ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup “เศรษฐกิจชะรีอะฮ์” คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย สู่ “Advanced Indonesia”ปี 2045

ASEAN Roundup “เศรษฐกิจชะรีอะฮ์” คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย สู่ “Advanced Indonesia”ปี 2045

1 พฤศจิกายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25-31 ตุลาคม 2563

  • “เศรษฐกิจชะรีอะฮ์” คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
  • อินโดนีเซียใช้ e-VISA กับชาวต่างชาติ
  • เมียนมาให้ต่างชาติลงทุนหุ้นใน Pre-listing Board ได้
  • สหรัฐอเมริกา-ไทยประชุมหารือนโยบายพลังงานครั้งที่ 1
  • “เศรษฐกิจชะรีอะฮ์” คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/903396/bank-indonesia-indonesias-sharia-economy-lags-behind

    เศรษฐกิจชะรีอะฮ์อาจกลายเป็น “ คลื่นลูกใหม่” ของเศรษฐกิจอินโดนีเซียและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการเปิดเผยของนายมารัฟ อามิน รองประธานาธิบดี พร้อมอ้างอิงข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป(Boston Consulting Group :BCG) ที่ประเมินว่า ในปี 2020 มีชาวมุสลิมชนชั้นกลาง 64.5 ล้านคนในอินโดนีเซีย

    ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับระบบการการเงินที่อยู่ภายใต้กรอบหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากจะต้องมีทางเลือกให้กับผลิตภัณฑ์ฮาลาลและบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และหลักการ

    นายมารัฟเชื่อว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจชะรีอะฮ์อาจมีศักยภาพอย่างมากในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของประเทศและเสริมสร้างสวัสดิการ

    “ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสมควรที่จะยกว่า เศรษฐกิจชะรีอะฮ์ เป็นคลื่นลูกใหม่สำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย” นายมารัฟกล่าว

    แม้จะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุด แต่อัตราการรู้เรื่องการเงินชะรีอะฮ์ของชาวอินโดนีเซียมีเพียง 8.93%เท่านั้นในปี 2019 จากข้อมูลของคณะกรรมการด้านบริการกรเงิน(Financial Services Authority:OJK)

    ยิ่งไปกว่านั้นส่วนแบ่งการตลาดของการเงินของชะรีอะฮ์ยังไม่ถึง 10% ของอุตสาหกรรมการเงินโดยรวมของอินโดนีเซีย จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม แม้รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจชะรีอะฮ์ผ่านการออกคำสั่งประธานาธิบดี แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อเศรษฐกิจและการเงินชะรีอะฮ์(National Committee for Sharia Economy and Finance :KNEKS) เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งนายมารัฟยอมรับ และว่า ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา เศรษฐกิจชะรีอะฮ์จึงยังไม่มีศักยภาพมากนัก

    ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซียมีสัดส่วนเพียง 3.8% ของตลาดฮาลาลทั่วโลกซึ่งมีมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018 และคาดว่าจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 และยังตามหลังบราซิลซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกแต่เป็นผู้สนับสนุนอันดับหนึ่งในตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลทั่วโลกด้วยมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019

    นายมารัฟกล่าวว่า ประเทศยังไม่สามารถเพิ่มศักยภาพบริการการเงินชะรีอะฮ์ให้เป็นธุรกิจและเพื่อสังคมได้อย่างเต็มที่

    นายมารัฟกล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยการรวมธนาคารอิสลามของรัฐ 3 แห่งเข้าด้วยกันและพัฒนาไมโครไฟแนนซ์และสหกรณ์ชะรีอะฮ์ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนสังคมที่รวบรวมผ่านซะกาต(Zakat)หรือการให้ทาน การอินฟาก (infaq) หรือการจ่าย และการบริจาคทางศาสนา เศาะดะเกาะฮ์ (sadaqqah) การวะกัฟ( waqf) การบริจาคทรัพย์ในวิถีทางศาสนบัญญัติ เพื่อเสริมสร้างสวัสดิการสังคม

    “ด้วยการดำเนินการเหล่านี้ ผมหวังว่าระบบเศรษฐกิจชะรีอะฮ์จะสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจของเราสมบูรณ์ ทำให้เศรษฐกิจมีความครอบคลุมทั่วถึงและเป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนร่วมในขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้เราพ้นจากการระบาดของโควิด -19”

    เศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาสสองหดตัว 5.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงักและกระทบต่อกำลังซื้อ

    ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์ของรัฐบาลการลงทุนชุมชน นินี ซูโมฮานโดโยกล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่ชาวมุสลิมชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับแนวคิดชะรีอะฮ์ทำให้การเสริมสร้างความรู้ทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามเป็นสิ่งสำคัญ

    “ภาษามักจะกลายเป็นอุปสรรคในการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดชะรีอะฮ์แก่ผู้คน เพราะมักเกี่ยวข้องกับคำภาษาอาหรับที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าเรียนรู้” นินีกล่าว

    เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เอ็ดดี้ โอมาร์ เดวิส หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลามประจำภูมิภาคของอินโดนีเซียกล่าวว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรปรับคำศัพท์ของชะรีอะฮ์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น เพื่อการเรียนรู้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำว่า รัฐบาลควรทำให้แน่ใจจะมีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายของชะรีอะฮ์เพื่อส่งเสริมการรวมเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

    “ตราสารการเงิน สุขุก สามารถใช้ระดมเงินทุนสำหรับโครงการขนส่งในชวาได้” เอ็ดดี้อธิบาย “ เรายังสามารถใช้สินทรัพย์ waqf เพื่อช่วยปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน”

    สุตาน อีมีร์ ฮิดายัต ผู้อำนวยการดูแลด้านระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชะรีอะฮ์ของ KNEKS ย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงโรงเรียนสอนศาสนาแบบประจำ และผู้มีบทบาททางธุรกิจเพื่อปรับปรุงความรู้ทางการเงินชะรีอะฮ์ ซึ่งจะส่งเสริมการใช้ผลิต ภัณฑ์ทางการเงินชะรีอะฮ์มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงการเงินชะรีอะฮ์ในประเทศ

    ข้อมูลของ OJK พบว่า อัตราเข้าถึงการเงินชะรีอะฮ์อยู่ที่ 9.1% ในปี 2019 ลดลงจาก 11.1% ในปี 2018

    ฟรีเดอริก้า วิดยาสารี เดวี รองเลขาธิการทั่วไปสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอิสลามแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Islamic Economic Expert Association :IAEI ) ให้ความเห็นว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาห กรรมการเงินอิสลามและสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินชะรีอะฮ์ในภาคธุรกิจจริง เพื่อที่จะได้พัฒนาเศรษฐกิจชะรีอะฮ์โดยรวมได้อย่างเต็มที่

    ด้าน สุเก็ง รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า เศรษฐกิจและการเงินอิสลามจะมีส่วนสำคัญในการนำพาประเทศซึ่งเป็นหมู่เกาะไปสู่เป้าหมาย ‘Advanced Indonesia in 2045’

    รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/160153/islamic-economics-pivotal-to-advanced-indonesia-vision-bi

    “เราเชื่อว่าทั้งเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจการเงินอิสลามจะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วของอินโดนีเซียในปี 2045”

    ปัจจุบันอินโดนีเซียได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนโดยมีรายได้ประชาชาติรวม (GNI) ต่อหัวอยู่ที่ 4,050 ดอลลาร์สหรัฐ

    “ประเทศยังมีหนทางที่ท้าทายและยาวนานในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราไม่ต้องการติดอยู่ในสถานะของประเทศรายได้ปานกลางที่เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง”

    ประชากรมุสลิมจำนวนมากในประเทศมีศักยภาพในการเพิ่มอุปสงค์และอุปทานในเศรษฐกิจและการเงินอิสลาม ดังนั้นประเทศก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีรายได้สูงของอินโดนีเซียในปี 2045

    อินโดนีเซียมีโรงเรียนประจำสอนศาสนาอิสลามราว 28,000 แห่งมีนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน มีธนาคารชะรีอะฮ์ทั่วไป 14 แห่ง มีธุรกิจชะรีอะฮ์ 20 แห่ง ธนาคารพัฒนาชนบท 165 แห่งและสถาบันการเงินชะรีอะฮ์ขนาดเล็ก 4,500 แห่ง

    นอกจากนี้อีกประมาณ 60% ของชาวอินโดนีเซียเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถเป็นแรงผลักดันให้บรรลุเป้าหมายได้

    “ในแง่ของการเข้าถึง ชาวอินโดนีเซีย 133% มีโทรศัพท์มือถือ หมายความว่า คนๆ หนึ่งสามารถมีโทรศัพท์มือถือได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง”

    อินโดนีเซียใช้ e-VISA กับชาวต่างชาติ

    กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนได้เปิดให้ ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าอินโดนีเซียยื่นขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ หรือ e-VISA

    ผู้ที่ต้องการขอวีซ่าจะต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและวัตถุประสงค์ในการเดินทางบนเว็บไซต์ visa-online.imigrasi.go.id หากได้รับอนมัติ ก็จะได้รับจดหมายตอบรับทางอีเมล

    ยาสอนนา ลาโอลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า e-visa เป็นความพยายามพิจารณาพัฒนาการให้บริการอนุญาตเข้าเมืองที่รวดเร็วง่ายและโปร่งใสมากขึ้น

    “อีกทั้งเป็นการส่งข้อความเชิงบวกไปยังประเทศอื่นๆ ว่า อินโดนีเซียได้ทำการปฏิรูประบบราชการและพร้อมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ” และ หวังว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด -19 โดยการสร้างงานผ่านการลงทุนจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

    เรตโน มาร์ซูดี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและ วิษณุตมะ รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยกย่องนโยบายใหม่ โดยเรตโนหวังว่า บริการอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ขั้นตอนการขอวีซ่าง่ายขึ้น โดยไม่ละเลยการปกป้องข้อมูลหรือความปลอดภัยบริเวณชายแดน ส่วนวิษณุตมะ กล่าวว่า ใบสมัครวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และ e-visa ช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขอวีซ่าได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

    นอกจากนี้กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชันระบบข้อมูลการวิจัยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแห่งแรกในประเทศ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผสมผสานกับเทคโนโลยีและแมชชีนเลิร์นนิ่ง จากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ชของ 80 หน่วยงานภายในกระทรวง ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนได้รวดเร็ว

    เมียนมาให้ต่างชาติลงทุนหุ้นใน Pre-listing Board ได้

    อู เท็ต ทุน อู ผู้บริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง(Yangon Stock Exchange:YSX) เปิดเผยว่า ตลาดฯได้อนุญาตให้ ชาวต่างชาติซื้อขายหุ้นใน Pre-listing Board ได้แล้ว

    กระดานซื้อขายก่อนเข้าจดทะเบียน หรือ pre-listing board เป็นกระดานซื้อขายแห่งที่สอง เพื่อรองรับการซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง ช่วยให้บริษัทที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนในกระดานหลักสามารถระดมทุนผ่านการขายหุ้นได้ และยังดึงกระแสเงินให้ไหลเข้าเมียนมาและพัฒนาตลาดทุนให้มีความลึกมากขึ้น

    บริษัทมหาชนที่ซื้อขายใน pre-listing board จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 5%

    สำนักประธานาธิบดีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติในเดือนที่ผ่านมาให้ YSX จัดตั้ง pre-listing board ขึ้น โดยจะเปิดภายในปีนี้

    เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา YSX ได้ให้ความเห็นชอบให้ Myanmar Securities Exchange Centre, KBZ Stirling Coleman Securities, CB Secuirties AYA Trust Securities, KTZ Ruby Hill Securities, UAB Securities และ Trust Venture Partners Co.,Ltd เป็นที่ปรึกษาการเงินของ pre-listing board

    บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในกระดานหลักต้องมีคุณสมบัติครบ 17 ข้อ แต่สำหรับบริษัทมหาชนที่จะเข้าซื้อขายใน pre-listing board ต้องมีคุณสมบัติครบเพียง 7 ข้อจาก 17 ข้อที่กำหนดไว้ โดยต้องเป็นบริษัทมหาชน มีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 100 ราย มีบัญชีทางการเงินที่ชัดเจนตรวจสอบได้ มีการชำระภาษี มีระบบอิเล็กทรอนิคส์ออกหุ้นได้ และต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในด้านการกฎหมายฟอกเงินและการสนัสนุนการเงินแก่การก่อการร้าย

    ธุรกิจเมียนมาจดทะบียนเป็นบริษัทมหาชน 260 บริษัทภายมต้กฎหมาย Myanmar Companies Law แต่มีเพียง 6 บริษัทเท่านั้นที่จดทะเบียนใน YSX

    สหรัฐอเมริกา-ไทยประชุมหารือนโยบายพลังงานครั้งที่ 1

    ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/usembassybkk/photos/a.119472568073894/3702476179773497/

    เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ได้มีการเปิดตัว การประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 1ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยมีนายฟรานซิส อาร์. แฟนนอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายสำนักทรัพยากรพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานของไทย ทำหน้าที่หัวหน้าคณะของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานสหรัฐฯ และไทยเข้าร่วมการประชุม

    การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างสหรัฐฯ และไทย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในการสร้างการเติบโตของตลาดพลังงาน เสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน และขยายการเชื่อมโยงภาคพลังงานไฟฟ้าในอาเซียนและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งสหรัฐฯ และไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในระดับทวิภาคี ซึ่งมุ่งส่งเสริมกิจกรรมด้านการค้าพลังงาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานในประเทศไทย รวมทั้งได้จัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือและการสนับสนุนทางวิชาการที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต

    ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ครั้งที่ 2 ณ ประเทศไทย ร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจ ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ตามปกติ และได้เห็นชอบที่จะขยายกิจกรรมความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาด ตลอดจนน้ำมันและก๊าซ พลังงานทางเลือก ประสิทธิภาพพลังงาน และภาคการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย