ThaiPublica > สู่อาเซียน > “พ่อกะดวด” สามัญชนลาว ผู้หาญสู้กับนักล่าอาณานิคม

“พ่อกะดวด” สามัญชนลาว ผู้หาญสู้กับนักล่าอาณานิคม

5 กุมภาพันธ์ 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พ่อกะดวด ที่มาภาพ: เพจ Art and Culture of Laos

เร็วๆ นี้ ภายในแขวงสะหวันนะเขต กำลังจะมีการประดิษฐานอนุสาวรีย์ “พ่อกะดวด” สามัญชนผู้ถูกยกย่องให้เป็นวีรชน ผู้กล้าลุกขึ้นนำมวลชน จับอาวุธเข้าต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ในยุคที่ลาวต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

“ด้วยวีรกรรมของพ่อกะดวด ซึ่งเป็นผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของลาว รัฐบาลจึงมีมติให้หล่อรูปเหมือนของพ่อกะดวดขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่แขวงสะหวันนะเขต” เป็นเนื้อความซึ่งถูกโพสต์ไว้ในเพจ Art and Culture of Laos เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

ในโพสต์เดียวกันระบุว่า การหล่อรูปเหมือนของ “พ่อกะดวด” ขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเนื้องานเพียงการตกแต่งรายละเอียดอีกเล็กน้อยเท่านั้น…

“พ่อกะดวด” มีชื่อจริงว่า “ท้าวอายี่” เป็นชาวบ้านบรูบรอง (พะลู-พะลอง) เมืองพิน แขวงสะหวันนะเขต แต่เหตุผลที่ทุกคนเรียก “ท้าวอายี่” ว่า “พ่อกะดวด” เป็นการเรียกตามชื่อของลูกชายของ “ท้าวอายี่”

บิดาของ “ท้าวอายี่” เป็นลาวเทิงชื่อ “ท้าวอายัง” ชนเผ่าบรูจากที่ราบสูงบอละเวน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมทั้งแขวงจำปาสัก สาละวัน อัตตะปือ และเซกอง ส่วนแม่ชื่อ “นางบุนถม” ชาวผู้ไท เชื้อสายขอม

ต้นแบบอนุสาวรีย์พ่อกะดวด ที่จะนำไปประดิษฐานที่แขวงสะหวันนะเขต

เมื่อเติบใหญ่ “ท้าวอายี่” ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งในบ้านเดียวกัน และมีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นหญิงชื่อ “นางกะหล่วย” คนสุดท้องเป็นชาย คือ “ท้าวกะดวด”

“ท้าว” เป็นคำนำหน้านามของผู้ชายลาวไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ส่วน “นาง” คือคำนำหน้าผู้หญิง ใช้เรียกทั้งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน

“ท้าวอายี่” เป็นคนที่มีจิตใจรักชาติ รักอิสรภาพ มีความมุ่งมั่น ขยัน อดทน รักพรรคพวกเพื่อนฝูง และเกลียดการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ

หลังจากฝรั่งเศสมายึดครองลาวเป็นเมืองขึ้นในปี 2436 “ท้าวอายี่” ได้นำพาสมัครพรรคพวกคอยซุ่มโจมตีทหารฝรั่งเศสที่มาลาดตระเวน เก็บส่วย และเกณฑ์ชาวบ้านคนลาวไปเป็นลูกหาบ เพื่อใช้งานหนักต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้างในเขตพื้นที่เมืองจำพอนอยู่เป็นระยะ

ในการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสแต่ละครั้ง “ท้าวอายี่” มักพาลูกชายคือ “ท้าวกะดวด” ไปร่วมต่อสู้ด้วย เมื่อบ่อยครั้งเข้า ชาวเมืองจำพอนจึงได้เรียก “ท้าวอายี่” ว่า “พ่อกะดวด” และชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของคนลาวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปี 2443 มีคนมาชักชวน “พ่อกะดวด” ไปร่วมประชุมลับกับกลุ่ม “ผู้มีบุญ”จากสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเขมมะลาด (ปัจจุบันคืออำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมีพระยาเขมมะลาด เดดซะนาลัก เจ้าเมืองเขมมะลาด เป็นประธาน

อนุสาวรีย์พ่อกะดวด ระหว่างกำลังสร้าง

ข้อมูลจากเว็บบล็อก “ประวัติศาสตร์เอเซีย” ระบุว่า การประชุมครั้งนั้น “พ่อกะดวด” ได้พบปะและรู้จักกับผู้วีรชนที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของลาวอีกหลายคน เช่น ท่านองค์แก้ว, พระยาขอม (องค์กมมะดำ) จากที่ราบสูงบอละเวน, ยาท่านแก้ว, องค์ล้านช้าง, องค์จักกะโลวิตุ จากเมืองจำพอนฯลฯ

ที่ประชุมขบวนการ “ผู้มีบุญ” มีมติให้แต่ละชุมชนตั้งกองกำลังใต้ดิน รวมถึงจัดหาอาวุธ เพื่อเข้าต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศส และให้พันธะร่วมกันว่าแต่ละท้องถิ่นจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ภาระกิจหลักในการต่อต้าน เรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศสบรรลุผลสำเร็จ

เดือนพฤษภาคม 2444 “พ่อกะดวด” นำกำลังเข้ายึดสำนักงานไปรษณีย์ และโจมตีค่ายทหารฝรั่งเศสในเมืองสองคอน สามารถสังหารทหารฝรั่งเศสได้หลายนาย ส่วนที่เหลือต่างพากันหลบหนีไปยังเมืองสะหวันนะเขต

หลังยึดเมืองสองคอนได้แล้ว “พ่อกะดวด” กับพรรคพวก ได้วางแผนเข้าตีและยึดเมืองสะหวันนะเขตเป็นเป้าหมายต่อไป ความเคลื่อนไหวครั้งนั้นได้สร้างความหวาดกลัวแก่ทหารฝรั่งเศสที่อยู่ในเมืองสะหวันนะเขตเป็นอย่างยิ่ง จนต้องร้องขอกำลังทหารที่ประจำอยู่ในเวียดนามมาช่วยสนับสนุน แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานกองกำลังของ “พ่อกะดวด” ได้

ภาพล่าสุดของอนุสาวรีย์พ่อกะดวด เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

วันที่ 19 เมษายน 2445 “พ่อกะดวด” นำกำลังเข้าปิดล้อมเมืองสะหวันนะเขต บุกโจมตีสำนักงานไปรษณีย์และค่ายทหารฝรั่งเศสที่อยู่ในตัวเมือง การต่อสู้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จำต้องร้องข้อกำลังเสริมและอาวุธหนักจากภาคใต้ของเวียดนามมาช่วยเหลือเพิ่มอีก

หลังจากกำลังสนับสนุนจากเวียดนามเดินทางมาถึง ได้ระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่ฐานที่มั่นของ “พ่อกะดวด” ทำให้กำลังพลของ “พ่อกะดวด” ต้องเสียชีวิตไปในครั้งนั้นมากกว่า 200 นาย(เอกสารบางฉบับบอกว่ามากกว่า 300 นาย)

เมื่อเห็นว่าเสียเปรียบด้านอาวุธ “พ่อกะดวด” จำต้องตัดสินใจถอนกำลัง และถอยร่นไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองเซโปน ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออก

ด้านฝ่ายทหารฝรั่งเศส เมื่อเห็นกำลังพลของ “พ่อกะดวด” เริ่มเพลี่ยงพล้ำ จึงได้ระดมกำลังทหารจำนวนมากรุกไล่ ติดตาม“พ่อกะดวด” กดดัน “พ่อกะดวด” ให้ต้องถอยร่นต่อไปอีกจนถึงเขตดงคำสีดา (เมืองแก้งกอก)

พ่อกะดวด (ที่ 2 จากขวา) และพลพรรค หลังถูกจับกุมโดยทหารฝรั่งเศส

ปี 2446 กองทัพฝรั่งเศสได้ปิดล้อมและโจมตีที่มั่นของ “พ่อกะดวด” อย่างหนัก ในที่สุดก็สามารถจับกุม “พ่อกะดวด” ได้ พร้อมกับกำลังพลอีก 300 นาย ทั้งหมดถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ

ศพของ “พ่อกะดวด” ถูกทิ้งลงไปในน้ำที่หนองอิง ซึ่งอยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองจำพอนกับเมืองสองคอน ถือเป็นจุดสิ้นสุดขบวนการต่อสู้ของ “พ่อกะดวด”…

ปี 2436 ฝรั่งเศสได้ใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า บีบบังคับสยามให้ยกดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือประเทศลาวในขณะนั้น ให้ตกเป็นของฝรั่งเศส

จากนั้นจนถึงปี 2497 ลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาโดยตลอด เป็นเวลานานกว่า 60 ปี

งานวิจัยเรื่อง “การสร้างสำนึกความเป็นชาติผ่านเพลงปฏิวัติลาว ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน” ของกิตยุตม์ กิตติธรสกุล ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “สังคมลุ่มน้ำโขง” ฉบับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2553 ระบุว่า ช่วงที่เป็นเจ้าอาณานิคม ฝรั่งเศสไม่มีนโยบายที่จะพัฒนาลาว ตรงกันข้าม กลับพยายามกอบโกยทรัพยากร และเอารัดเอาเปรียบลาวในทุกๆ ด้าน กดดันให้คนลาวเกิดความคับแค้นใจ จนกลายเป็นขบวนการต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในทุกแขวงทั่วประเทศ

นอกจากขบวนการของ “พ่อกะดวด” ในแขวงสะหวันนะเขตแล้ว ยังมีการต่อสู้ของท่านองค์แก้วและองค์กมมะดำ ในแขวงอัตตะปือ สาละวัน และจำปาสัก ในภาคใต้ ขบวนการของเจ้าฟ้าปาใจ ในแขวงหัวพัน การต่อสู้ของเจ้าฟ้าเมืองสิง ในแขวงหลวงน้ำทา ทางภาคเหนือ ตลอดจนการต่อสู้ของครูคำ ในเวียงจันทน์

แต่ทว่า ขบวนการต่อสู่ต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ต่างก็ถูกทำลายโดยฝรั่งเศสในที่สุด…

2 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรียของ “ท่านองค์แก้ว” สามัญชน ซึ่งถูกยกย่องขึ้นเป็นวีรชนของชาวลาวอีกผู้หนึ่ง

อนุสาวรีย์ท่านองค์แก้ว ที่เมืองละมาน แขวงเซกอง ที่มาภาพ: เพจ“เป็นเรือง เป็นลาว” ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/PhenluangPhenlao/photos/a.268309873706642/515677015636592/

อนุสาวรีย์ “ท่านองค์แก้ว” ถูกประดิษฐานไว้ที่หลักสอง บ้านใหม่หัวเมือง เมืองละมาน แขวงเซกอง

“ท่านองค์แก้ว” เป็นผู้นำการต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ราบสูงบอละเวน ในภาคใต้

“ท่านองค์แก้ว” เกิดที่บ้านจะกำ เมืองกะลึม แขวงเซกอง มีพ่อเป็นชนเผ่าเกรียงและแม่เป็นชนเผ่าอาลัก

“ท่านองค์แก้ว” เริ่มนำกำลังพล 300 นาย เข้าต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ในปี 2443 กระทั่งถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2463 ฝรั่งเศสได้ใช้อุบายทำทีขอเจรจา จน “ท่านองค์แก้ว” ยอมเดินทางมาพบด้วยตนเอง แต่แล้วฝรั่งเศสกลับนำกำลังที่ซุ่มอยู่เข้าจับกุม “ท่านองค์แก้ว”

สุดท้าย “ท่านองค์แก้ว” และกำลังพลทั้งหมดถูกประหารชีวิตอย่างเหี้ยมโหด ไม่ต่างจาก “พ่อกะดวด”…

ในประวัติศาสตร์ของลาว ได้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย มีทั้งการต่อสู้กับศัตรูภายนอก ในยุคที่ตกเป็นประเทศราชของสยาม ยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส รวมถึงเป็นสมรภูมิในสงครามลับของสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามอินโดจีน ฯลฯ

รวมถึงการต่อสู้ระหว่างคนลาวด้วยกันเอง ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทุกวันนี้ แม้ไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ด้วยข้อได้เปรียบเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศ ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้หลายประเทศต่างพยายามเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับลาว ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

ปัจจุบัน หลายเมืองของลาว มีอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ประดิษฐานอยู่ ทั้งอนุสาวรีย์ของวีรกษัตริย์ อย่าง พระเจ้าฟ้างุ่ม พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้าอนุวง พระยาศรีโคตรบอง อนุสาวรีย์ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่าง ลุงไกสอน พมวิหาน รวมถึงอนุสาวรีย์ของสามัญชน ผู้เป็นวีรชนอย่าง “ท่านองค์แก้ว” หรือ “พ่อกะดวด”

อนุสาวรีย์เหล่านี้ ได้ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นใหม่ของลาวในยุคปัจจุบัน ได้มีโอกาสเรียนรู้บทเรียนความเจ็บปวดในอดีต ว่ากว่าที่ลาวจะมาเป็นลาวได้ในทุกวันนี้ ต้องผ่านประสบการณ์ใดๆ มาแล้วบ้าง

อย่างน้อย อนุสาวรีย์เหล่านี้ก็ได้เตือนใจคนรุ่นใหม่อีกหลายคน พอช่วยป้องกันไม่ให้คับแค้นใจแบบที่เคยประสบในอดีต บังเกิดขึ้นมาได้อีก ในอนาคต…