ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาล “เปิดซองราคา” ผู้ชนะด้านเทคนิคโครงการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท

รัฐบาล “เปิดซองราคา” ผู้ชนะด้านเทคนิคโครงการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท

11 มิถุนายน 2013


10 มิ.ย. 2556  การแถลงผลการคัดเลือกบริษัท/กลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะคะแนนทางด้านเทคนิคตามเกณฑ์ โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการนำกล่องบรรจุเอกสารที่ปิดอย่างมิดชิดมาวางต่อหน้าคณะทำงานฯ และสื่อมวลชน จนถึงขั้นตอนการให้คะแนน  การเปิดซองราคา และการประกาศผลบริษัทเอกชนที่ได้รับการพิจารณา โดยมีสื่อมวลชนบันทึกภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อความโปร่งใส หลังจากก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการฮั้วในโครงการดังกล่าว
10 มิ.ย. 2556 การแถลงผลการคัดเลือกบริษัท/กลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะคะแนนทางด้านเทคนิคตามเกณฑ์ โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการนำกล่องบรรจุเอกสารที่ปิดอย่างมิดชิดมาวางต่อหน้าคณะทำงานฯ และสื่อมวลชน จนถึงขั้นตอนการให้คะแนน การเปิดซองราคา และการประกาศผลบริษัทเอกชนที่ได้รับการพิจารณา โดยมีสื่อมวลชนบันทึกภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อความโปร่งใส หลังจากก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการฮั้วในโครงการดังกล่าว

รัฐบาล “ปิดซองราคา” ผู้ชนะด้านเทคนิคโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท “ITD POWER CHINA JV” คว้ามากสุด 5 โมดูล วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ขณะที่ “เค วอเตอร์” ได้ 2 โมดูล แต่กวาดงบฯ มากสุด 1.62 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าทำตามข้อเสนอ ป.ป.ช. แยกพิจารณาแต่ละขั้นตอน ไม่ผ่านจุดไหนตัดตอนยุติโครงการทันที

วันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย

โดย นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย แถลงผลการคัดเลือกบริษัท/กลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะคะแนนทางด้านเทคนิคตามเกณฑ์ ใน 9 กลุ่มประเภทงาน หรือ “โมดูล (Mudule)” และผ่านเข้าไปในรอบของการเปิดซองราคาประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 291,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา มีคนมายื่นข้อเสนอทุกโมดูล แต่ละโมดูลมีผู้ยื่นขอเสนอ 2 รายบ้าง 3 รายบ้าง ไม่มีมายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวในแต่ละโมดูล แม้จะมีคนถอนตัวไปแล้ว 2 ราย ตอนนี้เหลือผู้เล่น 4 กลุ่ม” นายธงทองกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทและกลุ่มบริษัท 4 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอโครงการประมูลน้ำฯ ได้แก่

1. บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) จากประเทศเกาหลีใต้ ที่ยื่นเสนอกรอบแนวคิดเดี่ยว โดยไม่รวมมือกับบริษัทใด ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์เรื่องน้ำ มีโอกาสทำงานร่วมกับกรมชลประทานมาอย่างยาวนาน

2. ITD-POWERCHINA JV เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) กิจการร่วมไทย-จีน ประกอบด้วย ITD-POWERCHINA JV, บมจ. อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า, บริษัท ไชน่า เก๋อโจวบ๋า กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ แอนด์ พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด

3. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ เป็นบริษัทไทยร่วมกับต่างชาติ (ไทย-อเมริกา) ประกอบด้วย, บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY), เอจีที อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช

4. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์, บริษัท เอส.เค.วาย. คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ยูเนี่ยน อินฟาร์เทค จำกัด

นายธงทองกล่าว่า หลักเกณฑ์ที่ปรากฏในทีโออาร์ ( Team of Reference: TOR ) ในแต่ละโมดูล หรือแต่ละข้อเสนอ จะมีการให้คะแนนหลัก 3 กลุ่ม คือ คะแนนแนวคิดและวิธีการ 20 คะแนน ความสมบูรณ์ของข้อเสนอและด้านเทคนิค 60 คะแนน และด้านบุคลากรและประสบการณ์ของผู้ยื่นขอเสนอ 20 คะแนน

“การให้คะแนน พิจารณาว่าถ้าเสนอใครเสนอมาดีกว่าทีโออาร์ หรือทีโออาร์บวก ให้คะแนน 100 ถ้าเสนอมาเสมอทีโออาร์ได้คะแนน 90 และถ้าเสนอมาน้อยกว่าทีโออาร์ หรือทีโออาร์ลบ ได้คะแนน 80 ถ้าไม่มีเอกสาร ไม่มีข้อมูล เป็นศูนย์ ผู้ที่ได้คะแนน 80 ขึ้นไป และได้คะแนนสูงสุดในแต่ละโมดูล จึงจะเปิดซองราคาเพื่อเจรจาต่อรองต่อไป” นายธงทองกล่าว

ทั้งนี้ ข้อพิจารณาดังกล่าวอาจมีข้อสังเกตว่า “แบบนี้ทุกคนก็ผ่านหมด” แต่นายธงทองอธิบายว่า ไม่แน่เสมอไปถ้าได้คะแนนศูนย์หลายข้อ แต่ถ้าไม่มีข้อใดได้คะแนนศูนย์ก็ถือว่าเรื่องนี้เขาผ่านมาโดยการกลั่นกรองของอนุกรรมการก่อนหน้านี้ และหากคำนึงถึงประโยชน์ราชการ ถ้าแต่ละโมดูลได้คะแนนเกิน 80 มากกว่า 1 ราย จะทำให้อำนาจในการต่อรองทางราชการในการเจรจาให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ซึ่งแนวโน้มน่าจะไปทางนั้น ดีกว่าที่โมดูลนั้นจะมีผู้ได้คะแนน 80 เพียงรายเดียว

“สูตรที่ว่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อราชการ คะแนนได้มาอย่างไรก็ตามเนื้อผ้าเช่นนั้น หากเจรจากับคนลำดับที่หนึ่งไม่สำเร็จ เรามีโอกาสคนได้ลำดับสอง หรือลำดับสามในการเจรจาได้ดีกว่า” นายธงกล่าว

ทั้งนี้ บริษัท/กลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนเกิน 80 และได้คะแนนสูงสุดในแต่ละโมดูล และราคาที่เสนอในการประมูล สรุปได้ดังนี้

ผลคะแนน_final

จากผลคะแนนด้านเทคนิคและการเปิดซองราคา สรุปได้ว่า

ITD POWER CHINA JV ได้คะแนนมากที่สุดใน 5 โมดูล ได้แก่ A1, A2, A4, B1 และ B3 รวมเป็นวงเงิน 109,999.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 37.81% ของวงเงินที่เสนอประมูลทั้งหมด

บริษัท เค วอเตอร์ ได้คะแนนสูงสุดใน 2 โมดูล ได้แก่ A3, A5 รวมเป็นวงเงิน 162,999.999 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.03% ของวงเงินที่เสนอประมูลทั้งหมด

กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ ได้คะแนนสูงสุดใน 1 โมดูล ได้แก่ A6 และ B4 วงเงิน 3,997.52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.37% ของวงเงินที่เสนอประมูลทั้งหมด

กิจการร่วมค้า ซับมิท เอสยูที ได้ 1 โมดูล คือ B2 วงเงิน 13,933.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.79%

โดยสรุป วงเงินที่เสนอประมูลรวมทั้งสิ้น 290,930.88 ล้านบาท ต่ำกว่าเพดานกรอบวงเงินงบประมาณ 291,000 ล้านบาทเล็กน้อย ทั้งนี้ วงเงินอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท จัดสรรไว้สำหรับจ้างที่ปรึกษา

นายธงทองกล่าวว่า ไม่มีรายได้เสนอเกินกว่ากรอบเพดานที่กำหนดอยู่ในกรอบทีโออาร์ ก็อยู่ในฐานะเจรจาต่อรองกับทางราชการต่อไป ส่วนผู้ที่ได้คะแนนที่สอง ที่สาม ในแต่ละโมดูล เจ้าหน้าที่จะเก็บรักษาซองราคาไว้โดยยังไม่เปิด ต่อไปถ้าเจรจากับผู้ที่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ จึงจะไปเปิดผลคะแนนรองลงไปตามลำดับ

นั่นคือกระบวนการที่จะทำต่อไปในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้าสุดท้ายการเจรจาต่อรองไม่ได้สักราย ก็แปลว่าจะไม่จ้างใครเลย ซึ่งได้เขียนไว้ในทีโออาร์ และผู้เสนอเข้าประมูลโครงการฯ รับทราบอยู่แล้ว

“ถ้าสุดท้ายไม่มีครได้เลย ไม่ได้ก็ไม่ได้ สุดท้ายเราทำงานเสร็จกระบวนงานของเรา ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือก เคาะสุดท้ายจะไป กบอ. และ ครม. ต่อไป ถ้ามีความเห็นชอบแล้ว ทางกระทรวงการคลังก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ซึ่งมีกรอบกำหนดว่าภายใน 30 มิ.ย. นี้ต่อไป” นายธงทองกล่าวและว่า

“พยายามจะดำเนินการให้เสร็จ หากเสร็จเช้า 13 มิ.ย. ก็จะประชุม กบอ. ช่วงบ่าย แต่ถ้าไม่ทันก็จะประชุมกบอ.เช้าวันที่ 14 มิ.ย. เพื่อส่งเอกสารให้ ครม. ทันในวันที่ 18 มิ.ย. นี้”

นายธงทอง จันทรางศุปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ คัดเลือกผู้รับจ้างโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แถลงผลการเปิดซองราคาประมูลของผู้ได้คะแนะสูงสุดด้านเทคนิค โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ คัดเลือกผู้รับจ้างโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แถลงผลการเปิดซองราคาประมูลของผู้ได้คะแนะสูงสุดด้านเทคนิค โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

สำหรับข้อกังขาเกี่ยวกับการประมูลโครงการน้ำฯ 350,000 ล้านบาท ในกรณีที่มีข้อติงว่า การจัดทำการประมูลครั้งนี้ไม่มี “ราคากลาง” นายธงทองอธิบายว่า ราคากลางจะมีได้ในลักษณะจัดซื้อจัดจ้างในกรณีปกติ คือ ทางราชการเป็นคนออกแบบเอง ซึ่งทำให้รู้ว่าโครงการขนาดใหญ่แค่ไหน ใช้พื้นที่กี่ตารางกิโลเมตร กี่ปริมาตร กี่พื้นที่ และทางราชการจะมีวิธีการคำนวณต่อหน่วยราคาต่างๆ และกำหนดว่าควรเป็นราคาราคากลางเท่าไรก็จะประกาศราคากลางว่านี่คือความคาดหวังเป็นภาพรวมๆ เบื้องต้นของราชการ

นั่นคือ “ราคากลาง” แต่ลักษณะงานในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องงานที่ทางราชการรับผิดชอบด้วยการออกแบบ แต่มีการให้ประกวดความคิดจากภาคเอกชนมาตั้งแต่ต้นที่เป็น Conceptual Plan แล้ววันนี้กรอบความคิดทำให้มีความชัดมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายที่อยากให้ได้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น มีการกักเก็บน้ำปริมาณเท่านี้เป็นอย่างน้อย ในพื้นที่บริเวณนี้ ส่วนเทคนิควิธีการในรายละเอียดที่จะทำให้แนวคิดเบื้องต้นเป็นเนื้องานจริง ก็เป็นหน้าที่ของบริษัททั้งหลายต้องไปทำข้อเสนอมาเสนอกรรมการชุดนี้

เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่รู้ชัดเจนว่าจะมีการสร้างอะไรเฉพาะเจาะจง เช่น จะทำคันคูคลองยาวกี่กิโลเมตร เช่น 20 กิโลเมตร หรือ 25 กิโลเมตร ซึ่งราคาก็แตกต่างกันอยู่ ดังนั้นจะประกาศราคากลางก็คงไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าคูคลองจะยาวกี่กิโลเมตรหรือสูงเท่าไร ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นข้อเสนอแข่งกัน

ดังนั้นจึงไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ในวันที่ไปเรียนปรึกษาหารือกับ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) รวบทั้งเมื่อได้ดูข้อเสนอข้อมูลข่าวสารจากการแถลงข่าวของ ป.ป.ช. ที่ได้ให้ความเห็นและความใส่ใจในการทำงานเรื่องนี้ คณะทำงานของ ป.ป.ช. ก็ปรากฏความเห็นว่า “พ้นวิสัยที่จะทำราคากลางในเวลานี้ “

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีราคากลาง เพราะพ้นวิสัยที่จะมีได้ แต่ในการเจรจาต่อรอง พวกผมทั้งหลาย หน่วยราชการทั้งหลาย คงไม่ไปด้วยมือเปล่า หรือด้วยข้อมูลที่เบาโหวง ก็ต้องมีการเตรียมว่า ถ้าเราจะมี “คัมภีร์” หรือคู่มือในการเจรจาคืออะไร ก็ต้องย้อนกลับไปดูหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคามาตรฐานของทางราชการ ของกรมบัญชีกลางมาสมทบกับของสำนักงบประมาณ เพื่อจะใช้เป็นฐานในการเจรจาต่อรอง ซึ่งมีคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ทำหน้าที่รวบรวมเกณฑ์ราคามาตรฐานให้

ส่วนกรณีร่างสัญญาที่ยังทำอย่างละเอียดไม่ได้ในขณะนี้ นายธงทองอธิบายว่า เพราะข้อเสนอทางเทคนิคยังไม่รู้ใครแพ้ใครชนะ และต้องแปลงข้อเสนอทางเทคนิคต่างๆ เหล่านั้น เช่น จะมีถนนยาวเท่าไร อ่างเก็บน้ำขนาดเท่าไร แก้มลิงเป็นอย่างไร พื้นที่ตรงไหน ตำบลอะไร ต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องรอไว้เขียนเมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่าใครเป็นผู้ได้งานส่วนนั้นไป แต่จะไม่มีอะไรเลยในการเจรจาคงไม่ได้

เรื่องนี้มีคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 รับผิดชอบ โดยจะทำสาระหลักของร่างสัญญาให้ผู้ยื่นข้อเสนอใช้เป็นฐานให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกันเสียก่อน ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ให้มาว่า ควรจะแยกขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์ตอนหนึ่ง การออกแบบตอนหนึ่ง งานก่อสร้างตอนหนึ่ง อย่าเอามาผูกร้อยถึงกันแล้วจะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า เพราะในวันข้างหน้า ถ้างานขั้นตอนใดไม่ผ่าน โดยเฉพาะข้อที่มีความห่วงใยร่วมกัน คือ “การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ” ถ้าสุดท้ายแล้วไม่ผ่าน ก็สามารถตัดตอนจบเพียงแค่นั้น ไม่สามารถเดินไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ

“ส่วนเรื่องงวดงาน งวดเงิน เพราะอาจจะมีงานหลายอย่าง ที่อาจไม่ใช่ทำพื้นที่เดียวกัน อาจทำขนาน ทำเชื่อมโยง ทำก่อน ทำหลังพร้อมกันได้ ตรงนี้ไปอยู่ในขั้นตอนการเจรจางวดงานงวดเงินให้เป็นประโยชน์กับทางราชการมากที่สุด นี่คือคณะอนุกรรมการร่างสัญญาเขาก็จะทำสาระหลักเสร็จก่อน เรื่องรายละเอียดไปว่ากันข้างหน้า” นายธงทองกล่าว

นายธงทอง จันทรางศุปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ คัดเลือกผู้รับจ้างโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แถลงผลการเปิดซองราคาประมูลของผู้ได้คะแนะสูงสุดด้านเทคนิค โดยมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
นายธงทอง จันทรางศุ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างโครงการน้ำฯ มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ดังนี้

ชุดที่ 1 อนุกรรมการตรวจคุณสมบัติทางเอกสารต่างๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอเข้ามา

ชุดที่ 2 อนุกรรมการรวบรวมเกณฑ์ราคามาตรฐานของทางราชการเพื่อจัดทำราคาต่อหน่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของกรมบัญชีกลางในการคำนวณราคากลางของงานชนิดเดียวกัน และตามหลักเกณฑ์วิธีการของงบประมาณเพื่อใช้ในการต่อรองราคา

ชุดที่ 3 คณะอนุกรรมการร่างสัญญาเพื่อจัดทำสาระหลักของร่างสัญญา

ชุดที่ 4 คณะอนุกรรมการทำหน้าที่ตรวจการบ้านของผู้สนใจยื่นข้อเสนอส่งการบ้านเข้ามาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีกรรมการมากที่สุด 53 คน เพราะกรรมการชุดนี้จะอ่าน ศึกษา วิเคราะห์ และทำความเห็นเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อมาพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป คือ การประกาศผลผู้ได้คะแนนสูงสุดด้านเทคนิค และปิดซองประมูลราคา

รายละเอียดของ 9 Module และกรอบวงงเงินงบประมาณ

Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1.3 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพดานกรอบเงินงบประมาณไม่เกิน 50,000 ล้านบาท

Module A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรอบเงินงบประมาณไม่เกิน 26,000 ล้านบาท

Module A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน ในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

Module A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 17,000 ล้านบาท

Module A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood Diversion Channel) ขนาดประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับคมนาคม กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาท

Module A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาท

Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 12,000 ล้านบาท

Module B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน14,000ล้านบาท

Module B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่17 ลุ่มน้ำ กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 5,000 ล้านบาท