เวลา 1 ปี 11 เดือน ที่ครม.ปรับลดภาษีสรรพสามิต 9 ครั้ง ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร รายได้หาย 178,100 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 83,020 ล้านบาท แบกหนี้อีก 113,580 ล้านบาท ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ในตลาดโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดภาระ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการใช้มาตรการภาษีคู่ขนานไปกับกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และก๊าซหุงต้มไม่เกินถังละ 423 บาท มาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันดีเซลไปทั้งหมด 9 ครั้ง ดังนี้
เริ่มจากช่วงปลายปี 2564 ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ยังไม่ทันคลี่คลาย ช่วงต้นปี 2565 ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
ขณะนั้นรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จนกระทั่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และเหลือวงเงินที่จะใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลไม่มากนัก เนื่องจากติดกรอบของกฎหมายที่มีการกำหนดวงเงินในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ว่าเมื่อรวมวงเงินกู้ยืมแล้วต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
ที่ประชุม ครม. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลงเป็นครั้งแรก ในอัตราลิตรละ 3 บาท (จากเดิมเก็บภาษีตามปริมาณลิตรละ 6.44 บาท ลดลงเหลือลิตรละ 3.44 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 รวม 3 เดือน ทำให้รัฐบาลรายได้หายไปประมาณ 17,100 ล้านบาท
ปลดล็อก ‘กองทุนน้ำมันฯ’ กู้เงินตรึงดีเซลได้เกิน 40,000 ล้าน
อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับกับแนวโน้มของราคาพลังงานที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้มีการ ทบทวนหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันฯ ใหม่โดยให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา แก้ไขกรอบวงเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศ ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้มได้เกิน 40,000 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหาร ยิงขีปนาวุธ และส่งกองกำลังภาคพื้นดินโจมตียูเครน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 104 ดอลลาร์สหรัฐ/บาลเรล และเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม จนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถตรึงราคาขายปลีกดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาทต่อได้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 จึงมีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เป็นครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 5 บาท (จากเดิมเก็บภาษีตามปริมาณลิตรละ 6.44 บาท ลดเหลือลิตรละ 1.44 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต่อจากมาตรการครั้งที่แล้วที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 รวม 2 เดือน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ไป 20,000 ล้านบาท
ตรึงดีเซล 35 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯ แบกหนี้กว่า 1.3 แสนล้านบาท
ต่อมาที่ประชุม ครม. วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยออกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท ผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินสูงถึง 131,561 ล้านบาท
ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งตลาดดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 104 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 101 ดอลลาร์/บาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ ระลอกใหม่ ประมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียมีแนวโน้มลดลงจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ และกลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ครั้งที่ 3 ที่ประชุม ครม. วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 มีมติเป็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2565 รวม 2 เดือน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ 20,000 ล้านบาท
ก่อนสิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง แม้จะปรับตัวลดลงมาเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 92 ดลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ แต่เนื่องจากทางการจีนขยายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดฯ ระลอกใหม่ ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มตึงตัว หลังจากรัสเซียหยุดส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดไปยังยุโรป คาดว่าในช่วงฤดูหนาวจะมีการใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน เป็นครั้งที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2565 ถึง 20 พฤศจิกายน 2565 รวม 2 เดือน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้อีก 20,000 ล้านบาท
ไฟเขียว สบน. ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ 150,000 ล้านบาท
หลังจากรัฐบาลเปิดเพดานการกู้ยืมเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปเรียบร้อยแล้ว วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท โดยให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำหน้าที่ค้ำประกันเงินกู้
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยจึงไม่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศยุโรปและอเมริกากำลังก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุม ครม. มีมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทต่ออีก 2 เดือนเป็นครั้งที่ 5 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 รวม 2 เดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อีก 20,000 ล้านบาท
จนมาถึงช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 80-82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อันเนื่องมาจากความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีนยังอยู่ระดับสูง หลังทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดฯ จึงเริ่มมีการสั่งซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่รัสเซียยังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศอเมริกาและชาติตะวันตก ทำให้อุปทานลดลง แต่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง
จากการที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้กองทุนน้ำมันมีฐานะสุทธิติดลบ 119,711 ล้านบาท จึงต้องยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มกลับมาเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 4.81 บาท เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566
วันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทต่ออีก 4 เดือนเป็นครั้งที่ 6 เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 รวม 4 เดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปอีก 40,000 ล้านบาท
ช่วงเดือนมีนาคม 2566 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 70-77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รัฐฐาลอ้างว่าส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุนการประกอบธุรกิจของประชาชน วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาทต่อเป็นครั้งที่ 7 เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รวม 2 เดือน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ 20,000 ล้านบาท
รธน. ห้ามรัฐบาลรักษาการ ‘ลดภาษี’ สั่งกองทุนน้ำมันอุ้มแทน
วันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ มีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ ใกล้สิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุม ครม. รักษาการมีมติเห็นชอบแนวทางการรักษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันดีเซลตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ แต่ไม่สามารถปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อไปได้อีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (1) และมติ ครม. วันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่องแนวปฏิบัติอันเนื่องจากการยุบสภา ห้ามไม่ให้ ครม. รักษาการอนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป หลังสิ้นสุดมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล กรมสรรพสามิตจึงกลับไปเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราเดิม โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีฐานะและสภาพคล่องดีขึ้น จึงเข้าดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลต่อไป

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
หั่นภาษีดีเซลลง 2.5 บาท/ลิตร ประกาศตรึงราคา 30 บาท
จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมัน เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงเดือนกันยายน 2566 ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 89-93 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล วันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้มีปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นครั้งที่ 8 ลิตรละ 2.50 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวม 3 เดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 15,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท โดยให้มีผลตังแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของรถยนต์ส่วนบุคคล ลิตรละ 1 บาท เป็นครั้งแรก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 รวมระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อีก 2,700 ล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ครม.
ล่าสุด รัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวอยู่ที่ระดับ 73-78 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดย ที่ประชุม ครม. วันที่ 16 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลง เป็นครั้งที่ 9 ลิตรละ 1 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 รวม 3 เดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปอีก 6,000 ล้านบาท
ส่วนการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน ลิตรละ 1 บาท ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ยังไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการต่อหรือไม่ แต่กระทรวงพลังงานได้เตรียมใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปบริหารจัดการราคาน้ำมันเบนซิน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตลอด 1 ปี 11 เดือน รัฐบาลใช้มาตรการภาษีเข้าไปตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท 9 ครั้ง ทำให้รายได้หายไป 178,100 ล้านบาท คู่ขนานไปกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ณ วันที่ 21 มกราคม 2567 มีหนี้สินรวม 113,580 ล้านบาท และเมื่อนำหักลบกับยอดสินทรัพย์รวม 30,560 ล้านบาทแล้ว ฐานะสุทธิติดลบ 83,020 ล้านบาท
รวมเม็ดเงินที่รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 2.6 แสนล้านบาท ถามว่าเงินจำนวนนี้ ถ้านำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อทำให้ระบบโลจิสติกส์ที่ใช้การขนส่งผ่านระบบรางมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ เช่น สร้างรถไฟเพิ่มขึ้น หรือรถบริการสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในการขนคนให้สะดวกมากขึ้น แทนที่การใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าเป็นหลัก ถนนก็พัง จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ และจะได้เลิกอ้างว่าต้องอุ้มภาคประชาชนเพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่ง… หากไม่ลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก็ยังต้องอุ้มกันไปเรื่อยๆๆๆ…
ตอนต่อไปอ่าน ‘คนใช้เบนซิน จ่ายค่าอะไรบ้าง”