ท่ามกลางข้อกังขาและเสียงท้วงติงในกระบวนการเปิดประมูลโครงการจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ว่าไม่โปร่งใส แต่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลับไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการเดินหน้าเปิดประมูลและอนุมัติผู้ได้รับคัดเลือก 4 ราย ในวงเงิน 284,754.78 ล้านบาท ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2556
มาถึงขั้นตอนนี้ ในมุมของรัฐบาลอาจมองว่าประสบผลสำเร็จ โครงการสามารถเดินหน้าได้ตามแผน คือสามารถกู้ยืมเงินให้ทันภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ ครม. อนุมัติแผนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 314,337.87 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็เดินหน้าต่อเรื่องการร่างสัญญาต่างๆ โดยคาดว่าจะมีการลงนามเซ็นสัญญากับผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ออกแบบและก่อสร้างทั้ง 4 ราย ประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้
“ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการจัดการน้ำจนถึงวันที่ ครม. อนุมัติ ใช้เวลาทั้งหมด 16 เดือน กับอีก 14 วัน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย” นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวหลังประชุม ครม. วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แต่ในมุมของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เรื่องนี้ไม่จบง่าย โดยพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นถอดถอน ครม. ทั้งคณะกรณีอนุมัติให้ประมูลโครงการน้ำ 350,000 ล้านบาท ให้ 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งเข้าข่าย “ส่อฮั้ว” ระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ และ “ขัดรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากระชาชน
“ได้ร่างหนังสือเตรียมถอดถอนแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด หรืออย่างน้อย 125 คน เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา และพิจารณาส่งต่อให้ ป.ป.ช. ต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 โดยคาดว่าจะยื่นได้ภายในสัปดาห์นี้ รวมทั้งจะเชื่อมโยงต่อไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าด้วย” นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษกคณะรัฐมนตรีเงา พรรคประชาธิปัตย์ อธิบายขั้นตอนการยื่นถอดถอน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินการการบริหารจัดการการกู้เงินตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นประธานการประชุม ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง อาทิ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานหนี้สาธารณะ
โดยกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตถึงบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกในการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการดังกล่าว จึงอยากให้เปิดเผยรายละเอียดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนต่อสาธารณชน เนื่องจากเชื่อว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือก จึงเน้นย้ำให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ
และแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามยืนยันความบริสุทธิ์ ท้าให้ตรวจสอบ โดยมั่นใจกับผลการประมูลที่สามารถเจรจาต่อรองราคาลดลงได้ประมาณ 2% ของกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ หรือ 6,245.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ผู้เสนอราคามาต่ำกว่ากรอบวงเงินงบประมาณเพียง 69.12 ล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงินที่เสนอประมูลครั้งแรกรวมทั้งสิ้น 290,930.88 ล้านบาท จากกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 291,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้เพียง 69.12 ล้านบาท
แต่วงเงินเจรจาต่อรองหลังเปิดซองประมูลรอบแรก ได้ราคาลดลงจากรอบแรก 290,930.88 ล้านบาท เหลือ 284,755.78 ล้านบาท หรือได้ราคาถูกลงจากรอบแรก 6,175.1 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การเสนอราคาประมูลที่ใกล้เคียงกับราคากลางหรือราคาที่ตั้งไว้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการ “ฮั้ว” หรือ “ล็อคสเปค” และที่สำคัญ มีผลการศึกษาว่า โครงการที่มีวงเงินสูงตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
เพราะฉะนั้น ต้องติดตามว่า กระบวนการตรวจสอบจะเข้มข้น จนกระเทือนถึงรัฐบาลได้หรือไม่
อ่านเพิ่มเติมโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท บททดสอบความโปร่งใสรัฐบาลยิ่งลักษณ์(ตอนที่1),และ ตอนจบ
การเมืองบีบกู้โครงการน้ำ3.5 แสนล้าน ล่วงหน้า 4 หมื่นล้าน ต้นเหตุเด้ง”สุภา ปิยะจิติ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่าตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท มีการกู้เงินออกไปแล้ว 10,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน มีมติเห็นชอบกรอบแผนงานการใช้เงินเพื่อลงทุนเพื่อสร้างอนาคตของประเทศในระยะยาว วงเงิน 10,000 ล้านบาท (ดูมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มิถุนายน 2556 เรื่องที่ 8)
ต่อมาทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ทำเรื่องถึงกระทรวงการคลังขอเงินกู้เพิ่มเติมอีก 40,000 ล้านบาท ในส่วนที่ขอเงินเพิ่มเติมไม่มีรายละเอียดโครงการ ทั้งนี้ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในข้อ 15(1)และ(2) จะต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. จากนั้นต้องส่งให้สำนักงบประมาณเห็นชอบ กระทรวงการคลังจึงสามารถดำเนินการกู้เงินได้
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวไม่มีรายละเอียดราคากลาง ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มาตรา 103/7 กำหนดให้หน่วยรัฐต้องจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าการไม่อนุมัติเงินกู้ครั้งนี้เนื่องจากนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังมีความเห็นความขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกู้ไม่เป็นไปตามระเบียบ โดยได้มีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ผลจากข้อมูลที่ไม่พร้อม คุณสุภา จึงไม่อนุมัติการกู้เงิน เพราะผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและกฎหมายป.ป.ช. หากดำเนินการไป คนที่อนุมัติจะมีความผิด เป็นเหตุให้ฝ่ายการเมืองไม่พอใจ จึงมีคำสั่งให้มีการโยกย้ายคุณสุภา รองปลัดที่ดูแลด้านรายจ่ายและเงินกู้ให้ไปดูแลงานประชาสัมพันธ์ และให้คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดคลังมาดูแทน”
ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายเงินกู้ที่เหลืออีก 3.3 แสนล้านบาท จะต้องดำเนินกู้เงินให้เรียบร้อยภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้เป็นไปตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ภายในเดือนมิถุนายน ขณะนี้สำนักบริหารหนี้ได้เชิญสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย มาหารือเพื่อทำข้อตกลงเบื้องต้นยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินเมื่อโครงการพร้อม แต่วิธีการดังกล่าวตามกฎหมายแล้วยังไม่ถือว่ายังไม่มีการกู้เงิน ในประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องสรุปให้ชัดเจนว่าเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่