ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ครม. เลิกลดภาษีดีเซล ใช้กองทุนน้ำมันฯ อุ้มแทน-ออก พ.ร.ฎ. เว้น “กรมภาษี-ปปช.-ปปท.” ไม่อยู่ภายใต้ กม. PDPA

มติ ครม. เลิกลดภาษีดีเซล ใช้กองทุนน้ำมันฯ อุ้มแทน-ออก พ.ร.ฎ. เว้น “กรมภาษี-ปปช.-ปปท.” ไม่อยู่ภายใต้ กม. PDPA

11 กรกฎาคม 2023


เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีกับตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ไม่มีความเห็นการเมือง ชี้เป็นเรื่องของ รธน.
  • วอนสื่ออย่าเสนอข่าวนัดชุมนุมหน้าสภาฯ ช่วงโหวตนายกฯ
  • สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งสะพานข้ามแยกถล่ม-ตรึงดีเซล
  • มติ ครม. เลิกลดภาษีดีเซล-ใช้กองทุนน้ำมันฯ อุ้มแทน
  • ล้มแผนหนุน ปชช. ติดโซลาร์-ขายไฟเข้าระบบ ชี้ปัญหาอื้อ
  • ออก พ.ร.ฎ. เว้น “กรมภาษี-ปปช.-ปปท.” ไม่อยู่ภายใต้ กม. PDPA
  • เคาะรายชื่อบิ๊ก ขรก.-นักธุรกิจ 289 คน เรียน วปอ. รุ่น 66
  • เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พล.อ. ประยุทธ์ ถอนหายใจ ก่อนที่จะเดินขึ้นโพเดียมแถลง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนอยู่ด้านข้าง

    ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าทำไมถอนหายใจแรง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่มีอะไรหรอก วันนี้ฟ้าแจ่มใส สว่างสวยงาม”

    ไม่มีความเห็นการเมือง ชี้เรื่องของ รธน.

    ถามต่อว่าฟ้าแจ่มใสมีเรื่องอะไรดีๆ หรือเปล่า พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มี ไม่ทราบ ก็บอกแล้วไงว่าเรื่องการเมือง เรื่องกระบวนการ เป็นเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมไม่มีความคิดเห็นอะไรในเรื่องนี้”

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้ก็มีการประชุม ครม. ตามปกติ ขอขอบคุณรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุม ทำให้องค์ประชุมครบ ส่วนใหญ่เป็นการทบทวนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องหาวิธีในการบริหารราชการที่เหมาะสมในฐานะรัฐบาลรักษาการ เป็นไปตามกฎหมายด้วย โอเคนะ”

    สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งสะพานข้ามแยกถล่ม-ตรึงดีเซล

    ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงเหตุการณ์สะพานข้ามแยกแถวลาดกระบังถล่ม และเรื่องการตรึงราคาน้ำมันดีเซล พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “เดี๋ยวหน่วยงานเขาชี้แจงเอง” ยอมรับว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนด้วย

    ถามว่ามีความเป็นห่วง กรณี 14 กลุ่มเตรียมชุมนุมหน้าในรัฐสภาวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็อย่าไปเสนอข่าวเขาสิ” จากนั้นก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

    มอบโฆษณาฯ เน้นย้ำผลงานเศรษฐกิจ

    ผู้สื่อข่าวจึงสอบถาม ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าวันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการอะไรหรือไม่

    ดร.รัชดาตอบว่า วันนี้ไม่มี แต่นายกรัฐมนตรีสั่งให้เน้นย้ำเรื่องผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับการประเมินจาก Fitch Rating รวมถึงสถิติตัวเลขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “BOI” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทยกำลังมาด้วยดี ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับที่ลดลง ทั้งหมดเป็นแนวให้รัฐบาลต่อไปได้ดำเนินการต่อ

    โยนรัฐบาลใหม่ ดูแลราคาดีเซล

    ผู้สื่อข่าวถาม ดร.รัชดาถึงราคาน้ำมันดีเซลหลังวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ว่าจะเกินลิตรละ 35 บาทหรือไม่ ดร.รัชดาตอบว่า ในเรื่องของการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีการ 2 รูปแบบ คือ มาตรการภาษีสรรพสามิต และเงินจากกองทุนน้ำมัน

    “แต่ด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก และแนวโน้มราคาน้ำมันจะไม่ขึ้นไปถึง 35 บาทต่อลิตร หากมันเกิดความไม่ปกติ ก็สามารถใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันได้เลย แต่ถ้าถามว่าจะมีการพิจารณาการใช้ภาษีสรรพสามิต คือ ลดภาษีตรงนี้ต่อได้ไหม นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต่อไปต้องพิจารณา… เราอยากดูแลให้เต็มที่ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่เป็นภาระผูกพันกับคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปได้” ดร.รัชดากล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล, ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เลิกลดภาษีดีเซล – ใช้กองทุนน้ำมันฯอุ้มแทน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท และโดยกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2566 ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีจะกลับสู่ภาวะปกตินั้น

    กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือและมีความเห็นร่วมกันว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ จะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันกับรัฐบาลในอนาคต ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจกระทำการอันมีผลต่อการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 169 (1) ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ประกอบกับปัจจุบัน สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นในประเทศลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถดำเนินการได้ และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายได้และข้อกฎหมาย และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังรายงานภาพรวมความสำเร็จของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร เสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนด้วย

    ปลื้ม Fitch Rating จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ศก. ไทย “มีเสถียรภาพ”

    ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบการประกาศอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) โดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลการประเมินดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรการภาครัฐที่ทำได้ดี และยังวางรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจนะระยะต่อไป ดังเห็นจากการที่ Fitch คาดการณ์การเติบโตของ GDP ของไทยที่ ร้อยละ 3.7 ในปี พ.ศ. 2566 และร้อยละ 3.8 ในปีพ.ศ. 2567 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี พ.ศ. 2565 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง เช่น ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการและนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2565 เป็นประมาณ 29 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด

    ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่น โดยถือเป็นจุดแข็งหลัก ที่เป็นเกราะป้องกันภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่ง Fitch คาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP ในปีนี้ (พ.ศ. 2566) และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี พ.ศ. 2567 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการคลี่คลายของสถานการณ์ราคาน้ำมัน นอกจากนี้ คาดว่าทั้งปี 2566 ประเทศไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก คือ 7.3 เดือน

    โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fitch ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ 1. เศรษฐกิจมหภาค ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ภาคเอกชน และ 2. การคลังสาธารณะ ที่มีการลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP)

    สอดคล้องกับ BOI ที่เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน

    • คำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม รวม 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
    • คำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
    • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด กว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
    • ในแง่พื้นที่ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 306 โครงการ เงินลงทุนรวม 171,470 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของการลงทุนทั้งหมด
    • สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรก จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
    • อันดับ 2 สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท
    • อันดับ 3 ญี่ปุ่น 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท

    “นายกรัฐมนตรี ได้พัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจนเห็นเป็นผลสำเร็จอย่างเด่นชัด จากตัวเลขการจัดอันดับ รัฐบาลดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมีวุฒิภาวะ น่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ เห็นได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับตัวเลขการขอลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากโครงสร้างที่นายกรัฐมนตรีได้วางรากฐานไว้ ซึ่งการจัดอันดับในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับการกำหนด และดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไป” ดร.รัชดากล่าว

    ไฟเขียวไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รมต. ลุ่มน้ำโขง-คงคา 16 ก.ค. นี้

    ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 12 (Joint Ministerial Statement of the 12th Mekong-Ganga Cooperation Ministerial Meeting) โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong-Ganga Cooperation หรือ MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งริเริ่มโดยอินเดีย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาคน้ำโขงใน 10 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) การท่องเที่ยว (2) วัฒนธรรม (3) การศึกษา (4) สาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม (5) การเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง (6) คมนาคมและการสื่อสาร (7) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (8) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (9) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (10) การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพ

    สำหรับเอกสารที่จะรับรองในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 12 และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา และเอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (MGC Business Council) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

    ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกและเพิ่มประสิทธิภาพของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ในหลายสาขาความร่วมมือ โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น

      1. หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เช่น ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เช่น เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการภัยแล้งและอุทกภัย ร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

      2. การค้าและการลงทุน เช่น ขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก MGC ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการจัดการประชุมธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา จัดตั้งสภาธุรกิจ MGC เพื่อผลักดันวาระทางเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

      3. ความเชื่อมโยง เช่น สนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย-เมียนมา-ทย (โครงการถนนสามฝ่าย) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก

      4. การศึกษา การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเกษตร เช่น ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนให้บริษัทเอกชนใช้ประโยชน์จากโอกาสในการลงทุนภาคเกษตรกรรม

      5. สาธารณสุข เช่น ส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกัน การตรวจหาเชื้อ และการรับมือกับภัยคุกคามจากโรคระบาดในอนาคตและโรคอุบัติใหม่ พัฒนาความร่วมมือในสาขาการแพทย์แผนดั้งเดิมระหว่างประเทศสมาชิก

      6. การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เช่น ร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะภายในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก

    ดร.รัชดากล่าวว่า เอกสารภาคผนวกอีก 2 ฉบับ ที่จะมีการรับรอง ได้แก่ 1. เอกสารแนวคิดเรื่องกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) ในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูบทบาทของประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักและกลไกคณะทำงานสำหรับสาขาความร่วมมือทั้ง 10 สาขา โดยไทยอาสาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 3 สาขา คือ สาขาการท่องเที่ยว สาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. เอกสารแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (MGC Business Council) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจของประเทศสมาชิกและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สภาธุรกิจ MGC ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 60 คน จากประเทศสมาชิกละ 10 คน โดยจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาต่างๆ ดังนี้ (1) การส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม (2) การส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ (3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนา (4) บทบาทด้านการวิจัยและการให้คำปรึกษา

    รับรองเอกสารประชุม รมต. อาเซียน 15 ฉบับ

    ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งจะมีการลงนามและรับรองร่างเอกสารต่างๆ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ สำหรับเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 15 ฉบับ แบ่งเป็น 1) ร่างเอกสารที่จะร่วมรับรอง (adopt) จำนวน 12 ฉบับ และ 2) ร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 3 ฉบับ สรุปได้ดังนี้

    ฉบับที่ 1 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ภายใต้หัวข้อหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลางสรรค์สร้างความเจริญ” โดยมีหัวข้อสำคัญ ได้แก่

    1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ในภูมิภาค เช่น การสร้างความเข้มแข็งในการฟันฝ่าพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน

    2. ประชาคมอาเซียน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ถึงการสานต่อและเพิ่มพูนความร่วมมือทั้งสามเสาของอาเซียน ดังนี้

      เสาที่ 1 ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน เช่น รักษาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกประเภท ต่อสู้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์

      เสาที่ 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรวมตัวทางเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค สร้างระบบการชำระเงินข้ามแดน สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของ MSMEs

      เสาที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เช่น จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยสุขภาพหนึ่งเดียว สร้างทักษะที่จำเป็นแก่เยาวชนเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต รับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง

    ดร.รัชดากล่าวว่า เอกสารฉบับที่ 2 คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสะท้อนถึงการครบรอบ 20 ปี ของการภาคยานุวัติเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของจีน ซึ่งเป็นเอกสารแสดงถึงความสำคัญของการครบรอบ 20 ปี ที่ทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันปฏิบัติตามพันธกรณีสนธิสัญญา TAC โดยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมความร่วมมือในทุกสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สนธิสัญญา TAC จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค ได้แก่ (1) การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดน (2) การไม่แทรกแซงกิจการภายใน (3) การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี (4) การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

    สำหรับร่างเอกสารฉบับที่ 3-6 ประกอบด้วย ฉบับที่ 3 ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อาโอทีอาโรอา นิวซีแลนด์ว่าด้วย ความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ฉบับที่ 4 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัสเซียในวาระครบรอบ 5 ปี ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-รัสเซีย ฉบับที่ 5 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย เพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้า และความรุ่งเรืองร่วมกัน (ค.ศ. 2021-2025) ฉบับที่ 6 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2021-2025 ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ทั้ง 4 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเชื่อมโยงกับความร่วมมือสามเสาของอาเซียน คือ 1. ด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น เสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ ส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล 2. ด้านเศรษฐกิจ เช่น เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวางกฎเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น จัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น

    ส่วนร่างเอกสารฉบับที่ 7-12 มีสาระสำคัญ ดังนี้

    ฉบับที่ 7 ร่างแนวทางการเร่งการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่มีประสิทธิภาพและมีเนื้อหาที่ครอบคลุมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น กำหนดระยะเวลาการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จภายใน 3 ปี จัดประชุมเป็นประจำ 4 ครั้งต่อปี เป็นต้น

    ฉบับที่ 8 ร่างแผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) เพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2024-2028 โดยดำเนินการผ่านกลไกที่มีอยู่ของอาเซียน ซึ่งจะต่อยอดการดำเนินความร่วมมือในสาขาต่างๆ เช่น ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข เป็นต้น

    ฉบับที่ 9 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของการประชุม ARF เป็นร่างเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินการตามมาตรการและข้อริเริ่มที่ได้ตกลงกันไว้ โดยพิจารณาถึงบทบาท ความสำเร็จ และความท้ายทายของการประชุม ARF ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

    ฉบับที่ 10 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ครั้งที่ 30 ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในรูปแบบใหม่ เช่น การป้องกันและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล

    ฉบับที่ 11 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการลดความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ ผ่านความร่วมมือและมาตรการที่ทำได้จริง เช่น ส่งเสริมมาตรการลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ พัฒนาช่องทางการสื่อสาร

    ฉบับที่ 12 ร่างแผนงานการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ. 2023-2025 โดยมีกรอบดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1) ยาเสพติด 2) สารเคมี ชีวภาพ วัตถุกัมมันตรังสีและนิวเคลียร์ 3) การป้องกันและการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และ 4) การค้ามนุษย์

    ดร.รัชดากล่าวต่อว่า ร่างเอกสารที่จะลงนามอีก 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 13-15 เป็นร่างหนังสือที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนาม เพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของสหรัฐเม็กชิโก สาธารณรัฐปานามา และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามทั้ง 15 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งไม่เป็นการกระทำที่มีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เนื่องจากเป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือและต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

    ล้มแผนหนุน ปชช. ติดโซลาร์-ขายไฟเข้าระบบ ชี้ปัญหาอื้อ

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบ เพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้คงมาตรการเดิมคือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าว ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

    ผลการศึกษาถึงประเด็นข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป สรุปได้ดังนี้

      1. ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขายโดยการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หากจะคำนวณภาษีของการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องขอยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของอธิบดีกรมสรรพากร
      2. ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง

      ทั้งนี้ หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม และยังเพิ่มภาระแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง Solar Rooftop ที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์เป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้

      3. ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า Ft และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

    “ผลการศึกษาในประเด็นให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบ เพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไปนั้น มีข้อขัดข้องในด้านระเบียบข้อกฎหมาย ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม ได้แก่ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า วิธีการนำปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า และต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม และหากในอนาคตมีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติม” นางสาวทิพานันกล่าว

    ผ่าน กม. 2 ฉบับ ให้สิทธิ ปชช. อยู่อาศัย – ทำกินในเขตอุทยานฯ

    นางสาวทิพานันกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากาหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

    ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. ระยะเวลาโครงการ 20 ปีนับแต่ พ.ร.ฎ. ใช้บังคับ สำหรับพื้นที่โครงการ ใน 7 เขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 2. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี 3. อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จ.กาญจนบุรี 4. อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จ.อุตรดิตถ์ 5. อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จ.เพชรบูรณ์ 6. อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และ 7. อุทยานแห่งชาติลานสาง จ.ตาก

    สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. …. ระยะเวลาโครงการ 20 ปีนับแต่ พ.ร.ฎ. ใช้บังคับ สำหรับพื้นที่โครงการ ใน 7 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ได้แก่ 1. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล จ.พิษณุโลก 2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จ.เชียงราย 4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จ.อุทัยธานี 5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ 6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และ 7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จ.อุตรดิตถ์

    นางสาวทิพานันกล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในสิทธิอาศัยและทำกินในเขตดังกล่าว ได้แก่ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยหรือได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตดังกล่าวภายใต้กรอบเวลาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 (อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ/หรือก่อนวันที่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ใช้บังคับ) หรือตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (เป็นผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ไร้ที่ดินทำกินที่อยู่ในพื้นที่ก่อนวันที่ 17 มิ.ย. 57) และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่โครงการหรือได้ครอบครองที่ดินรวมทั้งทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่องและไม่มีที่ดินทำกินอื่น

    การอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่โครงการ เช่น ครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง, ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน, กำหนดพื้นที่ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกิน 50 ไร่กรณีอยู่กันเป็นครัวเรือนตั้งแต่ 3 ครอบครัวขึ้นไป), ทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อเนื่อง ไม่ละทิ้งติดต่อกันเกิน 1 ปีโดยไม่มีเหตุอันสมควร, ไม่อนุญาตให้ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอนการครอบครองให้บุคคลอื่นรวมถึงไม่บุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม โดยผู้เข้าร่วมโครงการอยู่อาศัยจะมีหน้าที่และส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่โครงการ

    “พล.อ. ประยุทธ์ ดำเนินการมาโดยตลอดในส่วนของแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ร่าง พ.ร.ฎ 2 ฉบับนี้เป็นการสร้างสมดุลในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย และทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายและยังให้การอนุรักษ์ธรรมชาติมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป” นางสาวทิพานันกล่าว

    ย้ำนายกฯไม่ละเลยแก้ PM 2.5 – สั่งการทุกหน่วยกว่า 30 ครั้ง

    นางสาวทิพานัน ชี้แจงกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมกันใช้อำนาจ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใด เพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยกนั้น ขอชี้แจงการดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้

      1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำแผนการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 เป็นแผนกำหนดทิศทางการดำเนินการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกัน อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งการกำหนดมาตรฐานเป้าหมายจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและภาคการปฏิบัติในการจัดการสาธารณภัยให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยอย่างบูรณาการ และได้กำหนดบทบาทหน้าที่และ แนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 27 หน่วยงาน ในการดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีหน่วยงานหลัก ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นว่า ปัญหาฝุ่นละอองสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นปัญหา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นในภูมิภาค อีกด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และต่อมาได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแสดล้อมแห่งชาติ เป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนวาระดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
      2. ด้านการจัดการกับเหตุสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 ซึ่งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยแรกที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเผชิญเหตุกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และหากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นนั้นเกินขีดความสามารถของพื้นที่ องค์กรปฏิบัติในระดับที่เหนือขึ้นไปจะรับผิดชอบ ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ โดยสามารถแบ่งระดับการจัดการ สาธารณภัยเป็น 4 ระดับ ดังนี้ คือ

        ระดับที่ 1 สาธารณภัยขนาดเล็ก ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ ผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น ควบคุมและสั่งการ
        ระดับที่ 2 สาธารณภัยขนาดกลาง ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ ผู้อำนวยการจังหวัด ควบคุม สั่งการและบัญชาการ
        ระดับที่ 3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ควบคุม สั่งการและบัญชาการ และ
        ระดับที่ 4 สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ ซึ่งภัยจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นสาธารณภัยระดับที่ และอยู่ในอำนาจควบคุมสั่งการและบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด

    รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ รวมทั้งได้ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกลไก หลักในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามแนวทางข้างต้น ภายใต้มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมาอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2566 ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 แผนเฉพาะ กิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “1 สื่อสารเชิงรุก 5 ยกระดับปฏิบัติการ 1 สร้างการมีส่วนร่วม” และ ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยในการยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ดังนี้

      (1) เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานใน พื้นที่ต่อเนื่องให้พิจารณายกระดับปฏิบัติการตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่นละอองตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามแนวทาง ดังนี้ ระดับที่ 1 PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามอำนาจ หน้าที่ที่มีอยู่ ระดับที่ 2 PM2.5 ระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงาน ดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ เหตุการณ์ ส่วนราชการอื่นๆ สนับสนุนการปฏิบัติ ระดับที่ 3 PM2.5 ระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

      เมื่อดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกำเนิดหรือหยุดกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ระดับที่ 4 PM2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดำเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ ไม่มีแนวโน้มลดลงให้มีการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษเพื่อพิจารณา กลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนําเรียนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณา สั่งการ

      (2) เน้นย้ำการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งกำเนิดหรือหยุดกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมทั้งกำกับและติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2566 โดยเคร่งครัด
      (3) ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม ในการสอดส่องดูแลหมู่บ้านหรือชุมชน โดยงดการเผาและงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการ และผลการปฏิบัติของภาครัฐ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

    “ในการดำเนินการเพื่อการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการสั่งการไปแล้ว 30 กว่าครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นวาระปัญหาร่วมกันของโลก นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาระดับชาติ รวมถึงเป็นประเด็นมลพิษข้ามพรมแดน ที่ต้องอาศัยกลไกและมาตรการการจัดการมลพิษทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยเพิกเฉย นิ่งนอนใจ หรือละเลยในการแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งต่อไปจะเร่งกำชับให้มีการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพทั้งในมาตรการป้องกันมลพิษ มาตรการจัดการและควบคุมมลพิษ และมาตรการแก้ไขเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ออก พ.ร.ฎ. เว้น “กรมภาษี-ปปช.-ปปท.” ไม่อยู่ภายใต้ กม. PDPA

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น ไม่ให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 บางส่วนมาใช้บังคับ พ.ศ. … ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

    ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคลฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มงวด มาใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งรัฐและเอกชน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติในการร้องขอข้อมูลใช้มีความชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการภารกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดกำหนดหลักการสำคัญ ไว้ดังนี้ 1) การร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องเป็นไป เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามวัตถุประสงค์และขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจหน่วยงานไว้ 2) การเปิดเผยข้อมูลไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐที่ร้องขอข้อมูล 3) รับรองสิทธิแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ควบคุมข้อมูลในการ้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการขอให้ตีความหรือวินิจฉัยเรื่องต่างๆ

    ในกรณีที่หน่วยงานดังต่อไปนี้ ร้องขอข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม หมวด 2 และ 3 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชิต (ป.ป.ช.), สำนักงาน ป.ป.ช., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือภารกิจตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

    กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือภารกิจตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเก็บ ภาษีอากร การดำเนินการใดใดอันเกี่ยวกับการบังคับแก่บรรดาค่าธรรมเนียมทางภาษีอากร ค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าอากรใดๆ รวมทั้งดำเนินการตามพันธกรณีหรือความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว

    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือภารกิจตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เกี่ยวกับการเก็บภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือภารกิจตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสถานปนาสมณศักดิ์ การแต่งตั้ง หรือการถอดถอนข้าราชการ บุคคล หรือคณะบุคคล ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือที่ต้องเสนอ ครม. และการขอพระราชทานหรือเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฎีกาซึ่งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย หรือการขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ยังได้กำหนดสาระสำคัญอื่นๆ เช่น สิทธิของเจ้าของข้อมูล ที่เจ้าของมีสิทธิรู้ว่าหน่วยงานของรัฐเก็บข้อมูลใดเกี่ยวกับตนไว้ การตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหากรณีเกิดข้อพิพาท การรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล

    ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลบางลักษณะ บางกิจการ การเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ควบคุมข้อมูลในการดำเนินการเกี่ยวกับการเนรเทศ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมืออื่นทางศาล หรือกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ

    รับทราบปัญหาทรัพยากรทางทะเล-ชายฝั่ง 24 จว.มีแนวโน้มดีขึ้น

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พื้นที่ 24 จังหวัด ในปี 2565 ที่ผ่านไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงาน

    สภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น พบว่า แนวปะการังทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 149,182 ไร่ มีแนวโน้มดีขึ้นเทียบกับปี 63-64 โดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ที่ร้อยละ 53 สมบูรณ์ปานกลางร้อยละ 22 และเสียหาย ร้อยละ 25 ส่วนปะการังฟอกขาวพบบางพื้นที่มีความรุนแรงต่ำ ส่วนของหญ้าทะเลมีเนื้อที่รวม 103,580 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 64 โดยส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์ปานกลางร้อยละ 36 สมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 35 และสมบูรณ์ดี ร้อยละ 25

    ในส่วนสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ และปลากระดูกอ่อน โดยรวมสภาพดีขึ้น โดยเต่าทะเลพบการวางไข่ 604 รัง พะยูนพบมีจำนวน 273 ตัว แต่ยังมีการเกยตื้นตายทุกปี ส่วนโลมาและวาฬมี 2,310 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโลมาหัวบาตรหลังเรียบ รองลงมาเป็นโลมาอิรวดี และโลมาหลังโหนก ส่วนกลุ่มปลากระดูกอ่อนพบปลาฉลามวาฬ 40 ตัว และกระเบนแมนต้า 10 ตัว

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ทางด้านสภาพทรัพยากรป่านั้น พบว่าป่าชายเลนมีพื้นที่คงสภาพ 1.73 ล้านไร่ มากที่สุดในชายฝั่งอันดามันตอนล่าง รองลงมาอันดามันตอนบน และภาคตะวันออก โดยป่าชายเลนบริเวณฝั่งอันดามันสามารถดูซับคาร์บอนฯ เฉลี่ย 52.76 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อไร่ ทางด้านป่าชายหาดมีทั้งสิ้น 47,149.30 ไร่ กระจายใน 18 จังหวัด ซึ่งในภาพรวมป่าชายหาดในไทยถูกทำลายจนเหลือผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากไม่ได้รับการอนุรักษ์และนำไปใช้ในเชิงท่องเที่ยว ในส่วนของป่าพรุ มีพื้นที่ 37,139.56 ไร่ กระจายอยู่ใน 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล

    สำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมลงเล็กน้อย มีสาเหตุจากน้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมและเกิดน้ำมันรั่ว โดยพบว่าน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีมากที่ร้อยละ 7 เกณฑ์ดี ร้อยละ 57 พอใช้ร้อยละ 30 และเสื่อมโทรมร้อยละ 6 ขณะที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีและการสะพรั่งของสาหร่าย เกิดขึ้น 43 ครั้ง มีความถี่มากขึ้น และเกิดในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น สูงสุดที่จ.สมุทรสาคร จากเดิมจะพบในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ที่ จ.ชลบุรีมากที่สุด

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนเหตุน้ำมันรั่วนั้นเกิดขึ้นทั้งหมด 22 ครั้ง โดยพื้นที่เสี่ยงสูงคือ ระยองและชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่มีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ขณะทะเล สามารถจัดเก็บขยะตกค้างจากระบบนิเวศชายฝั่งได้ 506,681.14 กิโลกรัม (507ตัน) ส่วนใหญ่เป็นขวดเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก เศษโฟม ซึ่งจากการศึกษาสัตว์เกยตื้น 659 ตัว พบว่าเกิดผลกระทบจากขยะทะเล 168 ตัว จากทั้งการกินขยะทะเลและการถูกขยะพันรัด

    ส่วนสถานการณ์การกัดเซาะของชายฝั่ง จากทั้งหมดที่ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล 3,151.13 กม. พบว่าเกิดปัญหาการกัดเซาะระยะทางรวม 823.06 กิโลเมตร ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้ว 753.32 กิโลเมตร โดยการซ่อม เสริม ทำเขื่อนหินกั้นคลื่น ติดตั้งรั้วดักทราย เป็นต้น เหลือพื้นที่ดำเนินการแก้ไข 69.74 กิโลเมตร

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล ในภาพรวมมีแนวโน้มในทิศทางดีขึ้น แต่สถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ให้การป้องกันและแก้ไข คือ ปัญหาการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ปัญหาน้ำมันรั่ว และก้อนน้ำมันดินที่ยังพบบ่อย ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และขยะทะเล

    ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะ มาตรการและแผนงานจัดการกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยในระยะสั้น 1-2 ปี มีทั้งการดำเนินการด้านมลพิษทางทะเลและขยะทะเล การคุ้มครองทะเลโดยวางแผนเชิงพื้นที่ การดูแลการกัดเซาะชายฝั่ง และบริการทะเลด้วยความยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

    ส่วนระยะยาว 3-5 ปีนั้น ดำเนินการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้และการติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน การฟื้นฟูทรัพยากร การป้องกัน เฝ้าระวังและส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ปรับปรุงกฎระเบียบ ตลอดจนการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ

    แจงผลงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน Q1/2566

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน ประจำเดือน ม.ค.-มี.ค. 2566 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2566 มีประชาชนทั่วประเทศลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 7,025,671 คน จำแนกเป็นในกรุงเทพฯ 463,050 คน และส่วนภูมิภาค 6,562,621 คน และระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2566 มีหน่วยงานที่ร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานทั้งสิ้น 16 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงยุติธรรม,กระทรวงวัฒนธรรม,กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ทั้ง 16 หน่วยงานได้ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานรวมทั้งสิ้น รวมกิจกรรม 18,265 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 1,028,147 คน ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่

      1) จิตอาสาพัฒนา 17,299 ครั้ง อาทิ การบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม, การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน, การบริจาคโลหิต, มอบทุนการศึกษาแก่ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง การปลูกต้นไม้และพัฒนาแหล่งน้ำ จัดอบรมหลักสูตรพัฒนาต่างๆ เป็นต้น
      2) จิตอาสาภัยพิบัติ 581 ครั้ง เช่น การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย วาตภัยและภัยหนาว โดยการมอบถุงยังชีพ บริจาคสิ่งของ เครื่องกันหนาวและการทำความสะอาดพื้นที่ การทำแนวกันไฟป่า ฝายกั้นน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย การอบรมป้องกันและระงับอัคคีภัยและภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
      3) จิตอาสาเฉพาะกิจ 336 ครั้ง เช่น การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเข้าร่วมรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ การจัดเตรียมสถานที่เข้าร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล และ 4) วิทยากรจิตอาสา 904 ของหน่วยงานภาครัฐ 49 ครั้ง ได้บรรยายความรู้เกี่ยวกับ บทบาท หน้าที่ และกิจกรรมจิตอาสา สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย และจิตอาสากับการเปลี่ยนแปลงประเทศ

    รีดเงินกองทุนหมุนเวียน 16 แห่ง ส่งคลังกว่า 2.2 หมื่นล้าน

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการเรียกให้ทุนหมุนเวียนนำทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ปีบัญชี 2565 และตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    กระทรวงการคลังแจ้งว่า มีทุนหมุนเวียนทั้งหมด 16 กองทุน นำส่งทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน เป็นรายได้แผ่นดินรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,238.57 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน

      ส่วนที่ 1 นำส่งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 จำนวน 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 14,377.57 ล้านบาท
      ส่วนที่ 2 นำส่งคลังภายในวันที่ 28 เม.ย. 2566 ทั้งหมด 15 กองทุน จำนวนเงิน 8,460.99 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 107.38 ล้านบาท 2) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย 15.71 ล้านบาท 3) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตรูปถ่ายทางอากาศ 4.24 ล้านบาท 4) เงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 17.33 ล้านบาท 5) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 32.75 ล้านบาท 6) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ 197.85 ล้านบาท 7) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตวัคซีนจำหน่าย 595.21 ล้านบาท

      8) เงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ 2,098.74 ล้านบาท 9) กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ 29.90 ล้านบาท 10) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการบริหารท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ-กองทัพเรือ 174.15 ล้านบาท 11) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 4,683.73 ล้านบาท 12) กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม 200 ล้านบาท 13) กองทุนสิ่งแวดล้อม 300 ล้านบาท 14) กองทุนคุ้มครองพันธ์พืช 1 ล้านบาท และ 15) กองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์ 3 ล้านบาท

    เคาะรายชื่อบิ๊ก ขรก.-นักธุรกิจ 289 คน เรียน วปอ. รุ่น 66

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติรายชื่อผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 66 ประจำปีการศึกษา 2566-67 จำนวน 289 คน ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ

    ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการศึกษา วปอ. รุ่น 66 นี้ ได้รับการคัดเลือกจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยจะมีช่วงเวลาการศึกษาตั้งแต่ ต.ค. 2566- ก.ย. 2567 โดยหากภายหลังมีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกสละสิทธิ์ หรือ ตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติ ให้สภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรตัดรายชื่อออกจากการอนุมัติ รวมทั้งพิจารณาผู้เข้ารับการศึกษาทดแทนได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องขออนุมัติใหม่ต่อไป

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การอนุมัตินี้เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ ไม่ได้เป็นการเสนอให้ ครม. กระทำการอันมีผลอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) ครม. จึงสามารถให้การอนุมัติในเรื่องนี้ได้

    ชง กกต. ตั้งซี 10 “พาณิชย์-วัฒนธรรม-เกษตร-กฤษฎีกา”

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหรือเห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอแต่งตั้ง นายณรงค์ งามสมมิตร ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับสูง] กองกฎหมาย กรมการค้าภายใน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติคราบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์และมีคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง ดังนี้

      1. นายจิตรพรต พัฒนสิน ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับสูง] กองกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำรงตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

      2. นางสาวนริศรา แดงไผ่ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับสูง] กองกฎหมายกระบวนการยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำรงตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

      3. นางสาวจีรภัทร์ การประเสริฐกิจ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับสูง] กองกฎหมายการเงินการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำรงตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

      4. นายชนิสร์ คล้ายสังข์ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับสูง] กองกฎหมายสวัสดิการสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำรงตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

    และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสาวสถาพร บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนัก 7 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2566

      2. นายไสว โชคเจริญเลิศ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนัก 2 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566

    และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวัฒนธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. นายสำรวย นักการเรียน รองอธิบดีกรมการศาสนา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      3. นางรักชนก โคจรานนท์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอการแต่งตั้ง นายสัมพันธ์ เตชะเจริญกุล เป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุนทร ปานแสงทอง)] โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เพิ่มเติม