รายงานโดย Hesse004
ความคืบหน้าล่าสุดภายหลังจากประกาศผลการพิจาณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท (ภายหลังปรับลดวงเงินลงมาเหลือ 2.91 แสนล้านบาท) ดูเหมือนว่าทั้งภาครัฐและเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจะพอใจกับผลที่ออกมา
ที่สำคัญ ไม่มีกลุ่มบริษัทใดออกมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประมูลครั้งนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งกิจการร่วมค้าญี่ปุ่นไทยและกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ที่นำโดย “ช. การช่าง” จะถอนตัวไปในนาทีสุดท้าย
อย่างไรก็ดีต้องชื่นชมการประมูลครั้งนี้ว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดสดการประมูลในทุกขั้นตอนตั้งแต่ยกกล่องเอกสารการประมูลจนกระทั่งอ่านผลคะแนนผู้ชนะเทคนิค
น่าชื่นชมว่าการถ่ายทอดสดการประมูลโครงการนี้จะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ต่อไปให้กับการประมูลโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ในอนาคต
แต่ก็น่าสนใจตรงที่ผลการประมูลโครงการทั้ง 10 โมดูล ผู้ชนะคะแนนทางเทคนิคทุกรายเสนอราคาเกือบเท่ากับเพดานวงเงินที่กำหนดไว้
อาทิ โมดูล A1 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กำหนดเพดานงบประมาณไว้ 50,000 ล้านบาท ผลการเปิดซองราคาของผู้ชนะด้านเทคนิค คือ ITD –POWERCHINAปรากฏว่า ราคาที่เสนอมาอยู่ที่ 49,999.90 ล้านบาท
ต่ำกว่าราคาเพดานงบประมาณเพียง 0.10 บาท หรือ 10 สตางค์!!
ส่วนคู่แข่งอีกราย คือK-Water คณะกรรมการไม่เปิดซองราคา แม้ว่าจะผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคก็ตาม เนื่องจากประกาศพัสดุเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำ ปี 2555 ข้อ 6(2) และ (3) 1 รวมทั้งเงื่อนไขของ TOR กำหนดไว้ว่าจะเปิดซองเทคนิคพร้อมกันก่อน ใครได้คะแนนด้านเทคนิคสูงสุด ผู้เสนอราคารายนั้นจะได้รับการเปิดซองราคาและต่อรองราคาในลำดับแรก(ดูกล่องที่ 1 รายละเอียด หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคของ TOR โครงการนี้)
กล่องที่ 1 หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค(ปรากฏในข้อ 8.5 ของเอกสาร TOR)
ในลำดับต้นผู้ว่าจ้างจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายเพื่อให้คะแนนและจัดลำดับการให้คะแนนข้อเสนอทางเทคนิคมีเกณฑ์ดังนี้
8.5.1 แนวคิดวิธีการดำเนินงาน คะแนนเต็ม 20 คะแนน
8.5.2 ความสมบูรณ์ของข้อเสนอด้านเทคนิค คะแนนเต็ม 60 คะแนน
8.5.3 บุคลากรและประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ คะแนนเต็ม 20 คะแนน
ในการพิจารณาจัดลำดับผู้ยื่นข้อเสนอจะพิจารณาจัดลำดับเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 80 คะแนนจากมากไปหาน้อยจากนั้นผู้ว่าจ้างจะเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของผู้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคที่ได้คะแนนสูงสุดเพื่อเจรจาต่อรองให้ได้ราคาที่เหมาะสมหากเจรจาต่อรองราคาไม่ได้ผลผู้ว่าจ้างจะยกเลิกการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นและเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนถัดไปตามลำดับเพื่อเจรจาต่อรองให้ได้ราคาที่เหมาะสม
ที่มา เอกสารข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) โครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 10 โมดูล
เงื่อนไขดังกล่าวทำให้มีข้อสังเกตว่า กบอ. อาจต้องการผู้รับจ้างที่มีความสามารถ “มากกว่า” คำนึงแต่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียว เพราะ กบอ. เลือกที่จะเจรจาเปิดซองราคาของผู้ได้คะแนนทางเทคนิคสูงสุดก่อนแทนที่จะดูราคาของผู้เสนอราคาทุกรายที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอทางเทคนิค
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อโครงการดังกล่าวให้ความสำคัญกับด้านข้อเสนอเทคนิคก่อนราคาแล้วไซร้ ทาง กบอ. เองก็ควรเปิดเผยรายละเอียดการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการทุกรายที่พิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคด้วยว่า เพราะเหตุใดคณะกรรมการจึงให้คะแนนทางเทคนิคของแต่ละกลุ่มบริษัทตามคะแนนที่ปรากฏ เช่น โมดูล A5 ก่อสร้างทางผันน้ำหรือ Floodway ที่ผู้ได้คะแนนด้านเทคนิคสูงสุด คือ K-Waterได้คะแนน 89.84 จาก 100 “เฉือน” ITD-POWERCHINA ที่ได้คะแนนเทคนิค 88.26 ไป 1.58 คะแนน
คำถามที่ตามมา คือ 1.58 คะแนนนั้นมีที่มาอย่างไร แพ้ชนะวัดจากอะไร เพราะความแตกต่างของคะแนนดังกล่าวสะท้อนว่าการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการในการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคนั้น อาจมีผลต่อการได้มาซึ่งผู้รับจ้างโดยที่ยังมิได้พิจารณาเรื่องของราคาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก
และที่สำคัญ คือ เมื่อ กบอ. ไม่เปิดซองราคาของ ITD-POWERCHINA เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้คะแนนลำดับถัดมานั้น คำถาม คือ หาก ITD-POWERCHINA เสนอราคาต่ำกว่า K-Water ขึ้นมาโดยอาจเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินเพดานงบประมาณมากกว่า K-Water หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น รัฐจะเสียโอกาสหรือไม่ที่จะได้ผู้เสนอราคาที่มีราคาต่ำสุด ถึงแม้ว่า K-Water จะมีข้อเสนอทางเทคนิคที่ดีกว่า ITD-POWERCHINA แต่คะแนนด้านเทคนิคดังกล่าวเป็นไปอย่าง “สูสี” กันมากกว่า “ทิ้งขาด”
หากเป็นเช่นนี้ การตัดสินใจภายใต้ดุลยพินิจของคณะกรรรมการย่อมมีผลต่อวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ เพราะทั้งคู่ได้คะแนนที่ผ่านเงื่อนไขของ กบอ. ทั้งสิ้น คือ เกินกว่า 80 คะแนน
แต่ก็น่าสนใจว่า การเสนอราคาครั้งนี้ทั้ง ITD-POWERCHINA และ K-Water ต่างไม่เกิดคำถาม “คาใจ” หรือข้อสงสัยใดๆ ต่อประเด็นดังกล่าว
หรืออาจเป็นเพราะว่า ทั้งคู่ได้รับโครงการย่อยในแต่ละโมดูลไปเรียบร้อยแล้ว (ITD-POWERCHINA ชนะด้านเทคนิคไป 5 โมดูล K-Water ชนะด้านเทคนิค 2 โมดูล แต่ได้มูลค่าโครงการสูงสุด)
กรณีดังกล่าวคล้าย ๆ กับ โมดูล A4 ปรับปรุงลำน้ำ แต่คราวนี้กลับกันตรงที่ ผู้ชนะคะแนนด้านเทคนิค คือ ITD-POWERCHINA ได้คะแนนไป 90.09 ส่วน K-Waterได้คะแนน 89.87 ซึ่ง ITD-POWERCHINA “เฉือน” K-Water ไปเพียง 0.12 คะแนน
ด้วยเหตุนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่TOR กำหนด คือ เปิดซองเฉพาะผู้เสนอราคาที่ได้คะแนนเทคนิคมากที่สุด นั่นคือ ITD-POWERCHINA ซึ่งเมื่อเปิดราคาออกมาพบว่า ITD-POWERCHINA เสนอราคาเต็มเพดานวงเงิน 17,000 ล้านบาท
ส่วน K-Water ไม่ได้เปิดซองราคา เพราะได้คะแนนน้อยกว่าแค่ 0.12 คะแนน!
ดังนั้น การใช้ดุลยพินิจเพื่อคัดเลือกผู้ชนะด้านเทคนิคนั้นควรระบุรายละเอียดออกมาชัดเจนตั้งแต่ในชั้นการกำหนดTOR หรือไม่ มิใช่ระบุไว้เพียงคร่าว ๆ ว่าจะให้คะแนนภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ข้อเพียงอย่างเดียว และถึงแม้ไม่ปรากฏรายละเอียดใน TOR แต่เหตุผลการให้คะแนนแต่ละหลักเกณฑ์ก็ควรปรากฏในรายงานผลการพิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคาที่ควรถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบก่อนลงนามในสัญญา
หาก กบอ.ทำเช่นนี้ได้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะทำให้โครงการนี้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้
ท้ายที่สุด แม้ว่าทั้ง ITD-POWERCHINA และ K-Water จะไม่สงสัยเงื่อนไขการพิจารณาราคาใน TOR แต่พวกเราในฐานะ “ประชาชน” ผู้เป็นเจ้าของภาษี ยังคงมีคำถามหลายเรื่องที่ “รอ” คำตอบจาก กบอ.และรัฐบาลอยู่
หมายเหตุ : 1 ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.255 5 ข้อ 6(2) กำหนดว่า คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นเสนอทุกรายและจัดลำดับ ส่วน 6(3) กำหนดว่าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของผู้ยื่นข้อเสนอที่มีข้อเสนอด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและเจรจาต่อรองให้ได้ราคาที่เหมาะสม