เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand SDGs Forum 2017#1: Business in Action ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ เทสโก้ โลตัส โคคา-โคล่า เอสซีจี บางจาก เอไอเอส ดีแทค ซีพีเอฟ อิเกีย กสิกรไทย และ PTTGC มาร่วมแบ่งปันบทเรียนและความก้าวหน้าขององค์กร ในการขับเคลื่อนองค์กรเกี่ยวกับกลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน และความก้าวหน้าขององค์กรธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) หลังจาก 193 ประเทศทั่วโลก มีฉันทามติร่วมกันราวเดือนกันยาบน 2558 ที่จะใช้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นทิศทางการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2559 โดยตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน 17 ประการ ครอบคลุมปัญหาขนาดใหญ่ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขจัดปัญหาความยากจน คุณภาพการศึกษา สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม ฯลฯ ภายในปี 2573
วัตถุประสงค์หลักของเวทีครั้งนี้ จึงเป็นการมุ่งที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ และความเคลื่อนไหวที่ขึ้นขององค์กรธุรกิจชั้นนำด้านความยั่งยืน ทั้งบริษัทในระดับโลกและระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่ภายใต้เป้าหมายใหม่ของการพัฒนาคาดหวังว่าจะเป็นภาคส่วนสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหา
ความก้าวหน้า SDGs ระดับโลก
ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์ Country Communications Lead บริษัทไบเออร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นบนเวทีในวันนั้นว่า “การจัดงานวันนี้ต้องการตอบโจทย์เรื่องความคืบหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย”
“เราอยากเริ่มต้นด้วยการโชว์ตัวเลขหรือข้อมูลความคืบหน้าของ SDG ระดับโลกให้เห็นว่า 3 อันดับแรกคือ 1. มีเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม, นวัตกรรม และสาธารณูปโภค (Industry, Innovation and Infrastruture) 2. เรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาที่เข้าถึงได้ (Afforadable & Clean Energy) และส่วนที่ 3. เป็นเรื่องของการมีความร่วมมือเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน (Partnership for the Goals)”
ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากรายงาน Evaluating Progress Towards The Sustainable Development Goals ของ Globescan และ Sustainability ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจความคิดเห็น 511 ผู้เชี่ยวชาญในวงการการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ฐิติภากล่าวด้วยว่า คำถามที่น่าสนใจมีอยู่ว่า โลกเรามีเมกะเทรนด์เกิดขึ้นมากมาย ภายในปี 2015 ที่เข้าสู่ยุค SDGs เกิดความเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง มีความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย เต็มไปด้วยเมกะเทรนด์ที่ถาโถมเข้ามา
จากการศึกษาข้อมูลพบว่า มี 3 เทรนด์ที่ไม่ว่าตำราไหน จะต้องพูดถึง 3 เมกะเทรนด์นี้ เรื่องแรก คือ “Digital Revolution” เราจะเห็น “AI” (Artificial Intelligence) มากขึ้นทุกวัน หรือแม้แต่ “Internet of Things” (IoT) เรื่องที่สอง “Urbanization” หรือความเป็นเมือง คนมากกว่า 1.2 ล้านคนต่อสัปดาห์ย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง มันเกิดอะไรขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้น และเรื่องสุดท้ายคือเรื่อง “Climate Change” เป็นเรื่องที่สำคัญ
เอสซีจี: ลุยเป้าฯ 13 ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ 10% ในปี 2563
นำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการพูดคุยบนเวทีถึงความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Coucil For Sustainable Development: WBCSD) องค์กรระดับโลกด้านความยั่งยืนที่เอสซีจีเป็นหนึ่งในสามขององค์กรธุรกิจในไทยที่เป็นสมาชิก ว่า ทุกวันนี้ WBCSD มีสิ่งที่เรียกว่า CEO Guide to SDG ซึ่งให้แนวทางในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ สรุปได้ว่า สำหรับประเด็นที่สอดคล้องกับ SDG ธุรกิจมีเรื่องความเสี่ยงที่จะต้องนำเข้ามาดูประกอบ เรื่องโอกาส เรื่องการบริหารจัดการความโปร่งใส รวมถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และสุดท้ายคือเรื่องของความร่วมมือ
ปัจจุบันเอสซีจีมี 3 ธุรกิจหลักที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่องค์กรมีวิสัยทัศน์ (vision) เรื่องหนึ่งคือ ความยั่งยืน (sustainability) ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่จะได้ทำในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ หรือ materiality ของเป้าหมายการพัฒนาที่ความยั่งยืน ซึ่งเอสซีจีก็ดำเนินการเรื่องนี้เหมือนกัน โดยเอสซีจีได้แปลงการจัดลำดับความสำคัญไปสู่การสร้างสรรค์คุณค่า (value creation) เพราะเรามองว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถทำให้เกิดคุณค่า ไม่ว่าต่อตัวเอสซีจีเองหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในส่วนต่างๆ นั่นจึงจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และสำหรับเอสซีจี หากดูประเด็นหลักที่สอดคล้อง ถ้าดูตามแนวทางนี้ ในส่วนของพลังงาน (energy) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อาจจะสัมพันธ์กับเป้าหมาย ที่ 13 คือเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate action และอาจจะมีเป้าหมาย อื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยบ้าง
เอสซีจีจึงมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันเอสซีจีปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 25 ล้านตัน ซึ่งค่อนข้างมาก เอสซีจีจึงมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% ภายในปี 2563 ซึ่งล่าสุด ปีที่แล้วทำได้ประมาณ 7% โดยในแง่กลยุทธ์ก็จะมีเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เรื่องพลังงานทดแทน รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรื่องบริการ และเรื่องคนซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกโครงการสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
ยูนิลีเวอร์กับวิธีคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม
พอล โพลแมน (Paul Polman) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มยูนิลีเวอร์ เคยกล่าวไว้ว่า การที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้เราต้องสร้าง “ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทั้งระบบในระดับรากฐาน ไม่ใช่การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป
ที่ผ่านมา นอกจากการทำตาม “แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์” (Unilever Sustainable Living Plan: USLP) ในระดับองค์กรแล้ว บทเรียนของการดำเนินงานภายใต้ SDGs ยูนิลีเวอร์ได้ริเริ่มการแก้ปัญหาหลายเรื่องที่ใช้ความร่วมมือเพื่อจะแก้ไขปัญหาอย่างพลิกโฉม เช่น การช่วยให้เป้าหมาย 15 ระบบนิเวศน์บนบก เป็นจริง ในฐานะผู้ซื้อน้ำมันปาล์มที่มีขนาดมากพอที่จะสร้างความแตกต่าง โดยการพลิกโฉมห่วงโซ่วัตถุดิบให้สามารถสืบย้อนข้อมูลได้ทั้งหมดว่าเป็นการผลิตที่ยั่งยืน กระตุ้นคนในวงการให้ยกระดับมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ทำงานกับภาคส่วนอื่นในการเพิ่มข้อตกลงการไม่ทำลายป่าในนโยบายระดับชาติ เป็นต้น
สาโรจน์ อินทพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เรื่องการจัดซื้อ (sourcing) ยูนิลีเวอร์ซื้อสินค้าจากทั่วโลก เราคำนวณดูว่าจริงๆ แล้วควรทำอย่างไร เช่น เราใช้น้ำมันปาล์มเยอะมาก ฉะนั้นพันธสัญญาของเรา คือจะต้องไม่ไปซื้อปาล์มจากแหล่งที่บุกรุกป่าสงวน นี่คือส่วนของความยั่งยืนในมุมของการผลิต”
ถือเป็น 1 ใน 4 กลยุทธ์ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” (Sustainable Business) ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1. business เรื่องการทำสินค้าออกมาขาย เรามองเรื่องนวัตกรรมว่าจะทำผลิตภัณฑ์อย่างไร ดูแลในทุกๆ มุมมองที่เป็นไปได้ให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นกับสินค้าของเรา 2. การผลิต โรงงานของเราจะไม่ปล่อยขยะออกไปสู่พื้นที่ฝังกลบ จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดเรื่องก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ซึ่งเป็นพันธสัญญาในการผลิตของเรา รวมถึงเรื่องการจัดซื้อด้วย เช่น ในเรื่องของปาล์ม 3. สิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องขยะ ซึ่งเป็นปัญหาหลักทั่วโลก และ 4. คน เรามองว่า จริงๆ แล้วการจะเกิด sustainable business ได้ คนเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อน เพราะฉะนั้น เรื่องธุรกิจ ยูนิลีเวอร์เห็นว่าการออกนวัตกรรม ต่างๆ สินค้าต่างๆ ทางทีมการตลาดจะต้องคิดแล้วว่าเราจะทำอย่างไรที่โปรเจกต์หรือสินค้าที่จะนำออกมาขายต้อง ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้วย ดังนั้น ใน 17 เป้าหมาย (Goals) จะมีหลายเป้าหมายที่เราเข้าไปทำอยู่ โดยเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเป้าหมาย 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
สาโรจน์กล่าวด้วยว่า ยูนิลีเวอร์เป็นผู้ขับเคลื่อนระดับโลกในเรื่อง ธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable business) ทุกประเทศที่ยูนิลีเวอร์อยู่ทำธุรกิจ จะต้องดำเนินในเรื่องนี้
เมื่อเกิดคำว่า ความยั่งยืน เรามีเป้าหมายว่า ทำอย่างไรให้สินค้าของเราซึ่งอยู่คู่กับผู้บริโภคตั้งแต่เช้าถึงเย็นมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความยั่งยืน เป้าหมายของเราคือ ถ้าเราจะมีส่วนร่วมในการทำเรื่องความยั่งยืน นั่นหมายความว่าผู้บริโภคที่ใช้สินค้าเรา จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้เกิดความยั่งยืน ฉะนั้น วิสัยทัศน์ของเราคือ “การทำให้การมีชีวิตอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้ทั่วไป”
เมื่อปี 2558 เริ่มมีเรื่อง SDGs เข้ามา เชื่อว่าทุกบริษัทก็งงว่าเป้าหมายนี้กับธุรกิจจะไปกันได้อย่างไร แต่เมื่อมีโจทย์นี้ตั้งขึ้นมาเป็นการยืนยันว่าแผนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของเรามาถูกทาง เพราะหากมองถึง ธุรกิจที่ยั่งยืนในแบบของเรา หมายถึงความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในทุกๆ ฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต เรื่องคน เรื่องการขาย และการสื่อสาร ดังนั้น แนวทางคือ ธุรกิจจะต้องเติบโตให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องนึกถึงว่า จะทำอย่างไรที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ บวกกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งเราตั้งโจทย์นี้และทำกันมาตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน
ความริเริ่มใหม่ในไทยกับการผลักดันการแก้ปัญหาขยะย่อยสลายไม่ได้อย่างเป็นระบบ
ในปีนี้ พอล โพลแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มยูนิลีเวอร์ ประกาศว่า ภายในปี 2568 บรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ 100% จะต้องรีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ เมื่อโจทย์ใหญ่มาจากคุณพอล โพลแมน ทุกประเทศจะต้องคิดแล้วว่า จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญประการแรก คือ “การบรรจุภัณฑ์” จะต้องเกิดในเรื่อง “นวัตกรรม” ต่อไปนี้เวลาจะผลิตสินค้า ผลิตแพ็คเกจจิ้ง ผลิตขวด ซอง หรือฉลาก ซองของเราจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติได้หรือไม่ จะกลับมารีไซเคิลได้หรือไม่
ประการที่ 2 คือเรื่อง “สื่อทางสาธารณะ” ต้องยอมรับว่ายูนิลีเวอร์เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตขยะออกมาจำนวนมาก ฉะนั้น เรามีการเรียนรู้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วว่า สินค้าหรือแพคเกจจิ้งอะไรที่สามารถรีไซเคิลได้ทำให้เราตอบโจทย์ในปีนี้ว่า ยูนิลีเวอร์ได้กำหนดไว้ว่า เราจะเป็นคนที่ทำอย่างไรที่ทำให้ “ซองซาเช่” ซึ่งเป็นแพคเกจจิ้งที่ย่อยสลายได้ยากมาก ใช้เวลานาน และรีไซเคิลไม่ได้ ทำอย่างไรให้สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้
“ผมกำลังมองว่า วันนี้ปัญหาเรื่องขยะ ยูนิลีเวอร์เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องดูแลและรับผิดชอบ จึงมีแผนว่าทำอย่างไรเราจะมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคเอ็นจีโอ ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย โจทย์นี้จะเป็นโจทย์ใหญ่มาก ดังนั้น ยูนิลีเวอร์มองว่า เป้าหมายคือทำอย่างไรให้ขยะประเภทซองซาเช่หรือถุงพลาสติกไม่ต้องไปอยู่ในที่ฝังกลบและนำกลับมารีไซเคิลได้”
นอกจากนี้ กำลังทำการบ้านกับทางสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมควบคุมมลพิษและภาคเอกชนแล้วว่า ทำอย่างไรที่ยูนิลีเวอร์จะจับมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จะหันกลับมามองว่าวันนี้ปัญหาขยะ โดยโฟกัสไปที่ “ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้” โดยหลังจากนี้ตั้งเป้าว่าหลังจากนี้จะต้องย่อยสลายได้และรีไซเคิลได้ ซึ่งยูนิลีเวอร์ยินดีเป็นแรงผลักดันที่จะทำร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนร่วมกัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
บางจาก: ธุรกิจพลังงานไทยกับการตอบโจทย์ Climate Action
ขณะที่ บางจาก คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน ปัจจุบันไม่เพียงประกาศแผนงานดำเนินธุรกิจตามแผน UNSDG ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจน้ำมันและขยายสู่ธุรกิจสีเขียว การเปลี่ยนชื่อ จาก “บางจากปิโตรเลียม” สู่ “บางจากคอร์ปอร์เรชั่น” เมื่อเร็วๆ นี้ ยังสะท้อนทิศทางใหม่ของบางจากที่กำลังไปไกลมากกว่าการเป็นธุรกิจปิโตรเลียมสีเขียว
ศศมน ศุพุทธมงคล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG 17 Goals ออกมา บริษัทก็เริ่มมีการดูงาน โดยมาทำแผนที่ขององค์กร (mapping) ดูว่าทำอะไรได้บ้าง และจะชูเรื่องอะไรเป็นประเด็นสำคัญ บางจากมีการ mapping โดยผู้บริหารเลือกมา 9 Goals แต่ใน 9 Goals มีหลักๆ ที่เกี่ยวกับบางจากโดยตรง คือ เป้าหมายที่ 13 การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate action เพราะธุรกิจบางจากเป็นธุรกิจพลังงาน เป็นธุรกิจที่ปล่อย CO2 ประมาณ 25% ทั่วโลก ซึ่งเราอยู่ในส่วน 25% นั้นด้วย
ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล (อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจากฯ) ท่านพูดเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาว่า ธุรกิจน้ำมันต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ให้ได้ ซึ่งท่านเป็นคนนำเอาเรื่องพลังงานจากแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลเข้ามาเปิดตัวในเชิงพาณิชย์ จนปัจจุบันเราสามารถขายได้ถึง E85 ซึ่งเริ่มมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวกับ climate change ในช่วงแรกประเทศไทยต้องรายงานเรื่องพลังงาน ซึ่งในเป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (affordable and clean energy) ก็จะเชื่อมโยงโดยตรง ส่วนข้อที่เหลือก็จะมีทั้งที่เกิดจากผลกระทบและก็เป็นทางแก้ในเชิงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ด้วย
ถามว่าทำไม climate change สำคัญมาก ทำไมทั่วโลกจะตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศา ก่อนหน้านี้มีการ รายงานว่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้แบบนี้โดยที่ไม่ทำอะไร และยังบริโภคกันอยู่แบบนี้ ยังผลิตแบบนี้ อยู่ประมาณสัก 10 ปี เราจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เพิ่มเกิน 2 องศาได้แล้วและเมื่อไหร่ที่เพิ่มเกิน 2 องศาขึ้นไปถึง 3 องศาเมื่อไหร่ มันจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้ เพราะฉะนั้น ตัวหลักที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ คือ “พลังงาน”
SDGs จุดย้ำโมเดลธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจชีวภาพ
เพราะฉะนั้นตั้งแต่ 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เราเน้น Goal 13 และ 7 เป็นหลัก ส่วน Goal อื่นๆ ก็มีการทำในเชิง CSR เพราะว่า UN SDG Goal บอกไว้ว่า Goal เป็นเป้าหมาย แต่กระบวนการทำต้องใช้ CSR เข้ามาเป็นเครื่องมือทั้งหมด โดยกลยุทธ์ที่ทำคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ส่วนแรกคือ การตั้งเป็นเป้าหมายขององค์กร ผู้บริหารตั้งเป้าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมของบางจากและบริษัทในเครือ ประมาณ 550,000 ตัน ตัว หลักที่ปล่อย CO2 คือโรงกลั่นของบางจาก เป็นตัวที่ผลิตน้ำมัน ซึ่งในกระบวนการต่อให้ลดดีอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องใช้ “การชดเชยคาร์บอน” หรือ carbon offset เข้ามาช่วย
โรงกลั่นที่ทำในปัจจุบัน บางจากได้เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากเดิมที่ใช้น้ำมันเตาที่ปล่อย CO2 ค่อนข้างสูง ก็เปลี่ยนมาเป็นแก๊สธรรมชาติ แต่ก็ยังออก CO2 อยู่ ดังนั้นจึงลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นให้ใช้พลังงานน้อยลง เมื่อใช้พลังงานน้อยลงก็จะสามารถช่วยลดลงไปได้อีกระดับหนึ่ง ปัจจุบันมีโครงการปรับปรุงเรื่องพลังงานและโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ขั้นตอนต่อไปคือ เปลี่ยนการใช้พลังงานที่ปล่อย CO2 สูง และลดการใช้พลังงาน ซึ่งดีอยู่แล้ว ลงไปอีกหนึ่งระดับหนึ่ง ด้วยการการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ฉะนั้นจะได้ส่วนรีเทิร์นกลับสู่องค์กรจากการลงทุน คือ เมื่อเราปรับปรุง กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีใหม่ประหยัดกว่า ดีกว่า ดังนั้น กระบวนการผลิตจะเพิ่มจาก 120,000 บาร์เรล เป็น 135,000 บาร์เรล
ส่วนที่สองที่เรา offset ที่จะทำให้เกิดผลจริงคือ ตัวธุรกิจ ตั้งแต่สมัย ดร.อนุสรณ์ ได้เปลี่ยนธุรกิจจากปิโตรเลียมอย่างเดียว มาสู่กลุ่มพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีส่วนที่เป็นพลังงานชีวภาพประมาณ 7%, โซลาร์หรือธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียวประมาณ 20% ฯลฯ
นี่คือจากความคิดที่ว่า เราจะดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรใน Goal ที่ 13 และใช้ Goal 7 เป็นเครื่องมือ ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่ win-win คือธุรกิจก็ได้ผลประโยชน์ด้วย และได้มีโอกาสดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ได้ขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล เดิมผลิตประมาณ 3 แสนลิตร มีโรงผลิตอยู่ที่บางปะอิน ปัจจุบันได้ขยายเป็นประมาณ 8 แสนลิตร เพิ่มมาอีกประมาณ 5 แสนลิตร ซึ่งทำได้และมีตลาด และในส่วนแก๊สโซฮอล์ ที่ต้องใช้เอทานอล ก็มีอีก 2 ธุรกิจ ที่จังหวัดฉะเชิงเทราและอุบลราชธานี ช่วยทำให้เราส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น
ธุรกิจอีกตัวที่ offset คือตัว “solar plant” มีอยู่ที่ประเทศไทย 175 เมกะวัตต์ และอยู่ที่ประเทศต่างๆ รวมถึงอยู่ที่ปั๊มสหกรณ์โซนจังหวัดอยุธยาด้วย ก็ขายไป generate รายได้ประมาณ plant ละล้านบาท และขยายไปสู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 40 เมกะวัตต์ เราเริ่มมีพลังงานลมที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งทางผู้บริหารคิดว่าในปี 2020 น่าจะมีพลังงานในกลุ่มที่เป็นพลังงานทดแทนทั้งหลายครบทุกประเภท และมีประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ที่จะผลิตไฟฟ้า โดยมีบริษัทตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องเหล่านี้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) และนี่คือทิศทางของบางจากกับโมเดลธุรกิจใหม่และกลยุทธ์องค์กรที่จะเดินไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนานี้ด้วยกัน
สำหรับกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติหรือเป้าหมาย SDGs 17 ประการ ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 2 การยุติความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 6 การมีน้ำและสุขาภิบาลที่ดี เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่มีความรับผิดชอบ เป้าหมายที่ 13 การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเล เป้าหมายที่ 15 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรบนบก เป้าหมายที่ 16 สันติภาพ ความยุติธรรม และองค์กรที่มั่นคง เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติดตามอ่านรายละเอียดข้อมูลการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยจาก Thailand SDGs Forum2017#1 เพิ่มเติมได้ที่thaipublica.org