เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ธนาคารโลกได้เปิดตัวคู่มือ “เมืองและอุทกภัย: คู่มือเพื่อการบริการจัดการอุทกภัยในเขตเมืองแบบบูรณาการสำหรับศตวรรษที่ 21” ( Cities and Flooding: A Guide to Integrated Urban Flood Risk Management for the 21st Century) ในคู่มือฉบับนี้ได้แนะแนวทางปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยงเรื่องอุทกภัย ในภาวะที่เมืองกำลังมีการขยายตัวและมีประชากรเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
คู่มือนี้ได้พูดถึงปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาว่า อุทกภัยเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าภัยพิบัติประเภทอื่นๆ โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงเอเชียใต้นั้นมีโอกาสเกิดน้ำท่วมมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนครั้งของการเกิดน้ำท่วมในเอเชียสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนครั้งการเกิดน้ำท่วมทั่วโลกทั้งหมด และประชากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่าร้อยละ 90 ของโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย
ในภาวะที่เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทำให้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมืองต่างๆ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรและทรัพย์สิน เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ความเสียหายจึงมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และการรับมือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองยิ่งยากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าในอดีต
นอกจากความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว อุทกภัยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวอีกด้วย เช่น การสูญเสียโอกาศทางการศึกษา การเจ็บป่วยจากโรคที่มาจากน้ำท่วม ภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้
คู่มือนี้จึงได้เสนอให้ผู้กำหนดนโยบายทำความเข้าใจเรื่องปัญหาน้ำท่วมในเมืองให้มากขึ้น ทั้งด้านสาเหตุและความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาในปัจจุบันและปัญหาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก โดยมองว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง จำเป็นต้องมีการรวมแผนการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมเข้าไว้ในแผนการวางผังเมืองและการบริหารเมืองด้วย
วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมก็คือ วิธีการแบบบูรณาการ ซึ่งผสานเอาทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรม (Structural Measures) และมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรการเชิงโครงสร้างเข้าไว้ด้วยกัน มาตรการเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การสร้างช่องทางระบายน้ำและฟลัดเวย์ (Floodway) ซึ่งสามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในเบื้องต้นได้แต่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
ดังนั้น การใช้มาตรการที่ไม่ใช่มาตรการเชิงโครงสร้างจึงจำเป็น ได้แก่ การสร้างระบบเตือนภัยน้ำท่วม การจัดการให้มีพื้นที่สีเขียวในเมือง (Urban Greening) เช่น การมีพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่กันชนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการดูดซับและชะลอน้ำ และการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วม
โดยหัวใจสำคัญของการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมคือ การสร้างสมดุลให้เหมาะสม ระหว่างมาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการอื่นๆ แม้ว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะมีประสิทธิภาพในเบื้องต้น แต่ก็ไม่อาจต้านทานภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ สิ่งก่อสร้างยังอาจเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงจากน้ำท่วม จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้ และความเสี่ยงในปัจจุบันยังอาจจะปลี่ยนแปลงไปได้อีกในอนาตค ดังนั้น จึงต้องมีทางออกที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต
การตัดสินใจเรื่องมาตรการเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่คำนึงเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ความเท่าเทียมกัน ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและงบประมาณที่จะใช้ในการแก้ปัญหา
การจะจัดการกับความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้โดยลำพังได้
และเนื่องจากเราไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนเพื่อการฟื้นฟูที่รวดเร็ว และใช้โอกาสการฟื้นฟูบูรณะในการสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและเข้มแข็ง รวมทั้งมีศักยภาพในการรับมือกับอุทกภัยได้ดีขึ้นในอนาคต
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมการจัดการความเสี่ยงเรื่องอุทกภัยในเขตเมือง กับการทำงานเพื่อการแก้ไขความยากจน และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นการวางผังเมืองและการจัดการเฉพาะด้านต่างๆ เช่น การจัดหาที่พักอาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และการบริการพื้นฐานอื่นๆ เพราะการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วยังหมายถึงว่า เรามีโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่เมืองต่างๆ จะสามารถผนวกเอาแผนการจัดการน้ำท่วมอย่างบูรณาการเข้าไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น