ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว 9 ปี 5 รัฐบาล ขาดทุนเกือบ 5 แสนล้านบาท

ปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว 9 ปี 5 รัฐบาล ขาดทุนเกือบ 5 แสนล้านบาท

19 พฤษภาคม 2014


9ปี5รัฐบาลโครงการจำนำข้าว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอซีรีส์การเมืองเรื่องข้าว และได้เกาะติดโครงการจำนำข้าว รวมทั้งขบวนการทุจริตในกรณีการขายข้าวจีทูจีมาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตและคำถามมาตลอดว่าการรับจำนำข้าวแต่ละรัฐบาลมีผลขาดทุนจำนวนเท่าไหร่

ล่าสุด คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาลได้ตรวจสอบบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สรุปว่ามีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 14 ฤดูกาลผลิต มีชาวนานำข้าวเปลือกมาจำนำ 65.2 ล้านตัน รัฐบาลใช้เงินทั้งสิ้น 7.83 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินจากการรับซื้อข้าว 6.92 แสนล้านบาท, ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เช่น สีแปรสภาพ ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาข้าว 3.7 หมื่นล้านบาท, ต้นทุนในการจัดหาเงินกู้และดอกเบี้ยอีก 5.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากการระบายข้าวแค่ 2.93 แสนล้านบาท

การดำเนินโครงการรวม 9 ปี 5 รัฐบาล มียอดขาดทุนประมาณ 4.9 แสนล้านบาท หากนำยอดขาดทุน 4.9 แสนล้านบาทมาเป็นตัวตั้งแล้วหารปริมาณข้าวที่รับจำนำ 65.2 ล้านตัน พบว่าขาดทุนเฉลี่ยตันละ 7,513 บาท และถ้าหากรัฐบาลระบายข้าวที่ตกค้างอยู่ในสต็อกต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้รัฐบาลขาดทุนมากกว่า 4.9 แสนล้านบาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สรุปผลการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว 9 ปี

จากนั้น เมื่อนำข้อมูลคณะอนุกรรมการปิดบัญชีมาวิเคราะห์เปรียบเทียบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย พบว่า โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบปัญหาขาดทุนสูงที่สุด คิดเป็นมูลค่า 332,372 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงถึง 15,000 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 20,000 บาทต่อตัน และเป็นการรับจำนำทุกเมล็ด ทำให้ชาวนานำข้าวเปลือกมาจำนำกับรัฐบาล 36.5 ล้านตัน โดยมีผลเฉลี่ยขาดทุนตันละ 9,116 บาท

รองลงมาเป็นสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52 และนาปรังปี 2552 ไม่เกิน 12,000 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 15,000 บาทต่อตัน มีชาวนานำข้าวเข้าโครงการจำนวน 10 ล้านตัน มียอดขาดทุนสุทธิ 74,261 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนตันละ 7,460 บาท

ถัดมาเป็นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดไม่มากนัก โดยตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2547/48 ไม่เกิน 6,600 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน, นาปรังปี 2548 รับจำนำไม่เกิน 6,700 บาทต่อตัน, นาปี 2548/49 และนาปรังปี 2549 รับจำนำไม่เกิน 7,100 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ชาวนานำข้าวมาจำนำกับรัฐบาล 12.2 ล้านตัน มียอดขาดทุนสุทธิ 45,291 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนตันละ 3,721 บาท

พอมาถึงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ช่วงแรกยังคงตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2550/2551 ไม่เกิน 6,700 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 9,300 บาทต่อตัน แต่บังเอิญเกิดวิกฤติการณ์อาหารและพลังงานโลก ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ปรากฏว่ามีชาวนานำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลแค่ 6,136 ตัน โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลสมัครจึงมียอดขาดทุนสุทธิ 142 ล้านบาท แต่มีภาระขาดทุนเฉลี่ยสูงถึงตันละ 23,124 บาท

จากนั้นชาวนาเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคารับจำนำข้าวให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น พอถึงฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปี 2551 รัฐบาลปรับราคาจำนำข้าวนาปรังปี 2551 ขึ้นเป็น 14,000 บาทต่อตัน ชาวนานำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลเกือบ 4 ล้านตัน รับจำนำไปได้สัก 3-4 เดือน ราคาข้าวในตลาดโลกทยอยปรับราคาลดลง ชาวนาไม่มาไถ่ถอนข้าว โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2551 จึงมีผลขาดทุน 33,503 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนตันละ 8,442 บาทต่อตัน สรุปโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2550/2551 และนาปรัง 2551 ขาดทุน 33,646 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนตันละ 8,465 บาท (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ขาดทุนจำนำข้าวของแต่ละรัฐบาล

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากกำหนดราคารับจำนำข้าวใกล้เคียงกับราคาตลาด ขณะเดียวกันก็พยายามเร่งระบายข้าวในสต็อกเพื่อหาเงินไปใช้หนี้ที่รัฐบาลติดค้างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลขิงแก่จึงตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2549/50 ไม่เกิน 6,500 บาทต่อตัน หอมมะลิไม่เกิน 9,000 บาทต่อตัน และนาปรังปี 2550 ไม่เกิน 6,000 บาทต่อตัน เปิดรับจำนำข้าวมีชาวนานำข้าวเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2.6 ล้านตัน มีผลขาดทุน 4,365 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนตันละ 1,649 บาท

นี่คือข้อเท็จจริงของโครงการรับจำนำข้าว