ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ชี้มูล “หมอโด่ง” ร่ำรวยผิดปกติ ชง อสส. ส่งศาล-ยึดทรัพย์ 896 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน

ป.ป.ช. ชี้มูล “หมอโด่ง” ร่ำรวยผิดปกติ ชง อสส. ส่งศาล-ยึดทรัพย์ 896 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน

30 พฤศจิกายน 2017


นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการและรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการและรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือ “หมอโด่ง” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ

นายวรวิทย์กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 632-4/2558 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ว่าทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยมี พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานร่วมกระทำความผิดกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว กับพวก ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย และเอื้อประโยชน์ให้กับ Guangdong Stationery & Sporting Goods IMP&EXP Corp และ Hainan Grain And Oil Industrail Trading Company ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้าทำสัญญาซื้อขาย แต่มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือ ต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศและประเทศชาติอย่างร้ายแรง

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 667-39/2558 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและมีมติว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ ตามนัยมาตรา 66 มาตรา 75 วรรค 2 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ นางสาวชุฏิมา วัชระพุกกะ อดีตคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รวมมูลค่า 99,203,133.17 บาท

จากนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 918-85/2560 ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์สินได้ ที่ประชุมฯ จึงมีมติว่า พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท มีรายละเอียดดังนี้

    1. เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ในชื่อ พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ และอดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ และผู้ใกล้ชิด จำนวน 53 บัญชี เป็นเงิน 567,715,461.37 บาท

    2. เงินลงทุนในชื่อ พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ และอดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ และผู้ใกล้ชิด จำนวน 6 แห่ง มูลค่า 260,142,651 บาท

    3. ที่ดินในชื่ออดีตคู่สมรส บุตร เครือญาติ จำนวน 12 แปลง ในท้องที่กรุงเทพมหานคร มูลค่า 57,066,828 บาท

    4. ห้องชุดในชื่อของเครือญาติ ได้แก่ ห้องชุดชื่อศาลาแดง โคโลเนด ตำบลสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 6,200,000 บาท

    5. รถยนต์ จำนวน 4 คัน ในชื่อของเครือญาติและผู้ใกล้ชิด มูลค่า 6,309,000 บาท

จึงให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ รวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท ที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80 (1) รวมทั้งขอให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) และหากไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมด หรือได้บางส่วนแล้ว ให้ขอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความสิบปีตามนัยมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

อนึ่ง การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุด

อ่าน แถลงข่าว ป.ป.ช. ที่นี่