ThaiPublica > คอลัมน์ > ถ้าไม่มี “ลี” ก็อาจไม่มี “จีนยุคใหม่”

ถ้าไม่มี “ลี” ก็อาจไม่มี “จีนยุคใหม่”

11 เมษายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ชีวิตของลี กวน ยู ให้บทเรียนแก่โลกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัยและหาประโยชน์ร่วมกันจากศัตรูเก่า การสร้างประเทศในแนวใหม่ วิธีการควบคุมการเมืองให้อยู่ในเกมที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประเทศตัวอย่างให้ “จีนยุคใหม่” เลียนแบบ

ตอนลี กวน ยู เกิดมีชื่อว่า Harry Lee Kuan Yew ชื่อแรกถูกตัดทิ้งไปเมื่อเรียนจบปริญญา เขาเป็นคนพิเศษทั้งด้านสติปัญญา การสื่อสาร วิสัยทัศน์ ความสามารถด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถด้านภาษาอังกฤษจนต่อกรกับสื่อต่างประเทศได้อย่างชนิดไม่กะพริบตา (เขารู้ภาษาอังกฤษแตกฉานก่อนที่จะอ่านออกเขียนได้ภาษาจีน มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นดีในระดับใช้งานได้)

เมื่อต้องหาทางรอดให้สิงคโปร์ในปี 1965 เมื่อถูก “ไล่” ออกมาจากสหพันธรัฐมาลายา เขาก็ทำได้สำเร็จด้วยการทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญ เกิดธุรกิจขนส่งทางเรือ ค้าขายระหว่างประเทศ ฯลฯ รวมทั้งใช้คนสิงคโปร์ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนให้เป็นประโยชน์

เขาให้อภัยอังกฤษ เจ้าอาณานิคมที่ยึดครองสิงคโปร์ยาวนาน ยกฐานะ Sir Stamford Raffles ให้เป็นรัฐบุรุษมีรูปปั้นใหญ่กลางเมือง ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเป็นนักปกครองเมืองขึ้นเรืองนาม แทนที่จะขมขื่น ฝังใจนึกแก้แค้นอังกฤษ เขากลับเชิดชูอดีตของการเป็นอาณานิคมจนคนตะวันตกเห็นว่าน่าวางใจจนมาลงทุนในสิงคโปร์มากมาย

ที่มาภาพ : http://www.todayonline.com
ที่มาภาพ : http://www.todayonline.com

สำหรับญี่ปุ่น เขาก็ยกโทษให้ทั้งๆ ที่ตัวเองเกือบโดนยิงทิ้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองด้วยซ้ำ คนสิงคโปร์ยังจำได้ถึงการถูกข่มเหงรังแก ถูกก่นด่า ถูกถ่มน้ำลายรด รวมทั้งสังหารหมู่ไปนับพันคน แต่เมื่อเกิดประเทศสิงคโปร์ก็ค้าขายกับญี่ปุ่นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาไม่เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เลือกที่จะลืมอดีตและมองไปข้างหน้า ผลที่เกิดขึ้นก็คือนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อถือวางใจมาลงทุนกันมหาศาล

วิสัยทัศน์ของลี กวน ยู กว้างไกล ระหว่างสงครามคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคทศวรรษ 60 และ 70 เขาห้ามกิจกรรมของพวกคอมมิวนิสต์เด็ดขาด ไม่สุงสิงยุ่งเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มิได้เป็นศัตรูอย่างเปิดเผยถึงแม้เขาจะเลือกอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่เมื่อสงครามอุดมการณ์และการก่อการร้ายใกล้สงบ ผู้นำจีนคือเติ้ง เสี่ยวผิง ก็เดินทางมาพบเขาที่สิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 1978 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากได้อำนาจมาใหม่ๆ และกำลังวางแผนปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดยใช้กลไกทุนนิยมแต่ควบคุมการเมืองเหมือนที่สิงคโปร์ทำได้สำเร็จอย่างงดงามในช่วงเวลา 1965-1978

ในวงวิชาการเป็นที่รู้กันว่า ลี กวน ยู นั้นมีที่เป็นพิเศษอยู่ในหัวใจของผู้นำจีน เมื่อเขาเสียชีวิต ผู้นำจีนและสื่อกล่าวแสดงความชื่นชมและเสียใจราวกับสูญเสียผู้นำคนสำคัญของประเทศไป

สิ่งที่สิงคโปร์แสดงให้เห็นตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งประเทศจนถึง 1978 ก็คือการควบคุมการเมืองไว้ในอุ้งมือโดยมีพรรคเดียว (พรรคฝ่ายค้านก็มีเหมือนกันแต่มีประมาณ 1-6 คน) แต่ในเรื่องเศรษฐกิจนั้นเปิดเสรีเต็มที่ตามแนวทุนนิยม เปิดกว้างทั้งการค้าและการลงทุนจากทั่วโลกอย่างเสรี จนประเทศร่ำรวย ประชาชนมีความมั่งคั่ง ซึ่งเรียกความตื่นตะลึงจากชาวโลกและความสนใจอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้นำจีนยุคใหม่ ซึ่งมีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นแกนนำสำคัญ

ระบบที่การเมืองและเสรีภาพบางอย่างถูกปิดกั้นแต่ระบบเศรษฐกิจเปิดเสรีจนประเทศประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นที่สนใจของผู้นำจีนเพราะสอดคล้องกับความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสิงคโปร์โมเดลเป็นต้นแบบของรูปแบบ “จีนยุคใหม่”

เติ้ง เสี่ยวผิง ต้องการความมั่นใจในโมเดลนี้จึงเดินทางมาพบลี กวน ยู ก่อนที่จะเริ่มการปฏิรูปยุคใหม่และติดตามเรียนรู้ความสำเร็จของสิงคโปร์โดยตลอด มีการประมาณการโดยนักวิชาการของ City University of Hong Kong ว่าระหว่างปี 1990-2011 พนักงานรัฐของจีนประมาณ 22,000 คน เดินทางมาดูงานที่สิงคโปร์

สิ่งที่จีนต้องการก็คือความเชื่อมั่นว่าประเทศหนึ่งจะไม่ตกอยู่ใน “Modernization Gap” เสมอไป กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจก้าวหน้าไปแล้วประเทศจะไม่สูญเสียความสามารถในการควบคุมจนนำไปสู่ความพินาศของตนเองในที่สุด สิงคโปร์ได้ทำให้เห็นว่าประเทศไม่จำเป็นต้องอยู่ในกับดักนี้เหมือนที่ไต้หวัน (พรรคก๊กมินตั๋งหลุดจากอำนาจ) และเกาหลีใต้ (เผด็จการทหารหลุดจากอำนาจ) ประสบ

ถึงแม้เงื่อนไขของสองประเทศ (ประชากร 5.4 ล้านคน และ 1,400 ล้านคน) จะไม่เหมือนกัน แต่ลักษณะของการดำเนินนโยบายที่ไม่ยอมให้มีเสรีภาพของสื่อและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลบางประการแต่ยอมปล่อยเสรีด้านเศรษฐกิจนั้นเหมือนกัน จนอาจกล่าวได้ว่าลี กวน ยู สร้างสิงคโปร์โดยทำให้เป็นต้นแบบของประเทศบรรพบุรุษ (ลี กวน ยู เป็นจีนแคะ หรือ Hakka ที่อพยพมาจากจีนชั่วคนที่สาม)

ถึงแม้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย 10 เท่าตัว ประชาชนมีมาตรฐานครองชีพสูงในระดับเดียวกับญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตก แต่คนสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยในปัจจุบันไม่มีความสุขกับการปกครองประเทศในแนวนี้ของพรรค PAP ของลี กวน ยู และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พวกเขาไม่พอใจเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด ไม่ชอบวิธีการกำจัดพรรคฝ่ายค้านโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่สบอารมณ์กับการแข่งขันที่สูงยิ่งในการทำงานและดำรงชีวิตแนวทุนนิยมจ๋า ฯลฯ จนอพยพไปอยู่นอกประเทศนับพันๆ คนต่อปี

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้เทคโนแครตซึ่งพรรค PAP เลือกสรรมาและส่งไปเล่าเรียนต่างประเทศกลับมาทำงานสำคัญๆ ให้ภาครัฐ การส่งเสริมคนฉลาดคนเก่งให้เป็นกลุ่มชนชั้นนำข้างบน (elites) เพื่อตัดสินอนาคตของประเทศทำให้สิงคโปร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีราคาสูงขึ้นตามวันเวลาเพราะประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นนี้ไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของโครงสร้างสังคมที่เอื้อคนฉลาด คนเก่ง เทคโนแครต เศรษฐี นักธุรกิจใหญ่ และการต้อนรับการอพยพของเศรษฐีจีนโดยให้สิทธิพิเศษเหนือคนสิงคโปร์ทั่วไป ทำให้ประชาชนศรัทธาพรรค PAP น้อยลงไปกว่าเมื่อ 45 ปีแรก (ปีนี้สิงคโปร์ฉลองประเทศครบ 50 ปี) พอควร

จากหมู่บ้านชาวประมง สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกภายในหนึ่งชั่วอายุคน โดยใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มที่และได้ผล แต่ก็เหมือนอย่างที่ลี กวน ยู กล่าวบ่อยๆ ว่าไม่มีอะไรฟรี ทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อปากท้องของตนเองและต้องยอมสละบางอย่าง กล่าวคือ เมื่อสิงคโปร์อยาก “ได้” ก็ต้องมี “เสีย” ไปแลก หากอยากร่ำรวย คนสิงคโปร์ก็ต้องยอมสละบางอย่าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การต้องขยันขันแข็ง ต้องปรับตัวเองตลอดเวลา ความเป็นทุนนิยม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ

ลี กวน ยู ทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้โลกได้ขบคิดว่า ความมั่งคั่งของประเทศไม่จำเป็นต้องอาศัยค่านิยมประชาธิปไตยเสมอไปตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทำงาน เขาผิดถูกแค่ไหนเวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสิน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 เม.ย. 2558