกษา 2556 นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จึงเปลี่ยนนโยบายการพิมพ์ใหม่ ยกเลิกการจ้างโรงพิมพ์ภายนอก แต่ดึงโควตางานพิมพ์ตำราเรียนกว่า 25 ล้านเล่ม กลับเข้ามาพิมพ์ภายในโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว โดยใช้วิธีการเช่าเครื่องพิมพ์ตำราเรียน

ดังนั้น เพื่อให้งานพิมพ์ตำราเรียนจำนวน 40 ล้านเล่ม เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 องค์การค้าฯ จึงทำแผนการจัดหาเครื่องพิมพ์เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารของ สกสค. เพื่อให้งานพิมพ์หนังสือเสร็จเรียบร้อยก่อนเปิดเทอม โดยต้องจัดหาเครื่องพิมพ์มาเสริมอีก 9 เครื่อง

ประมาณการรายได้จากการเช่าเครื่องรับพิมพ์งาน

จากนั้น องค์การค้าฯ ได้ทำประมาณการรายได้ในปี 2556 รายงานต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารขององค์การค้าฯ ว่า “การปรับเปลี่ยนนโยบายบริหารการพิมพ์ โดยใช้วิธีเช่าเครื่องพิมพ์แทนการไปจ้างโรงพิมพ์ภายนอก จะทำให้องค์การค้าฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านบาท โดยองค์การค้าฯ จะนำเครื่องเช่าไปหารายได้จากการรับงานพิมพ์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น รับจ้างสถาบันการศึกษาพิมพ์ข้อสอบ หรือรับพิมพ์เอกสารที่ต้องการความปลอดภัยสูง เป็นต้น หากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ จะช่วยทำให้ให้ผลประกอบการโดยรวมดีขึ้น คาดว่าองค์การค้าจะมีรายได้จากยอดขายเพิ่มขึ้น 1,724 ล้านบาท และมีกำไรเพิ่มขึ้น 172.4 ล้านบาท

หลังจากบอร์ดบริหารขององค์การค้าฯ อนุมัติ องค์การค้าฯ ก็เริ่มกระบวนการจัดหาเครื่องพิมพ์ โดยออกประกาศฉบับที่ 30/2555 เรียกโรงพิมพ์เอกชนมาประกวดราคาค่าเช่าเครื่องพิมพ์ โดยวิธีพิเศษ ครั้งแรกใช้รูปแบบของการประมูล มีผู้ยื่นซองเสนอราคาและผ่านเข้ารอบมา 2 ราย คือ “บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้น จำกัด กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา” ปรากฏว่ามีโรงพิมพ์ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้น จำกัด เพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่องค์การค้าฯ กำหนด แต่เสนอราคามาสูงกว่าราคากลางหลายเท่าตัว โดยเฉพาะงานพิมพ์เนื้อในหนังสือจำนวน 208 อิมเพรสชั่น ส่วน หจก.อุดมศึกษาถูกปรับตก เพราะไม่ได้เรียกเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าฯ ไปถ่ายรูปเครื่องจักรเพื่อยืนยันความพร้อม ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าถือว่าเป็นสาระสำคัญของงานนี้ ข้อความส่วนนี้ไม่ได้ระบุไว้ใน TOR และองค์การค้าฯ ก็ไม่ได้ทำเอกสารกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคาเพิ่มเติม แต่ใช้วิธีการเรียกผู้เข้าประกวดราคามาประชุมชี้แจงด้วยวาจา

ดังนั้น เมื่อมีผู้เสนอราคาผ่านเข้ารอบเพียงรายเดียว เพื่อความโปร่งใส คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า จึงทำเรื่องเสนอนายสมมาตร์ ให้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาเช่าเครื่องพิมพ์ และเนื่องจากการพิมพ์ตำราเรียนจำนวน 40 ล้านเล่ม ต้องเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2556 องค์การค้าฯ จึงเดินหน้านโยบายเช่าเครื่องพิมพ์โดยใช้วิธีพิเศษต่อไป

โรงพิมพ์แจ้งขอทดสอบเครื่อง

การจัดเช่าเครื่องพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่ใช้วิธีการเรียกประกวดราคาเหมือนครั้งแรก แต่ใช้วิธีการเรียกโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชนเข้ามาทดสอบเครื่องจักรทางการพิมพ์ หากรายใดผ่านการทดสอบ ให้องค์การค้าฯ ดำเนินการทำสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดบริหารองค์การค้าฯ ครั้งที่ 7/2555 มีมติเห็นชอบให้องค์การค้าฯ ใช้วิธีการดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 องค์การค้าฯ ออกจดหมายเรียกโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชน 10 ราย เชิญชวนโรงพิมพ์ที่สนใจ ให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมทดสอบเครื่องพิมพ์ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 และต้องติดตั้งเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ 9 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ปรากฏว่ามีโรงพิมพ์เอกชนแจ้งความประสงค์เข้ามาเพียง 3 ราย แต่มีโรงพิมพ์เอกชนเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติครบตามที่องค์การค้ากำหนด นั่นคือ บริษัท ศิริวัฒนาฯ ส่วนอีก 2 ราย นำเครื่องมาทดสอบไม่ครบ และทำเรื่องแจ้งความประสงค์เกินเวลาที่องค์การค้าฯ กำหนด

กำหนดการติดตั้งและนำเครื่องทดสอบ

จากนั้น บริษัท ศิริวัฒนาฯ ก็มีหนังสือถึงองค์การค้าฯ ขอนำเครื่องพิมพ์มาทำการทดสอบเป็นรายแรก ต่อมา วันที่ 13 ธันวาคม 2555 บริษัทศิริวัฒนาฯ เริ่มทยอยขนย้ายเครื่องพิมพ์เข้ามาติดตั้งในพื้นที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว

หลังจากติดตั้งเสร็จ ต้องมีการทำการทดสอบเครื่องจักรโดยพิมพ์งานที่องค์การค้าฯ กำหนด ซึ่งคณะกรรมการทดสอบเครื่องจักรกำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบแท่นพิมพ์ และสรุปผลทดสอบเสนอผู้อำนวยการองค์การค้าฯ และต่อมาองค์การค้าฯ ได้ลงนามใน “สัญญาเช่าเครื่องพิมพ์พร้อมซอฟต์แวร์ระบบบริหารการพิมพ์และเครื่องจักรผลิตเล่ม” กับบริษัทศิริวัฒนาฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ณ องค์การค้าของ สกสค.

ประเด็นที่ ดร.ประแสง มงคลศิริ ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เป็นห่วงและตั้งเป็นข้อสังเกต คือ เรื่องการกำหนดอัตราค่าเช่าเครื่องพิมพ์กับบริษัทศิริวัฒนาฯ มีหลักในการพิจารณาและมีการเจรจาต่อรองราคากันอย่างไร ปกติการพิจารณาอัตราค่าเช่าเครื่องจักร ควรจะเทียบเคียงกับราคากลาง ซึ่งคิดคำนวณจากราคาค่าเช่าต่อหน่วยการผลิต หักด้วยค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรว่าใช้งานมาเป็นระยะเวลากี่ปี และผลผลิตที่ได้ต่อวัน หรือต่อเดือน และการจ่ายค่าเช่าต้องมีการเก็บยอดผลผลิตที่ทำได้ในแต่ละวัน ทั้งนี้เพื่อให้องค์การค้าฯ และผู้ให้เช่า สามารถตรวจสอบว่ามียอดผลผลิตที่ตรงกันหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินค่าเช่า

ต้นทุนเช่าเครื่องพิมพ์เทียบราคากลาง

หากนำอัตราค่าเช่าเครื่องที่องค์การค้าฯ จ่ายให้กับบริษัทศิริวัฒนาฯ มาเปรียบเทียบกับราคากลาง (ปรับหน่วยวัดให้เท่ากันแล้ว) จะเห็นว่างานหลัก คือ งานพิมพ์เนื้อในหนังสือโดยเครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วนจำนวน 208 ล้านอินเพรสชั่น ราคากลางกำหนดไว้ 0.25 บาทต่อชุด แต่องค์การค้าฯ จ่ายค่าเช่าให้กับบริษัทศิริวัฒนาฯ ในราคา 0.80 บาทต่อชุด โดยราคานี้เป็นราคาที่ยังไม่นับรวมค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนย้าย ค่าติดตั้งปรับปรุงพื้นที่ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตกอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การค้าฯ

องค์การค้าพิมพ์เองกับจ้างเอกชน

และถ้านำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่องค์การค้าฯ จ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์ กรณีใช้เครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วนมีต้นทุนเฉลี่ย 0.70 บาทต่อชุด แต่ถ้าใช้เครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วนขององค์การค้าพิมพ์เองมีต้นทุน 0.50 บาทต่อชุด ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่นับรวมค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากระดาษ ค่าหมึกไว้ทั้งหมดแล้ว

ดังนั้น หากนำค่าเช่าที่องค์การค้าฯ จ่ายให้กับบริษัทศิริวัฒนาฯ มาคำนวณเปรียบเทียบกับราคากลางที่องค์การค้าฯ คำนวณ งานพิมพ์ตำราเรียนครั้งนี้มีส่วนต่างเกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 123 ล้านบาท ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มี ดร.ประแสงเป็นประธานจึงตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์ขององค์การค้าฯ ครั้งนี้ จะทำให้องค์การค้าฯ มีกำไรเพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท หรือทำให้กำไรโดยรวมขององค์การค้าฯ เพิ่มขึ้น 172 ล้านบาท ตามที่นายสมมาตร์เคยรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารของ สกสค. ครั้งที่ 2/2556 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 จริงหรือ?

พิมพ์เองถูกกว่าจ้างโรงพิมพ์ภายนอก