ThaiPublica > คอลัมน์ > ลี กวน ยู: มหาบุรุษผู้สร้างประเทศ ผู้ยึดมั่นในทุนนิยม และ เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

ลี กวน ยู: มหาบุรุษผู้สร้างประเทศ ผู้ยึดมั่นในทุนนิยม และ เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

27 มีนาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

ลี กวน ยู ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2015/03/25/article-doc-1c1t7-6XIKbrScMHSK2-242_634x331.jpg
ลี กวน ยู ที่มาภาพ: http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2015/03/25/article-doc-1c1t7-6XIKbrScMHSK2-242_634x331.jpg

อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติ (Founding Father) ของสิงคโปร์ ประเทศเกาะเล็กๆ ที่มีพลเมืองแค่ 5.5 ล้านคน ได้ล่วงลับไปในวัย 91 ปี ตามหลักสัจจธรรม

ผลงานที่ท่านได้ทำมาตลอดกว่าสามสิบปีในตำแหน่ง (25 ปีหลังได้รับเอกราช) มีมากมาย ทั้งในส่วนที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ คือ สร้างให้สิงคโปร์เป็นชาติทันสมัย มีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด ร่ำรวยเป็นอันดับ 6 ของโลก (วัดโดยรายได้ต่อคนต่อปี) และได้รับการคาดหมายจากหลายสำนักว่าจะเป็นประเทศที่จะมี per capita GDP (จีดีพีต่อหัว) สูงที่สุดในโลกในปี 2030 (เศรษฐกิจยังเติบโตดี ขณะที่ประชากรเพิ่มน้อยมาก) เป็นเมืองที่ถือว่าน่าลงทุน และน่าอยู่อาศัยในลำดับต้นๆ ของโลก

แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยในเรื่องของเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ตลอดมา โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นสร้างชาติภายใต้การนำของลี กวน ยู ซึ่งหลังลงจากตำแหน่งในปี 1990 แล้ว ลี กวน ยู ก็ยังมีบทบาทอิทธิพลอย่างสูงในตำแหน่ง Senior Minister (1990-2004) และ Minister Mentor (2004-2011) จนเกษียณอายุตัวเองในวัย 86 ปี และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นลูกชายคนโตผู้สืบตระกูล ลี เซียน ลุง

จริงๆ แล้วสิงคโปร์เป็นประเทศประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งตลอดมา (ลีเองชนะเลือกตั้งถึง 8 สมัยติดต่อกัน) แต่ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากมาย ฝ่ายค้านถูกกีดกัน สื่อมวลชนถูกควบคุมเข้มงวด จนถือกันทั่วไปว่าลี กวน ยู เป็นเผด็จการ แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เผด็จการผู้ทรงคุณ” (Benevolent Dictator) ร่วมกับเผด็จการผู้นำในอดีตน้อยคน เช่น ปาร์ค จุง ฮี ของเกาหลีใต้ อาตาเติร์ก ผู้รวมชาติตุรกี …เดิมนายพลฟรังโก แห่งสเปน และ ติโต แห่งยูโกสลาเวีย ก็เคยได้ชื่อว่าติดกลุ่ม “ผู้ทรงคุณ” นี้ แต่พอวันนี้ ถ้าไปถามคนเสปน คนเซอร์เบีย โครเอเชีย ต่างก็ล้วนส่ายหน้า ว่าสองคนนี้แหละทำให้ความเจริญหยุดชะงัก ถูกเพื่อนบ้านประชาธิปไตยอื่นๆ ในยุโรปทิ้งไปไกลไม่เห็นฝุ่น ส่วนพี่ตู่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของเราจะได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการแบบไหน แบบทรงคุณ แบบชั่วร้าย หรือแบบเฉยๆ เชยๆ (คล้ายบิ๊กบัง) คงต้องให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสิน เพราะถ้าให้ตัดสินวันนี้ พวกสอพลอก็ต้องชูว่า “สุดยอด” ส่วนพวกต่อต้านก็จะร้องว่า “โคตรแย่”

สิงคโปร์ภายใต้การนำของลี กวน ยู ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถพัฒนาจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว (From Third World to First World) ได้ภายในหนึ่งชั่วอายุคน (น้อยกว่า 50 ปี) เมื่อได้รับเอกราช และแยกตัวออกมาจากมาเลเซียในปี 1965 นั้น สิงคโปร์มีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 516 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะว่าไปก็นับว่าร่ำรวยที่สุดในอาเซียน (มาเลเซียมี 333 เวียดนาม 180 ฟิลิปปินส์ 189 เขมร 141 ไทย 138 อินโดนีเซียจนสุด มีแค่ 56) แต่ทุกประเทศก็ยังนับว่ายากจนเพราะอเมริกาปีนั้นมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 3,665 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ก็มีเกิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เกือบห้าสิบปีผ่านไป…ในปี 2013 คนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยถึงปีละ 55,182 ดอลลาร์สหรัฐฯ แซงอเมริกาที่มี 53,042 สูงกว่าห้าเท่าของมาเลเซีย (10,538) และเกือบสิบเท่าของไทย (5,779) ซึ่งตามมาห่างๆ เป็นอันดับสองและสามในอาเซียน (ไม่นับบรูไนที่มีคนไม่กี่แสน) อัตราเติบโตของสิงคโปร์นี้ เท่ากับเฉลี่ยปีละ 10.2% ตลอด 48 ปี นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว

เป็นที่ชัดเจนว่า ลี กวน ยู ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง โดยเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจเจริญสิ่งดีๆ อื่นๆ จะตามมาเอง (ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องเสรีภาพ) สิ่งที่ลีทำ นอกจากจะใช้ความแข็งกร้าวและกฎเหล็กสร้างวินัย ทำให้มีเสถียรภาพมากโดยเฉพาะด้านการเมือง (สิงคโปร์มีรัฐบาลจากพรรคเดียวตลอดมา) เรื่องที่ได้รับการยกย่องก็มีอีกมาก เช่น การพัฒนาการศึกษา การปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง การพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าในภูมิภาค ฯลฯ

หลักการที่ลียึดมั่น และใช้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา ก็คือ หลักการของทุนนิยม (ที่ดี) ไม่ยอมให้มีระบบพรรคพวกนิยม (Cronyism) และ มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งถึงแม้รัฐบาลยังคงมีกิจการรัฐวิสาหกิจอยู่ไม่น้อย แต่ทุกแห่งก็จะถูกบริหารแบบเอกชน ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ถูกกดดันให้มีประสิทธิภาพ ระบบราชการก็เช่นเดียวกัน เน้นความมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ข้าราชการมีรายได้เทียบเท่าหรือมากกว่าเอกชน นายกฯ สิงคโปร์มีเงินเดือนปีละ 56 ล้านบาท รัฐมนตรีปีละ 28 ล้านบาท (นายกฯ ไทยได้ปีละ 1.5 ล้านบาท รัฐมนตรีได้ 1.4 ล้านบาท แต่นายกฯ และรัฐมนตรีไทยส่วนใหญ่รวยกว่าลี กวน ยู มากมาย …ว่ากันว่า เมืองไทยไม่ต้องการเงินเดือนกันหรอก ต้องการแค่เขี้ยว เดี๋ยวจะไปหาเนื้อกินเอง)

ผมขอยกตัวอย่าง องค์กรสำคัญสองแห่งที่ถูกตั้งขึ้นโดย ลี กวน ยู เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ

แห่งแรกคือ Economic Development Board (EDB) ซึ่งเทียบได้กับสภาพัฒน์บ้านเรา และตั้งขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน (1961) ในขณะที่สภาพัฒน์ของเราจะมุ่งเน้นจัดทำแผนพัฒนา ควรสร้างอะไร ทำอะไร เลือกอุตสาหกรรม ชี้นำการพัฒนา แต่ของ EDB เขาจะมีหน้าที่ 4 อย่าง คือ 1. ส่งเสริมการลงทุน (Attracting Investment) โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เขาจะออกไปเชิญชวนเอกชนทั่วโลกให้มาลงทุน (แต่ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ล่อเหมือนเรา) แล้วให้กลไกตลาดบอกว่าจะลงทุนด้านไหน อะไรที่ได้เปรียบ 2. สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการต่อยอดทางตั้ง (Growing Industry Verticals) เพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืน 3. กระตุ้นให้เกิดสภาพแวดล้อมแบบธุรกิจ (Enhancing Business Environment) ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบ มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับธุรกิจ มีโครงสร้างตลาดที่ส่งเสริมการแข่งขัน 4. เป็นเข็มทิศให้อนาคตของประเทศ (Pointing Singapore Toward The Future) คอยกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโดยประเมินภาวะของโลกตลอดเวลา

ดูเผินๆ เหมือนกับว่า EDB ของเขากับสภาพัฒน์ของเราทำหน้าที่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วหลักการจะต่างกัน ของเขาใช้ “ตลาดนำ” (Market Led) คือ ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทาง รัฐคอยทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีกลไก ให้มีกฎกติกาที่ดี กับเขาจะมุ่งเน้นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ EDB มีสำนักงานอยู่ใน 22 เมืองในต่างประเทศ พนักงานรวม 500 คน อยู่ต่างประเทศกว่าครึ่ง ทำหน้าที่เป็น BOI ไปในตัว ส่วนสภาพัฒน์ของเราทำตัวเป็น Think Tank ให้รัฐบาล ทำตัวเป็น “ผู้รู้” คอยวางแผนว่าประเทศควรทำอะไร ควรไปทางไหน ใช้นักวิชาการกับ “เทคโนแครต” เป็นสมองมากกว่าจะใช้ตลาดนำ พอระบบ “เทคโนแครต” ถูกทำลาย เลยกลายเป็น “นักการเมืองนำ” (Politician Led) ทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” วางแผนสะเปะสะปะไร้ทิศทางมาตลอด (ไม่เชื่อเข้าไปหาอ่านแผนฯ 11 ดูสิครับ จะเห็นเลยว่า มีแผนเหมือนไม่มี)

องค์กรสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่ลี กวน ยู ตั้งขึ้นในปี 1974 เมื่อสี่สิบปีที่แล้วก็คือ Temasek Holdings ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อถือหุ้นและดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่ประกอบการเชิงพาณิชย์ ลีเชื่อว่า ระบบราชการไม่สามารถที่จะดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสได้ดีเท่ากับระบบเอกชน Temasek ถูกตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรเอกชนเต็มที่ กรรมการส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจ มีหลายคนเป็นชาวต่างชาติ และดูแลรัฐวิสาหกิจที่ตนถือหุ้นอย่างที่เป็นการลงทุนเหมือนเอกชน โดยไม่ต้องสับสนบทบาทกับภาระทางสังคม (รัฐรับภาระทางสังคมเอง และถ้าจะให้รัฐวิสาหกิจช่วยแบกรับก็ต้องมีการชดเชยให้) มีการตั้งกรรมการจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก (คุณชุมพล ณ ลำเลียง เคยเป็นประธานกรรมการของ Singapore Telecom อยู่หลายปี)

Temasek ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากทุนเริ่มต้นตามมูลค่าหุ้นที่รัฐโอนมาให้เพียง 354 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ปัจจุบันมีทรัพย์สินมูลค่าสุทธิสูงถึง 250,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ได้ผลตอบแทนสะสมต่อปีสูงถึง 16% ตลอด 50 ปี ซึ่งนับว่าเป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง รัฐวิสาหกิจที่ Temasek ดูแลต่างก็เป็นบริษัทชั้นนำของโลกหรือของภูมิภาคทั้งสิ้น เช่น Singapore Airlines, Sing Tel, Keppel, Singapore Power, DBS Bank ฯลฯ ซึ่งจากการที่ประสบผลสำเร็จสูงในขณะที่รัฐบาลก็ไม่ต้องการเงิน (สิงคโปร์ไม่มีการขาดดุลงบประมาณมา 35 ปีแล้ว) ทำให้ในที่สุดก็ขยายการลงทุนไปทั่วโลก โดยเริ่มเมื่อ 12 ปีที่แล้ว (เช่น ลงในชินคอร์ปของไทย)

…ซึ่งรูปแบบอย่าง Temasek นี่แหละครับที่เป็นตัวอย่างให้การบริหารรัฐวิสาหกิจทั่วโลกถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งรวมทั้งความคิดที่จะจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ของไทย ที่ คนร. (คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ) อนุมัติหลักการแล้วและกำลังดำเนินการอยู่

ลี กวน ยู ประกาศว่า ทรัพย์สินของ Temasek นี้ เป็นทรัพย์สินของลูกหลานสิงคโปร์ในอนาคต ซึ่งเมื่อรวมกับทรัพย์สินของ Government Investment Corp (GIC) ที่บริหารเงินสำรองและมีสินทรัพย์รวมประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับว่าประชาชนมีทรัพย์สินรวมถึง 18 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าเด็กสิงคโปร์เกิดมาก็ได้มรดกเลยคนละ 3.3 ล้านบาท ตรงข้ามกับเด็กไทยที่เกิดมาก็เป็นหนี้เลยคนละเกือบ 100,000 บาท (เรามีหนี้สาธารณะที่เป็นทางการอยู่ 6 ล้านล้านบาท) นี่ยังไม่นับรวมภาระแอบแฝงและหนี้ซ่อนเร้นอื่นๆ ที่อดีตผู้บริหารประเทศท่านแอบซุกไว้นะครับ

นี่แหละครับ ตัวอย่างความสำเร็จของ ลี กวน ยู ผู้นำที่มากด้วยวิสัยทัศน์ ยึดมั่นความซื่อสัตย์ หนักแน่นกับหลักการ กับทั้งทุ่มเททำงานหนักตลอดเกือบหกสิบปีที่อยู่ในฐานะผู้นำ ในชีวิตของท่านแทบทุกๆ นาทีมีแต่คำว่า สิงคโปร์ สิงคโปร์ และสิงคโปร์

ขอคารวะแด่ ลี กวน ยู มหาบุรุษผู้สร้างชาติ ผู้ที่จะถูกจารึกไว้ในดวงใจชาวสิงคโปร์ตราบเท่านาน

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 26 มีนาคม 2558