นายกฯ มอบ “วิษณุ” ตั้งคณะ กก.สอบทั้งคนให้-รับส่วย “บ่อน-แรงงานเถื่อน” – สั่ง สธ.ทำแผนจัดสรรวัคซีน-ยันได้ทุกคน เริ่มฉีด ก.พ.นี้ – มติ ครม.อนุมัติโครงการ “เราชนะ” แจก 3,500 บาท สู้โควิดฯ 2 เดือน- เลือกตั้ง “เทศบาล” กกต. คาดปลาย มี.ค.นี้
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยังคงประชุนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
รับทราบ มท.เสนอ “เลือกตั้งเทศบาล”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการเสนอการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นของเทศบาลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขึ้นมา ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ และจะให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการเลือกตั้งให้ทราบต่อไป
ชี้เยียวยาโควิดฯ รอบใหม่ จ่าย 2 เดือนก่อน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ ระลอกใหม่ ว่า ตนได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งตนได้ตัดสินใจร่วมกับ ครม. ดังนี้
- ให้ลดค่าไฟฟ้าลง 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้ เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยหากใช้ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่เงื่อนไขกำหนดซึ่งอันนี้ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานจะชี้แจงต่อไปรายละเอียดต่อไป สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กทั้งนี้ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
- มาตรการลดค่าน้ำประปา โดยให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564
- เรื่องค่าอินเทอร์เน็ตโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และผู้ประกอบการ โดยได้สั่งการให้มีการไปหารือร่วมกันก็มีมติว่าเราจะเพิ่มความเร็วและความแรงของเน็ตบ้าน และมือถือ ให้ผู้ใช้บริการได้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเวิร์กฟรอมโฮม รวมทั้งการให้ประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- โครงการคนละครึ่ง จากการติดตามประเมินผลในการใช้จ่ายยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือประชาชนและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี ก็จะให้มีการเปิดลงทะเบียนใหม่ประมาณอีกประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ ประมาณปลายเดือนมกราคมนี้
- นโยบายให้เยียวยารายได้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มครอบคลุมดังเช่นที่ผ่านมานะครับ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร ในเบื้องต้นให้ไปพิจารณาวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน
“ตอนนี้ก็ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและนำเสนอต่อ ครม. ในสัปดาห์หน้า โดยคำนึงถึงการแพร่ระบาดของโควิดฯ ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตวันนี้จึงขอให้แค่ 2 เดือนก่อน”
- ในเรื่องของการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปปัจจุบันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารของรัฐยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนกว่าล้าน ซึ่งตนได้ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือในเรื่องของหนี้และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเร็ว เช่น สินเชื่อของธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-0.35 ต่อเดือน
- มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมและจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันโควิดฯ ทั้งการจัดหาหน้ากากให้เพียงพอ ทำหน้ากากผ้า เพื่อให้ครอบคลุม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ในเสี่ยงต่อการติดเชื้อจำนวนมากและในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อน้อย
- การขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่านมาที่สั่งการและอนุมัติไปแล้ว คือ โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือ 01% วันนี้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เร่งเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อ ครม. ไป
“วันนี้ขอขอบคุณหลายคนก็เชื่อฟัง เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาลให้ความร่วมมือ หลายคนก็หยุดอยู่บ้าน แต่เพราะปัญหาเรื่องของการดำรงชีวิตซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือดังที่กล่าวไป อาจจะไม่มากนักแต่อย่างน้อยก็บรรเทาความเดือดร้อนให้ได้ระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”
สั่ง “แรงงาน” หนุนจ้าง นศ.จบใหม่ – เร่ง ก.พ.รับ ขรก.แทนคนเกษียณ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม ได้มีมาตรการลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างผู้ประกันตน เยียวยากรณีว่างงาน ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน
ในส่วนมาตรการส่งเสริมการจ้างงานและระดับการจ้างงานมอบหมายกระทรวงแรงงานไปแล้ว ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการชี้แจงประชาสัมพันธ์ทางช่องทางสื่อสารต่างๆ ไปในช่วงหลายวันที่ผ่านมาก็ตามที่รัฐบาลได้เร่งรัดลงไปให้ปฏิบัติตามสิ่งที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วนให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ และจะต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงพิจารณาแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมด้วย รวมถึงแรงงานที่บ้าน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปก็ต้องค่อยๆ ดำเนินการไป
สำหรับการสอบข้าราชการประจำปีตนได้เร่งรัดให้ สำนักงาน ก.พ. ให้มีการจัดสอบให้เร็วขึ้น เพื่อทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว และเพื่อให้ผู้จบจากมหาลัยที่ยังไม่มีงานทำจะได้มีโอกาสมาสอบคัดเลือกตรงนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนที่ได้ให้เตรียมการไว้ ส่วนหนึ่งคือสอบทั่วไปเช่นเดียวกับที่เคยสอบมาก่อนจำนวนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะมีสัดส่วนในการที่จะสอบเฉพาะคุณสมบัติตามวิชาชีพที่สามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต่อไปในอนาคต ก็ขอรอการประกาศของทาง ก.พ. ก่อน ตอนนี้ก็ดูหนังสือกันไปก่อน
มอบ “วิษณุ” สอบทั้งคนให้-รับส่วย “บ่อน-แรงงานเถื่อน”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่าในเรื่องของความร่วมมือในการแก้ปัญหาหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลหรือประเทศของเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตนได้มีการตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในเรื่องของบ่อน การค้าแรงงานผิดกฎหมาย และเรื่องอื่นๆ ด้วย จำนวน 2 ชุด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
“ผมต้องการข้อมูลจากท่าน จากชุมชน จากประชาชนเพื่อจะเข้าสู่ระบบการสอบสวนสืบสวนต่อให้ได้ข้อเท็จจริง ท่านแจ้งมาได้นะครับ วันนี้ผมเปิดช่องสื่อสารโดยตรงมาถึงนายกรัฐมนตรีได้ผ่านของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1. สายด่วน 1111 2. ตู้ ปณ. 1111 ปณ. ทำเนียบรัฐบาล 3. เว็บไซต์ www.1111.go.th 4. แอปพลิเคชัน PSC 1111 (Mobile App PSC 1111) 5. จุดบริการประชาชน 1111 ทำเนียบรัฐบาล”
โดยเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วก็จะคุ้มครองรักษาความลับให้แก่ผู้ร้องเรียนด้วย และถ้าแจ้งไปแล้วก็ยังไม่ได้ผลก็สามารถแจ้งมายังตนโดยตรงได้เลย ตนจะติดตามให้ พร้อมกล่าวย้ำว่า เรื่องดังกล่าวต้องติดตามตรวจสอบต่อไปทั้งคนให้ และคนรับคนเรียกรับผลประโยชน์ต้องกำจัดให้ได้
สั่ง สธ.ทำแผนจัดสรรวัคซีน-ยันได้ทุกคน เริ่มฉีด ก.พ.นี้
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันถึงการจัดหาและกระจายวัคซีนว่า คนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดทำแผนในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง และเพียงพอ เนื่องจากวัคซีนจะทยอยเข้ามา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็ต้องมีการพิจารณาฉีดบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุดก่อน ทั้งนี้ ก็ยอมรับเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยง ซึ่งก็ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขทำแผนงานในการกระจายและฉีดวัคซีนมา
“คิดว่าทุกอย่างมันมีความคืบหน้าเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือต้องขอความร่วมมือในการที่รัฐบาลจำเป็นต้องจัดระเบียบตรงนี้ก็จะให้ทางสาธารณสุขและทำแผนงานออกมาให้ชัดเจนเกิดขึ้น เมื่อรับมา เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วทำอะไรต่อ จะขนย้ายไปยังไง จะไปฉีดไหน เพื่อสร้างความรับรู้ให้ได้ว่าถึงประชาชนทั่วประเทศแน่นอน ซึ่งวันนี้สถานการณ์ต่างๆ โควิดฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความร่วมมือ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อยากให้ใช้หน้ากากอนามัย 100% วันนี้ก็เพิ่มขึ้นถึง 90% แล้ว ขอทุกคนอย่าหลีกเลี่ยง มีอาการรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรไปเสพยา ไปเป็นกลุ่มในช่วงนี้ ผมก็เป็นห่วงอยู่”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ถึงเรื่อง วัคซีนว่า “ผมได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งรัดกระบวนการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ให้เร็ว วัคซีนมาถึงแล้ว ฉีดให้ประชาชนได้ทันที โดยเฉพาะวัคซีนของแอสทราเซเนคา ที่ประเทศไทยได้รับสิทธิให้เป็นผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่ใช้กันอยู่ คือ เรียงตามลำดับความเสี่ยง กลุ่มบุคลการทางการแพทย์ ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว คนที่พื้นที่ที่มีการระบาดสูง จะได้รับก่อน เรื่องนี้ เตรียมไว้หมดแล้ว การระบาดระลอกใหม่ แม้จะไม่มีการปิดสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง ไม่มีการจำกัดการเดินทาง การออกนอกเคหสถาน เป็นวงกว้าง เหมือนการระบาดเมื่อต้นปีก่อน …”
“…รัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์การระบาด เพื่อกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในเรื่อง การช่วยเหลือเงินเยียวยาค่าครองชีพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดรอบนี้ ผมคาดว่า ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ เราจะมีความชัดเจน และจะมีมาตรการออกมาได้ …”
“…อีกเรื่องที่ผมจะต้องขอย้ำ คือเรื่องที่รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจ ในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โคโรน่า เราใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ยังเหลือ ประมาณ 4 .9 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ เรายังมี งบกลาง ของงบประมาณ ปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า
ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า เรารับมือโควิดได้ รอบแรกนั้น เราไม่มีประสบการณ์ความรู้ แต่เราก็รับมือได้จนเป็นต้นแบบของโลกมาแล้ว ครั้งนี้ด้วยประสบการณ์บวกกับความเชี่ยวชาญของทีมสาธารณสุข และที่สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เราจะผ่านมันไปได้อีกครั้งเหมือนที่เราร่วมมือกันทำสำเร็จมาแล้ว…”
มติ ครม. มีดังนี้
อนุมัติโครงการ “เราชนะ” แจก 3,500 บาท สู้โควิดฯ 2 เดือน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมในหลายๆ มาตรการที่จะทำยืดระยะเวลาของเก่าที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมถึงระยะเวลาที่เราคาดว่าน่าจะควบคุมการระบาดได้คือประมาณสิ้นเดือนมีนาคม 2564 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคประชาชน กับทำคนเดียวไม่ได้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า จาก ครม. ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อเยียวยา ในส่วนของกระทรวงการคลังแยกเป็น 4 เรื่อง และจะมีการเสนอรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ดังนี้
- การเปิดลงให้ลงทะเบียนคนละครึ่ง รอบเก็บตก 1 ล้านสิทธิ ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบวันที่ 19 มกราคม 2564 นี้ จากนั้นจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 มกราคม 2564 และเริ่มใช้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
- การจ่ายเงินเยียวยาทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบวันที่ 19 มกราคมนี้เช่นกัน จากนั้นจึงเปิดให้ลงทะเบียนใน “โครงการเราชนะ” เริ่มจ่ายเงินเร็วที่สุดในปลายเดือนมกราคม หรืออย่างช้าต้นกุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยคาดว่าจะครอบคลุมคนทุกกลุ่มประมาณ 30 ล้านคน คาดว่าต้องใช้เงินทั้งสิ้น 210,000 ล้านบาท โดยยังไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม
- การเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและธุรกิจผ่านสินเชื่อประเภทต่างๆ วงเงินรวม 6.38 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2.68 แสนล้านบาท โดยขยายเวลาโครงการสินเชื่อเดิมออกไป มีสินเชื่อสำคัญ คือ สินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ รวมถึงมีพักชำระหนี้ถึง 30 มิถุนายน 2564 อีกส่วนคือวงเงินซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 3.7 แสนล้านบาท
- ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ 90% และยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ 0.01% โดยจะเสนอ ครม. เห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า มาตรการที่เป็นการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือมาตรการที่รัฐบาลได้เคยดำเนินการไปแล้วล่วงหน้าและได้มีการขยายเวลามาตรการต่างๆ ออกมา ได้แก่
- ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน มีมาตรการลดหย่อนเงินสมทบเข้าไปกองทุนประกันสังคม ทั้งลูกจ้างและนายจ้างเหลือร้อยละ 3 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564
- การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
- กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง แรงงานจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 200 วันซึ่งจากเดิมนั้นให้แค่ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน
- การว่างงานจากการลาออกจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเดิมอยู่ที่ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน
- การว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะเกิดจากประกาศของราชการที่มีการสั่งปิดพื้นที่หรือหยุดการปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆ ส่วนนี้จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วันและหากเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดในจ้างจะต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างก่อนการหยุดการตั้งเป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอยู่แล้วและเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน สามารถที่จะเข้าไปรับการตอบได้ในกรณีที่ตนเองเกิดความสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิดฯ รวมถึงเรื่องของการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่โรงงานต่างๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมได้เข้าทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพิ่มเติมร่วมกับสาธารณสุขด้วย
สำหรับเรื่องของการบรรเทาค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
- มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟและพลังงานในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบมาตรการดังกล่าวไปแล้ว กิโลกรัมซึ่งอันนี้ก็มีผลถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
- การปรับลดค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปรซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 2.89 สตางค์ต่อหน่วยและจะมีผลถึงวันที่ 30 เมษายน 2564
- การขยายระยะเวลาการยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้าอัตราต่ำสุดให้แก่ผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางขนาดใหญ่และกิจการเฉพาะอย่างออกไปอีก 3 เดือนจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
- การบรรเทาค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการฯ บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนและหากใช้เกิน 230 บาทก็จะต้องรับผิดชอบค่าไฟเอง ส่วนค่าน้ำประปานั้นจะให้ใช้สิทธิ์ใช้น้ำประปาได้ในวงเงิน 100 บาทต่อเดือนต่อเดือน
มาตรการลดค่าครองชีพที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ครั้งนี้ คือ
- การลดค่าใช้จ่ายค่าใช้น้ำประปา 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ครอบคลุมผู้ใช้น้ำประมาณ 6.76 ล้านราย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก
- การลดค่าไฟฟ้า กรณีบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ฟรี 90 หน่วยแรก กรณีเกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
-กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
-กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ (2.1) ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 (2.2) มากกว่า 500 แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าที่มากว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำหรับกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก การดำเนินการทั้งหมดจะครอบคลุมที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 23.7 ล้านราย
- การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19
- มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตนเองเป็นสถานที่ในการกักตัวแรงงานในพื้นที่โรงงาน (Factory Quarantine) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่โรงงานของตนเองเป็นสถานที่กักตัวแรงงานป้องกันการแพร่ระบาดและป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต
- การปรับปรุงเงื่อนไขในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเปิดให้ผู้ที่จองสิทธิที่พักภายใต้โครงการนี้ในช่วงเดือนมราคม-กุมภาพันธ์ 2564 สามารถเลื่อนการจองโดยไม่เสียสิทธิถึงเดือนเมษายน 2564 และมอบหมายให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการให้พิจารณาปรับปรุงโครงการและเตรียมขยายเวลาโครงการออกไปหลังจากสถานการณืเข้าสู่ภาวะปกติ
- นอกจากนี้ยังเตรียมปรับโครงการจ้างบัณฑิตใหม่ โดยให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการพิจารณาว่าจะปรับโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานได้อย่างไร
ยกเว้นภาษีเงินได้มาตรการเยียวยา 4 โครงการ
นายดนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563 จากการที่ผู้มีเงินได้จากเงินสนับสนุนหรือประโยชน์จาก 4 มาตรการ/โครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่
- มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
- โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
- โครงการกำลังใจ
- โครงการคนละครึ่ง โดยหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะได้ออกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป
“มีประมาณการว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 30,360 ล้านบาท ในการดำเนินมาตรการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจและโครงการคนละครึ่ง”
อนุมัติ 5.8 พันล้าน ยกระดับ สธ.ภูมิภาค
นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการของหน่วยงานส่วนภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข วงเงินรวมไม่เกิน 5,816.3631 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 389.3071 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์ไม่เกิน 5,427.0560 ล้านบาท จากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ
โดยการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย
-
1. การปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง หอพักผู้ป่วยวิกฤติ ปรับปรุงห้องแยกโรค การปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุง ARI Clinic และจัดสถานที่และระบบการบริการให้อยู่ภายใต้มาตรการการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
2. ครุภัณฑ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตและให้ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย เครื่องส่องตรวจระบบทางเดินหายใจเพื่อเพิ่มความแม่นยำ ระบบฟอกอากาศและกรองอากาศ และอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
3. ค่าใช้จ่ายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ
นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบในหลักการของรายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุมกำกับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ โดยมีกรอบวงเงินไม่เกิน 429.6171 ล้านบาท
จัดงบกลาง 473 ล้าน ทำสถานที่กักตัว เฟส 5
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบวงเงิน 473,150,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (state quarantine) จำนวน 22,248 คน ระยะที่ 5 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563) โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ได้ใช้สถานที่ราชการ 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน 26 แห่ง จัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐจำนวน 63,570 คน ตั้งแต่ 7 มีนาคม – 30 กันยายน 2563 (ระยะที่ 1-ระยะที่ 4) โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ วงเงินรวม 1,536,340,514 บาท
คืนอัตรากำลัง ขรก.ครูทดแทนคนเกษียณ
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565) เพิ่มเติมตำแหน่งที่เห็นควรจัดสรรคืนทั้งหมด เฉพาะตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ประเภทอำนวยการ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถแต่งตั้งบุคคลได้อย่างต่อเนื่องทันที ดังนี้
1. ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด
2. ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. ตำแหน่งผู้อำนวยการภายในสถาบันการอาชีวศึกษา
เลือกตั้ง “เทศบาล” กกต. คาดปลาย มี.ค.นี้
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะในส่วนของเทศบาล โดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทย จัดทำข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และเตรียมพร้อมงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขณะที่ กกต. ได้ สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว พร้อมจัดอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมทั้งได้เสนอร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ได้ในวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 โดยขอให้ กกต. กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งฯ ตามสถานการณ์
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้แล้วแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อนุมัติงบกลาง 1.47 พันล้าน ซื้อนมโรงเรียนแจกเด็ก 7 ล้านคน
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1,477 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม โดยจัดซื้อนมโรงเรียนจากการแปรรูปเป็นนมกล่องให้กับนักเรียน 7.03 ล้านคน ได้ดื่มนมเพิ่มคนละ 30 กล่อง โดยจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อโรงเรียน ประกอบด้วย 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,098 ล้านบาท และ 2) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 326 ล้านบาท
โดยนโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ อุตสาหกรรมผลิตอาหารนมไทยกว่า 1.2 แสนราย ซึ่งมียอดขายผลิตภัณฑ์นมในตลาดลดลงประมาณร้อยละ 30 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นมกล่องโรงเรียนประมาณ 200 ล้านกล่องไม่สามารถนำออกขายได้ เพราะมีเกษตรกรและผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจำหน่ายอยู่แล้ว
ขยายเวลาบริจาคเงินให้ 4 หน่วยงาน หักภาษี 2 เท่า
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. …. โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นการขยายเวลามาตรการทางภาษีเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สาระสำคัญ ดังนี้
-
1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ 4 หน่วยงาน สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนแล้ว
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ 4 หน่วยงาน สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลฯ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า แม้มาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์ในการจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมบริจาคให้แก่กองทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม
ลดภาษี หัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2%
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนพัฒนา และรายจ่ายเพื่อการบริการ ระบบใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และระบบหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Witholding Tax) สามารถหักภาษีได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมถึงรายจ่ายการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน สำหรับรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2562
นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติการขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax จากเดิมตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2564 เป็นตั้งแต่ 1 ต.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค. 2565 และกำหนดเพิ่มเติม ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565
เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก “ม.ปลาย-อาชีวะ” ปีละ 9,100 บาท
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาทประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่
- นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท
- ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท
- สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท
- พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท
- สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท
- สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูงและพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท
- สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท
- งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท
- งานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ครม. ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค) โดย กสศ. ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว
สำหรับอัตราเงินอุดหนุนใหม่มีดังนี้คือ ระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท ซึ่งตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะหมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Test จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน
ไฟเขียวจัดงานแข่งขันหุ่นยนต์ “RoboCup 2022”
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ใช้กรอบงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ การจัดการแข่งขัน RoboCup แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCup Junior League และกลุ่มอายุ 19 ปีขึ้นไป หรือ RoboCup Major League, ส่วน Exhibition เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และส่วนแสดงวัฒนธรรมไทย, ส่วน Symposium เป็นการนำเสนอแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยนักวิชาการด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงระดับโลก และส่วน Startup Pitching เป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามามีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมการประดิษฐ์ของตนต่อกลุ่มผู้ลงทุน
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานนี้นั้นประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับสากล 2. เสริมสร้างพัฒนาการวิจัย และการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและร่วมมือระหว่างประเทศ 3. เป็นการเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล และ 4. เกิดการลงทุนระหว่างประเทศจากอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ปลื้มผลโพลแก้ปัญหาโควิดฯระบาด เต็ม 10 ได้ 7.18 คะแนน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในปี 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2563 พบว่า ในด้านของการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเมื่อออกนอกบ้าน ประชาชนสวมหน้ากากออกจากบ้านมากที่สุดร้อยละ 96.7 รองลงมาคือ สวมหน้ากากเมื่อต้องพูดคุยกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ร้อยละ 94.8 และตรวจวัดไข้ก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 91.7
ส่วนด้านการใช้เทคโนโลยีทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค พบว่า ประชาชนใช้แอปพลิเคชันไทยชนะสแกนเข้าออกห้างร้านมากที่สุดร้อยละ 62.2 รองลงมาคือ ชำระเงินผ่านทางออนไลน์แทนเงินสดร้อยละ 45.7 และซื้อสินค้าออนไลน์ร้อยละ 44.4 ด้านมาตรการและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศร้อยละ 58.3 รองลงมาคือปิดประเทศเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจได้เลยจนกว่าสถานการณ์จะสงบร้อยละ 47.3 และให้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะหมดไปร้อยละ 40.3
ด้านผลกระทบต่อรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนร้อยละ 71.2 ระบุว่า ได้รับผลกระทบด้านรายได้ โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบมากที่สุดร้อยละ 76.7 รองลงมาคือ ชายแดนภาคใต้ร้อยละ 75.3 และภาคใต้ร้อยละ 73.5 โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบร้อยละ 78.1จะแก้ปัญหาด้วยการประหยัดเพิ่มขึ้น รองลงมาร้อยละ 49.3 จะปรับเปลี่ยนชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และร้อยละ 23.7 รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดคือ การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันร้อยละ 67.8 การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงร้อยละ 51.1 และการช่วยเหลือจากภาครัฐร้อยละ 33.2
ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการดำเนินมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย 7.18 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนความสุขในการดำรงชีวิต ประชาชนให้คะแนนความสุขเฉลี่ย 7.22 คะแนน
นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้คือ ควรมีมาตรการจูงใจประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโควิด-19 เช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือให้ส่วนลดสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ การประกวดการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำกิจกรรมประจำวัน และควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานหรือสร้างอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านสื่อ และการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้สนใจที่จะทำอาชีพเสริม
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 12 มกราคม 2564เพิ่มเติม