ThaiPublica > คอลัมน์ > ลี กวน ยิว กับปาฐกถาสร้างสิงค์โปร์ให้เป็นเมืองโปร่งใส

ลี กวน ยิว กับปาฐกถาสร้างสิงค์โปร์ให้เป็นเมืองโปร่งใส

12 เมษายน 2015


Hesse004

ลี กวน ยิว (Lee Kuan Yew) อดีตนายกรัฐมนตรีสิงค์โปร์ที่ครองอำนาจยาวนานถึง 31 ปี (ค.ศ. 1959-1990) กลายเป็นทั้งรัฐบุรุษและตำนานผู้สร้างชาติสิงค์โปร์ให้เจริญรุ่งเรือง เขาและพรรค People ’s Action Party (PAP) บริหารประเทศสิงค์โปร์จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำ สร้างเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีระเบียบวินัย และมีฐานะเศรษฐกิจมั่นคง

ชื่อชั้นของ ลี กวน ยิว มีทั้งเรื่องวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ มองการณ์ไกล กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และ “เด็ดขาด” ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่เก่ง

ในแง่การต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว ลี กวน ยิว นับเป็นผู้นำรุ่นแรก ๆ ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกในเวที The Asian Strategy and Leadership Institute’s World Ethics and Integrity Forum 2005 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยหัวข้อปาฐกถาในวันนั้น คือ Ethical Leadership a Competitive Advantage

ลี กวน ยิว ที่มาภาพ : http://rilek1corner.com/wp-content/uploads/2015/04/Lee-Kuan-Yew-Discrimination.jpg
ลี กวน ยิว ที่มาภาพ : http://rilek1corner.com/wp-content/uploads/2015/04/Lee-Kuan-Yew-Discrimination.jpg

ลี กวน ยิว กับยูนิฟอร์มสีขาวล้วน ซึ่งบ่งบอกว่า เขาและพรรค PAP พร้อมจะเข้ามาปัดกวาด สร้างความสะอาดให้กับประเทศสิงคโปร์

ปาฐกถาของลีครั้งนั้นสะท้อนวิสัยทัศน์และมุมมองการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในสิงค์โปร์ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การจะทำให้ประเทศก้าวหน้าพัฒนาจนสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้นั้น ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ลี กวน ยิว เริ่มต้นปาฐกถาด้วยการอธิบายภูมิหลังของสิงค์โปร์ หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ช่วงเวลานั้นสิงค์โปร์เต็มไปด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต่างแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ จนทำให้ประเทศล้าหลัง หนำซ้ำยังเกิดกลุ่มแก๊งค์อันธพาลที่ก่ออาชญากรรมไม่เว้นแต่ละวัน สภาวะบ้านป่า เมืองเถื่อนเช่นนี้ คงต้องใช้เวลากันหลายศตวรรษกว่าจะ “สังคายานา” ความเหลวแหลกเละเทะให้หมดไปได้

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1959 พรรค PAP ของเขา ชนะการเลือกตั้ง ลี กวน ยิว เริ่มจัดการความเละเทะในสิงค์โปร์ด้วยการทำความสะอาดล้างประเทศให้เกิดความโปร่งใส

…เดิมคำว่า โปร่งใส หรือ Transparency นั้นไม่ได้เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายนักในทศวรรษที่ 60 แต่ในช่วงเวลานั้น ลี กวน ยิว ใช้คำว่า Clean หรือ ความสะอาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาล PAP

ลี กวน ยิว เชื่อว่า การที่รัฐบาลและระบบราชการที่สะอาดนั้นจะช่วยสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย (Competitive advantage)

เขาอธิบายว่า สิ่งแรกที่รัฐบาล PAP ทำ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ ลีถึงขนาดลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องแบบของพรรค PAP โดยให้สมาชิกพรรคใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสแลคสีขาว เพื่อเป็นเครื่องแบบที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาสะอาดพอที่จะมารับผิดชอบบริหารประเทศสิงค์โปร์

…เพราะสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด

ในลำดับถัดมา สิ่งที่รัฐบาล PAP ทำ คือ ผลักดันให้หน่วยงานปราบปรามการทุจริตของรัฐ มีอำนาจมากขึ้น หน่วยงานที่ว่านี้ คือ Corrupt Practices Investigation Bureau หรือ CPIB

CPIB ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1952 สมัยที่สิงค์โปร์ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ โดย CPIB เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ หลังจากที่ภารกิจปราบปรามคอร์รัปชั่นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมตำรวจมานาน

ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org
ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org

สัญลักษณ์ของ CPIB หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในสิงค์โปร์ที่ว่ากันว่าเป็นหน่วยงานปราบทุจริตที่ทรงอิทธิพลแห่งหนึ่งของโลก

CPIB นับเป็นหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันภาครัฐแห่งแรกของเอเชียที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันโดยเฉพาะ ซึ่งการตั้งหน่วยงานลักษณะนี้ขึ้นมา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันของสิงค์โปร์มีความรุนแรงมากถึงขนาดต้องแยกออกจากตำรวจ

ในปี ค.ศ. 1960 รัฐบาลของนายลี กวน ยิว ผลักดันกฎหมาย The Prevention of Corruption Act หรือ POCA โดยเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดและเพิ่มอำนาจของ CPIB เพื่อจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้เต็มที่และคล่องตัวมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ กฎหมาย POCA ได้ขยายขอบเขตความผิดทางกฎหมายให้ครอบคลุมถึงผู้ที่เพียงแต่แสดงเจตนาว่าจะรับสินบนแต่ยังไม่ได้รับ หรือ รับสินบนไปแล้วยังไม่ได้ช่วยเหลือคนจ่ายสินบนตามที่ตกลงไว้

…พูดภาษาชาวบ้าน คือ แค่เจ้าหน้าที่รัฐแสดงความ “ตะกรุมตะกราม” ว่าจะรับสินบน เท่านี้ก็ผิดแล้ว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐคนใดที่มีทรัพย์สินมากกว่ารายได้ตนเองอย่าง “ผิดปกติ”และไม่สามารถสำแดง (Declare) ที่มารายได้หรือทรัพย์สินนั้นได้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นจะถูก CPIB ตั้งข้อหาและสันนิษฐานเลยว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น มาจากการรับสินบน

กล่าวกันว่า CPIB เป็นหน่วยงานรัฐที่ “ทรงอิทธิพล” ที่สุดแห่งหนึ่งในสิงค์โปร์ เพราะกฎหมาย POCA ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ CPIB จับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีเอี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันได้โดยไม่ต้องรอหมายศาล

กฎหมาย POCA เพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดข้อหาคอร์รัปชันด้วยโทษ ทั้งจำและปรับโดยปรับไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงค์โปร์ จำคุก 5-7 ปี ต่อหนึ่งข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันศาลสามารถลงโทษผู้กระทำผิดด้วยค่าปรับที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนสินบนที่ได้รับด้วย
ปรัชญาการลงโทษแบบ “เชือดไก่ให้ลิงดู” นั้น ย่อมทำให้คนที่คิดจะคอร์รัปชันต่าง “ขี้หดตดหาย” ดังนั้น คดีใดที่ CPIB เลือกติดตามตรวจสอบ สืบสวนแล้ว มักจะ “รอดยาก” เพราะ CPIB จะชี้ให้ศาลเชื่อว่าคนนั้นทุจริตคอร์รัปชันอย่างไร

นี่คือ ยุทธศาสตร์การปราบปรามคอร์รัปชันของสิงค์โปร์ที่เน้นจับ “ปลาใหญ่” ก่อนเพราะเมื่อจับปลาใหญ่ได้แล้ว ปลาเล็ก ๆ ทั้งหลายก็จะกลัวและไม่กล้าทำเป็นเยี่ยงอย่าง

…โปรดติดตามตอนต่อไป