
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
‘สุพัฒนพงษ์’ เล็งขยายเพดานเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันฯ รับมือวิกฤตราคาพลังงาน ด้านกระทรวงคลังปรับลดภาษีดีเซล-น้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้าเหลือ 0 แก้ปัญหาราคา LNG ในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น จากปกติ 8-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เพื่อเป็น 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงสถานการณ์ของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งในขณะนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนมาก เพียงสัปดาห์เดียวราคาน้ำมันปรับขึ้นมาเกือบ 50% ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในที่ประชุม ครม. ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย และประชาชนทุกคนก็ต้องช่วยด้วย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน
“วันนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูวงขึ้น เกินกรอบราคาเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานเคยประเมินไว้ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลไปแล้ว สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ตามหลักการแล้วจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตัวหลัก เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาแล้ว กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาอยู่ว่าหากจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจะสามารถรักษาระดับราคาน้ำมันได้นานแค่ไหน หากแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังสูงแบบนี้ กองทุนน้ำมันฯอาจจะเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันได้ไม่นาน ก็จะต้องพิจารณาขยายเพดานวงเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ หรือ พิจารณาแนวทางอื่น”
ถามว่าขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้ยืมเงินได้ยัง? นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า “ไม่มีปัญหา ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับเงินกู้ คาดว่าจะได้รับเงินภายในเดือนเมษายน 2565 ส่วนการบริหารสภาพคล่องของกองทุนในตอนนี้ เรามีเครดิตเทอมในส่วนที่กองทุนน้ำมันกันเงินไว้จ่ายให้กับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตาม มาตรา 7 หรือที่เรียกว่าลูกหนี้การค้า ซึ่งเราไม่ได้ชำระในทันที ต้องตรวจสอบยอดขายน้ำมันก่อน เงินก้อนนี้สามารถนำมาใช้ในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯก่อนได้”
ถามว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะลุกรอบเป้าหมายของกระทรวงพลังงานไปแล้ว จะมีการพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า คงต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานยังมีอีกหลายมาตรการ ขอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันใกล้ๆ อีกที แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ทันที คือ ประหยัดการใช้พลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ราคาแก๊สหุงต้ม หรือ ‘LPG’ ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานก็ต้องกลับไปศึกษาว่าเมื่อถึงวันที่ 31 มาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กระทรวงพลังงานจะตรึงราคาแก๊สหุงต้มไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคา LPG ในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร และก็ต้องไปดูราคาแก๊สหุงต้มของประเทศเพื่อนบ้านด้วย หากราคาแตกต่างกันมาก ก็อาจจะมีการลักลอบนำแก๊สหุงต้มของประเทศไทยส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้ก็ต้องดูด้วย และยังต้องดูไปถึงเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งราคาพลังงานก็เป็นต้นทุนของประเทศ
“ส่วนราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตอนนี้พุ่งขึ้นไปถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากราคาปกติอยู่ที่ 8-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก ตอนนี้เราต้องพยายามใช้พลังงานในประเทศให้ได้มากที่สุด และในวันนี้ก็ได้ขออนุญาตนายกรัฐมนตรีจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันพรุ่งนี้ เพื่อพิจารณาขยายขอบเขตของการใช้พลังงานประเภทอื่นๆให้มากขึ้น แต่ตอนนี้เรายังนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญสุดคือเราต้องช่วยกันประหยัดการใช้น้ำมัน และพยายามเพิ่มสำรองในประเทศ เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องดูกันทุกมุม เพื่อรักษาเสถียรภาพการผลิต” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานเป็นทอดๆ จากยุโรปส่งผลกระทบมาถึงเอเชีย ส่วน OPEC ก็ยืนยันที่จะคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทุกครั้งที่มีข่าวว่ารัสเซียจะตัดสายส่งพลังงานไปยุโรป ซึ่งยุโรปใช้พลังงานจากรัสเซียคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ทุกครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงานช่วยรณรงค์เรื่องการประหยัดการใช้พลังงาน 10% เป็นมาตรการขอความร่วมมือ ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐตั้งเป้าหมายให้ลดการใช้พลังงานให้ได้ 20%

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์ สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า และบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์ สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยเสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
“มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง และจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตเนื่องจากในสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีรายได้ภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้” นายลวรณ กล่าว