ThaiPublica > เกาะกระแส > สหภาพแรงงานสกสค.ต้านภตช.สอบทุจริต – ดึง ป.ป.ท. ลุยสอบเช่าแท่นพิมพ์-ขายหนังสือ 1,400 ล้าน

สหภาพแรงงานสกสค.ต้านภตช.สอบทุจริต – ดึง ป.ป.ท. ลุยสอบเช่าแท่นพิมพ์-ขายหนังสือ 1,400 ล้าน

28 สิงหาคม 2014


หลังจากที่ “ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.)” นำโดย พ.อ. (พิเศษ) ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6, ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี กองทัพบก, ดร.พะนารถ ตามประทีป รองประธาน ภตช., นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช. พร้อมกับหน่วยรักษาความปลอดภัย นำกำลังเข้าตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างองค์การค้าของ สกสค. เมื่อวันพุธที่ 20 สิงหาคม 2557 ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวก่อนหน้านี้

นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานเลขานุการกองทัพบก
นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานเลขานุการกองทัพบก

ปรากฏว่า ภตช. ถูกกลุ่มพนักงานขององค์การค้าฯ บางส่วนต่อต้านการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต เริ่มตั้งแต่การชุมนุมประท้วงที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว และเปิดเฟซบุ๊ก “รวมพลคนรักองค์การค้าของ สกสค.” ขณะที่ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนสำนักงานเลขานุการกองทัพบก และเดินสายชี้แจงในรายการ“ข่าว 3 มิติ” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2557 และเปิดแถลงข่าววันพุธที่ 27 สิงหาคม 2557 โดยนายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ให้สัมภาษณ์รายการข่าว 3 มิติว่า “ตนเองเกิดข้อสงสัย“ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.)”ใช้อำนาจอะไรมาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ (สกสค.) ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การค้าฯ ดูไม่ค่อยชอบมาพากล เนื่องจากไม่พบหลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งหน่วยงานแห่งนี้ ส่วนกรณีที่กล่าวหานายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ทำให้รัฐเสียหาย ก็ไม่เป็นความจริง เพราะองค์การค้าฯ เป็นหน่วยงานรัฐในสังกัด สกสค. แต่ไม่เคยได้รับเงินงบประมาณจาก สกสค. แม้แต่บาทเดียว ดังนั้น องค์การค้าฯ จึงไม่เคยทำให้รัฐเสียหายแม้แต่บาทเดียว”

วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา แถลงข่าว เรียกร้องให้คสช.ตรวจสอบสถานะภาพของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นของชาติ
วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา แถลงข่าว เรียกร้องให้คสช.ตรวจสอบสถานะภาพของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นของชาติ

นอกจากจะต่อต้านการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตของ ภตช. แล้ว ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ได้ออกมาชี้แจงแทนนายสมมาตร์ มีศิลป์ ในทุกประเด็นข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนบริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด สูงกว่าราคากลาง 3.5 เท่า และกรณีการขายหนังสือเรียนมูลค่า 1,400 ล้านบาทให้กับบริษัทล็อกซเลย์ฯ เพียงรายเดียวได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯอย่างถูกต้อง ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าองค์การค้าฯเช่าเครื่องพิมพ์สูงกว่าราคากลาง 3.5 เท่า ก็ไม่ได้มาจากฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้น สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาจึงทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ขอให้ตรวจสอบภตช.และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธานนท์ กรณีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการตรวจสอบองค์การค้าฯ และมีการอ้างถึงคำสั่งคสช.ที่ 69/2557 เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วไม่มีอำนาจหน้าที่ และกระทำเกินขอบเขต ขอให้คสช.ดำเนินการเอาผิดกับองค์กรแห่งนี้ให้ถึงที่สุด (แถลงการณ์สหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภาฉบับเต็ม)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เวลา 17.10 น. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช. และคณะ เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)” โดยขอให้ ป.ป.ท. เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่ทุจริต ผิดกฎหมาย และผิดระเบียบทางราชการในองค์การค้า และลงโทษเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ป.ป.ท. มีอำนาจการไต่สวนข้อเท็จจริง และชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าซี 9 หากตรวจพบหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูง (ซี 10) มีส่วนร่วมกระทำการทุจริต ต้องส่งดคีให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ (คำสั่งคสชที่ 69-2557)

แหล่งข่าวจาก ภตช. เปิดเผยว่า จากการที่ ภตช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียนและ เครือข่ายภาคประชาชน ว่าองค์การค้าฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของ สกสค. ที่มีนายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 อาจจะมีการกระทำผิดกฎหมาย และไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และราชการได้รับความเสียหายหลายประเด็นดังนี้ คือ

1. ตาม พ.ร.บ.สภาครู และบุคลากรทางการศึกษา 2556 มาตรา 83 ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สินหนี้สิน สิทธิต่างๆ ของคุรุสภาตาม พ.ร.บ.ครู 2488 และองค์การค้าของคุรุสภา ไปให้ สกสค. ซึ่ง สกสค. เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งตาม พ.ร.บ.สภาครูฯ ดังนั้น สกสค. และองค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ

2. กรณีการขายหนังสือเรียนมูลค่า 1,400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 นายสมมาตร์และพวกไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม) กล่าวคือ องค์การค้าฯ ไม่ได้ประกาศเชิญชวนผู้ค้ารายอื่น ปกปิดข้อมูลข่าวสาร ไม่นำประกาศดังกล่าวเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ทำให้บริษัทล็อกซเลย์ฯ ได้รับสิทธิขายหนังสือลอตนี้แต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัทล็อกซเลย์ฯ ได้รับส่วนลด 25% กรณีนี้อาจเข้าข่ายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)ของ ป.ป.ช. แต่เนื่องจากบริษัทล็อกซเลย์ฯ ไม่มีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายหนังสือ วันที่ 18 ธันวาคม 2556 บริษัทล็อกซเลย์ฯ จึงนำหนังสือลอตนี้มาทำข้อตกลงว่าด้วยการรับฝากสินค้ากับองค์การค้าฯ องค์การค้าฯ ได้รับค่าฝากขาย 20% ถือว่าผิดระเบียบขององค์การค้าฯ ที่ห้ามรับฝากขายสินค้าจากบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางการค้า กรณีนี้อาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จึงขอให้ ป.ป.ท. ตรวจสอบประเด็นนี้

3. กรณีการเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือจากผู้เช่ารายเดียว เริ่มจากวันที่ 26 ตุลาคม 2555 องค์การค้าฯ ออกประกาศ TOR และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เปิดให้บริษัทและห้างร้านที่สนใจยื่นซองประกวดราคา มีบริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคา 2 ราย คือ บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา

การประกวดราคาครั้งนั้น หจก.อุดมศึกษาเสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งทุกรายการและใกล้เคียงกับราคากลาง แต่เนื่องจากมีผู้ผ่านเข้ารอบเพียง 2 ราย นายสมมาตร์จึงประกาศยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ตามระเบียบสำนักนายกฯ

ต่อมาองค์การค้าฯ ออกหนังสือเชิญชวนโรงพิมพ์ของรัฐและเอกชน โดยให้ขนเครื่องจักรขนาดใหญ่มาทำการทดสอบเครื่องพิมพ์ที่องค์การค้าฯ ปรากฏว่ามีบริษัทศิริวัฒนาฯ รายเดียวที่ขนเครื่องจักรมาทำการทดสอบที่องค์การค้าฯ บริษัทศิริวัฒนาฯ จึงเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิมพ์หนังสือเรียนในราคาที่สูงกว่าราคากลาง 3.5 เท่า

กลุ่มพนักงานองค์การค้าของ สกสค. นัดชุมนุมให้กำลังใจนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.  วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557
กลุ่มพนักงานองค์การค้าของ สกสค. นัดชุมนุมให้กำลังใจนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557

สหภาพ1

4. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2541 คุรุสภามีคำสั่งที่ 15/2551 เรื่องบอกเลิกสัญญาการจ้างนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา (ชื่อเดิม) โดยนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา ทำหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายสมมาตร์ มีศิลป์ กับพวก ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นายสมมาตร์ขาดคุณสมบัติการสมัครเป็นผู้บริหารองค์การค้าฯ ตั้งแต่วันที่เปิดสรรหา เพราะถูกให้ออก เลิกจ้าง ดังนั้น บุคคลหรือคณะกรรมการสรรหา ตลอดจนผู้ที่แต่งตั้งนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ อาจจะเข้าข่ายความผิดประพฤติมิชอบตามมาตรา 157 ด้วย (สรุปคดีอาญาที่องค์การค้าดำเนินคดีกับนายสมมาตร์ มีศิลป์ กับพวก ในอดีต)

ดังนั้น ภตช. จึงขอให้ ป.ป.ท. ดำเนินการดังนี้ 1) ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ตามข้อ 2 และ 3 2) ในกรณีการแต่งตั้งนายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เมื่อเดือนกันยายน 2555 อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ ป.ป.ท. ตรวจสอบเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายสมมาตร์ ทั้งทางแพ่งและอาญา 3) ขอให้ ป.ป.ท. ตรวจสอบการบริหารงานในช่วงปี 2555-2557 องค์การค้าฯ มีผลขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท (จากผลขาดทุนสะสมทั้งหมด 4,000 ล้านบาท) มีข้อเท็จจริงประการใด หากมีมูลความจริง ก็ขอให้ ป.ป.ท. ดำเนินคดีกับนายสมมาตร์และคณะกรรมการทุกคน