ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ชี้ยุบสภาเมื่อไหร่-เป็นเรื่องนายกฯ-มติ ครม.อนุมัติเงินกู้ 3.45 หมื่นล้าน เคลียร์ค่ารักษาโควิดฯ

“บิ๊กตู่” ชี้ยุบสภาเมื่อไหร่-เป็นเรื่องนายกฯ-มติ ครม.อนุมัติเงินกู้ 3.45 หมื่นล้าน เคลียร์ค่ารักษาโควิดฯ

15 มีนาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กตู่” ชี้ ‘ยุบสภา’ เป็นความเห็นส่วนตัว “บิ๊กป้อม” เมื่อไหร่เป็นเรื่องนายกฯ-ยังไม่พิจารณาตั้งพรรคเล็กเป็น รมต.-มติ ครม.อนุมัติเงินกู้ 3.45 หมื่นล้าน เคลียร์ค่ารักษาโควิดฯช่วง ธ.ค.64-ก.พ.65-เล็งออก พ.ร.ฎ.ปลดล็อก ‘กองทุนน้ำมัน’ กู้เกิน 4 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีด้วย

วอนอย่าโจมตีรัฐบาลไม่มีงบฯ ดูแล ปชช.

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า วันนี้มีเรื่องประชุมครม.ประมาณ 20-30 เรื่อง ทั้งประเด็นพิจารณาวาระเพื่อทราบและวาระสัญจร ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งหมด โดยหลายเรื่องต้องปรับแก้ระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติงบประมาณ เพราะรัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่า และคำนึงถึงรายได้ที่มีอยู่

“วันนี้เราก็เจอปัญหา ซึ่งทุกคนไปไหนไม่ได้ เราเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น แน่นอนถึงแม้เราจะเป็นประเทศเล็กอยู่ไกล แต่เราก็อยู่ในห่วงโซ่ของเขา (รัสเซีย-ยูเครน) เพราะสินค้าต่างๆ ผ่านไปผ่านมา ขายที่โน่น ขายที่นี่ ส่วนหนึ่งก็เป็นสินค้านำเข้าถึงประเทศไทย เมื่อต้นทุนสูง ราคาก็สูงขึ้น แต่เราจะดูแลประชาชนได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ ขอให้เข้าใจด้วย หลายคนมองว่ารัฐบาลไม่มีเงินอยู่แล้ว มีหรือไม่มี ก็ต้องหาทางดูแลให้ได้ หาวิธีการที่เหมาะสม ถ้าโจมตีกัน ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ยิ่งทำให้คนทำงานท้อแท้เหมือนกัน พลเอกประยุทธ์ กล่าว

“เรื่องพลังงานก็มีความผันผวนอยู่มาก สถานการณ์การสู้รบก็ยังมีอยู่ คงไม่จบในเวลาอันใกล้ สิ่งที่เรากังวลคือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงาน ปุ๋ย วัสดุต้นทุนต่างๆ ที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศคือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ชี้ยุบสภาเป็นเรื่องของนายกฯ

พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีว่ารัฐบาลจะยุบสภาว่า “พลเอกประวิตรพูดในมุมของท่าน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี” ก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะกล่าวต่อว่า “เมื่อไรก็เมื่อนั้น ในเมื่อนายกฯ ตัดสินใจ นายกฯ ก็เก็บไว้ก่อนสิ เป็นเรื่องของนายกฯ จะบอกก่อนทำไม ทำไมต้องรีบบอก”

“สถานการณ์เป็นตัวกำหนดทั้งหมด ผมก็อยากให้ทุกคนคำนึงถึงว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ประเทศชาติมีปัญหาควรจะสำคัญกว่าอย่างอื่นก่อนไหม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเมื่อไรที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะไม่ปกติ คนไทยทุกคนจะรวมพลังกันต่อสู้เอาชนะจนอยู่รอดปลอดภัยจนถึงทุกวันนี้ วันนี้เราจะแตกแยกไปถึงไหน ปัญหาอะไรลดลงได้ ก็ลดลงบ้าง ขอร้องแค่นั้นเอง ผมขอได้แค่นั้น” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “นอกจากการประชุม ครม. ผมก็ติดต่อกับท่านโดยตรง ผมส่งไลน์คุย เรื่องนู้นเรื่องนี้รับไปดูแลได้ไหม ท่านก็ตอบกลับมาว่าดูถึงตรงโน้น ตรงนี้แล้ว ไม่ใช่นั่งเจออาทิตย์ละครั้ง เจอกันทุกวัน ทุกกระทรวง พอมีเรื่องมาผมก็ส่งไลน์ว่า ‘พี่ช่วยทำตรงนี้หน่อยนะ พี่ช่วยดูตรงนี้หน่อยนะ’ อะไรที่ผมพอแนะนำได้ เพราะผมอยู่ข้างบนเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงด้วยกัน ผมก็บอกจะให้กระทรวงนี้ทำอย่างนี้นะ พี่ไปทำอย่างนี้ต่อได้ไหม ทุกอย่างมันต้องทำงานแบบนี้ บริหารแบบนี้”

ให้เกียรติพรรคร่วมฯ – ท้าเทียบผลงานรัฐบาลชุดก่อน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ตอบว่า “วันนี้ก็เจอกันมาร่วมแรงร่วมใจกัน ทำเพื่อประเทศชาติดีกว่า อย่างอื่นว่ากันทีหลัง ไม่มีอะไรเป็นประเด็น ไม่ใช่เรื่องความรัก สามัคคี ผมให้เกียรติเสมอ ท่านอาวุโสน้อยกว่า ก็สวัสดีผม อายุมากกว่าผมก็สวัสดีท่าน ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีแบบสุดยอดเมื่อไร ให้เกียรติ คนเรามันต้องหัวใจใหญ่ ทำตัวให้หัวใจใหญ่สักหน่อย ไม่ใช่หัวใจเล็ก หัวใจที่เราต้องรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน และให้อภัยคนที่ควรให้อภัย”

พลเอกประยุทธ์ยังย้ำว่า เสียงในสภาเป็นเรื่องของสภา ตนเองบังคับใครไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าคิดว่าทำไปแล้วประเทศชาติจะดีขึ้น ก็แล้วแต่

“ผมคิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะเพียงพอ ผมให้เกียรติท่านทุกคน มันจะเกิดประโยชน์อะไรกับใคร วันนี้ผมทำงานมาเท่าไร อะไรสำเร็จมาบ้าง ไปเทียบดูก็ได้ เทียบมาเลย 10 ปี หรือ 8 ปีที่ผ่านมาไปเทียบผลงานมากับผมเลย ประชาชนไปแยกแยะเอาเอง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ชื่นชมความสำเร็จเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ “กรุงเทพฯ-เบตง”

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รายงานถึงเที่ยวบินปฐมฤกษ์กรุงเทพฯ-เบตง ที่ได้ริเริ่มในปี 2558 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2565 ซึ่งสนามบินเบตงมีทัศนียภาพที่สวยงาม หากได้รับความนิยมมากขึ้นจะขยายแผนงานให้เชื่อมโยงสายการบินอื่นๆ รวมทั้งเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย

“เมื่อเห็นรอยยิ้มของประชาชน นายกฯ ก็มีความสุข เป็นผลงานความสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้” ดร.ธนกร กล่าว

สั่งทุกหน่วยหาตลาดใหม่ รับวิกฤติ ‘รัสเซีย-ยูเครน’

ดร.ธนกร กล่าวถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนว่า นายกรัฐมนตรีเร่งรัดทุกหน่วยงานติดตามลดผลกระทบ เนื่องจากหลายประเทศคู่ค้าเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของการค้าโลก แม้ว่าประเทศไทยจะทำการค้ากับทั้งสองประเทศไม่มากนัก แต่ทั้งสองประเทศผลิตสินค้าในราคาต้นทุนที่อาจส่งผลต่อประเทศไทยได้ จึงขอให้ทุกหน่วยหาตลาดใหม่ๆ เช่นกลุ่มประเทศเอเชียใต้ที่มีประชากรจำนวนมาก

ชี้ ‘ยุบสภา’ เป็นความเห็นส่วนตัว “บิ๊กป้อม”

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามประเด็นการเมืองให้ขอความชัดเจนจากพลเอกประยุทธ์ หลังพลเอกประวิตรส่งสัญญาณยุบสภาหลังจบ APEC โดยดร.ธนกร ตอบว่า “เป็นความเห็นส่วนตัวของท่านรองนายกฯ นายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจสถานการณ์ที่เหมาะสม”

ถามว่า การที่พลเอกประวิตรเข้ามาดูแลพรรคขนาดเล็ก ทำให้นายกฯ สบายใจขึ้นหรือไม่ ดร.ธนกร ตอบว่า “ก็ดีอยู่แล้ว นายกฯ ให้เกียรติส.ส.ทุกคนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก”

ยังไม่พิจารณาตั้งพรรคเล็กเป็น รมต.

ส่วนคำถามที่ว่า ‘พรรคการเมืองขนาดเล็กต้องการให้มีรัฐมนตรีหนึ่งคน เป็นผู้ประสานงาน รับความเห็นส่งต่อให้รัฐบาล นายกฯ เห็นด้วยหรือไม่’ ดร.ธนกรตอบว่า “ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องสัดส่วนส.ส.ที่เข้ามาแต่ละพรรคในการจัดตั้ง ครม.ที่เห็นชอบร่วมกันครั้งที่ผ่านมา นายกฯ รับฟังความเห็นจาก ส.ส.ทุกพรรค เพื่อนำไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งจาก ครม. และ ส.ส. รวมทั้งความคิดเห็นประชาชนอีกหลายช่องทาง”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เล็งออก พ.ร.ฎ.ปลดล็อก ‘กองทุนน้ำมัน’ กู้เกิน 4 หมื่นล้าน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เห็นชอบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/64 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ในส่วนของแผนรองรับวิกฤตการณ์ ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉ. ปรับปรุง ครั้งที่ 1) และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบ ร่างแผนรับรองวิกฤติด้านน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ทบทวนหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมัน ฯ ยกเลิกการกำหนดวงเงินบริหารกองทุนน้ำมัน ฯ รวมวงเงินกู้ยืมต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จากเดิมที่แผนรองรับวิกฤต ฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ระบุการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ฯ ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการออกร่าง พ.ร.ฎ. เพื่อแก้ไขกรอบวงเงินดังกล่าวต่อไป รวมทั้งยังได้มีการปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมัน ฯ (Exit Strategy) โดยให้ยกเลิกการปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง เมื่อฐานะกองทุนน้ำมันใกล้ติดลบตาม พ.ร.ฎ. ขยายกรอบวงเงินฯ กู้ เป็น 30,000 ล้านบาท แต่ยังคงดำเนินการหารือการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ระดับราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักและเริ่มดำเนินการกู้เงินเพื่อให้กองทุนน้ำมันไม่ขาดสภาพคล่อง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแผนรองรับวิกฤตการณ์ ในส่วนของหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ฯ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้มีเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ฯ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ขยายเวลาต่อใบอนุญาตแรงงาน 3 สัญชาติไปอีก 2 ปี

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) ในปี 2561 ซึ่งมีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ให้ให้สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือขอต่ออายุใบทำงานและขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่เป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับออกไปทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่คนต่างด้าวไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้โดยสะดวกในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเป็นการตอบสนองต่อนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาด ระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ … เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษอีก 6 เดือน เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือต่ออายุใบอนุญาตทำงาน อีกไม่เกิน 2 ปีต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีคนต่างด้าว ภายใต้ MOU ในวาระการจ้างงานจะครบ 4 ปี จำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน กัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน เมียนมา 54,236 คน ทั้งนี้ ทางการของประเทศกัมพูชา ลาวและเมียนมา ก็ได้มีหนังสือ เห็นชอบกับการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว

ผ่านร่าง กม.ตั้งนายกฯ แก้มลพิษทางน้ำจาก ‘น้ำมัน’

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. … โดยเป็นการยกเลิกระเบียบฯ ปี 47 และปรับปรุง แก้ไขใหม่ เพื่อให้การดำเนินการอยู่ในระบบ Single Command และมีการช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ (Respond)

สาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการการขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมันให้ครอบคลุมถึง เคมีภัณฑ์ สารอันตรายและสารพิษ อันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ ป้องกันมลพิษทางน้ำ รวมทั้งเยียวยาความเสียหายให้แก่บุคคล ที่ได้รับความเสียหายจากการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ให้จัดการมลพิษทางน้ำจากน้ำมันและเคมีภัณท์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการปรับปรุงสาระสำคัญองค์ประกอบ กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการจัดการมลพิษทางน้ำจากน้ำมัน (กจน.) แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แก้ไขบทนิยามคำว่า “น้ำมัน” ให้หมายถึง น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่รวมถึงก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและจัดทำแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ในกรณีฉุกเฉินประธานอาจใช้อำนาจแทน คณะกรรมการฯ ในการควบคุมกำกับดูแลจัดการมลพิษทางน้ำได้ ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะเป็นศูนย์ประสานงานในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์

นายธนกร ยังกล่าวถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันพ.ศ. 2547 ว่า ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานและไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่มลพิษทางน้ำมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ขาดการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และขาดแผนปฏิบัติการที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้การปรับปรุงจะทำให้มาตรการการจัดการมลพิษทางน้ำครอบคลุมการป้องกันและขจัดมลพิษทางเคมีภัณท์ครบถ้วน และยังสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 / 1978 รองรับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยการเตรียมการปฏิบัติการณ์และความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำเนื่องจากสารอันตรายและสารพิษด้วย

อนุมัติเงินกู้ 3.45 หมื่นล้าน เคลียร์ค่ารักษาโควิดฯย้อนหลัง

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2565 รอบที่ 2 วงเงิน 34,528 ล้านบาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องของหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการแล้วระหว่างเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 โดยใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทย หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สปสช. ประมาณการค่าบริการสาธารณสุขในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ UCEP Plus และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการให้สอดคล้องกับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจริง และเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ UCEP Plus ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้

จัดงบฯ 172 ล้าน จ่ายค่าทำศพผู้สูงอายุ 3,000 บาท 5.74 หมื่นราย

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น จำนวน 172.36 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสงเคราะห์ค่าทำศพผู้สูงอายุตามประเพณี รายละ 3,000 บาท ในปี 2564 เพิ่มเติม จำนวน 57,455 คน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เนื่องจากในปี 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวนผู้สูงอายุเสียชีวิตสูงถึง 127,168 คน ซึ่งมากกว่าจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 69,713 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบดังกล่าว

การขอรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพตามประเพณี ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้ 1) ผู้เสียชีวิตอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 2) สัญชาติไทย 3) ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4) ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์ สถานดูแล สถานคุ้มครอง หรือสถานใดๆ ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการจัดการศพตามประเพณีโดยมูลนิธิ สมาคม วัด มัสยิด โบสถ์ โดยผู้ยื่นคำขอ (ครอบครัวผู้เสียชีวิต ญาติผู้รับผิดชอบจัดการศพ) จะต้องยื่นคำขอในท้องที่ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกใบมรณบัตร พร้อมกับเอกสารสำคัญ เช่น ใบมรณบัตรของผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้สูงอายุหรือหนังสือรับรอง บัตรประจำตัวประชาชน สมุดบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารของผู้ยื่นคำขอ (เพื่อโอนเงิน) กรณีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานเขต ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้ยื่นคำขอในท้องที่ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น

แจงรายละเอียดงบฯปี’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 และเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งหน่วยงานรับงบประมาณจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนจัดทำงบประมาณ กล่าวคือ เดือนมีนาคม 2565 เป็นขั้นตอนการพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ เดือนเมษายน 2565 เปิดรับฟังความคิดเห็น รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงประมาณฯ พ.ศ.2566 และเอกสารประกอบ เดือนพฤษภาคม 2565 เสนอร่างพระราชบัญญัติงประมาณฯ พ.ศ. 2566 ให้ ครม.พิจารณาก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ครม.อนุมัติ มีรายละเอียดดังนี้

1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01

2.รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.59

3.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ.2565

ไฟเขียวไทยเข้าเป็นสมาชิก ‘FATF’ สกัดฟอกเงิน-ก่อการร้าย

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ ซึ่งคณะทำงานเฉพาะกิจ FATF นี้ เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้น โดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 ในปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย และมีเครือข่ายความร่วมมือ 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก โดยทำหน้าที่ส่งเสริมและติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating Financing of Terrorism: AML/CFT)

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) และเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง รวมถึงการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างประเทศ สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการหลังจากไทยมีหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก FATF ภายในเดือนมีนาคม 2565 แล้ว ที่ประชุมใหญ่ FATF จะพิจารณาข้อมูล เช่น ขนาด GDP ขนาดภาคธุรกิจ ขนาดประชากร อิทธิพลต่อระบบการเงินโลก และจะพิจารณาเดินทางเยือนไทยเพื่อประเมิน และภายในปี 2566 หากผลการเยือนเป็นที่น่าพอใจ ที่ประชุมใหญ่ FATF จะพิจารณาเชิญประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม FATF ในฐานะผู้สังเกตการณ์เป็นเวลา 3 ปี แล้วจะทำการประเมินเพื่อพิจารณารอบสุดท้ายในการให้สมาชิกภาพกับไทยต่อไป

“การเข้าเป็นสมาชิก FATF ของไทย จะเพิ่มบทบาทการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ในเวทีระหว่างประเทศ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประเทศที่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อันจะนำไปสูความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต” ดร.รัชดา กล่าว

จัดงบฯ 1,848 ล้าน จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรการศึกษา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนกรอบวงเงิน 1,848 ล้านบาท การจัดสรรงบกลางดังกล่าว มาจากข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการศึกษาทั้งธุรการโรงเรียน ครูคลังสมองและตำแหน่งอื่นๆ ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งการสอนและสนับสนุนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล สามารถรักษาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานด้านเอกสาร ให้ครูไม่ต้องเจียดเวลาการสอนไปทำงานธุรการจนกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการสอน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความเป็นมาของการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความจำเป็นต้องจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 61,119 อัตรา 16 ตำแหน่ง เช่น ธุรการโรงเรียน ครูรายเดือนเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนครูขั้นวิกฤต และครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ซึ่งข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2564 ต้องใช้งบประมาณ 8,315 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,063 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ สพฐ. ได้ขอรับการจัดสรรงบกลางส่วนที่ยังขาดอีก 3,251 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่ สพฐ. ขอมาแต่อนุมัติกรอบวงเงิน 1,848 ล้านบาท เท่าที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อมูล ณ เดือนม.ค. 2565 มีการจ้างอยู่ 58,873 อัตรา เนื่องจากมีการลาออกของลูกจ้างไปแล้ว 2,246 อัตรา

“นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อบุคลากรทางการศึกษา จึงเห็นชอบให้มีการจัดสรรงบกลางเพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาจะส่งผลสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงต้องให้ความมั่นคงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูยังอยู่ในระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ และการศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

จ้างที่ปรึกษา 19.9 ล้าน ประเมินโครงการเงินกู้ 5 แสนล้าน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2565-2566 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อติดตามประเมินผลแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินรวม 19,926,200 บาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,985,200 บาท และปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,941,000 บาทเพื่อให้การติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรายงานผลการประเมินโครงการต่อครม.และรัฐสภาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างในเดือนสิงหาคม 2565 ระยะเวลาดำเนินการ 11 เดือน กำหนดแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2566 มีขอบเขตของงาน เช่น จัดทำกรอบแนวคิด(Conceptual Framework) ในการประเมินผลตามมาตรฐานสากล 5 ด้าน ได้แก่ ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน, จัดทำขอบเขตการประเมินผล (Evaluation Scope), จัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิเพื่อใช้ในการศึกษาวิเคราะห์, ประเมินผลโครงการ,จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้, จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการและผลสัมฤทธิ์,จัดทำแบบจำลอง (Model ) ที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และนำเสนอข้อมูลการติดตามประเมินผล

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ครม.ได้มีมติอนุมัติโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. กู้เงินโควิด 19 เพิ่มเติม แล้วทั้งสิ้น จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 396,956 ล้านบาท หน่วยงานเบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 278,196 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดต้องเบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

เปลี่ยนรายการสั่งซื้อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ เป็น ‘ฟาวิพิราเวียร์-เรมเดซิเวียร์’

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยา และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็นยา Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) จำนวน 17,065,457 เม็ด และยา Remdesivir(เรมเดซิเวียร์) จำนวน 5,166 Vial (ขวด)

ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CPG COVID-19) กำหนดให้ยา Favipiravir เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 87 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด และสำหรับยา Remdesivir ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้ป่วยที่มีอาการ ไม่รุนแรงแต่มีข้อห้ามในการใช้ยา Favipiravir โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 2 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด

พร้อมทั้ง ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และ ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ จากเดิมระยะเวลาดำเนินการต.ค.-ธ.ค. 2564 เป็น ต.ค.2564-ก.ย. 2565

“กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าวไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยาเพื่อดูแลดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

สำหรับความเป็นมาของโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564

โดยตามรายละเอียดตามโครงการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 528.4 ล้านบาท ประกอบด้วยจัดซื้อ โมลนูพิราเวียร์ จำนวนเงิน 500 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์รายการระบบหมอพร้อม จำนวนเงิน 28.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ต.ค. – ธ.ค. 2564 แต่เวลาต่อมา แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันโควิด19 ได้เป็นแปลงไปตามสถานการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขของได้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวมาข้างต้น

รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช.แก้ปมทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการป.ป.ช.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการ เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและได้ประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 มีสาระสำคัญ เช่น ประเด็นเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรม ในประเด็นนี้ การจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะสิ้นสุดเมื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในท้องที่ และจะมีการเพิ่มข้อความในบันทึกการจับกุมให้ดำเนินการกับผู้ว่าจ้างด้วย

ทั้งนี้กรมทางหลวงจะสรุปผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นรายเดือนให้กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการลงโทษในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการระบุหมายเลขทะเบียนรถ จังหวัดที่รถจดทะเบียน และระบุว่ารถมีการดัดแปลงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดให้ลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

นอกจากนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และสหพันธ์และสมาคมด้านการขนส่งได้มีการลงนามในเอ็มโอยู โครงการรถบรรทุกสีขาว ว่าด้วยความร่วมมือในการกำกับควบคุมยานพาหนะไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าพนักงานทางหลวง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคัดเลือกอปท.ที่มีปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินและขยายผลในพื้นที่อื่นๆเพื่อรวบรวมให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการต่อไป และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายรวบรวมรายชื่อสมาคม สมาพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก เพื่อให้กรมทางหลวงจัดทำเอ็มโอยูเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายนั้น กรมทางหลวงได้ศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายในเบื้องต้นแล้ว โดยจะแก้ไขจากโทษอาญาให้เป็นโทษทางแพ่งที่มีอัตราก้าวหน้า รวมทั้งได้ศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถบรรทุกพิเศษ เช่น กลุ่มรถขนาดใหญ่ โดยจะแก้ไขพระราชกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานพ.ศ. 2497 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตั้งสำนักงานงบประมาณเพิ่มอีก 7 เขต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญ คือการจัดตั้ง สำนักงานงบประมาณเขตเพิ่มจำนวน 7 เขต ได้แก่ สำนักงานงบประมาณเขตที่ 12-18 และปรับชื่อจาก กองจัดทำงบประมาณเขตที่ 1-11 เป็น สำนักงานงบประมาณเขตที่ 1-11 และได้ปรับหน้าที่และอำนาจสำนักงานงบประมาณเขตที่ 1-18 และส่วนราชการภายในสำนักงบประมาณให้สอดคล้องกัน

ประกอบด้วย ปรับหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการภายในสำนักงบประมาณ ให้มีอำนาจและหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานงานกับหน่วยรับงบประมาณในการจัดทำงบประมาณ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่าย การควบคุมงบประมาณ ที่คำนึงถึงความจำเป็น ภารกิจ สถานะเงินนอกงบประมาณ ความสามารถในการหารายได้ การใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพัน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณ ตลอดจนการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่าย และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รวมทั้งวิเคราะห์เงินนอกงบประมาณและการจ่ายเงินของหน่วยรับงบประมาณ และมีบทบาทในการประสานงานกับราชการส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดเตรียมข้อมูลและคำชี้แจงประกอบงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อรัฐสภา และปฏิบัติงานหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังปรับหน้าที่และอำนาจของสำนักงานงบประมาณเขต ให้สามารถดูแลสนับสนุนและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการด้านงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดีขึ้น โดยให้สำนักงานงบประมาณเขตมีหน้าที่และอำนาจในการให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยรับงบประมาณระดับพื้นที่ในการจัดทำงบประมาณ การบริหารงบประมาณรายจ่าย การควบคุมงบประมาณ รวมถึงการจัดทำงบประมาณของแผนพัฒนาในระดับพื้นที่

โดยให้มีการบูรณาการงบประมาณกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยรับงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับพื้นที่และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำงบประมาณในพื้นที่ความรับผิดชอบ และยังได้ปรับบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจ เพื่อให้สอดรับกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของหน่วยงานในสังกัดสำนักงบประมาณ เช่น กองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและแรงงาน จากเดิมเฉพาะด้านแรงงาน เป็นต้น

แจ้งผลงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการการรายงานผลดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีประชาชนลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 6,896,296 คน จำแนกเป็นกรุงเทพมหานคร 455,861 คน และส่วนภูมิภาค 6,440,408 คน

ทั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาของส่วนราชการต่างๆ 17 หน่วยงาน ที่มีผู้เข้าร่วม 963,925 คน รวมกิจกรรมจิตอาสา 10,163 ครั้ง ประกอบด้วย 1) จิตอาสาพัฒนา เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ทำงานและบริเวณโดยรอบ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชน การบริจาคโลหิต หรือสิ่งของ การปลูกต้นไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ การบริจาควัคซีนแก่ประชาชน รวม 9,217 ครั้ง 2) จิตอาสาภัยพิบัติ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ การอบรมภัยพิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 885 ครั้ง

3) จิตอาสาเฉพาะกิจ เช่น การจัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล รวม 43 ครั้ง และ 4)วิทยากรจิตอาสา เช่นการบรรยายความรู้ในเรื่องการขับเคลื่อนงานจิตอาสาภาคประชาชน การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและโครงการจิตอาสาพระราชทานตามพระราชดำริ รวม 18 ครั้ง

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บูรณาการงานจิตอาสาภาครัฐและติดตามโครงการจิตอาสาพระราชทานโดยต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการ เช่น โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร การดำเนินการคลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว การพัฒนาคูคลองในพื้นที่เขตหลักสี่ การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน และศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก

นอกจากนี้ สปน. ได้รายงานว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเพื่อให้เกิดความรู้รัก สามัคคี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน สังคมและประเทศชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

ตั้ง ‘ชูกิจ ลิมปิจำนงค์’ ผู้อำนวยการ สวทช.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง รายละเอียดมีดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายภัทรพล จึงสมเจตไพศาล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายตุลย์ ไตรโสรัส กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
    2. นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 2 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแตงตั้ง นายวิธพล เจาะจิตต์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถึงแก่กรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

4. ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้ง นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป (ตามมติคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)

5. การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แทนตำแหน่งที่ว่างลง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แทนกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลเดิมที่ลาออก จำนวน 2 คน ดังนี้ 1. นายนิยม สองแก้ว 2. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน

6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม
    2. นางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2565 เพิ่มเติม