ThaiPublica > Sustainability > Headline > สิงคโปร์ติดสิบอันดับแรกใน Global Ageing Index ที่ 1 เอเชีย ด้านความพร้อมรับมือสังคมสูงวัย

สิงคโปร์ติดสิบอันดับแรกใน Global Ageing Index ที่ 1 เอเชีย ด้านความพร้อมรับมือสังคมสูงวัย

28 ธันวาคม 2024


ที่มาภาพ: https://news.nus.edu.sg/singapore-ranks-10th-globally-in-readiness-for-a-rapidly-ageing-society-study-by-nus-and-columbia-university/

สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำของโลก ใน Global Ageing Index และเป็นผู้นำของเอเชียในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสของสังคมสูงวัย จากผลการศึกษาใหม่ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ( National University of Singapore :NUS) และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

รายงานจาก NUSNews ระบุว่า การศึกษานี้ประเมินความพร้อมในด้านความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย และประเด็นหลักอื่นๆ ซึ่งทำให้สิงคโปร์เป็นผู้นำในเอเชีย ขณะที่ในระดับโลก สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับหนึ่ง ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลกและอันดับสองในเอเชีย ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 24

ก่อนหน้านี้นักวิจัยกลุ่มนี้เคยรายงานการเปรียบเทียบการปรับตัวตามวัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการศึกษาครั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยได้พัฒนามาตรวัดใหม่ คือ Global aging Index ซึ่งทำให้มีการเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้น เพื่อประเมินความพร้อมของ 143 ประเทศ ครอบคลุม 95.4% ของประชากรโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายกับการสูงวัยของประชากร การศึกษานี้ประเมินประเด็นสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความเป็นอยู่ที่ดี ประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม ความเสมอภาค ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวคี และความมั่นคง ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ 25 คนในประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลาง และต่ำ

การวิจัยครั้งนี้มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ซินเธีย เฉิน(Cynthia Chen) จาก Saw Swee Hock School of Public Health (SSHSPH) แห่ง NUS และศาสตราจารย์ จอห์น ดับเบิ้ลยู โรว์(John W Rowe) จาก Mailman School of Public Health แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย การศึกษาครั้งสำคัญนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Aging เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 และยังมี จูเลียน ลิม(Julian Lim) ผู้ช่วยวิจัยที่ NUS SSHSPH เข้าร่วม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉิน อธิบายว่า ประเทศที่มีรายได้สูงเป็นผู้นำในอันดับด้านเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางกลับตามหลังข้อสังเกตที่สำคัญของการศึกษาวิจัยนี้ แต่ข้อค้นพบสำคัญ คือ แม้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมักจะมีประชากรอายุน้อยในปัจจุบัน แต่หลายประเทศก็คาดว่าจะเผชิญกับประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วในอนาคต บุคคลที่มีความมั่นคงทางการเงินจำกัดอาจเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงปลายของชีวิต หากระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ภาระทางการเงินของบุคคลและครอบครัวก็อาจย่ำแย่ และอาจนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

“ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองต่อการสูงวัยของประชากรอย่างมีประสิทธิผลจึงมีประโยชน์หลายอย่าง ประเทศต่าง ๆ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลไปพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งประสบการณ์และภูมิปัญญาสามารถเป็นส่วนสำคัญต่อสังคมได้ ในระยะยาวยังสามารถนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมระดับโลกได้ เราหวังว่าการค้นพบของเราจะช่วยให้ประเทศต่างๆ จัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการในทุกระดับของการพัฒนาได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เฉินกล่าว

อันดับของสิงคโปร์ใน 5 ตัวชี้วัดด้านการเตรียมความพร้อมกับสังคมสูงวัยสรุปได้ดังนี้

ความเป็นอยู่ที่ดี: อันดับที่ 1
สังคมสูงวัยที่ประสบความสำเร็จให้การดูแลสุขภาพโดยอาศัยความเข้าใจที่ซับซ้อนเกี่ยวกับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ สิงคโปร์ทำผลงานได้ดีที่สุดในด้านความเป็นอยู่ที่ดี โดยได้รับการจัดอันดับสูงสุดระดับโลกในตัวชี้วัดนี้ สิงคโปร์มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในโลกเมื่ออายุมากขึ้น มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แข็งแกร่ง (อันดับที่ 6); สัดส่วนอายุขัยสูงที่มีสุขภาพที่ดี (อันดับที่ 10) และมีความพึงพอใจในชีวิตสูง (อันดับที่ 23)

การศึกษาชี้ว่า ในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ ได้จัดทำชุดคู่มือดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านทางหนึ่งชุด ซึ่งรวมถึงการดำเนินการในการป้องกัน เช่น การคัดกรอง การสร้างภูมิคุ้มกัน การส่งเสริมสุขภาพ (เช่น National Steps Challenge และ The Healthier Dining program) และการศึกษา นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงได้เพิ่มการดำเนินการของประเทศมากขึ้นในด้านการป้องกันและการจัดการโรคเรื้อรังผ่านการนำ Healthier SG ไปใช้ตั้งแต่ปี 2566 โครงการริเริ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนระบบการดูแลสุขภาพจากรูปแบบการรักษาเชิงรับไปสู่รูปแบบที่เน้นการดูแลป้องกันเชิงรุก

ความมั่นคง: อันดับที่ 6
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางกายภาพของผู้สูงอายุถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคมสูงวัยที่เจริญรุ่งเรือง จากการศึกษาพบว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกในด้านรายได้เฉลี่ย และอันดับที่ 1 ในด้านการรับรู้ความปลอดภัยในการเดินในเวลากลางคืน และความพึงพอใจในคุณภาพการรักษาพยาบาลของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ความสามารถในการปรับสภาพจิตใจยังอยู่ในอันดับที่สูง โดยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก

ประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม: อันดับที่ 17
สังคมสูงวัยที่ประสบความสำเร็จเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ ในสิงคโปร์การมีส่วนร่วมในการฝึกฝนใหม่สำหรับประชากรอายุ 16-64 ปี อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก ตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานในกลุ่มอายุ 55-64 ปี รวมไปถึงการเป็นอาสาสมัคร ความรู้สึกกระตือรือร้นและมีประสิทธิผลทุกวัน และความพึงพอใจในงานในกลุ่มประชากรสูงอายุ ได้รับการจัดอันดับอยู่ระหว่างอันดับที่ 41 ถึง 67 ทั้งหมดนี้ย้ำถึงโอกาสที่สำคัญในการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมและส่งเสริมการเติมเต็มส่วนบุคคลในชีวิตบั้นปลาย

ความเสมอภาค: อันดับที่ 36
สังคมที่เข้าสู่วัยชราอย่างดี จะเป็นหลักว่าจะมีการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันข้ามรุ่น ในสิงคโปร์แม้รายได้จะอยู่ในอันดับที่สูง (อันดับที่ 9 ของโลกสำหรับทั้งการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย และมีเงินเพียงพอสำหรับค่าอาหารในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป) แต่ก็มีความแตกต่างระหว่างประชากรอายุน้อยและผู้สูงอายุในด้านรายได้ อาหาร การมีส่วนร่วมของแรงงาน และความสำเร็จทางการศึกษา ซึ่งจะต้องใส่ใจ

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน: อันดับที่ 42
ในสังคมสูงวัยที่ประสบความสำเร็จ ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งภายในรุ่นและข้ามรุ่นจะแน่นแฟ้น ความไว้วางใจทางสังคมในหมู่ผู้สูงอายุและการสนับสนุนที่มีให้กับกลุ่มนี้ในสิงคโปร์ให้ภาพที่หลากหลาย แม้สัดส่วนของผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาเพื่อนและญาติได้อยู่ในระดับสูง (อันดับที่ 24) และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ (อันดับที่ 24) แต่ความไว้วางใจในเพื่อนบ้านอยู่ที่อันดับที่ 71 นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังก็มีมาก(อันดับที่ 115) บ่งชี้ถึงความจำเป็นี่จะต้องมีการริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในชุมชนและลดความโดดเดี่ยว

การศึกษาแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่ต้องปรับปรุง ทั้งในด้านประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม ความเสมอภาคและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันดับของสิงคโปร์บ่งชี้ถึงศักยภาพในการขยายได้ ตัวอย่างเช่น อันดับที่ 17 ในด้านประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานและโอกาสในการเป็นอาสาสมัครสำหรับผู้สูงอายุได้

เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ สิงคโปร์ได้ดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น Health District @ Queenstown (HD@QT) HD@QT นำโดย National University Health System (NUHS), NUS และ การเคหะแห่งชาติ(Housing & Development Board:HDB) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกาย จิตใจ และสังคมในทุกช่วงวัยของชีวิต

ทีมวิจัยตระหนักดีว่ากระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์เพิ่งเริ่มดำเนินการ Age Well SG ในปี 2567 และกำลังขยายเครือข่าย Active aging Centers เพื่อให้ผู้สูงอายุได้อยู่ร่วมกันและคลุกคลีกับเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้ผู้อาวุโสที่อาศัยอยู่ตามลำพังได้มีส่วนร่วมในโปรแกรมการจับคู่ช่วยเหลือกัน(buddying) และการเป็นเพื่อนกัน ซึ่งจะช่วยจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่ทีมงานได้ระบุไว้

  • สังคมสูงวัย คนแก่รวย-จนมีเท่าไร อยู่ที่ไหน
  • เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ Aged Society ผู้สูงอายุไทยได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง
  • ตลท.เปิดสถานะการเงินคนไทยวัยเกษียณเปราะบาง ส่งแคมเปญใหม่เสริมทักษะการเงิน สะสมไว้ใช้ในสังคมสูงวัย
  • วิจัยกรุงศรี : สังคมสูงวัย Silver Economy โจทย์ใหญ่ที่มาพร้อมกับโอกาส