ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ Aged Society ผู้สูงอายุไทยได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง

เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ Aged Society ผู้สูงอายุไทยได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง

10 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทเมืองประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) จัดโครงการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น รุ่นที่ 3 ขึ้น โดยมีนางสาวกนกวรรณ เหลืองมงคลเลิศ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ ความรู้ทั่วไปของผู้สูงอายุ

นางสาวกนกวรรณให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว เนื่องจากมีประชากรสูงวัยในสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งตรงกับลักษณะของสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 เท่าตัว

ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
ผู้สูงอายุ (Older Person) ตามคำจำกัดความขององค์กรสหประชาชาติ หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
สรุป ผู้สูงอายุ หรือผู้สูงวัย เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเเละเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งมีสมรรถนะที่เสื่อมถอยลง

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด

จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม

เมื่อแยกรายภาค ภาคเหนือมีประชากรสูงวัย 2,112,408 คน คิดเป็น 16.17% ของประชากรรวม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีำจนวน 4,131,668 คนคิดเป็น 31.62% ของประชากรรวม ภาคกลาง 5,201,324 คนคิดเป็น 39.81% ของประชากรรวม และภาคใต้ 1,619,529 คนคิดเป็น 12.40% ของประชากรรวม

สำหรับจังหวัดที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงสุด 5 จังหวัดแรกได้แก่ ลำปาง 198,510 คน คิดเป็น 28.00 %ของประชากรรวม แพร่ 116,898 คนคิดเป็น 27.40% ของประชากรรวม ลำพูน 108,205 คน คิดเป็น 27.00%ของประชากรรวม สิงห์บุรี 54,442 คนคิดเป็น 27.00% ของประชากรรวม และ พะเยา 118,978 คน คิดเป็น 26.01%ของประชากรรวม

จังหวัดที่มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงสุด 5 จังหวัดแรกได้แก่ สิงห์บุรี 38,182 คนคิดเป็น 18.98% ของประชากรรวม ลำปาง 134,070 คนคิดเป็น 18.92% ของประชากรรวม แพร่ 79,422 คนคิดเป็น 18.66% ของประชากรรวม ลำพูน 73,148 คนคิดเป็น 18.50% ของประชากรรวม และ สมุทรสงคราม 34,420 คน คิดเป็น 18.47% ของประชากรรวม

ภาคเหนือมีผู้สูงอายุมากสุด โดยลำปางเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society แล้ว เพราะมีจำนวนประชากรสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28%

“Disruption ทั่วโลกรวมทั้งไทยมีสองเรื่องสำคัญ หนึ่งในนี้คือ ประชากรสูงวัย ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเมื่อปี 2548 ที่จำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วน 10% ของประชากรรวม และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society” นางสาวกนกวรรณกล่าวและว่า คาดว่าในปี 2576 ไทยจะมีประชากรสูงวัยจำนวน 18.68 ล้านคนคิดเป็น 28.00% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2583 คาดว่าประชากรสูงวัยจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน คิดเป็น 31.38%ของประชากรทั้งหมด

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป โดยจำนวนเด็กและแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับปัญหาโดยรวมของไทย คือ คนส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอในการเกษียณและใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต รวมทั้งยังไม่มีการเตรียมความพร้อม ทำให้ประเทศต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มนี้

นางสาวกนกวรรณกล่าวว่า เดิมการดูแลผู้สูงวัยของไทยแยกออกเป็นกลุ่มเปราะบางกับกลุ่มที่ใช้สิทธิ แต่ปัจจุบันปรับมาเป็นการดูแลแบบเท่าเทียม ยกเว้นผู้ที่ผ่านการคัดกรองว่าเป็นผู้เปราะบาง

นางสาวกนกวรรณกล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายสำคัญ โดยให้ผู้สูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ทุกหน่วยงานที่มีภาระงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุต้องทำงานร่วมกัน และการดำเนินการทุกอย่างต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี โดยมีแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุระยะที่ 3 ปี 2566-2580 เป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทยระยะยาว 15 ปี นอกจากนี้ยังมีแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี 2566-2570 ของกระทรวงพม. และแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี 2566-2570 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ

สำหรับสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนในด้านต่างๆ 13 ด้าน

นางสาวกนกวรรณกล่าวว่า การดแูลผู้สูงอายุตามมาตรการ 11 แบ่งออกได้ 13 ด้านได้แก่

1)การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จัดไว้ โดยให้ความสะดวกและความรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ เช่น มีช่องทางเฉพาะอำนวยความสะดวก รวดเร็วเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ และจัดอุปกรณ์ให้ความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ

2)การศึกษา การศาสนาและข้อมูลข่าวสาร เช่น จัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และให้มีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ มีการจัดบริการข้อมูลข่าวสาร เช่น คู่มือสิทธิผู้สูงอายุ โปสเตอร์สิทธิผู้สูงอายุ

3)การประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศจัดอบรมทักษะอาชีพหรือฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ

4)การพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย/ชุมชน เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมภายในชุมชน และ/หรือ ระหว่างชุมชน โดยสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ และสภาสังคมสงเคราะห์

5)การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น เป็นการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย ครอบคลุมการซ่อมแซมบ้านโดยไม่ปรับปรุงโครงสร้าง เช่น เปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ และติดราวจับทรงตัว เป็นต้น ในอัตราเหมาจ่ายหลังละไม่เกิน 22,500 บาท โดยถัวจ่ายทุกรายการทั้งค่าบริหารจัดการและค่าตอบแทน หรือกรณีซ่อมแซมบ้านโดยจำเป็นต้องปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เช่น การสร้าง/ย้ายห้องน้ำ หรือห้องนอนใหม่ ทำทางลาดพร้อมราวจับ เป็นต้นในอัตราเหมาจ่ายหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยถัวจ่ายทุกรายการทั้งค่าบริหารจัดการและค่าตอบแทน

6)การลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งรถโดยสารประจำทาง, รถไฟ, รถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT,รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, รถทัวร์ (บขส.),เรือ และ เครื่องบิน

7)การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สวนสัตว์ 6 แห่ง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ 5 แห่ง

8)การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง ประสบปัญหาครอบครัว ด้านที่อยู่อาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท และไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี

9)การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดีและในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว จัดสรรทนายความเพื่อให้คำ ปรึกษาและช่วยเหลือในทางคดีหรือในทางแก้ไขปัญหาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ช่วยเหลือจัดทำนิติกรรมสัญญาช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายที่เป็นผู้สูงอายุในคดีอาญา ซึ่งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ช่วยเหลือในการประนอมข้อพิพาท

10)การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง มีค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือค่าพาหนะเดินทาง โดยให้พิจารณาช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม ได้ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี

11)การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้สูงอายุมีภูมิลำ เนา

12)การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี ต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือยังไม่ได้ลงทะเบียน ให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ หรือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายกเมืองพัทยา หรือประธานชุมชน เป็นผู้รับรอง ซึ่งจะได้รับรายละ 3,000 บาท

13)การอื่นที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

นอกจากสิทธิผู้สูงอายุทั้ง 13 อนุมาตราแล้วยังมีสิทธิผู้สูงอายุตามมาตรา 13 กองทุนผู้สูงอายุและมาตรา 17 การลดหย่อนภาษีอีกด้วย โดยผู้สูงอายุสามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคลได้ คนละไม่เกิน 30,000 บาทและรายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ได้กลุ่มละไม่เกิน 100,000บาท โดยต้องชำระคืนเป็นรายงวดภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย

ส่วนการลดหย่อนภาษี ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีมีอายุ 60 ปีขึ้นไปโดยบิดา/มารดา ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับลดหย่อนภาษี 30,000 บาท ต่อผู้สูงอายุ 1 คน

นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ทำหน้าที่จัดบริการดูแลผู้สูงอายุปัจจุบันได้เปิดบริการ 12 แห่งทั่วประเทศ ทั้งแบบสงเคราะห์ฟรี และเสียค่าบริการ ภาคเหนือมี 2 ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง เท่ากับภาคใต้ ซึ่งในรูปแบบการสงเคราะห์ ดูแลให้ผู้สูงอายุมีความสุข อยู่ดีกินดีตามอัตภาพ มีการรักษาพยาบล ดูแลจนถึงสิ้นสุดอายุขัย

ส่วนรูปแบบทางเลือกหรือเสียค่าบริการ มีทั้งหอพัก 1,500 บาทต่อเดือน มีอาหาร 3 มื้อ มีบริการทำกายภาพบำบัด และมีบังกะโลในราคา 1,500 บาท อาหาร 3 มื้อ แต่มีค่าแรกเข้า 300,000 บาทเพื่อนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ ทั้งสองประเภทขณะนี้มีผู้สูงอายุจองจำนวนมากและรอคิวยาว จึงได้มีการถ่ายโอนให้ท้องถิ่นรับไปดูแล ซึ่งมีค่าบริการ 30,000 บาท บางแห่งรวมค่าอาหาร แต่บางแห่งไม่รวมอาหาร

“อนาคตไทยคนสูงอายุมาแน่นอน ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั้งที่มองไม่เห็น และมองไม่เห็น มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ เช่น ภาวะเครียด ซึมเศร้า อารมณ์ขึ้นลงไม่คงที่ มีความเปราะบางจากการสูญเสียหลายด้าน เช่น การสูญเสียอำนาจจากการเกษียณจากการทำงาน ผู้ดูแล ที่เป็นญาติพี่น้อง ต้องดูแลอย่างเอาใจใส่” นางสาวกนกวรรณกล่าว