ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การดำเนินคดีกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ในประเทศไทย ได้กระตุ้นความตื่นตัวในสังคมลาวให้ตระหนักอย่างจริงจังถึงพิษภัยของแชร์ลูกโซ่ สื่อมวลชนหลายสำนักในลาวพยายามนำเสนอข้อมูลให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ว่า ระหว่างธุรกิจขายตรงสินค้าทางออนไลน์กับแชร์ลูกโซ่ มีความแตกต่างกันอย่างไร
ความตื่นตัวครั้งนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีแชร์ลูกโซ่กลุ่มใหม่เกิดขึ้นอีกในลาวได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีหลายปัจจัยเข้ามาประกอบ…
วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 หนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา” ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ รายงานว่า ระหว่างวันที่ 22-31 ตุลาคม 2567 มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมลงทุนธุรกิจกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ลาว(The Icon Group Laos) มาแสดงตัวและแจ้งยอดความเสียหายที่ได้รับกับกรมแข่งขันทางธุรกิจและตรวจตราการค้าแล้ว 24 ราย มีมูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 4 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายสกุลเงินกีบ 250 ล้านกีบ หรือประมาณ 3.85 แสนบาท และความเสียหายที่เป็นสกุลเงินบาทอีก 3.6 ล้านบาท

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้มีหนังสือแจ้งการถึงบริษัทห้างร้าน บุคคลทั่วไปทุกราย ที่ได้รับความเสียหายหรือตกเป็นเหยื่อจากแชร์ลูกโซ่ของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ลาว ให้ไปแสดงตัวและแจ้งข้อมูลความเสียหายที่ได้รับกับกรมแข่งขันทางธุรกิจและตรวจตราการค้า ผ่านช่องทางโทรศัพท์สายด่วน 1510 หรือที่เพจเฟสบุ๊คทางการของกรมแข่งขันทางธุรกิจและตรวจตราการค้า หรือไปแจ้งข้อมูลยังแผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงซึ่งเป็นที่อยู่หรือที่ตั้งธุรกิจของผู้เสียหายแต่ละราย
แม้ว่าตัวเลขผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ “ดิไอคอน กรุ๊ป” ในลาว อาจดูน้อยเมื่อเทียบกับยอดผู้เสียหายในประเทศไทยที่มีมากกว่า 1 หมื่นคน มูลค่าความเสียหายรวมหลายพันล้านบาท แต่ตามรายงานข่าวของสื่อในลาวระบุว่ากรมแข่งขันทางธุรกิจและตรวจตราการค้ายังคงรอรับการรายงานข้อมูลจากผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อไป จนกว่าจะยืนยันได้แน่นอนแล้วว่าจะไม่มีผู้ใดมาแจ้งข้อมูลเพิ่มอีก เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เป็นหลักฐานสำหรับดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายกับแชร์ลูกโซ่กลุ่มนี้
……
นับแต่ทางการไทยเริ่มดำเนินคดีอย่างจริงจังกับแชร์ลูกโซ่ “ดิไอคอน กรุ๊ป” ในประเทศไทย เรื่องราวของแชร์ลูกโซ่กลุ่มนี้ได้กลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์ของลาว สื่อในลาวหลายสำนัก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ได้เกาะติด คอยรายงานข่าวคราว ความเคลื่อนไหวการดำเนินคดีกับ “ดิไอคอน กรุ๊ป” ในไทยอย่างใกล้ชิด
หลายสื่อพยายามนำข้อมูลเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ มีการยกตัวอย่างกรณีต่างๆที่เข้าข่ายว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ซึ่งเคยหลอกลวงคนลาวให้หลงเชื่อจนสูญเสียเงินไปแล้วเป็นจำนวนมากในอดีตมาเผยแพร่ เพื่อเตือนประชาชนลาวให้เพิ่มความระมัดระวัง ต้องรู้เท่าทัน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ตลอด 1 เดือนเศษที่ชุมชนออนไลน์ในลาวมีการพูดคุยกันอย่างอื้ออึงถึงตัวเลขของเหยื่อแชร์ลูกโซ่”ดิไอคอน กรุ๊ป”ในลาวว่าจริงๆแล้วต้องมีมากกว่า 1,000 คน แต่ที่สุดแล้ว กลับไม่สามารถคำนวณมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นเม็ดเงินที่ชัดเจนได้ เพราะเหยื่อแต่ละคนไม่มีใครยอมบอกตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงของตน และเหยื่อหลายคนอายที่จะออกมายอมรับหรือแสดงตัวกับทางการว่าได้ตกเป็นเหยื่อ
ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เพจหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา เริ่มเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับผลร้ายของแชร์ลูกโซ่ และเพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกแยะได้ว่า ระหว่าง “แชร์ลูกโซ่” กับธุรกิจขายตรงสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีความแตกต่างกันอย่างไร(ดูตัวอย่างข้อมูลบางส่วนที่ได้คัดมาจากภาพประกอบ)



วันที่ 15 ตุลาคม 2567 หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนานำเสนอ Infographic หัวข้อ “ธุรกิจขายฝันและการฉ้อโกง ที่สร้างความเสียหายแก่สังคมลาว 2015-2024” เนื้อหาเป็นการรวบรวมรายชื่อองค์กรหรือกรณีที่เข้าข่ายว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่เคยหลอกลวงคนลาวมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ว่ามีอย่างน้อย 13 กรณี ประกอบด้วย

ปี 2558 บริษัทแม็กกี้ ซึ่งเปิดเป็นบริษัทรับเงินฝาก
ปี 2560 บริษัท ASianFace ที่เปิดเป็นบริษัทรับเงินฝากเช่นกัน
บริษัท PS ที่เปิดเป็นบริษัทซื้อขายสินค้าการเกษตร
ปี 2563 แอพพลิเคชั่น Fingo เปิดเป็นบริษัทขายสินค้าออนไลน์
บริษัท Ultima Life เปิดเป็นบริษัทขายสินค้าเพื่อสุขภาพ
ปี 2564 แอพพลิเคชั่น SHBC ทำธุรกิจรับฝากเงินออนไลน์
แอพพลิเคชั่น Vpay ทำธุรกิจรับเติมเงินออนไลน์
ปี 2565 กรณี “เจ๊ทิบ” ทำธุรกิจรับฝากเงินและเปียเงินซื้อหวย
ปี 2566 แอพพลิเคชั่น Ebay 98 ทำธุรกิจรับฝากเงินลงทุนออนไลน์
ปี 2567 แอพพลิเคชั่น NAP ทำธุรกิจรับฝากเงินลงทุนออนไลน์
แอพพลิเคชั่น LAFB ทำธุรกิจรับฝากเงินลงทุนออนไลน์
บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ลาว ทำธุรกิจขายสินค้าเพื่อสุขภาพ
บริษัท Selection Lao ทำธุรกิจขายสินค้า และโฆษณา
ส่วนใหญ่ของแชร์ลูกโซ่เหล่านี้ ได้ถูกทางการลาวดำเนินตามกฏหมายไปแล้ว
กรณีของบริษัท Selection Lao เป็นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในลาว ก่อนหน้าทางการไทยจะยื่นมือเข้ามาดำเนินคดีกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ในประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนาเริ่มมีรายงานเรื่องราวของบริษัท Selection Lao ไว้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของอดีตหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท Selection Lao ที่เป็นชาวลาวโดยไม่ได้ระบุชื่อ
หุ้นส่วนรายนี้ได้เล่าที่มาที่ไปของบริษัท Selection Lao ว่า มีนักธุรกิจชาวไทยคนหนึ่งมาชักชวนเขาให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท Selection Lao ขึ้นในปี 2566 เพื่อเป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายอาหารเสริมในลาว แต่หลังจากได้รับอนุมัติจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว หุ้นส่วนที่เป็นนักธุรกิจชาวไทยได้แอบนำเลขทะเบียนและชื่อบริษัท Selection Lao ไปทำโฆษณาเอง โดยที่เขาไม่ได้รับรู้ด้วย

รายละเอียดของโฆษณาที่ถูกเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ เป็นการเชิญชวนคนลาวให้ไปร่วมลงทุนในลักษณะสมัครเป็นสมาชิก ใช้ตัวเลขผลตอบแทนสูงมากถึงวันละ 200-2,000 บาท เป็นตัวล่อ
สมาชิก Selection Lao ที่ถูกระบุไว้ในโฆษณา แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภท Fitter ลงทุน 469 บาท ได้รับผลตอบแทน 5,000-8,000 บาทต่อเดือน ประเภท Master ลงทุน 1,990 บาท ได้รับผลตอบแทน 10,000-20,000 บาท ต่อเดือน และประเภท Supreme ลงทุน 20,370 บาท ได้รับผลตอบแทน 30,000-100,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน
ต่อมาภายหลัง อาหารเสริมที่บริษัท Selection Lao วางแผนจะนำเข้าไปจำหน่ายในลาว กลับไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขของลาว เมื่อเป็นเช่นนี้ อดีตหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทที่เป็นคนลาวในฐานะเจ้าของทะเบียนธุรกิจ จึงได้ตัดสินใจยื่นจดทะเบียนยุบบริษัท Selection Lao และได้รับอนุมัติจากกรมส่วยสาอากร กระทรวงการเงิน ให้ยุบบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
แต่ปรากฏว่า จนถึงเดือนพฤษภาคม ในชุมชนออนไลน์ของลาวยังมีการนำชื่อและทะเบียนบริษัท Selection Lao ที่ถูกยุบอย่างถาวรไปแล้ว ไปใช้อ้างอิงในโฆษณาเชิญชวนให้คนไปลงทุนสมัครสมาชิก และยังมีผู้ที่สนใจเข้าไปร่วมลงทุนด้วยจำนวนมาก
อดีตหุ้นส่วนใหญ่รายนี้ ในฐานะเจ้าของทะเบียนธุรกิจจึงตัดสินออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนาที่เป็นสื่อของรัฐ เพื่อเตือนประชาชนลาวว่าอย่าหลงเชื่อ เพราะถือเป็นการระดมทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ และเรียกร้องหน่วยงานรัฐให้เข้าตรวจสอบการโฆษณาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน
……
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนาได้เผยแพร่รายชื่อองค์กรและบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการลาวให้ทำธุรกิจขายตรงทางออนไลน์อย่างถูกต้องตามกฏหมายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชน
รายชื่อที่หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนานำมาเผยแพร่มีทั้งสิ้น 61 ราย รายละเอียดของแต่ละรายสามารถดูได้จากภาพประกอบที่ได้ถอดความไว้เป็นภาษาไทยแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้มีความตื่นตัวและความพยายามอย่างจริงจังที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนถึงพิษภัยจากแชร์ลูกโซ่ แต่จากสภาพเศรษฐกิจลาวทุกวันนี้ที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก ประชาชนลาวยังต้องต้องการหารายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วงห่างระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายของประชาชนส่วนมากยังถ่างกว้าง
ปัจจัยเหล่านี้เป็นช่องว่างที่เปิดให้แชร์ลูกโซ่กลุ่มใหม่ๆ ได้มีโอกาสเกิดขึ้นอีก…
