ThaiPublica > สู่อาเซียน > Rare Earth อีกหนึ่งขุมทรัพย์ของจีน…ในลาว

Rare Earth อีกหนึ่งขุมทรัพย์ของจีน…ในลาว

13 มิถุนายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

พิธีเปิดโครงการขุดค้นและสกัด Rare Earth ในแขวงหัวพัน ของบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 จำกัด จัดขึ้นท่ามกลางสายฝน เมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565

ใต้ผืนดินของลาวยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุที่นักลงทุนจากหลายชาติต่างให้ความสนใจ อยากเข้าไปลงทุน ขุดค้น และทำเหมือง

หนึ่งในแร่ธาตุที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในลาว โดยเฉพาะนับแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา คือ “Rare Earth” ซึ่งในภาษาลาวเรียกตรงตัวเหมือนกับภาษาไทยว่า “แร่หายาก”

ที่น่าสนใจคือ เหล่านักลงทุนที่ได้เข้ามาสำรวจ ขุดค้น กระทั่งเริ่มต้นทำเหมืองสกัด “แร่หายาก” ในลาวทุกวันนี้ แทบทั้งหมดล้วนมาจาก “จีน”

……

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ได้มีพิธีเปิดโครงการขุดค้นและสกัด Rare Earth บนพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร และโครงการสำรวจหา Rare Earth บนพื้นที่ 45 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านอุไท บ้านสบซาย เมืองหัวเมือง กับบ้านทับผึ้ง เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ของบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 จำกัด

ผู้ร่วมในพิธีประกอบด้วย ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ พุดพัน แก้ววงไซ รองเจ้าแขวงหัวพัน คำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน และซิน กัวกุย(Xin Guokui) ประธานบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2

ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่

ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้ขึ้นกล่าวในพิธีว่า โครงการนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากแร่หายากเป็นแร่ที่มีบทบาทความสำคัญในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาแขนงพลังงานและบ่อแร่ 5 ปี(2564-2568) ของ สปป.ลาว

บริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Beijing Platinium World Technology Development จากจีน กับบริษัท ผาแดงรุ่งเรือง สำรวจและขุดค้นแร่ธาตุ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของลาว

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 บริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 ได้เซ็นสัญญากับกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ว่าด้วยการขุดค้นและสกัดแร่หายากแบบทดลองบนพื้นที่ 500 เฮคตา หรือ 3,125 ไร่ ในเขตบ้านอุไท บ้านสบซาย เมืองหัวเมือง และบ้านทับผึ้ง เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน มีอายุสัญญา 3 ปี โดยบริษัทได้มอบเงินค่าทรัพยากรและพันธะอากรล่วงหน้า จำนวน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่รัฐบาลลาว ตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายการลงทุนแล้ว

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวว่าโครงการขุดค้นและสกัดแร่หายากของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 จะทำแบบครบวงจร ต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยี่ที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลสำเร็จของการพัฒนาโครงการนี้จะถูกนำไปเป็นเงื่อนไขและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศในอนาคต

ซิน กัวกุย ประธานบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2

ซิน กัวกุย ประธานบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 กล่าวว่า จากการศึกษา ประเมินปริมาณแร่สำรองที่มีอยู่ในพื้นที่สัมปทาน บริษัทคาดว่า ต้องใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ 300 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,548 ล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เท่ากับ 5.16 บาทต่อ 1 หยวน) โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ใช้ทีมงานมืออาชีพที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่หายาก

ประธานบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 กล่าวยืนยันว่า บริษัทจะรับผิดชอบทำงานให้สำเร็จตามแผน เนื่องจากเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมของ 2 ประเทศ จีนและลาว และสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้ดีขึ้น

……

Rare Earth เป็นกลุ่มแร่ธาตุ 17 ชนิดที่มีคุณลักษณะคล้ายโลหะ แต่ไม่ได้นำมาผลิตเป็นโลหะโดยตรง แร่ธาตุเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแหล่งเดียวกัน การทำเหมืองและการสกัดต้องทำด้วยเทคโนโลยี่ระดับสูง และมีต้นทุนสูง Rare Earth จึงเป็นเหมือนกับแร่ธาตุที่หายาก

Rare Earth ถูกใช้เป็นเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี่ชั้นสูงหลากหลายประเภท ตั้งแต่สายใยแก้วนำแสง ไปจนถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทีวีจอแบน อุปกรณ์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทปเล็ต คอมพิวเตอร์พกพา และอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์อีกหลายชนิด

Rare Earth ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์เทคโนโลยี่ในยานพาหนะทางการทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ต่างๆ Rare Earth จึงเป็นแร่ธาตุที่กำลังบทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ จีนเป็นประเทศที่ผลิต Rare Earth ได้มากที่สุดในโลก เพราะนอกจากมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี่และมีความพร้อมด้านเงินทุนแล้ว การทำเหมืองและสกัด Rare Earth ยังมีความอ่อนไหว และสุ่มเสี่ยงมากต่อการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

หลายประเทศที่ต้องใช้ Rare Earth จึงใช้วิธีมาซื้อเอาจากจีน มากกว่าที่จะลงทุนทำเหมืองและสกัด Rare Earth เอง

นอกจากแหล่ง Rare Earth ที่มีอยู่ภายในประเทศจีนเองแล้ว จีนยังแสวงหา Rare Earth ที่มีอยู่ในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างในเมียนมา และลาว

การขุดค้น Rare Earth ในเมียนมา ที่มาภาพ : The Global Times

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 The Global Times ซึ่งเป็น สื่อของจีน ได้เสนอข่าวว่า หลังด่านชายแดนจีน-เมียนมา 2 แห่ง กลับมาเปิดให้มีการค้าขายข้ามประเทศกันได้อีกครั้ง สินค้าสำคัญชนิดหนึ่งที่จีนนำเข้ามาจากเมียนมาเป็นจำนวนมากคือ Rare Earth

เนื้อข่าวให้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ชายที่ชื่อ Yang ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้จัดการรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Rare Earth แห่งหนึ่ง ในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของจีน โดย Yang บอกว่า หลังเปิดด่าน มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ขน Rare Earth จากเมียนมา เข้ามาส่งยังเมืองก้านโจวทุกวัน

Yang บอกว่า ก่อนหน้านั้น ช่วงที่ชายแดนจีน-เมียนมาต้องปิดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 นานกว่า 6 เดือน ทำให้มี Rare Earth ตกค้างอยู่ที่หน้าด่านชายแดนทางฝั่งรัฐฉานประมาณ 3,000-4,000 ตัน

จีนเพิ่งเปิดให้มีการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาผ่านช่องทางจินซานจ่อ และชิงส่วยเหอ ภาคเหนือของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

ด่านจินซานจ่ออยู่ในเมืองหมู่เจ้ ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน ส่วนด่านชิงส่วยเหอ อยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง ที่อยู่มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเต๋อหง

The Global Times รายงานว่า หลังเมียนมาเริ่มกลับมาส่งออก Rare Earth เข้าไปในจีนได้อีกครั้ง คาดการณ์ได้ว่า จะทำให้ราคา Rare Earth ในจีน มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงประมาณ 10-20% หลังจากที่เคยพุ่งสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้

Wu Chenhui นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับอุตสาหกรรม Rare Earth ของจีน บอกกับ The Global Times ว่า มากกว่าครึ่งของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ Rare Earth ในจีน อย่างเช่น Dysprosium หรือ Terbium ต่างต้องนำเข้ามาจากเมียนมา

……

พิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท ลาว กอนสิน สากล จำกัด กับบริษัท พัฒนา ซินหยู จำกัด เพื่อสำรวจ ขุดค้น ทำเหมืองและสกัด Rare Earth ในลาว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ผู้ลงนามในสัญญา มี อาซื่อ กอนสิน ประธานบริษัท ลาว กอนสิน สากล(ขวา) กับ Lyu Qingxing กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนา ซินหยู ที่มาภาพ : เว็บไซต์บริษัท ลาว กอนสิน สากล

ส่วนในลาว บริษัทจากจีนหลายแห่งได้เริ่มเข้ามาสำรวจเพื่อลงทุนทำเหมืองและสกัด Rare Earth ที่นี่มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 3 ปี

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 กลุ่มบริษัท ลาว กอนสิน สากล จำกัด ซึ่งเดิมประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัท พัฒนา ซินหยู จำกัด เพื่อสำรวจ ขุดค้น ทำเหมืองและสกัด Rare Earth ในลาว

บริษัท พัฒนา ซินหยู อยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จากจีน มีบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน อาทิ บริษัท ซินหยู วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ , บริษัท สุรา มงหลงซุน , บริษัท เหล็ก หลงซวนเทียนหยู , บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ลิเตอร์หงตูฯลฯ

ในข่าวที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ทางการของบริษัท ไม่ได้ให้รายละเอียดของพื้นที่สำรวจว่าอยู่ในเขตใดในลาว

นอกจากบริษัท พัฒนา ซินหยู ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายแห่ง ที่ได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม Rare Earth ในลาวตั้งแต่เมื่อเกือบ 3 ปีก่อน เช่น บริษัท กว่างเจียนซิน แสงสะหว่าง พัฒนาแร่หายาก ที่เริ่มเข้ามาสำรวจแหล่ง Rare Earth ในแขวงเชียงขวาง เมื่อช่วงกลางปี 2564

บริษัทเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ

หากไม่นับบริษัท ลาว-จีน พัฒนาแร่หายาก 2 จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวโครงการไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ในลาวขณะนี้ มีบริษัทจากจีน 2 แห่ง ที่ได้เริ่มลงมือเจาะหลุมขุดค้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ พร้อมคณะ ประกอบด้วย จันทะลา แก้วหาวง หัวหน้ากรมคุ้มครองบ่อแร่ ทองเลิม จิดตะลาด หัวหน้าแผนกพลังงานและบ่อแร่ แขวงเชียงขวาง ได้เดินทางไปดูงานโครงการสำรวจและขุดค้น Rare Earth ของบริษัทซุนต้า พัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่ง พัฒนาบ่อแร่ ในพื้นที่เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง ทางภาคตะวันออกของลาว โดยมีอะพิซาด แสงทะนี รองประธานบริษัทซุนต้า พัฒนาบ่อแร่ ให้การต้อนรับ

ทั้งบริษัทซุนต้า และบริษัทต่งหลีเซิ่ง เป็นบริษัทของนักลงทุนจากจีน ที่ได้สัมปทานจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ให้เป็นผู้สำรวจและขุดค้นหา Rare Earth ในเมืองผาไซ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 และทั้ง 2 บริษัทได้ทำสัญญาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจพัฒนาแร่ธาตุลาว ในฐานะตัวแทนรัฐบาลลาว ในโครงการนี้

หลุมที่เจาะเพื่อขุดค้น Rare Earth ของบริษัทซุนต้า พัฒนาบ่อแร่ ที่เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง

บริษัทซุนต้าได้สัมปทานสำรวจ ขุดค้น บนพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านปุง-บ้านนาขี่ มีอายุสัมปทาน 3 ปี ส่วนบริษัทต่งหลีเซิ่ง ได้สัมปทานสำรวจ ขุดค้น บนพื้นที่ 25.28 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านมาย-นาสาบ อายุสัมปทาน 3 ปี 6 เดือน

ทั้ง 2 บริษัท ได้เริ่มเปิดหน้าดิน เจาะหลุมเพื่อสำรวจและขุดค้น จำนวน 30 หลุม มีการติดตั้งอุปกรณ์ เดินท่อส่งน้ำ ตั้งเสาไฟฟ้าเพื่อเดินสายไฟขนาด 22 กิโลโวลต์เข้าไปยังพื้นที่โครงการ พร้อมเตรียมนำเข้าสารเคมีที่จะนำมาใช้ในการสำรวจ และคาดว่าจะเริ่มต้นการขุดค้นหา Rare Earth ได้ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ และเมื่อสำรวจพบ Rare Earth ในปริมาณที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงค่อยได้รับสัมปทานทำเหมืองจากรัฐบาลลาวเป็นลำดับถัดไป

ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวว่า โครงการของบริษัทซุนต้า และบริษัทต่งหลีเซิ่ง ถือเป็นโครงการแรกที่เริ่มมีการเจาะหลุม ขุดค้นหา Rare Earth ในลาว รัฐบาลลาวได้มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาแร่ธาตุลาวเป็นตัวแทนเข้าถือหุ้นในโครงการนี้แทนรัฐบาล

รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ บอกว่า ที่ผ่านมา ลาวยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่บวกับ Rare Earth โครงการของทั้งสองบริษัท จึงเป็นการช่วยสร้างและพัฒนาบุคลากรที่จะมีความรู้ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงขั้นตอนการขุดค้นและสกัดหา Rare Earth ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการขุดค้นและทำเหมืองแร่ Rare Earth ในโครงการอื่นต่อไปอีกในอนาคต

คณะของทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ที่ไปดูงานขุดค้น Rare Earth ของบริษัทซุนต้า พัฒนาบ่อแร่ และบริษัทต่งหลีเซิ่ง พัฒนาบ่อแร่ ที่เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565

……

มองเฉพาะในอาเซียน ทุกวันนี้ลาวกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจขนาดหนัก ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินกีบตกต่ำลงอย่างรุนแรง ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ฯลฯ

ขณะที่ในภาพใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้งและการแข่งขันทางอำนาจ Rare Earth กำลังถูกใช้เป็นไพ่ตายใบหนึ่ง ที่จีนจะใช้ต่อกรหรือต่อรองกับสหรัฐอเมริกา

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ลาว ซึ่งกำลังเป็นแหล่งวัตถุดิบ Rare Earth แหล่งใหม่ให้กับจีน จะได้รับประโยชน์เช่นไร หรือแค่ไหน จากสถานการณ์เหล่านี้…