ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
เดือนตุลาคม 2567 ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งปีนี้ สปป.ลาว ได้เป็นเจ้าภาพในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน มีกิจกรรมที่มีนัยสำคัญ 2 กิจกรรม ได้ถูกจัดขึ้นในลาว
กิจกรรมหนึ่งจัดในนครหลวงเวียงจันทน์ อีกหนึ่งกิจกรรมจัดในภาคเหนือ ที่เมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว
……
กิจกรรมแรก
ระหว่างวันที่ 9-30 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์ฝึกอบรมการเก็บกู้ “ระเบิดบ่อทันแตก” แห่งชาติ บ้านอีไล เมืองนาซายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ มีนิทรรศการแสดงผลงานการแก้ไขปัญหาระเบิดบ่อทันแตกที่ตกค้างอยู่ในลาว จัดโดยคณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดบ่อทันแตกที่ตกค้างใน สปป.ลาว (National Regulatory Authority for the UXO/Mine Action Sector in Lao PDR หรือ UXO NRA) เป็นนิทรรศการแบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“ระเบิดบ่อทันแตก” หมายถึงระเบิดและกระสุนจากอาวุธหนักที่กองทัพสหรัฐอเมริกาได้บินมาทิ้งหรือยิงลงมาในดินแดนลาวระหว่างสงครามเวียดนาม ประกอบด้วยลูกระเบิดหลากหลายขนาด กระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนครก และที่อันตรายที่สุดคือ ระเบิดพวงหรือระเบิดลูกหว่าน (cluster bomb หรือ cluster munitions)
ระเบิดเหล่านี้ยังคงตกค้างอยู่บนผืนดินลาว และยังไม่ระเบิด จึงเป็นวัตถุสงครามที่มีอันตรายต่อคนที่อยู่ใกล้ หรือผู้ที่ได้ไปพบเห็น
นิทรรศการนี้ จัดขึ้นเพื่อต้อนรับคณะผู้แทนที่มาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 เพื่อต้องการสื่อถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาระเบิดที่ตกค้างอยู่ในลาวแบบครบวงจร เริ่มจากการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของความพยายามแก้ไขปัญหา ความร่วมมือกับนานาชาติซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของภารกิจนี้ ตลอดจนผลงานและความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้างฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงภาพถ่ายที่บันทึกการปฏิบัติงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การจัดแสดงภาพวาดและงานศิลปะที่สื่อถึงผลกระทบจากระเบิดตกค้างที่มีต่อวิถีชีวิตของคนลาว มีการนำระเบิดชนิดต่างๆ ที่เก็บกู้ได้และปลดชนวนแล้ว รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เก็บกู้มาโชว์ รวมถึงมีกิจกรรมจำลองการเก็บกู้ระเบิด โดยให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้มีส่วนร่วม…
“ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดหนักที่สุดในโลก เมื่อเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร ในช่วงสงครามอินโดจีน ระหว่างปี 1964 ถึง 1973 (พ.ศ.2507-2516) ลาวกลายเป็นสมรภูมิสู้รบที่ร้ายแรง ทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ จักรวรรดิอเมริกาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ดินแดนของลาวถึง 580,000 เที่ยว เฉลี่ยทุก 8 นาที มีการทิ้งระเบิด 1 เที่ยว ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 9 ปี มีระเบิดถูกทิ้งลงมามากกว่า 2 ล้านตัน ในนั้นเป็นระเบิดลูกหว่านมากกว่า 270 ล้านลูก และคาดว่ามีประมาณ 30% หรือ 80 ล้านลูก เป็นระเบิดบ่อทันแตกที่ยังคงตกค้างอยู่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 87,000 ตารางกิโลเมตร เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาวมาจนถึงทุกวันนี้”
เนื้อหาข้างต้น ถอดความจากคำกล่าวของโจมแยง แพงทองสะหวัด หัวหน้าสำนักงาน คณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดบ่อทันแตกที่ตกค้างอยู่ในลาว ซึ่งได้รายงานต่อแขกเหรื่อที่เป็นบุคคลสำคัญจำนวนมาก ที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีส่งมอบระเบิดตกค้างและสรรพาวุธที่ปลดชนวนแล้วให้แก่กระทรวงป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยมีใบคำ ขัดติยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นตัวแทนผู้มอบ และพลโททองลอย สิลิวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ เป็นผู้รับมอบ
ระหว่าง พ.ศ. 2507-2516 ทั่วประเทศลาวขณะนั้น มีประชากรรวมอยู่เพียงประมาณ 1 ล้านคน
ในพิธีส่งมอบ มีการนำระเบิดและลูกกระสุนจากอาวุธหนักหลายรายการ มาจัดแสดง
ระเบิดลูกที่ใหญ่ที่สุด เป็นระเบิดขนาด 3,000 ปอนด์ (1,360.7 กิโลกรัม) จำนวน 1 ลูก ระเบิดขนาดนี้หากถูกทิ้งลงมาแล้วเกิดระเบิดขึ้น จะมีรัศมีการทำลายล้างกว้างถึง 500 เมตร ส่วนใหญ่กองทัพสหรัฐอเมริกาบรรทุกระเบิดขนาดนี้ไปกับเครื่องบินบี 52 เพื่อนำไปทิ้งในภาคเหนือของลาวและเวียดนาม
ระเบิดลูกที่ย่อมลงมาเป็นระเบิดขนาด 2,000 ปอนด์ (907 กิโลกรัม) จำนวน 1 ลูก ระเบิดขนาดนี้ เมื่อถูกทิ้งลงมามีอานุภาพทำลายล้างสูง ถึงขนาดทำให้หมู่บ้านขนาดเล็กละลายหายไปได้ทั้งหมู่บ้าน
ส่วนที่เบากว่า มีระเบิดขนาด 750 ปอนด์ 3 ลูก ขนาด 500 ปอนด์ 6 ลูก ขนาด 250 ปอนด์ 1 ลูก รวมถึงสรรพาวุธอื่นๆ เช่น จรวด ลูกปืนใหญ่ กระสุนปืนครก ตลอดจนเอกสารหลักฐานสำคัญ ได้แก่ แผนที่และข้อมูลการทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาในลาว แผ่นป้ายแสดงข้อมูลของระเบิดลูกหว่าน แผ่นป้ายข้อมูลความเสี่ยงของระเบิดตกค้าง แผนที่ปฏิบัติงานขององค์การปฏิบัติงานเพื่อมนุษยธรรมแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง และวิดีโอการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง ฯลฯ…
นอกจากนิทรรศการแสดงผลงานการแก้ไขปัญหาระเบิดบ่อทันแตก ซึ่งจัดที่ศูนย์ฝึกอบรมการเก็บกู้ระเบิดบ่อทันแตกแห่งชาติ บ้านอีไล เมืองนาซายทอง ในวันที่ 9-30 ตุลาคมแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ที่ลาวได้เริ่มเข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้ ลาวได้จัดกิจกรรมระดับนานาชาติเกี่ยวกับระเบิดบ่อทันแตกขึ้นอีกหลายครั้ง มีอย่างน้อย 2 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
วันที่ 8-17 กรกฎาคม ได้มีการจัดแสดงงานผลงานศิลปะจากผ้า ซึ่งถูกทอและพิมพ์ลวดลายที่บอกเล่าเรื่องราวของระเบิดบ่อทันแตกที่ยังคงส่งผลผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวในปัจจุบัน แม้ว่าสงครามเวียดนามได้สิ้นสุดไปแล้วถึง 50 ปี รวมถึงลวดลายที่บอกถึงผลดีและประโยชน์ของโครงการเก็บกู้ระเบิดบ่อทันแตก ซึ่งได้ช่วยปกปักษ์รักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรลาวให้ดีขึ้น
งานศิลปะจากผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวของระเบิดบ่อทันแตกครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในโอกาสที่มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีในเวทีการเมืองระดับสูงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Ministerial meeting of the High-Level Political Forum on Sustainable Development หรือ HLPF) ซึ่งลาวได้ส่งสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม…
วันที่ 19 สิงหาคม ได้มีพิธีเปิดศูนย์เยี่ยมชมโครงการเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติ ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่รอบที่ 2 ที่บ้านนาเวียงคำ หลังอนุสาวรีย์เจ้าสุพานุวง ในเมืองหลวงพระบาง
ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของลาว ที่ถูกกองทัพสหรัฐอเมริกานำระเบิดคิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 2 ล้านตัน ทิ้งแบบปูพรมลงมาในดินแดนลาว ซึ่งขณะนั้นมีประชากรอยู่เพียง 1 ล้านคน
ภายในศูนย์ได้นำเศษซากที่เหลือของระเบิดชนิดต่างๆ ที่ถูกกองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งลงมา มาจัดแสดงไว้อย่างสวยงาม ซากระเบิดขนาดใหญ่บางลูกถูกแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวการดำรงชีวิตของคนลาวในช่วงสงคราม ความโหดร้ายของระเบิดที่ถูกทิ้งลงมา รวมถึงมีการแสดงข้อมูล สถิติที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามอินโดจีน
ศูนย์แห่งนี้เปิดครั้งแรกเมื่อปี 2552 ได้ต้อนรับการเข้ามาเยี่ยมชมจากนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปถึง 117,764 คน แต่ในปี 2561 ได้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร สร้างความเสียหายแก่ห้องจัดแสดง จึงต้องมีการปรับปรุงใหม่ 2 รอบ ครั้งแรกในปี 2561 และครั้งล่าสุด ที่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้กลับเข้าไปเยี่ยมชมได้อีกครั้งในปีนี้
……
กิจกรรมที่ 2
ช่วงค่ำของวันที่ 13 ตุลาคม 2567 จอมสี ลัดตะนะบัน รองเลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาว แขวงบ่อแก้ว ในฐานะประธานสภาประชาชนแขวงบ่อแก้ว ได้เป็นประธานในพิธีเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของไทย
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ คือค่ายเก่าของทหารฝรั่งเศส (Fort Carnot) ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคที่ฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าอาณานิคมบนดินแดนตลอดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ค่ายแห่งนี้อยู่บนเชิงเนินเขตบ้านห้วยซายใต้ ห่างริมตลิ่งชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 300 เมตร
ประวัติความเป็นมาของค่ายทหารแห่งนี้ระบุว่า หลังจากฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครองให้ลาวเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อปี 1893 (พ.ศ. 2436) ถึงปี 1900 (พ.ศ. 2443) กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังทหารขึ้นมาสร้างค่ายแบบถาวรไว้ที่นี่ โดยสร้างกำแพงหนาแน่นล้อมรอบไว้ทั้ง 4 ด้าน บนแนวรั้วฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหน้าและด้านหลังของค่าย มีป้อมยามสูง 15 เมตร 2 ป้อม เพื่อคอยสังเกตการณ์ ภายในค่ายมีตึกบัญชาการ ห้องทำงานของนายทหาร เรือนนอน เรือนครัว สนามเพลาะที่ถูกขุดคูให้เชื่อมต่อกันได้หมด รวมถึงหลุมหลบภัยและคุกคุมขังนักโทษ
ป้อมยามฝั่งทิศตะวันตก เมื่อได้ขึ้นไปด้านบนแล้วสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองห้วยซาย วิวแม่น้ำโขง และที่สำคัญ คือเห็นตัวเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงรายได้ชัดเจน
หลังจากลาวได้ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว กองทัพของราชอาณาจักรลาวได้เข้ามาใช้ค่ายแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1954 (พ.ศ. 2497) จนถึงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1975 (พ.ศ. 2518) ค่ายแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพประชาชนปฏิวัติลาว และต่อมาได้ถูกโอนให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงบ่อแก้ว จนถึงปัจจุบัน
ประมาณ พ.ศ. 2565 แขวงบ่อแก้วได้ให้สัมปทานแก่บริษัทแดนจะเลิน บอลิกาน จำกัดผู้เดียว ได้เข้าพัฒนาค่ายทหารเก่าของฝรั่งเศสที่เมืองห้วยซาย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ด้วยเงินลงทุน 5,000 ล้านกีบ หรือประมาณ 7.3 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังแขวงบ่อแก้วเพิ่มขึ้น
ตามแผน บริษัทแดนจะเลิน บอลิกาน จะปรับปรุงพื้นที่ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ขึ้นในพื้นที่ค่าย เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร จุดชมวิว ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น ร้านขายของที่ระลึกและหัตถกรรม และจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2567
กิจกรรมก่อนวันเปิดค่ายทหารเก่าของฝรั่งเศสเป็นแหล่งท่องเที่ยว เริ่มจากการจัดตลาดนัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-13 ตุลาคม เปิดให้ชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า นำผลผลิตมาขาย ส่วนกิจกรรมในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเปิดค่ายอย่างเป็นทางการ มีการเปิดให้บริการร้านกาแฟ Fort Carnot 1900es Café & Restaurant ซึ่งอยู่ในโซนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของค่าย เพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมค่ายทหารแห่งนี้
สถานที่ท่องเที่ยว ค่าย Fort Carnot เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึงช่วงค่ำ…
ฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองลาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ในฐานะรัฐในอารักขา และต่อมาได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีนจนถึง พ.ศ. 2496 ช่วง 60 ปีภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แม้ว่าฝรั่งเศสได้นำพัฒนาการหลายรูปแบบเข้ามาสู่ลาว แต่ก็ได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชนลาวด้วยไม่น้อยเช่นกัน
เรื่องราวของอนุสาวรีย์ของโอกุสต์ ปาวี ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ เดิมในช่วงที่ฝรั่งเศสยังคงปกครองลาว อนุสาวรีย์ของปาวีถูกสร้างขึ้นเป็นรูปหล่อโลหะ ในลักษณะที่มีชาย-หญิงลาวกำลังก้มลงกราบไหว้ปาวี แต่เมื่อลาวได้อิสรภาพจากฝรั่งเศสแล้ว อนุสาวรีย์นี้ได้ถูกคนลาวช่วยกันรื้อแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ
ส่วนที่เป็นรูปหล่อของโอกุสต์ ปาวี ได้ถูกนำไปโยนทิ้งลงแม่น้ำโขง!
ต่อมา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำลาว ได้กู้ส่วนที่เป็นรูปหล่อของปาวีขึ้นมาจากน้ำ และนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานทูต ส่วนที่เป็นรูปชาย-หญิงลาวที่กำลังกราบไหว้ ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่สนามหน้าหอพระแก้ว ในนครหลวงเวียงจันทน์
……
“ลาว” เป็นประเทศเล็กๆ บนผืนแผ่นดินใหญ่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่มีเขตแดนติดกับทะเล แต่ช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ลาวกลับเป็นดินแดนต้องรับประสบการณ์อัน “เจ็บปวด” อย่างแสนสาหัส จากการถูกกระทำของประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่มาจากดินแดนห่างไกล
สำหรับคนลาวบางคนแล้ว การบันทึกเรื่องราว ความเจ็บปวด ลงในหนังสือหรือตำราเรียนประวัติศาสตร์ อาจไม่เพียงพอที่จะตอกย้ำ หรือสื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเจ็บปวดที่คนรุ่นก่อนเคยได้รับ
จึงมีความพยายามที่จะบอกให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ในรูปแบบอื่น…