ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ซิมไบโอซิตี้” การสร้างเมืองสีเขียวแบบบูรณาการสไตล์สวีเดน

“ซิมไบโอซิตี้” การสร้างเมืองสีเขียวแบบบูรณาการสไตล์สวีเดน

26 กุมภาพันธ์ 2012


ซิมไบโอซิตี้ แนวคิดในการจัดการเมืองสไตล์สวีเดนแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมตั้งแต่การวางผังเมือง สถาปัตยกรรม และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซิมไบโอซิตี้ แนวคิดในการจัดการเมืองสไตล์สวีเดนแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมตั้งแต่การวางผังเมือง สถาปัตยกรรม และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท หลังจากนั้น ได้มีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ออกมาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหารับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน

ทั้งฝ่ายธนาคารโลกที่ออกมาเตือนว่า ในอนาคตเมืองต่างๆ จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การจัดผังเมืองในอนาคต จำเป็นต้องมีการบูรณาการทั้งทางด้านสิ่งก่อสร้าง เพื่อรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติและการสร้างสภาพแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาภัยธรรมชาติ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารโลกเปิดคู่มือคนเมืองจัดการน้ำท่วมศตวรรษที่ 21 – เน้นความเท่าเทียม ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่เศรษฐกิจ)

ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนเอเชีย (ADB) ได้ออกมาเตือนว่า การขยายตัวของเมืองและการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ขณะนี้หมดลงไปอย่างรวดเร็ว โลกจะต้องเปลี่ยนวิถีการบริโภคด้วยการใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจในอนาคตเติบโตแบบยั่งยืนหรือเติบโตแบบสีเขียว (Green Growth)

ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย อยู่ทางตอนบนของทวีปยุโรป มีขนาดเกือบเท่าประเทศไทย แต่มีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยมาก คือมีประชากรประมาณ 9.4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้แรงงานภายในประเทศมีน้อย เศรษฐกิจของประเทศสวีเดนส่วนใหญ่จึงเน้นพึ่งพาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงมากกว่าการเกษตร และจากการสนับสนุนด้านการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สูงมาก ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก

ในช่วงทศวรรษ 70 – 80 ทั่วโลกเกิดปัญหาวิกฤตการพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองในสวีเดนเป็นไปอย่างไร้ระเบียบ นำไปสู่ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และการจราจรที่แออัด

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ชาวสวีเดนจึงได้ตระหนักว่า หากเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก และปล่อยให้เมืองขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ในท้ายที่สุด ความไม่เป็นระบบระเบียบนี้จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมือง เสียทั้งเงินเสียทั้งสุขภาพ ไม่เป็นผลดีในระยะยาว

รัฐบาลสวีเดนจึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดน ทั้งในด้านพลังงาน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวคิดในการบริหารจัดการเมืองตามแบบสวีเดน จนในที่สุด เมื่อปี 2008 ได้มีการออกแนวคิดบริหารจัดการเมืองแบบบูรณาการ ทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม ด้านพลังงาน การใช้น้ำ การคมนาคมขนส่ง เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนเมือง ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีการจดลิขสิทธิ์แนวคิดนี้ภายใต้ชื่อ “ซิมไบโอซิตี้” (SymbioCity)

ซิมไบโอซิตี้มาจากประโยคภาษาอังกฤษว่า Symbiosis in a city ซึ่งหมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตภายในเมือง มีหลักสำคัญในการบริหารจัดการเมืองคือ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้พลังงานความร้อนส่วนเกินจากอุตสาหกรรมมาใช้ในครัวเรือน และการนำขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือนมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ
การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้พลังงานความร้อนส่วนเกินจากอุตสาหกรรมมาใช้ในครัวเรือน และการนำขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือนมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ

เนื่องจากซิมไบโอซิตี้เป็นแนวคิด จึงสามารถนำหลักการมาปรับใช้ได้กับทุกเมืองในประเทศและเมืองอื่นๆ ในโลก ตั้งแต่การวางผังเมือง การออกแบบ สถาปัตยกรรมของอาคารสถานที่ต่างๆ ทั้งบ้าน ที่ทำงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม ครอบคุลมไปถึงการบริหารการใช้พลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย และการเดินทางขนส่ง

เริ่มจากการวางผังเมืองที่เน้นให้มีพื้นที่สีเขียวและมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ซึ่งการมีพื้นที่สีเขียวนั้น นอกจากจะเป็นปอดและช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับเมืองแล้ว ยังทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ขณะที่การจัดการที่พักอาศัยให้สามารถเดินทางโดยง่ายด้วยระบบขนส่งมวลชน และมีการสร้างท่อส่งน้ำ ส่งพลังงานที่เป็นมีประสิทธิภาพทำให้สามารถส่งน้ำ พลังงาน และสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ จะช่วยประหยัดงบประมาณมหาศาล ในภาพรวมนั้นการมีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบ มีระบบขนส่งและระบบสาธารณูปโภคที่ดี จะทำให้ราคาที่ดินโดยเฉลี่ยของพื้นที่นั้นๆ มีมูลค่าสูงขึ้น

จากนั้นจึงเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ ที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงานแล้ว ยังต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างอาคารที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด การจัดการการใช้พลังงานและการจัดการของเสียให้มีประสิทธิภาพ แม้ในระยะสั้นการก่อสร้างจะมีต้นทุนที่สูง แต่ในระยะยาวการประหยัดพลังงานและการนำของเสียไปใช้ให้เกิดประโยชน์จะเป็นกำไรกลับคืนสู่เจ้าของอาคาร หลักการง่ายๆ ของการบริหารพลังงานคือ การนำพลังงานที่เหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ สำหรับอาคารบ้านเรือนที่มีพื้นที่ว่าง สามารถติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานไว้ใช้ในอาคาร

หรือในระดับอุตสาหกรรม ที่มีพลังงานความร้อนส่วนเกินออกมาจากการผลิต โดยทั่วไปพลังงานความร้อนส่วนเกินเหล่านี้จะถูกเพิกเฉย แต่หากสามารถนำพลังงานความร้อนเหล่านี้ไปใช้ผลิตไฟฟ้าหรือนำไปใช้ในบ้านเรือนแล้ว พลังงานนี้จะไปช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าและพลังงานได้จำนวนมหาศาล ถึงขนาดมีการโฆษณาว่า ถ้าทวีปยุโรปสามารถนำพลังงานความร้อนส่วนเกินไปใช้ประโยชน์ได้ในสัดส่วนเดียวกับที่สวีเดนใช้ จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ของสนธิสัญญาเกียวโตถึง 4 เท่า

เรื่องการจัดการขยะ ขณะนี้ขยะในบ้านเรือนของประเทศสวีเดนถูกนำมารีไซเคิลถึง 96% ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ถูกฝังกลบเพียงแค่ 4% ของขยะทั้งหมด ในขณะที่การจัดการขยะด้วยวิธีการทางชีวภาพกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ขยะกว่า 46% ถูกนำไปเผาให้พลังงาน คิดแล้วเทียบเท่ากับการใช้น้ำมัน 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร พลังงานนี้เพียงพอที่จะให้ความร้อนในบ้าน 810,000 หลัง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.2 ล้านตันต่อปี

ส่วนน้ำเสียและขยะชีวภาพที่เกิดขึ้นในครัวเรือน สามารถนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการผลิตพลังงาน และใช้กับรถพลังงานสะอาด โดยรถสาธารณะส่วนใหญ่ของสวีเดนใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิง

รถสาธารณะส่วนใหญ่ในประเทศสวีเดน ใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากขยะในครัวเรือนเป็นเชื้อเพลิง
รถสาธารณะส่วนใหญ่ในประเทศสวีเดน ใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากขยะในครัวเรือนเป็นเชื้อเพลิง

หากนึกถึงตัวอย่างเมืองที่นำหลักแนวคิดซิมไบโอซิตี้ไปปรับใช้ แล้วเกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ที่ปรากฏชื่ออยู่ในอันดับต้นๆ ทุกครั้ง ที่มีการจัดอันดับเมืองสีเขียวของโลก

การจราจรและการเดินทางในกรุงสตอกโฮม ถือว่าเป็นเมืองหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 30% ของชาวเมืองเดินและปั่นจักรยานไปทำงาน 61% ของชาวเมืองใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทาง ขณะที่รถส่วนตัวที่วิ่งอยู่ในเมืองทุกๆ หนึ่งคันในหกคันเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเดินทางขนส่งในสตอกโฮมปราศจากปัญหาการจราจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบนี้ นอกเหนือจากความใส่ใจของชาวเมืองแล้ว กฎหมายและนโยบายที่ถูกประกาศใช้ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี ที่รัฐบาลจะลดภาษีให้กับรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด ทั้งรถที่ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ เอทานอล หรือแม้กระทั่งพลังงานไฟฟ้า และเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงกว่า ทำให้ปริมาณการการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดมีสัดส่วนสูงขึ้นในแต่ละปี จนนำไปสู่การตั้งเป้าหมายในปี 2050 ที่จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

ในขณะที่การจัดการผังเมือง มีข้อกำหนดในการจัดตั้งแหล่งธุรกิจ ที่พักอาศัย และแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างมีแบบแผน ทำให้ระยะทางเฉลี่ยในการเดินทางไปทำงานของชาวเมืองแต่ละคนอยู่ที่ 10 กิโลเมตร โดยใน 50% คนทำงาน มีที่ทำงานหางจากบ้านไม่ถึง 5 กิโลเมตร ในขณะที่เมืองมีการพัฒนาทางสำหรับจักรยานและทางเท้ามากขึ้นทุกปี

ในปี 1995 - 2008 ประเทศสวีเดนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศลดลง 18% ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยดูจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (GNP) เพิ่มขึ้น 45%
ในปี 1995 - 2008 ประเทศสวีเดนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศลดลง 18% ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยดูจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (GNP) เพิ่มขึ้น 45%

ทำให้ปัจจุบัน อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชาวเมืองสตอกโฮล์มและของประเทศสวีเดนลดลงทุกปี ขณะที่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้เป็นปกติ สวนทางกับความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจที่เติบโตกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นของคู่กัน

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ สวีเดนต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงกว่า 20 ปี เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทยแล้ว ในช่วงที่หลายฝ่ายกำลังตื่นตัวกับการรับมือแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่กำลังจะมาในอนาคต หากมีการนำเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการและวางผังเมืองใหม่ แล้วสามารถนำข้อดีของซิมไบโอซิตี้จากประเทศสวีเดนไปปรับใช้ ทำให้การใช้พลังงานลดลง สภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นได้ คงเป็นเรื่องดีกับประเทศไทย