ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปรียบเทียบการจัดการ”เบอร์สวย”ในต่างประเทศ กรณีสิงค์โปร์ – มาเลเซีย จัดประมูลตามความเชื่อเลขมงคล

เปรียบเทียบการจัดการ”เบอร์สวย”ในต่างประเทศ กรณีสิงค์โปร์ – มาเลเซีย จัดประมูลตามความเชื่อเลขมงคล

24 ตุลาคม 2012


ปัจจุบัน การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย มีกฎหมายกำหนดให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาจัดสรรเลขหมายเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10,000 เลขหมาย โดยค่าธรรมเนียมในการขอเลขหมาย จะมีค่าธรรมเนียมการพิจารณาคำขอจำนวน 5,000 บาทต่อครั้ง และหลังจากได้รับการจัดสรรเลขหมายแล้ว จะมีค่าธรรมเนียมรายเดือน จำนวน 2 บาท/เลขหมาย

แต่จากข้อเท็จจริง ที่ในท้องตลาดมีความต้องการหมายเลขโทรศัพท์ ที่เข้าข่ายเป็นเบอร์โทรศัพท์สวย ทำให้มีการซื้อขายเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท

ทำให้ที่ผ่านมา กสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการเลขหมาย มีแผนการที่จะจัดสรรเบอร์สวยเหล่านี้แก่ผู้ประกอบการมือถือด้วยวิธีการประมูล เพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเบอร์สวยเหล่านี้ให้ตกอยู่ที่ภาครัฐ แทนที่จะไปเป็นกำไรส่วนเกินของภาคเอกชน เนื่องจากเบอร์โทรศัพท์สวยเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงควรจัดสรรด้วยวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ

โดย กสทช. ได้มีการเตรียมการศึกษาแนวคิด ที่จะนำเบอร์โทรศัพท์สวยมาจัดสรรด้วยการประมูล มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และมีการเก็บเลขหมายบางกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นเบอร์สวย และมีมูลค่าในท้องตลาดไว้ ไม่นำออกมาจัดสรรตามปกติ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.74 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน

แต่จากความเห็นที่ต่างกันของคนในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดหลักของ กสทช. ทำหน้าที่ในการกำกับกิจการโทรคมนาคม และดูแลเรื่องการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการเสนอให้นำเบอร์สวยที่เคยชะลอไว้ 1.74 ล้านเลขหมาย คืนให้แก่ผู้ประกอบการที่เคยถูกดึงเบอร์สวยออกมาจากการจัดสรรตามปกติ

ทั้งนี้เห็นว่า การนำเบอร์โทรศัพท์สวยมาจัดสรรด้วยการประมูล อาจทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีประกาศของ กสทช. เรื่องการจัดสรรเลขหมายสวยมีผลทางปฏิบัติ ทำให้ต้องมีการออกประกาศใหม่ และต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 เดือนในการรับฟังความเห็นสาธารณะ ทำให้เบอร์สวยที่ถูกเก็บไว้ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นอุปสรรคในการแข่งขันของเอกชน และ กสทช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการเงินในภายหลังได้

จากรายงานการใช้ประโยชน์และความขาดแคลนเลขหมายโทรคมนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อนที่จะกลายมาเป็น กสทช. เคยให้บริษัทเอกชนทำการศึกษาเรื่องการจัดการเลขหมายโทรคมนาคมในด้านต่างๆ ในปี 2551

ในรายงานได้มีการศึกษารูปแบบการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ 5 ประเทศ คือ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซีย พบว่า กลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศมีการซื้อขายเบอร์สวยกันในท้องตลาด เนื่องจากเบอร์สวยมีมูลค่าเพราะจดจำง่าย และมีประโยชน์ในการทำธุรกิจ

แต่กลับพบประเทศที่มีการออกหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเบอร์สวยด้วยการประมูลเพียง 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายโทรคมนาคมฯ เห็นว่า สำหรับประเทศไทย ไม่ควรมีการประมูลเบอร์สวย

การนำผลการศึกษานี้มาสรุปว่าการประมูลเบอร์สวยไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่มีการประมูลเบอร์สวยนั้น ควรมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

โดยเฉพาะการศึกษาว่า ถึงแม้จะมีเพียง 2 ประเทศในกลุ่มตัวอย่าง ที่มีการประมูลเบอร์สวยอย่างเป็นรูปธรรม แต่หากประเทศนั้นมีลักษณะแวดล้อมของตลาดที่เหมือนกับประเทศไทย หมายความว่าประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะนำวิธีการประมูลเบอร์สวยมาปรับใช้ได้เช่นกัน การพิจารณาผลการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบด้านจึงมีความจำเป็น

จากรายงานการใช้ประโยชน์และความขาดแคลนเลขหมายโทรคมนาคม ได้มีการเลือกประเทศกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามภูมิภาค คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากทวีปอเมริกาเหนือ, ประเทศเยอรมนีและประเทศอังกฤษ จากทวีปยุโรป, ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียจากทวีปเอเชีย
ประเทศเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีมีตัวแทนดูแลและออกกฎระเบียบด้านงานกิจการโทรคมนาคมชื่อ บุนเดสเนจาเอนทัว (Bundesnetzagentur: BNetzA) ซึ่งดูแลรับผิดชอบรวมไปถึงกิจการด้านไฟฟ้า แก๊ส และรถไฟอีกด้วย ในส่วนของการกำกับดูแลเลขหมายโทรคมนาคม BNetzA ไม่มีการออกกฎระเบียบเฉพาะสำหรับเลขหมายสวย สำหรับเลขหมายบริการเฉพาะที่ BNetzA กำหนดให้สามารถดำเนินการขอรับได้ในราคาปกติ ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาขายพิเศษได้ด้วยตัวเอง

บุนเดสอาเจนทัว (Bundesnet zagentur : BNetzA)
บุนเดสอาเจนทัว (Bundesnet zagentur : BNetzA)

ประเทศอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษ มีองค์กรการกำกับดูแลของรัฐบาล (Office of Communication: Ofcom) มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม โดยในกรณีเลขหมายสวย Ofcom ไม่ได้ดำเนินการกับเลขหมายสวยต่างไปจากเลขหมายธรรมดา แต่ผู้ให้บริการสามารถทำการขายเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษที่เป็นเลขหมายจดจำง่าย หรือเป็นเลขที่มีความหมายสำคัญ ที่โดยปกติจะมีราคาและมูลค่าในทางการค้าได้

ประเทศสหรัฐอเมริกา

คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission: FCC) เป็นหน่วยงานทางด้านการกำกับดูแลอิสระ FCC ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสาร ปี ค.ศ. 1934 และมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการสื่อสารทางวิทยุ โทรทัศน์ การสื่อสารผ่านสาย การสื่อสารผ่านดาวเทียม และการสื่อสารผ่านเคเบิล ระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ อำนาจการควบคุมของ FCC ครอบคลุม 50 รัฐในแคว้นโคลัมเบีย และอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ในรายงานฉบับนี้ ไม่มีการกล่าวถึงการจัดสรรเบอร์สวยในประเทศสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด

ประเทศมาเลเซีย

มีคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซีย (Malaysian Communications and Multimedia Commission: MCMC) มีอำนาจโดยชอบธรรมในการดูแลเกี่ยวกับการควบคุม การวางแผน การบริหารจัดการ การจัดสรรของเลขหมายโทรคมนาคม และที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริการต่างๆ (Numbering and Electronic Addressing of Services)

ในแผนการจัดสรรเลขหมายฯ ของประเทศมาเลเซีย ได้มีการพิจารณาเลขหมายโทรคมนาคมที่เป็นเลขหมายสวย ดังนั้น MCMC สามารถสำรองเลขหมายสวย เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเลือกกระบวนการที่ใช้ในการจัดสรรด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประมูล การประกวดราคา หรือวิธีอื่นๆ และสามารถกำหนดข้อตกลงเงื่อนไข รวมไปถึงค่าธรรมเนียมได้อย่างอิสระ โดยผู้ใช้บริการโทรคมนาคมปลายทางจะต้องไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมใดๆ ในการใช้เลขหมายนั้น

ประเทศมาเลเซียจะมีเพียงแค่การจัดทำกฎเกณฑ์ในการคิดมูลค่าของเลขหมายในอนาคต หมายความว่า กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นปัจจุบันยังไม่ได้จัดระเบียบเรื่องอัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization) ของเลขหมายสวยโดยเฉพาะ เพียงแต่ระบุทางเลือกในการดำเนินการโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ MCMC กำหนดว่าการคิดค่าธรรมเนียมจะคิดจากผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการ
ประเทศสิงค์โปร์

หน้าที่ของการจัดระเบียบและระบบบริการโทรคมนาคมในประเทศสิงคโปร์ ดำเนินการโดยหน่วยงานที่เรียกว่า Info-communications Development Authority: iDA มีหน้าที่ควบคุมและบริหารจัดการแผนเลขหมายโทรคมนาคมแห่งชาติ และทำหน้าที่จัดให้มีกระบวนการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม

iDA ได้นิยามเรื่องรูปแบบเลขหมายโทรคมนาคมใน 4 หลักสุดท้าย ให้เป็นเลขหมายสวย โดยในกลุ่มเลขหมาย 10,000 เลขหมาย จะมีเลขหมายสวยอยู่ 486 เลขหมาย iDA คิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหนึ่งเลขหมายสวยสำหรับโทรศัพท์ประจำที่ (PSTN) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการต้องจ่ายเพียงเลขสวยจำนวน 486 เลขหมาย และจะได้รับกลุ่มเลขหมายเต็มขนาด 10,000 เลขหมาย โดยจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 24,300 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (486 เลขสวย × SGD 50 สำหรับกลุ่มเต็มขนาด 10,000 เลขหมาย)

Info communications Development Authority : iDA
Info communications Development Authority : iDA

โดยการจัดสรรจะเปิดให้มีการประมูล ซึ่งกระบวนการที่ผู้ให้บริการจะขอเลขหมายตามกระบวนการประมูลมีอยู่ 2 แบบ คือ

1. การประมูลระดับเลขหมายที่ริเริ่มโดย iDA

สำหรับกระบวนการนี้ iDA จะนำเลขหมายแบบ 8 หลัก มาจัดสรรเป็นกลุ่มๆ โดยเรียงตามลำดับ เพื่อนำมาประมูล สำหรับการประมูลแต่ละครั้ง iDA จะกำหนดกลุ่มเลขหมายมา 100 กลุ่ม ราคาการประมูลขั้นต่ำถูกตั้งไว้โดยราคาต่อหนึ่งกลุ่มเลขหมายอยู่ที่ 24,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อความง่ายในการบริหารจัดการประมูล ราคาสามารถถูกปัดขึ้นเป็น 25,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และระดับของเลขหมายที่เหลือทั้งหมด ที่ไม่ได้ถูกจัดสรรระหว่างการประมูล จะถูกจัดวางลงกองกลางเพื่อการจัดสรรในครั้งต่อไป

2. การประมูลกลุ่มเลขหมายทางเลือกที่ร้องขอโดยผู้ให้บริการ

ในกระบวนการแบบนี้ ผู้ให้บริการที่มีสิทธิขอรับการจัดสรรเลขหมายอาจจะร้องขอกลุ่มเลขหมายขนาด 8 หลัก ที่ไม่ได้ถูกครอบคลุมโดยการจัดสรรแบบการประมูลกลุ่มเลขหมายตามลำดับที่ริเริ่มโดย iDA กลุ่มเลขหมายเหล่านั้นที่เป็นที่ต้องการโดยผู้ให้บริการถูกเรียกว่า กลุ่มเลขหมายทางเลือก ราคาการประมูลขั้นต่ำจะถูกตั้งไว้ที่ 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับกลุ่มเลขหมายทางเลือกของรูปแบบ ‘AAAA XXXX’ (เช่น ‘6666 XXXX’) และ 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับกลุ่มเลขหมายทางเลือกอื่นๆ

การจัดการการประมูล เมื่อได้รับการร้องขอเข้าประมูลกลุ่มเลขหมายทางเลือกจากผู้ให้บริการ iDA จะทำการแจ้งผู้ให้บริการที่มีสิทธิรายอื่น โดยผู้ให้บริการเหล่านี้สามารถแจ้งความสนใจในกลุ่มเลขหมายเดียวกันที่จะทำการจัดการประมูลภายใน 30 วัน ถ้าไม่มีผู้ให้บริการรายอื่นแจ้งความสนใจเข้ามา กลุ่มเลขหมายทางเลือกจะถูกจัดสรรให้กับผู้ให้บริการที่ร้องขอเข้ามาทันทีที่มีการจ่ายเงินการประมูลขั้นต่ำบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ามีผู้ให้บริการรายใดหรือมากกว่าหนึ่งรายสนใจที่จะได้กลุ่มเลขหมายเดียวกันนี้ iDA จะทำการเปิดการประมูล โดยผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้รับการแจ้งถึงวันและเวลาของการทำการประมูล

การจัดการกระบวนการประมูล (Auction) จะถูกอธิบายให้ผู้ให้บริการเหล่านั้นทราบก่อนที่จะเริ่มประมูลจริง กลุ่มเลขหมายทางเลือกจะถูกจัดสรรให้กับผู้ประมูลที่ยื่นข้อเสนอให้สูงสุดทันทีที่มีการชำระยอดเงินประมูลบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อย

จากรายงานนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า เลขหมายโทรคมนาคมที่เป็นเลขหมายสวย ดูเหมือนจะเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศแถบเอเชีย (เช่น เรื่องการถือว่าเลข 8 เป็นเลขมงคลในวัฒนธรรมของจีน) สำหรับกลุ่มประเทศที่คัดเลือกมาเพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบ มีเพียงประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียที่มีการระบุกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรเลขหมายสวย ขณะที่ประเทศเยอรมนี ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา มีการบริหารจัดการเลขหมายสวยเหมือนกับการบริหารจัดการเลขหมายธรรมดา ทั้งในเรื่องของอัตราค่าธรรมเนียมและกระบวนการจัดสรร

โดยประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวเท่านั้น ที่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับเลขหมายสวย และ MCMC ของประเทศมาเลเซีย กำหนดให้มีการคิดค่าธรรมเนียมที่อาจจะเก็บได้ แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บ

การจะสรุปว่า การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแล้วพบว่ามีเพียงประเทศเดียวที่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับเลขหมายสวย จนมีการระบุถึงวิธีการประมูลอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่ควรนำวิธีการประมูลเบอร์สวยมาใช้นั้น กสทช. อาจต้องพิจารณาใหม่ถึงปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายในประเทศที่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อ และความต้องการเบอร์สวยในท้องตลาด ถึงแม้ว่าวิธีการนี้อาจแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลก

แต่สำหรับประเทศที่มีเงินหมุนเวียนในตลาดเบอร์สวยในหลักล้านบาทนั้น การนำเบอร์สวยออกมาประมูล อาจเป็นวิธีเดียวที่จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเบอร์สวย โดยมูลค่าเหล่านั้นจะมาอยู่ในมือของภาครัฐ แทนที่จะไปอยู่ในมือของภาคเอกชน การยกเลิกประมูลเบอร์สวยด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น อาจทำให้ กสทช. ถูกตั้งคำถามในภายหลังได้ ถึงการทำงานที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ถึงเวลานั้น กสทช. จะตอบคำถามสังคมอย่างไร