รัฐบาลพยายามที่จะลบตัวเลขขาดทุนโครงการจำนำข้าวจากความทรงจำของทุกคน
แต่เมื่อไม่แจกแจงข้อมูลการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าว โดย”กางบัญชี”ให้ประชาชนรับทราบอย่างโปร่งใส เท่ากับขาดการบริหารจัดการที่ดี ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียภาษีซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่ควรได้รับรู้ข้อเท็จจริง
ยิ่งพยายามหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริง อาการก็ยิ่งปรากฏ
“คำสั่ง”นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการสอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของกระทรวงการคลัง กรณีไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ว่าโครงการรับจำนำข้าวมี “ความเสี่ยงและโอกาส” เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน
แม้”กิตติรัตน์”จะบอกว่าไม่ได้สอบสวน “สุภา” แต่เป็นการหาข้อเท็จจริงว่าไปให้ข้อมูลอะไรคณะกรรมาธิการฯ
หากย้อนกลับไปดูที่มาของการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง จากกรณีที่ “สุภา” ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 โดยสรุปว่าโครงการจำนำข้าวที่ทำกันมา ตั้งแต่ปี 2547–2552 ขาดทุน 206,718 ล้านบาท หลังจากสื่อมวลชนนำเสนอตัวเลขผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ปรากฏว่าทั้ง “กิตติรัตน์” และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการนี้ ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้เพื่อให้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่
จากนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้ข้าวจำนวนมากไหลเข้ามาจำนำกับรัฐบาล จนทำให้วงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ใช้ในการรับจำนำ 5 แสนล้านบาท ถูกใช้ไปจนเกือบหมด โดยแหล่งเงินที่รัฐบาลใช้ในการรับจำนำข้าวมี 2 แหล่ง คือ 1. สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้จัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 410,000 ล้านบาท ล่าสุด สบน. ค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. แล้ว 408,000 ล้านบาท และ 2. ใช้เงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 90,000 ล้านบาท และตามเงื่อนไขที่ตกลงกับรัฐบาลแล้ว กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งขายข้าว เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ธ.ก.ส. เพื่อเตรียมวงเงินกู้ไว้รับจำนำข้าวในฤดูการผลิตถัดไป
ปรากฏว่า กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้เงินคืนหนี้ ธ.ก.ส. ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 90,000 ล้านบาท จึงไปจมอยู่กับสต็อกข้าว ช่วงปลายปี 2555 กระทรวงพาณิชย์เสนอให้กระทรวงการคลังขยายเพดานค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. เพิ่มอีก 150,000 ล้านบาท
“สุภา” ซึ่งดูแลสำนักบริหารหนี้สาธารณะ จึงออกมาปกป้องเงินหลวง เพราะตามกฏหมายหนี้สาธารณะ กำหนดให้ สบน. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในปีงบประมาณ 2556 ค้ำประกันเงินกู้ได้ไม่เกิน 480,000 ล้านบาท หาก สบน. เพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. อีก 150,000 ล้านบาท ในทางปฏิบัติต้องปรับลดวงเงินค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจอื่น ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ถูกปรับลดต้องกู้เงินในต้นทุนที่สูงขึ้น และบังเอิญช่วงนั้นบริษัทการบินไทยครบกำหนดชำระค่าเครื่องบินพอดี สบน. จึงไม่สามารถเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. ได้ ทำให้ ธ.ก.ส. ต้องใช้เงินของธนาคารสำรองจ่ายไปก่อน (นอกเหนือจากวงเงิน 90,000 ล้านบาท ตามมติ ครม.)
และไม่ใช่กรณี”ข้าว”เท่านั้น บ่อยครั้งที่ฝ่ายการเมืองจี้สำนักบริหารหนี้ให้”หาช่องทาง” หา”แหล่งเงิน”จากหน่วยงานอื่นที่ยังไม่ใช้เงิน เพื่อหยิบยืมมาใช้ก่อน
ในช่วงปลายปี 2555 “สุภา” ในฐานะที่คุมกรมบัญชีกลาง ออกมาจัดหนักอีกครั้ง ซึ่งดูแลระเบียบการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชัน) มีความเห็นว่าการประมูลใบอนุญาต 3G ไม่ทำตามระเบียบอี-ออคชัน แล้วยังเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าอีกด้วย จึงทำหนังสือทักท้วงไปถึงประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ขณะเดียวกัน “สุภา” หอบเอกสารไปร้องสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เข้ามาตรวจสอบ และยังมีการนำประเด็นนี้ไปร้องต่อศาลปกครอง
ช่วงนั้นมีใบสั่งจากการเมือง ต้องการตั้งกรรมการสอบวินัย “สุภา” แต่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาแก้ต่างว่าการทำหนังสือทักท้วงถึง กสทช. หรือทำเรื่องถึง ป.ป.ช. เป็นการกระทำในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง “สุภา” จึงรอดพ้นจากการถูกตั้งกรรมการสอบวินัย
จะว่าไปแล้วทั้งกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมต.คลัง,น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลังคนใหม่(อดีตอธิบกรมศุลกากร) ต่างเป็นนักเรียนร่วมรุ่น “สถาบันวิทยาการตลาดทุน” รุ่นที่ 8 หรือ วตท.8 ที่ใครๆ ไขว่คว้าจะเข้าไปหา”Connection”
การออกมาจัดหนักครั้งนี้ แม้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวตท.8 แต่”สุภา” ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา จนหลายคนแทบจะตกเก่้าอี้กันมาแล้ว เพราะครั้งประมูล 3G เหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ล้วนต่างก็เป็นเพื่อร่วมรุ่นวตท.8 ทั้ง”ฐากร ตัณฑสิทธิ์”เลขาธิการกสทช., “วิเชียร เมฆตระการ” จากค่ายเอสไอเอส และ “ขจร เจียรวนนท์”ของค่ายทรู โดยมี”กิตติรัตน” รมต.คลัง เจ้านายสายตรงของ”สุภา”และในฐานะประธานรุ่นวตท.8 และถ้า”ธนา เธียรอัจฉริยะ”ไม่ลาออกจากค่ายดีแทค การประมูล 3 G คงเลี้ยงรุ่นวตท.8 ได้เลย
ถัดจากเรื่องใบอนุญาต 3G ก็มีเรื่องการบริหารจัดการน้ำ3.5 แสนล้าน ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2556 “สุภา” ถูกฝ่ายการเมืองบีบให้ลงนามในสัญญาเงินกู้ 40,000 ล้านบาท โดยไม่มีรายละเอียดโครงการและผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ยังมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนอีกหลายประเด็น เช่น โครงการลงทุนตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของราคากลางก่อนที่จะเปิดประมูลโครงการตามกฏหมาย ป.ป.ช. นอกจากนี้ ทุกโครงการยังไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อเงินไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามคำสั่ง ปฏิบัติการสั่งสับเปลี่ยนความรับผิดชอบจึงจัดขึ้นโดยพลัน โดยให้ปลัดกระทรวงการคลัง ย้าย “สุภา” ไปนั่งเป็นรองปลัดฯ ดูแลงานประชาสัมพันธ์ และย้ายนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ มาทำหน้าที่รองปลัดฯ คุมงานด้านรายจ่ายและหนี้สินแทน ทันทีที่มารับผิดชอบ บิ๊กโปรเจคต์ของนายพงษ์ภาณุคือการลงนามในสัญญาเงินกู้กับ 4 แบงก์ใหญ่ วันที่ 27 มิถุนายน 2556 เพื่อให้ พ.ร.ก. เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีผลผูกพันก่อน พ.ร.ก. เงินกู้ฯ จะหมดอายุ
“พงษ์ภาณุ” สมัยนั่งเป็นอธิบกรมบัญชีกลาง เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว แต่วันนี้ “จัดเต็ม”วงเงินกู้ตามพ.ร.ก
ต่อมาสื่อมวลชนนำเสนอตัวเลขผลขาดทุนจากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2547-วันปิดบัญชีวันที่ 31 มกราคม 2556 รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าวมาทั้งหมด 17 โครงการ มีผลขาดทุนทั้งสิ้น 393,902 ล้านบาท เฉพาะที่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับจำนำข้าวเพียง 3 ฤดูการผลิต มีผลขาดทุนเกิดขึ้น 220,000 ล้านบาท
จากข้อมูลที่ถูกปูดออกมา และด้วยบุคคลิกที่ตรงไปตรงมา จึงเป็นเหตุให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันที่ 13 มิ.ย.2556 เพื่อพิจารณาเอกสารของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของกระทรวงการคลัง ที่มี”สุภา” นั่งเป็นประธาน ที่ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนสูงถึง 260,000 ล้านบาทนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ไม่มีชื่อ “สุภา” เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมีการเชิญให้เข้าร่วมประชุมในเวลา 13.00 น. ต่อมาแจ้งว่ายกเลิกการประชุม และไม่มีการประชุม กขช.ในเวลาดังกล่าว แต่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงการคลังในฐานะกรรมการต้องไปร่วมประชุม โดยยังคงมีการประชุมอยู่แต่เปลี่ยนเวลาเป็น 15.00 น. ทั้งนี้เป็นข้ออ้างการยกเลิกประชุมเพื่อตัดชื่อ”สุภา”ออกจากการประชุม
แต่เรื่องถูกเปิดเผยเมื่อปลัดกระทรวงการคลังโทรศัพท์มาถามเรื่องการประชุมดังกล่าว และเรื่องนี้”สุภา”ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องต้องไปชี้แจง แต่”สุภา”แจ้งว่าไม่ได้รับเชิญ แต่เมื่อปลัดแจ้งว่าต้องไปชี้แจงในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ
เมื่อเข้าไปประชุมปรากฏว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ แสดงท่าทีตกใจที่มี”สุภา” เข้าร่วมประชุม (ทั้งๆแจ้งว่ามีการยกเลิกประชุมและไม่เชิญ) จึงต้องประกาศว่าเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากห้องประชุม ครั้งแรกเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป แต่”สุภา”ยังอยู่ตามคำสั่งปลัดกระทรวงการคลัง จึงมีการประกาศซ้ำอีกครั้งว่าให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ทำให้ปลัดกระทรวงการคลังต้องสลับที่นั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเชิญออกไป และให้”สุภา”มานั่งแทน จึงยุติความพยายามให้”สุภา”ออกจากที่ประชุม ทั้งนี้เพราะที่ประชุมต้องการสรุปตัวเลขสต๊อกข้าว ตัวเลขขาดทุน รวมทั้งราคาที่นำมาลงบัญชีตามวิธีการของกระทรวงพาณิชย์ แต่เมื่อมี”สุภา”อยู่ด้วย การทำตัวเลขตามกระทรวงพาณิชย์ ย่อมมีการท้วงติง หากข้อมูลไม่ตรงกับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯที่”สุภา”ดูแลอยู่ และก็เป็นเช่นนั้น “สุภา”ชี้แจงการลงบันทึกราคาตามหลักการบัญชีที่ถูก ต้องทำอย่างไร รวมทั้งตัวเลขสต๊อก และข้อมูลอื่นๆที่ขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ไม่ยอมเปิดเผย ในที่สุดกขช.จำต้องมีมติยึดหลักการและวิธีการลงบัญชีที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯทำ
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลตัวเลขการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ออกมาแก้ต่างแทนรัฐบาลว่า การคำนวณผลกำไร-ขาดทุน คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวฯ ยังไม่ได้นับรวมข้าวเปลือกที่อยู่ระหว่างการสีแปรสภาพอีก 2.9 ล้านตัน ซึ่งองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ลืมบันทึกและไม่ได้รายงานตัวเลขต่อคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำให้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลชน เกิดข้อสงสัยว่า ข้าวจำนวนถึง 2.9 ล้านตัน อ.ต.ก. และ อคส. ลืมบันทึกบัญชีได้อย่างไร และข้าวล็อตนี้ตกค้างอยู่ในสต็อกจริงหรือไม่
กขช.จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่ลุยตรวจเช็คสต็อกข้าวของรัฐบาลที่เก็บไว้ในโกดัง 2,500 แห่ง และล่าสุด “สุภา” ไปชี้แจงและตอบคำถามคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการว่า “โครงการรับจำนำข้าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผลขาดทุน 2.2 แสนล้านบาท”
บัดนี้ “สุภา” ในฐานะที่เคยเป็นผู้คุมเงินของแผ่นดิน วันนี้กลับถูกตั้งกรรมการสอบในฐานะที่พูดข้อเท็จจริงและในฐานะผู้ปกป้องเงินของแผ่นดิน!!