ThaiPublica > สู่อาเซียน > 21 มีนาคม…วัน “เคียดแค้น” ที่คนลาวไม่ลืม!

21 มีนาคม…วัน “เคียดแค้น” ที่คนลาวไม่ลืม!

23 มีนาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

อนุสรณ์สถาน ประธานสุพานุวง ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

“ท่าแขก” เมืองเอกของแขวงคำม่วน ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นอกจากเป็นจุดเชื่อมเส้นทางคมนาคมของไทยไปยังชายทะเลเวียดนามที่ “สั้นที่สุด” ด้วยระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตรผ่านถนนหมายเลข 12 ของลาวแล้ว

ยังเป็นดินแดนที่เคยเกิดเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของลาว ชนิดที่คนลาวไม่มีวันลืม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองท่าแขก เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1946(พ.ศ.2489) มีผู้ถูกสังหารมากกว่า 3,000 คน ในนี้มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนหนุ่ม-สาว คนชรา ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกเด็กเล็กแดง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะฝรั่งเศสต้องการกลับมาปกครองลาวในฐานะเจ้าอาณานิคมอีกครั้ง หลังต้องถอนตัวออกไปเมื่อญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้ามาในลาวระหว่างสงครามโลกครั้ง 2

แต่การกลับมาของฝรั่งเศสคราวนี้ถูกต่อต้าน เพราะขณะนั้น คนลาวได้มีการรวมตัวเป็นขบวนการลาวอิสระ เคลื่อนไหวร่วมกับกองทหารเวียดนามในลาว ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชมาให้กับลาว

การกลับเข้ามา ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างขบวนการลาวอิสระ ทหารเวียดนาม กับทหารฝรั่งเศสในหลายพื้นที่ แต่ในเมืองท่าแขกเป็นพื้นที่ซึ่งโหดร้ายที่สุด

มีการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็นภาพวาด แสดงไว้ที่ “หอไหว้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สมรภูมิรบป้องกันตัวเมืองท่าแขก 21 มีนาคม 1946” แต่ละภาพล้วนให้ความรู้สึกหดหู่

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้วันที่ 21 มีนาคม 1946 เคยถูกกำหนดให้เป็นวัน “เคียดแค้นของประชาชนลาว” แต่ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัน “ผู้เสียสละร่างกายและเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ” จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ได้เวียนมาบรรจบครบรอบของทุกปี นอกจากมีพิธีวางช่อดอกไม้เพื่อไว้อาลัยแด่ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว สื่อต่างๆของลาว โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ยังมีการบอกเล่าทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยละเอียด เพื่อไม่ให้คนลาวในรุ่นหลังลืมความเจ็บปวดที่บรรพบุรุษเคยต้องประสพ…

วันที่ 21 มีนาคม 2565 เพจและเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว นำเสนอเนื้อหาที่เขียนโดย “บุนเตียง จันทะวง” บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหัวข้อ “ระลึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองท่าแขก ในวันที่ 21 มีนาคม ครบรอบ 76 ปี” ถอดความได้ดังนี้

……

วันที่ 21 มีนาคม เป็นวันที่ปวงชนลาวทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในเมืองท่าแขก หรือประชาชนในแขวงคำม่วน จดจำได้อย่างไม่มีวันหลงลืม เพราะก่อนหน้านี้ คือวันที่ 21 มีนาคม ปี 1946 พวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ที่เคยปราชัยอยู่ในลาว ได้กลับคืนมารุกรานลาวรอบใหม่อีกครั้ง

เพื่อสกัดกั้น ต้านยันการบุกรุกครั้งใหม่ของพวกศัตรู ทหารและประชาชนลาวบรรดาเผ่า ได้สบทบกับกองกำลังติดอาวุธของเวียดนามที่อยู่ในลาว ต่อสู้ ต่อต้านการบุกเข้ามายึดครองลาวตามเมืองต่างๆ

ในนี้ ที่เด่นกว่าทุกที่ คือการสู้รบเพื่อป้องกันเมืองท่าแขก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการปฏิวัติในเวลานั้น

คณะบัญชาการทหาร และคณะรับผิดชอบรักษาตัวเมืองท่าแขก ก็คือท่านประธาน สุพานุวง เจ้าสุภานุวงศ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด ได้นำกำลังพลติดอาวุธของลาวและเวียดนาม เข้าต่อสู้อย่างดุเดือด เด็ดเดี่ยว และอาจหาญที่สุด

อย่างไรก็ตาม เหล็กย่อมแข็งแกร่งกว่าถ่าน พวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ทำให้ทหารปฏิวัติของลาวไม่สามารถรักษาตัวเมืองท่าแขกไว้ได้ จึงตัดสินใจสู้พลางถอยพลาง ไปทางริมแม่น้ำโขง

ส่วนประชาชนในเมืองท่าแขก ต่างก็พากันใช้เรือพาย เรือยนต์ เรือหางยาว ท่อนไม้ เพื่อลอยข้ามไปยังฝั่งเมืองนครพนม ประเทศไทย แต่พวกศัตรูได้ใช้เครื่องบิน ปืนใหญ่ ปืนกล และปืนชนิดต่างๆ ยิงใส่ประชาชนและทหารของลาว ที่กำลังข้ามแม่น้ำโขงอย่างโหดร้าย สามานย์ที่สุด ทำให้เหล่านักรบกับประชาชน ต้องล้มตาย และได้รับบาดเจ็บอย่างมากมาย

เรือยนต์ที่ประธานสุพานุวง และทหารจำนวนหนึ่งนั่งข้ามไป ก็ถูกเครื่องบินของศัตรูยิงขณะอยู่กลางแม่น้ำโขง นักรบปฏิวัติลาวผู้หนึ่ง กับชาวเวียดนามอีก 2 คน ได้เอาตัวเข้าบังกระสุนให้กับประธานสุพานุวง ทำให้พวกเขาเสียชีวิตคาที่ ส่วนประธานสุพานุวงศ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครพนม

เมื่อเหล่านักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสสามารถเข้ามายึดเมืองท่าแขกได้แล้ว พวกเขาได้กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายแก่ประชาชนชาวลาวบรรดาเผ่า เป็นการกระทำที่ไม่มีวันที่จะหลงลืมได้ ด้วยการเข่นฆ่าประชาชนลาวและชาวเวียดนามผู้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการอันโหดร้าย ได้แก่

เหตุการณ์วัน “เคียดแค้น” ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาพวาด ที่ “หอไหว้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สมรภูมิรบป้องกันตัวเมืองท่าแขก 21 มีนาคม 1946”

…ฆ่าผู้หญิงท้อง ด้วยการเอากระบี่แทงที่ท้อง , จับตัวเด็กน้อยยัดใส่กระสอบป่านทั้งยังเป็นๆ มัดปากกระสอบ แล้วโยนทิ้งลงแม่น้ำโขง หรือจับส่งลงไปในครกมอง แล้วตำจนตาย , เอาปืนยิงกราดใส่ผู้คน แล้วโยนศพทิ้งลงแม่น้ำโขง…

…น้ำในแม่น้ำโขงในยามนั้น เปลี่ยนเป็นสีแดงด้วยเลือดและซากศพ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งผู้หญิงและเด็กน้อย มากกว่า 3,000 คน ถูกฆ่าตาย…

…เรือนชาน บ้านช่อง และสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง ถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก…

…ครอบครัว ผัว เมีย พ่อ แม่ และลูก ถูกพลัดพรากจากกัน ลูกกลายเป็นกำพร้ากำพลอยอย่างน่าเวทนาที่สุด…

จากการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และโหดร้าย ป่าเถื่อน ที่พวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสก่อขึ้น วันที่ 21 มีนาคม ปี 1946 จึงได้กลายเป็นวันเคียดแค้นของประชาชนลาว ต่อพวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสผู้รุกราน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น วันผู้เสียสละร่างกาย และเสียสละชีวิต เพื่อประเทศชาติ จนถึงปัจจุบันนี้

สมรภูมิสู้รบป้องกันตัวเมืองท่าแขก ไม่เพียงแต่เป็นวันเคียดแค้นของประชาชนลาวบรรดาเผ่า ต่อพวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสผู้รุกรานเท่านั้น แต่ยังเป็นวันแห่งความสามัคคี ต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ และเป็นตายร่วมกันระหว่างสองชาติ ลาว-เวียดนาม อ้ายน้อง ที่มีน้ำใจเลื่อมใส สู้รบอย่างอาจหาญ ไม่ยอมจำนน ของกองทัพและประชาชนชาวเมืองท่าแขก โดยเฉพาะการบัญชาที่เด็ดเดี่ยว เหนียวแน่น ของคณะกองบัญชาการกำลังติดอาวุธของชาวลาว

พร้อมกันนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าท่านประธานสุพานุวง ไม่เพียงแต่เป็นเชื้อเจ้า เป็นนักเรียนรู้ และวิศวกรที่โดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเป็นนักรบปฏิวัติที่กล้าแกร่ง เป็นผู้บัญชาการทหารที่มีความชำนิชำนาญในการวางแผนสู้รบ จัดวางกำลัง และเป็นผู้ที่กล้าเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติอย่างองอาจ กล้าหาญ ทั้งยังรู้ที่จะปรับปรุง สร้างกำลังพล และรู้สึกรู้สา อบรมเยาวชนให้มีจิตใจรักชาติขึ้นสู่ระดับสูง

นอกจากนี้ สมรภูมิสู้รบป้องกันตัวเมืองท่าแขก ได้กลายเป็นกระแสคลื่นให้แก่การปฏิวัติชาติ ประชาธิปไตย ของชาติลาว จนก้าวไปสู่การปลดปล่อยประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์ และได้สถาปนาเป็น สปป.ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 1975

การกระทำอันโหดร้าย ป่าเถื่อน ที่พวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ได้สร้างไว้ที่เมืองท่าแขก ถึงแม้จะผ่านมาได้ 7 ทศวรรษกว่าแล้วก็ตาม แต่ประชาชนลาวบรรดาเผ่า โดยเฉพาะประชาชนชาวเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ยังจดจำได้เป็นอย่างดี และไม่มีวันที่จะหลงลืมได้

……

วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน นำคณะเข้าสักการะ“หอไหว้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สมรภูมิรบป้องกันตัวเมืองท่าแขก 21 มีนาคม 1946” ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

สำนักข่าวสารประเทศลาว (https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1852480658289039&id=421087478095038) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน ได้นำคณะเข้าร่วมจารึกคุณงามความดีของท่านผู้นำและนักรบปฏิวัติ ที่ได้เสียสละชีวิตในภารกิจปลดปล่อยประเทศชาติ โดยเฉพาะเป็นการระลึกถึงผู้ที่เสียสละชีวิตในสมรภูมิสู้รบป้องกันตัวเมืองท่าแขก โดยได้นำช่อดอกไม้ไปวางไว้ 4 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม , อนุสาวรีย์ ประธานไกสอน พมวิหาน , อนุสรณ์สถาน ประธานสุพานุวง และ หอไหว้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สมรภูมิรบป้องกันตัวเมืองท่าแขก 21 มีนาคม 1946

เนื้อหาช่วงท้ายของข่าวเขียนว่า “เหตุการณ์วันที่ 21 มีนาคม 1946 นั้น ได้ฝังลึกอยู่ในดวงใจของประชาชนลาว และเวียดนาม จนชั่วกาลนาน”

……

เพจหนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา”สื่ออีกแห่งหนึ่งของรัฐ นำเสนอบทร้อยกรองซึ่งประพันธ์โดย“คำพุด เทบพะนม” ในโอกาสครบรอบ 76 ปี ของเหตุการณ์ 21 มีนาคม 1946 ในที่นี้ ขอถอดความโดยยังคงคำศัพท์ภาษาลาวเอาไว้ เพื่อความคล้องจองสละสลวยของถ้อยคำ ดังนี้…

ให้อภัยกี่เปอร์เซ็นต์?
(ระลึกเหตุการณ์ท่าแขก 21 มีนาคม 1946)

เจ็บอีกปานสิแตกม้าง
มะโนมุ่นมะลายเสีย
เจ็บใจจนเกือบกระอัก
ทะลักลงโลหิตย้อย
เห็นร่องรอยความแค้น
แสนระทมปานฟ้าผ่า
ภาพเทิงฝาบ่งบอกไว้
ไขแจ้งพวกหมู่มาร

ประวัติการณ์ก่อนนี้
ปีหนึ่งเก้าสี่หก
ขุมนรกเหลือเดน
เข่นประชาชนฆ่า
ท่าแขกครวญครางร้อง
โหยหวนดังสนั่น
แต่ว่ามันโหดเหี้ยม
อำมะหิตร้ายหั่นคอ

บางพ่องพร้อมนุ่งเสื้อ
สวมใส่อาภรณ์สงฆ์
ถูกพวกมันโยนลง
แม่นของปานขอนไม้
บางพ่องโยนลงส้าง
เสียงครวญครางร้องให้ช่วย
เด็กน้อยจับยัดเข้า
กะเปาขวานเสียบแทง

เห็นภาพหวนอดีตครั้ง
ผนังแต่งเติมประดับ
คับคั่งในมโนจิต
คิดอยากคืนให้สมแค้น
แม่นว่าทำลงแล้ว
แนวลาวบ่กับเกิด
แถมสิเป็นบาปช้ำ
เวรข้องขอดบ่อมาย นั้นติ

ได้แต่วางปล่อยให้
เป็นเหตุทรหด
เป็นบทเรียนเราสอน
ชาติลาวบ่ยอมย่าน
แม่นว่ามารทำร้าย
ยอมตายบ่ขายชาติ
รักผู้นำบ่บอกให้
มารรู้อยู่บ่อนใด

อันนี้ขอยกย่อง
พ้องพี่ชาวประชา
แม่นว่าวิญญานยัง
จ่งรับรองเห็นรู้
ขอให้ชูกุศลให้
ไปดีคติเกิด
พวกท่านแสนประเสริฐซั่น
ประพันธ์ไว้บ่ลายลืม

วันนี้ลาวประกาศได้
มีชัยชาติเจริญหลาย
สี่สิบปายปางปี
ปราบหมู่มารลงได้
พวกนั้นก็หากตายตามม้วย
มรณังทุกเหล่า
มีสถานะเทียมเท่าด้วย
ประชาเชื้อผู้ก่อนการณ์

ท่านผู้เป็นลูกหล้า
ชะตาเกิดรุ่นหลัง
ยังมีหรือความคิด
เคียดแคงเคืองแค้น
หรืออภัยลงแล้ว
เหลือในใจจักส่วน
เปิดขบวนเปลี่ยนข้อ
อันยังข้องขุ่นใจ แด่นา…

อ่านเพิ่มเติม

  • “พ่อกะดวด” สามัญชนลาว ผู้หาญสู้กับนักล่าอาณานิคม
  • “ผลลัพธ์” จากสงคราม “ลับ” ในลาว

  • “ล่องแจ้ง”…แปลงสนามรบเป็นแหล่งรายได้
  • สมดุล “อิทธิพล” ประเทศ “เพื่อนมิตร” ลาว