ThaiPublica > เกาะกระแส > คลัง-พลังงานถกเครียด 2 ชม.ไร้ข้อสรุปรับมือน้ำมันแพง

คลัง-พลังงานถกเครียด 2 ชม.ไร้ข้อสรุปรับมือน้ำมันแพง

11 มีนาคม 2022


เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 17.00 น.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตราการแก้ปัญหาน้ำมันแพง ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

คลัง-พลังงานถกเครียด 2 ชม.ไร้ข้อสรุปมาตรการรับมือน้ำมันแพง ‘สุพัฒนพงษ์’ สั่งการบ้าน ตรึงราคาดีเซล-LPG ต่อ ใช้แหล่งเงินจากไหน – ปล่อยราคาขยับขึ้น เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชน-ภาคธุรกิจอย่างไร

จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 17.00 น.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง , กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ,ปลัดกระทรวงการคลัง , นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน , นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , นางแพตริเซีย มงคลวนิช. ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) , นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต และนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ฯลฯ เพื่อหารือถึงมาตรการรับมือน้ำมันแพง ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ก่อนเข้าห้องประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงวัตถุประสงค์ของการหารือกับกระทรวงการคลังในวันนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์การสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน จะมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมาน้อยแค่ไหน รวมทั้งเตรียมจัดหาแหล่งเงินมาใช้ในการจัดทำมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญที่สุดต้องพยายามรักษาเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ โดยการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองจาก 60 วัน เพิ่มเป็น 70 วัน ส่วนเรื่องราคาน้ำมันแพง ก็ต้องพยายามหาแก้ไขกันไป หาก LNG ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีราคาแพงเกินไป ก็ต้องหาพลังงานประเภทอื่นมาใช้ทดแทน เช่น น้ำมันดีเซล หรือ น้ำมันเตา ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะแถลงอีกครั้งในวันที่ 11 มีนาคม 2565

หลังเสร็จสิ้นการประชุมเวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวถามนายสุพัฒนพงษ์ว่าจะมีมาตรการแก้ปัญหาน้ำมันแพงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เช่น การปรับลดภาษีน้ำมัน นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า “ยังไม่ได้พิจารณาไม่ถึงขั้นนั้น วันนี้นัดมาหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ส่วนมาตรการรับมือน้ำมันแพง ผมได้ฝากเป็นการบ้านกลับไปให้ทั้ง 2 กระทรวง ช่วยกันคิด บอกได้เลยเป็นการบ้านที่ยากมาก แต่ถ้าได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง”

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ทั้งกระทรวงการคลัง , กระทรวงพลังงาน , แบงก์ชาติ และ สภาพัฒน์ฯ ไม่สามารถประเมินสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยืดเยื้อนานแค่ไหน ปัญหาราคาน้ำมันแพงจะจบลงเมื่อไหร่ ไม่มีใครบอกได้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแต่ละวันมีความผันผวนมาก ยกตัวอย่าง น้ำมันดิบดูไบตอนเช้าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 103 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล พอตกเย็นราคาขยับขึ้นไป 113 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล หากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันยืดเยื้อออกไปนาน ทั้งปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาหมด และขยายเพดานเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นไปอีก ก็เอาไม่อยู่

ยกตัวอย่าง หลังมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท เริ่มมีผลวันแรก 18 กุมภาพันธ์ 2565 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาเหลือลิตรละ 27.94 บาท อยู่ได้แค่ 2 วัน ก็ทยอยปรับขึ้นไปเกือบทะลุราคาเป้าหมายลิตรละ 30 บาท ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริง ตอนนี้อยู่ที่ลิตรละ 44 บาท ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯถึง 14 บาทต่อลิตร เพื่อดึงราคาดีเซลลงมาอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท หากมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาอีกลิตรละ 3 บาท ก็ไม่พอ ยังต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้าไปแทรกแซงอีกลิตรละ 11 บาท รวมมาตรการอุดหนุนแก๊สหุงต้ม หรือ ‘LPG’ ให้มีราคาไม่เกิน 318 กิโลกรัมต่อถัง 15 กิโลกรัม แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 ล้านบาท

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) – นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน (ขวามือ)

ปัญหาจึงย้อนกลับไปที่เรื่องนโยบาย หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท และแก๊สหุงต้มไม่เกินถัง 318 บาทต่อไป จะใช้แหล่งเงินจากไหนมาอุดหนุนราคาพลังงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และถ้าปล่อยราคาพลังงานทยอยปรับขึ้นไปบ้างจะมีมาตรการมาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจแต่ละกลุ่มอย่างไร

เป็นโจทก์หิน ที่รองนายกรัฐมนตรีฝากเป็นการบ้าน ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กลับไปคิด เตรียมหามาตรการรับมือน้ำมันแพงแล้วกลับมาหารือกันอีกครั้ง

อย่าไรก็ตาม หากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงยืดเยื้อนาน ถมเท่าไหร่ ก็ไม่พอ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง อาจต้องถอย…

  • กพช.ยกเลิกเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมัน-ปรับสูตร ‘Pool Gas’ ตรึงค่าไฟ
  • ‘สุพัฒนพงษ์’เล็งขยายเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ รับมือวิกฤติพลังงาน
  • “กองทุนน้ำมันฯ” เงินหมด เร่งกู้ 2 หมื่นล้านบาท