Hesse004
แม้ว่าผลการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทั้ง 10 โมดูล จะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะหลังได้ตัวผู้ชนะข้อเสนอด้านเทคนิคของแต่ละโมดูลแล้ว คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก็ได้เรียกกลุ่มบริษัททั้ง 4 เข้าเจรจา “ต่อรองราคา” เพื่อปรับลดวงเงินลงมา
ทั้งนี้ ตามหลักการ “ต่อรองราคา” ที่ใช้ในระเบียบพัสดุปี 2535 จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อผู้เสนอราคาต่ำสุดยังเสนอราคามาเกินวงเงินงบประมาณที่จัดซื้อจัดจ้าง
อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวเป็นการจัดหาผู้รับจ้างที่ไม่ได้ใช้ระเบียบพัสดุปี 2535 และมีการออกประกาศพัสดุเป็นพิเศษสำหรับใช้ดำเนินโครงการนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การอ้างอิงข้อระเบียบต่างๆ ในระเบียบพัสดุปี 2535 จึงไม่ถูกนำมาใช้1
ความน่าสนใจของการจัดหาผู้รับจ้างโครงการนี้อยู่ที่การกำหนด TOR ซึ่งแต่ละโมดูลกำหนดขอบเขตงานไว้อย่างกว้างขวางภายใต้รูปแบบการเสนอราคาที่เรียกว่า Guaranteed Maximum Price (GMP)
รูปแบบการเสนอราคาแบบ GMP นั้น กำหนดให้ผู้รับจ้างสามารถเสนอราคาได้ภายในวงเงินเพดานงบประมาณที่กำหนด อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าโครงการนี้ไม่มีราคากลาง เพราะ กบอ. ชี้แจงว่าลักษณะโครงการเป็น “การออกแบบไปก่อสร้างไป” หรือ Design and Build
อย่างไรก็ตาม กบอ. เองได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะอนุกรรมการรวบรวมหลักเกณฑ์ราคามาตรฐานของทางราชการเพื่อจัดทำราคาต่อหน่วยตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาของกรมบัญชีกลาง ในการคำนวณราคากลางของงานชนิดเดียวกันและตามหลักเกณฑ์วิธีการของงบประมาณเพื่อใช้ในการต่อรองราคา”
เหตุผลที่ กบอ. ตั้งคณะอนุกรรมการชื่อยาวๆ ชุดนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้มีการต่อรองราคาใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเปิดซองราคาเฉพาะผู้ที่ชนะคะแนนเทคนิคไปแล้ว
แต่ กบอ. เองยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ต่อรองราคากับผู้รับเหมาแล้วได้ราคาลดลงมาเท่าไหร่ เงื่อนไขการต่อรองเป็นอย่างไร และที่สำคัญ มีการปรับเงื่อนไขการทำงานหรือขอบเขตงานบางอย่างหรือไม่
หากมองในมุมที่ชื่นชม การทำงานของ กบอ. ครั้งนี้ ดูจะ “รัดกุม” มาก เพราะหลังจากต่อรองราคาแล้ว กบอ. ได้ตั้งคณะอนุกรรมกรรมการอีกชุดเพื่อร่างสัญญาและจัดทำสาระสำคัญของร่างสัญญา
สัญญาจ้างดำเนินโครงการแต่ละโมดูลมีความแตกต่างจากสัญญาก่อสร้างหรือจ้างที่ปรึกษาทั่วไป เพราะโครงการบริหารจัดการน้ำมีความพิเศษตรงที่ใช้ประกาศพัสดุแยกออกมาต่างหาก
ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า ประกาศพัสดุดังกล่าวไม่ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะต้องส่งสำเนาสัญญาให้กับ สตง. และกรมสรรพากร ซึ่งตามระเบียบพัสดุปี 2535 ข้อ 135 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการจะต้องส่งสำเนาสัญญาที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท ให้ สตง. และกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา
แม้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจดูไม่ใช่ “สาระ” ในความเห็นของ กบอ. หรือคนร่างประกาศ แต่การส่งสัญญาให้ “องค์กรตรวจสอบ” ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบก่อนนั้นมีความหมายมากกว่าจะรอให้องค์กรตรวจสอบทำเรื่อง “ร้องขอ” เพื่อตรวจสอบเอง
นัยยะหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและ กบอ. ให้ความสำคัญหรือ “เห็นหัว” หน่วยงานตรวจสอบหรือไม่
อีกนัยยะหนึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์อย่างแท้จริงที่จะทำให้โครงการนี้ถูกตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการหลังจากลงนามสัญญาไปจนกระทั่งส่งมอบงาน
.
และเมื่อ กบอ. เสนอความเห็นให้ ครม. อนุมัติผู้รับจ้างในแต่ละโมดูลแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือ การร่างสัญญาของทั้ง 10 โมดูล ซึ่งร่างสัญญาดังกล่าว ทาง กบอ. ควรจะเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินโครงการและนำเอาบทเรียน “ค่าโง่” โครงการรัฐในอดีตมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น
1. ขอบเขตงานที่ผู้รับจ้างต้องทำยังสอดคล้องกับ TOR เดิมอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะโมดูลที่เป็นโครงการก่อสร้าง ขอบเขตงานในสัญญาก่อสร้างได้กำหนดไว้ตรงกับรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) หรือไม่ เช่น การเลือกพื้นที่ยังอยู่ใน Feasibility Study ตอนที่ศึกษาอยู่หรือไม่ (กรณีนี้ควรดูตัวอย่างการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน)
2. จำนวนงวดงานและงวดเงินที่รัฐต้องจ่ายแต่ละงวดเหมาะสมกับเนื้องานหรือไม่
3. การจ่ายเงินล่วงหน้าคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสัญญารวมทั้งหมด (กรณีนี้ควรดูความล้มเหลวจากการบริหารสัญญาการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง)
4. เงื่อนไขการขอขยายเวลาตามสัญญาจ้างประกอบด้วยอะไรบ้าง สมเหตุสมผลหรือไม่ (กรณีนี้ควรดูความล้มเหลวจากการก่อสร้างสนามฟุตซอลของ กทม. ที่ก่อสร้างไม่เสร็จทันการแข่งขันฟุตซอลโลก)
และ 5. เงื่อนไขการนำสัญญาไป “จ้างช่วง” ต่อ หรือ Sub-Contracting นั้นเป็นอย่างไร ควรกำหนดให้ชัดเจนในสัญญาหรือไม่ว่า “ห้ามมิให้ผู้รับจ้างนำสัญญาไปจ้างช่วงต่อกับบริษัทเอกชนที่เคยมีส่วนร่วมในการประมูลครั้งนี้” เพื่อป้องกัน “ข้อครหา” เรื่อง “เตี๊ยม” กันมาก่อนการประมูล ซึ่งผู้ชนะอาจให้คู่แข่งถอนตัวออกไปบ้างหรือเสนอเทคนิคสู้ไม่ได้บ้าง โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อผู้ชนะได้งานแล้วจะต้อง “จ้างช่วง” ต่อเพื่อเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการฮั้วประมูล
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ หากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์และ กบอ. ยินดีที่จะเปิดเผยร่างสัญญาก่อนลงนามในสัญญากับผู้รับจ้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันตรวจสอบก่อน จะเป็นการดีมิใช่น้อยที่จะทำให้โครงการบริหารจัดการน้ำเป็นโครงการหนึ่งที่มีความโปร่งใส เพราะได้ผ่านการท้วงติงจากรอบด้านแล้ว และที่สำคัญ การเปิดเผยดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจจริงที่มาจากฝั่งรัฐบาลและ กบอ. ในฐานะเจ้าของโครงการ
นี่จะเป็น “บททดสอบแรก” ของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ที่ต้อง “พิสูจน์” ให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลของท่านจะสามารถทำให้โครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ “โปร่งใส” ได้จริงหรือไม่
…หรือจะเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” ที่เอาไว้ใช้แก้ตัวไปวันๆ
หมายเหตุ: 1 เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ ไม่อ้างอิงถึงระเบียบพัสดุปี 2535 แต่เป็นการไม่อ้างอิงเฉพาะขั้นตอนการจัดหาผู้รับจ้างเท่านั้น ขณะที่ขั้นตอนของการบริหารสัญญา ตามประกาศข้อ 11 ได้กล่าวถึงระเบียบพัสดุปี 2535 ไว้อย่างคร่าวๆ โดยไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องใช้ระเบียบพัสดุข้อใด ระบุเพียงแค่ว่า “การตรวจการจ้าง การควบคุมงานก่อสร้าง และการอื่นใดเกี่ยวกับการจ้างที่ไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้นำข้อกำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 มาบังคับใช้โดยอนุโลม”