ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จำนำข้าวจาก “ทักษิณ” ถึง “ยิ่งลักษณ์” 17 ครอป ขาดทุน 3.93 แสนล้านบาท

จำนำข้าวจาก “ทักษิณ” ถึง “ยิ่งลักษณ์” 17 ครอป ขาดทุน 3.93 แสนล้านบาท

19 มิถุนายน 2013


ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีประเด็นข่าวใดฮอตเท่ากับข่าวโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ถูกระบุตัวเลขความเสียหาย 2.6 แสนล้านบาท ข่าวนี้ส่งผลทำให้ “มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” ออกมาส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลไทยผ่านสื่อต่างประเทศ โดยระบุว่า ตัวเลขขาดทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงทางการคลังที่อาจกระทบต่อเป้าหมายการจัดงบประมาณสมดุลภายในปี 2560

ทันทีที่ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวถูกปูดออกมา ก็มีใบสั่งลับจากฝ่ายการเมือง โยกย้าย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ออกจากประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาล พร้อมกับโยก น.ส.สุภาจากรองปลัดกระทรวงการคลัง คุมสายงานด้านรายจ่ายและหนี้สิน ไปนั่งเป็นรองปลัดฯ ดูแลงานประชาสัมพันธ์ ท่ามกลางกระแสข่าวจำนำข้าวที่ร้อนแรง สุดท้ายก็ไม่กล้าปลด น.ส.สุภาออกจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำ เพราะเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ที่หลายฝ่ายกำลังจับตา

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปฎิเสธตัวเลขความเสียหาย 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่มูดีส์พยายามสอบถามตัวเลขที่แท้จริงจากรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

จำนำข้าว 17 โครงการ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อเท็จจริงคือมีผลขาดทุนเกิดขึ้นไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 (ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 2) โครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความเสียหายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 220,967 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในฤดูกาลผลิตปี 2555 ขาดทุน 93,933 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ขาดทุนอีก 84,071 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวต่อไปอีกว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีได้สรุปตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวในปี 2547 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไปทั้งสิ้น 17 โครงการ มีผลขาดทุนเกิดขึ้น 393,902 ล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้นำตัวเลขความเสียหายจากการปิดบัญชีครั้งที่ 2 ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 มาเปรียบเทียบกับตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปิดบัญชีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 พบว่ามีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 187,184 ล้านบาท โดยผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 และข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 เดิมทีโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/2555 ขาดทุนประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่พอใกล้ถึงวันปิดบัญชี ตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 42,963 ล้านบาท

ขาดทุนจากการรับจำนำข้าว 17 ฤดูกาล

หลังจากที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำสรุปตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ส่งถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ปรากฏว่าเรื่องนี้ก็ได้ถูกตีกลับมาที่ห้องปลัดกระทรวงการคลัง (น.ส.สุภา) ภายในวันเดียวกัน โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอให้คณะกรรมการปิดบัญชีฯ ตรวจสอบตัวเลขความเสียหายให้ถูกต้อง ซึ่ง น.ส.สุภาก็ยืนยันการประเมินตัวเลขผลขาดทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ดำเนินการไปตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 ซึ่งมีวิธีการคำนวณอยู่ 3 วิธี คือ ใช้ราคาสินค้าคงเหลือ, ใช้ราคาทุน และใช้มูลค่ายุติธรรมสุทธิ ราคาใดต่ำก็ให้ใช้ราคานั้น โดยนิยามของมูลค่ายุติธรรม หมายถึง ราคาที่คาดว่าจะขายได้ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ใช้วันที่ 31 มกราคม 2556 เป็นวันปิดบัญชี

ทั้งนี้ ในการคำนวณตัวเลขผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสต็อกข้าวที่เก็บในโกดัง แต่ใช้วิธีการตรวจสอบทางบัญชีโดยให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ส่งข้อมูลตามแบบฟอร์มที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ กำหนด พร้อมกับทำหนังสือยืนยันมาเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบคุณภาพและปริมาณข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง

ส่วนข้าวที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ทางกรมการค้าระหว่างประเทศก็ไม่ส่งข้อมูลมาให้ อ้างว่าเป็นความลับ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จึงใช้ข้อมูลการระบายข้าวที่ อตก. และ อคส. แจ้งไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาคำนวณ หลังจากที่ได้จำนวนเงินที่ได้จากระบายข้าวแล้ว ก็เอามาหารด้วยปริมาณข้าว แต่ถ้าฤดูไหนไม่มีการขายข้าว คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ก็ใช้ราคาข้าวตามประกาศของกรมการค้าภายในเฉลี่ย 7 วันทำการเป็นตัวคำนวณ เปรียบเทียบกัน 3 ราคา คือ ราคาทุน, ราคาสินค้าคงเหลือ และราคาตามมูลค่ายุติธรรมสุทธิ ราคาไหนต่ำสุดให้ใช้ราคานั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2

“ที่ผ่านมารัฐบาลขายข้าวได้ตันละ 10,000-16,000 บาท คงเป็นไปไม่ได้ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะใช้ราคาขายที่ 25,000 บาทต่อตัน สมมติ ซื้อหุ้นราคา 100 บาท วันนี้ราคาตกเหลือ 10 บาท ยังไม่ขาย ถือว่ายังไม่ขาดทุน แต่ในใจรู้แล้วว่าราคาหุ้นวันนี้เหลือแค่ 10 บาท ตามหลักการบัญชีต้องบันทึกที่ราคาต่ำสุด และถ้าหากเป็นธุรกิจเอกชนไปลงบัญชีไว้ที่ราคาสูงๆ ก็ต้องเสียภาษี และยังไม่ทราบว่าในอนาคตเมื่อขายหุ้นออกจะได้กำไรหรือไม่ เพราะตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 จึงให้ใช้ราคาต่ำสุด หรือที่เรียกว่า Mark to Market สรุปแล้ว นโยบายรับจำนำข้าวในรอบ 17 ฤดูกาลที่ผ่านมา มียอดความเสียหายอยู่ที่ 3.93 แสนล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะต้องหาเงินมาใช้หนี้คืนให้กับ ธ.ก.ส. 3.8 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว

รัฐบาลลดวงเงินจำนำข้าวเหลือเกวียน 12,000 บาท – เปิดผลวิเคราะห์สศช. เสนอแนวทางลดภาระการคลัง

ในที่สุดรัฐบาลยอม “ถอย” ปรับเกณฑ์โครงการจำนำข้าว โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) นัดพิเศษหลังประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มิ.ย. 2556 มีมติปรับลดราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าเหลือ 12,000 บาท/ตัน จาก 15,000 บาท/ตัน โดยราคาดังกล่าวให้ใช้เฉพาะโครงการจำนำข้าวนาปรังปี 2556 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2556

นอกจากนี้ได้ปรับ “เงื่อนไข” การรับจำนำข้าวนาปรังที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 โดยจำกัดวงเงินชาวนาในการจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2556 โดยระบุว่า เพื่อลดภาระงบประมาณ รักษาวินัยทางการเงินการคลังให้บรรลุเป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลเกิดขึ้นในปี 2560 โดยรัฐบาลจะจำกัดวงเงินภาระค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนในโครงการรับจำนำไม่เกินปีละ 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับราคารับจำนำและจำกัดวงเงินแต่ละรายในการรับจำนำ เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้รายงาน “ผลการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในภาพรวม” เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางปรับปรุงการดำเนินนโยบายการบริหารจัดการสินค้าข้าวและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมือวันที 18 มิ.ย. 2556 รับทราบและพิจารณาส่งต่อให้ กขช. พิจารณาต่อจนมีมติปรับราคาและเกณฑ์การรับจำนำข้าว

โดยรายละเอียดข้อเสนอแนะ และผลการศึกษา ผลการวิเคราะห์ของสศช. มีดังนี้

แนวทางการปรับปรุงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว

สศช. มีข้อเสนอแนะปรับปรุงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว 5 แนวทาง คือ

1.ควรกำหนดราคารับจำนำให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะราคาข้าวในตลาดโลก โดยอาจคำนวณจากราคาต้นทุนการผลิตข้าว บวกค่าขนส่งและกำไรที่เหมาะสมของเกษตรกร ทั้งนี้ ในระยะแรก ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรต่อครัวเรือน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อย และในระยะต่อไป ควรพิจารณากำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก

2.ควรจำกัดปริมาณและ/หรือพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตรรายย่อยที่ยากจน มีพื้นที่นาน้อยหรือต้องเช่าที่นาจากผู้อื่นและเกษตรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม

3.ควรเร่งรัดออกเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว และพัฒนาระบบและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกษตรกรที่มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด

4.ควรเน้นความโปร่งใสในการระบายข้าวและเร่งระบายข้าว ให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวขอราคาตลาดโลก เพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาและการเสื่อมสภาพของข้าว และรายงานผลการกระบายสต็อกข้าวให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ

5.ควรวางระบบกำกับและตรวจสอบ การดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งกระบวนการ ตลอดจนลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

สศช. มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้

1.ในการดำเนินงานควรกำหนดเป้าหมายการขาดทุนของโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ

2.สนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าคาไปสู่ตลาดบนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนเร่งจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตร ให้มีการปลูกข้าวที่สอดคล้อกับศักยภาพแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

3.ส่งเสริมกลไกตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับกลไกตลาดในท้องถิ่น ตลาดกลาง และตลาดส่งออก ตลอดจนเร่งรัดการดำเนินงานทำประกันพื้นพืชผลเกษตรกรให้เกิดเป็นรูปธรรม

ปัญหาของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา

ข้อเสนอแนะของ สศช.เกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เป็นผลมาจากปัญหาของการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งสศช. สรุปประเด็นปัญหาที่พบ 4 ข้อ คือ

1.การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดมาก มีผลต่อการขาดทุนในการดำเนินการสูง และเป็นภาระงบประมาณ รวมทั้งทำให้ราคาส่งออกและต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

2.เกษตรกรรายใหญ่และกลางได้ประโยชน์จากโครงการมากกว่าเกษตรกรรายย่อย

3.ความสามารถในการระบายข้าวของรัฐมีจำกัด ประกอบกับสต็อกข้าวคงเหลือปลายปีของประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินการ

4.กระบวนการออกใบรับรองและใบประทวนให้เกษตรกรมีความล่าช้า

การประเมินผลการดำเนินงานโครงการจำนำข้าว

นอกจากนี้ สศช. ได้รายงานผลดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้หลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่ความชื้นเกิน 15% สำหรับข้าวเปลือกจ้าวที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิราคาเกวียนละ 20,000 บาท มีสาระสำคัญดังนี้

ปริมาณข้าวที่รับจำนำ ปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการปี 2554/55 มีจำนวน 21.68 ล้านตัน และปี 2555/56 มีจำนวน 18.79 ล้านตัน ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2556

วงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำ รวมทั้งสิ้น 588,708 ล้านบาท เป็นการใช้เงินในปี 2554/55 จำนวน 337,246 ล้านบาท และในปี 2555/56 จำนวน 251,462 ล้านบาท ณ 14 พ.ค. 2556

ผลการระบายข้าว ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงเดือนมี.ค. 2556 ได้มีการระบายข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 76,001 ล้านบาท และจนถึงเดือน ก.ย. 2556 คาดว่าจะระบายได้อีก 73,082 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 149,083 ล้านบาท

ประโยชน์ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 116,000 ล้านบาท ในปี 2554/55และ 114,000 ล้านบาท ในปี 2555/56 กำลังซื้อและการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% และมีส่วนทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 0.69% ในปี 2554/55 และ 0.62% ในปี 2555/56 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าอัตราปกติ

การใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัว 6.7% หากไม่มีโครงการจำนำข้าวเพื่อเพิ่มรายได้อำนาจซื้อของเกษตรกรในชนบทจะส่งผลทำให้การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.7%

ผลกระทบต่อฐานะการคลัง การดำเนินโครงการที่ผ่านมาในปี 2555-2556 ทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้สะสมประมาณ 159,687 ล้านบาท สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะต้องผลักภาระการชำระหนี้ไปในปีงบประมาณต่อๆ ไป ทั้งนี้หากมีการกำหนดกรอบปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกไม่เกิน 15 ล้านตันต่อปี ในการดำเนินงานปี 2557-2560 จะทำให้รัฐบาลมีภาระเฉลี่ยปีละ 80,621ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการประมาณการจากส่วนต่างของราคาจำนำและแนวโน้มราคาตลาด รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและการเก็บรักษา

ภาพรวมตลาดข้าวไทยและโลก

สศช. รายงานภาพรวมของข้าวว่า สัดส่วนมูลค่่าการส่งออกข้าวเฉลี่ยคิดเป็น 25% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าวคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพี นอกจากนั้นข้าวเป็นสินค้าที่ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกมากที่สุดคิดเป็น 50% ของพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้งการปลูกข้าวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวนามากึง 66% ของครัวเรือนเกษตรกร

สำหรับการส่งออกข้าวไทยและโลก สศช.ระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2522 โดยจะส่งออกประมาณ 1 ใน 3 ของข้าวที่ส่งออกทั้งหมดในโลก โดยส่งออก 53% จากการผลิตข้าวในประเทศทั้งหมด แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าวเฉลี่ย 8.6 ล้านต้นข้าวสาร คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 24% และคู่แข่งที่สำคัญคือ ประเทศเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาด 19% และอินเดีย 15%

ทั้งนี้ ในปี 2555 อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุด รองลงมากได้แก่เวียดนาม และไทย ตามลำดับ

โดยสรุป คือ การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับของประเทศเวียดนาม และอินเดียที่เพิ่มสูงมาก