ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-28 กันยายน 2567
อินโดนีเซียยื่นเป็นภาคี CPTPP อย่างเป็นทางการ
อินโดนีเซียตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนด้าน AI
สมาชิกอาเซียนหารือยกระดับ FTA กับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
เวียดนามตั้งเป้ารายได้จากอุตสาหกรรมชิป 25 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573
บริษัทเวียดนาม-สหรัฐฯ ทำ MoU ด้านพลังงาน-AI-ดาต้าเซ็นเตอร์
มาเลเซียเปิดตัวกรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน
อินโดนีเซียยื่นเป็นภาคี CPTPP อย่างเป็นทางการ
อินโดนีเซียได้ยื่นอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership(CPTPP) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของการส่งออก
รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจนายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต กล่าวว่า กระทรวงฯได้ส่งหนังสือขอเข้าเป็นภาคีไปยังนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศผู้รับมอบสัตยาบันและเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา CPTPP
“ตอนนี้ ขั้นตอนที่อินโดนีเซียดำเนินการ โดยเฉพาะกระบวนการเข้าร่วม OECD ของอินโดนีเซียที่เสร็จแล้ว มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างในประเทศและเปิดตลาดสำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย” นายฮาร์ตาร์โตกล่าวในการแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567
CPTPP เป็นข้อตกลงการค้าที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งอำนวยความสะดวกในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ครอบคลุมทุกด้านของเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนและการค้าสินค้าและบริการ
รัฐมนตรีอธิบายว่า ข้อตกลง CPTPP เป็นการปรับจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ซึ่งแตกต่างจาก TPP ตรงที่มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กล่าวเป็นการพัฒนาของหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งไม่เคยให้สัตยาบันมาก่อนเนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกา
CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ขณะที่การเข้าเป็นภาคของอังกฤษจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธันวาคม 2567
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ยังมีอีก 7 ประเทศ รวมถึงจีนและคอสตาริกา ที่ยื่นเข้าเป็นภาคี CPTPP
นายฮาร์ตาร์โตกล่าวว่ากระบวนการภาคยานุวัติต้องใช้เวลา โดยชึ้นไปที่กระบวนการภาคยานุวัติ CPTPP ของสหราชอาณาจักรที่ใช้เวลา 2.5 ปี
การเป็นภาคี CPTPP ของอินโดนีเซียคาดว่าจะเปิดตลาดใหม่ในประเทศต่างๆ ซึ่งนายฮาร์ตาร์โตเล็งเป้าหมายไปที่ตลาดละตินอเมริกา เช่น เม็กซิโกและเปรู นอกจากนี้ยังมีมุมมองในทางบวกว่าภาคี CPTPP จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียได้ถึงร้อยละ 10
“การนำเข้าและส่งออกจะเพิ่มขึ้น และในที่สุดจะเพิ่มการค้าระหว่างประเทศภาคี CPTPP” การเป็นภาคี CPTPP คาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของอินโดนีเซียในเวทีโลกในฐานะประเทศอาเซียนกลุ่มแรกในกลุ่ม G20 ที่จะกลายเป็นภาคี CPTPP อย่างเป็นทางการ
นายฮาร์ตาร์โตกล่าวว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้ผลักดันให้อินโดนีเซียเข้าร่วม CPTPP และการตัดสินใจยังได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า
อินโดนีเซียประกาศความตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ในเดือนพฤษภาคม โดยหวังว่าจะดึงดูดการลงทุนด้วยการขยายการเข้าถึงตลาดส่งออก
อินโดนีเซียภายใต้การนำของโจโกวีมีประชากรอายุน้อยและกำลังเติบโต ทำให้ต้องดำเนินการเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างแข็งขัน ฝ่ายบริหารโจโกวีตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่ ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าภายในปี 2588 ซึ่งจะเป็นช่วงครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งอิสรภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ฝ่ายบริหารของโจโกวี เรียกว่า “Indonesia Emas” หรือ Golden Indonesia
เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางเศรษฐกิจในประเทศ จึงได้ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าพหุภาคี ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีภาคีได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ RCEP มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2566
ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกาศว่าจะเปิดการเจรจาภาคยานุวัติกับอินโดนีเซียด้วย หลังจากได้รับการอนุมัติจากสมาชิก 38 รายของกลุ่ม แม้เกณฑ์สมาชิกของ OECD จะเข้มงวด และขัดกับนโยบายกีดกันทางการค้าที่ทำให้โจโกวีครองหน้าที่บริการได้ถึงทศวรรษ หากได้รับการยอมรับ อินโดนีเซียก็จะกลายเป็นประเทศแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าสู่”สโมสรประเทศร่ำรวย” “rich country club.”
การยื่นเข้าเป็นภาคี CPTPP สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของอินโดนีเซีย ที่จะไม่ละทิ้งความพยายามในการแสวงหาการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสนับสนุนรูปแบบทางการเมืองที่ครอบงำในปัจจุบัน แม้เกณฑ์การเป็นสมาชิกของ CPTPP อาจมีความเข้มงวดน้อยกว่าเกณฑ์ของ OECD แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกับองค์ประกอบบางประการของนโยบายเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะใช้อำนาจของรัฐ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงความซับซ้อนของการอุดหนุนพลังงาน และนโยบายอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการขุดและการแปรรูปนิกเกิล
อย่างไรก็ตาม หากได้รับการเข้าเป็นภาคี สมาชิกภาพจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของอินโดนีเซียในเวทีโลกในฐานะประเทศแรกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในกลุ่ม G-20 ที่จะมาเป็นภาคี CPTPP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยและฟิลิปปินส์ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน สมาชิกทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเหล่านี้รวมกันประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ รวมถึง 6 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด
อินโดนีเซียตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนด้าน AI
รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ นายบูดี อารี เซติอาดี ได้เชิญชวนนักลงทุนในภาคข้อมูล การสื่อสาร และเทคโนโลยี (ICT) ให้ผลักดันให้ อินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดยให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของ AI ต่อเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565
“จุดหมายปลายทางการลงทุนภาคเอกชนสำหรับภาค AI ยังคงอยู่ในสหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาคดิจิทัลยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน โดยการลงทุนในภาค ICT เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้เล่นในระบบนิเวศเทคโนโลยีดิจิทัลระดับประเทศคว้าโอกาสในการพัฒนา AI ให้เป็นนวัตกรรมและโซลูชัน
ในอินโดนีเซีย ภาคดิจิทัลดึงดูดการลงทุนได้ประมาณ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
ศักยภาพของตลาดคาดว่าจะสูงถึงระหว่าง 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 โดยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอีคอมเมิร์ซ การเดินทางออนไลน์ การขนส่ง อุตสาหกรรมอาหาร และสื่อออนไลน์ Setiadi อธิบาย
“การมีส่วนร่วมของ AI ต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2573 คาดว่าจะสูงถึง 366 พันล้านดอลลาร์ ภาคส่วนนี้จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในอนาคต”
ศักยภาพที่สดใสแสดงให้เห็นว่า AI เป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างดีและได้รับความไว้วางใจจากภาคส่วนต่างๆ
“73% ของนักพัฒนา AI ทั่วโลก 700 รายเชื่อว่า AI จะถูกนำมาใช้โดยองค์กรของพวกเขาในอีกสองปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า AIจะนำมาซึ่งโซลูชั่นสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการศึกษา สุขภาพ บริการสาธารณะ การเงิน และแรงงาน นอกจากนี้ AI ซึ่งเป็นตัวเร่งในด้านดิจิทัล ยังจะช่วยสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล
นายเซติอาดีกล่าวว่า AI ยังช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการดิจิทัล ผ่านการให้ข้อมูลและบริการสาธารณะที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล
“นอกจากนี้ AI ยังมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจผ่านระบบอัตโนมัติและนวัตกรรม ช่วยให้ MSME สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล” อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดการดับความท้าทายหลายด้านในการพัฒนา AI เพื่อให้อินโดนีเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับ AI
ความท้าทายเหล่านี้รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สม่ำเสมอและเงินทุนที่จำกัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนา AI
“นอกจากนี้ การขาดการถ่ายทอดความรู้จากประเทศที่กำลังพัฒนา AI ยังเป็นข้อจำกัดการวางแนวธรรมาภิบาลด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ”
สมาชิกอาเซียนหารือยกระดับ FTA กับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
สมาคมธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐจากประเทศสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการหารือเกี่ยวกับบทบัญญัติของเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area :AANZFTA) และประโยชน์ที่จะได้รับจากการยกระดับ AANZFTA
การหารือเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีมีขึ้นในระหว่างการประชุมธุรกิจระดับภูมิภาคของ AANZFTA ซึ่งจัดขึ้นที่เวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของลาวร่วมเป็นเจ้าภาพ
ที่ประชุมได้แบ่งปันผลของการประชุมธุรกิจแห่งชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้บทบัญญัติ FTA และสร้างความเข้าใจถึงอุปสรรคทางการค้าในภาคเอกชน
มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คนที่เป็นตัวแทนของภาครัฐและเอกชนจากสมาชิก AANZFTA ทั้งหมดเข้าร่วมการประชุม การหารือมีหลายหัวข้อ เช่น การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเขตการค้าเสรีและความท้าทายและโอกาสที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและกลุ่มสำคัญอื่นๆ เกี่ยวกับการยกระดับ AANZFTA ได้รับการหยิบยกขึ้นมา รวมทั้งมีการเสนอข้อเสนอแนะเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการยกระดับ AANZFTA ปี 2566 และมีการหารือถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
นายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของลาว กล่าวว่า ลาวดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “Increasing ASEAN Connectivity and Resilience”
“ประเทศอาเซียนและประเทศที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกัน เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระยะยาวและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ในปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียมีมูลค่า 94.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการค้ารวมของอาเซียน ขณะที่การค้าระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์มีมูลค่า 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด คของอาเซียน”
ในช่วงเดียวกัน มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของออสเตรเลียในประเทศสมาชิกอาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนในปี 2566
ส่วนมูลค่า FDI จากนิวซีแลนด์ในประเทศสมาชิกอาเซียนสูงถึง 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของมูลค่า FDI โดยรวมในอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว
นายมะไลทองกล่าวว่า เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนเหล่านี้จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น หลังจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ฉบับแก้ไข
เวียดนามตั้งเป้ารายได้จากอุตสาหกรรมชิป 25 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573
เวียดนามตั้งเป้าหมายรายได้จากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไว้ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศจนถึงปี 2573 และวางวิสัยทัศน์ไปจนถึงปี 2593 โดยรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 50 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงปี 2573-2563 และ 100 พันล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2583 ถึง 2593
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เวียดนามจะใช้ยุทธศาสตร์ใน 3 ระยะ โดยระยะแรกระหว่างปี 2567-2573 มุ่งเน้นไปที่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
เวียดนามจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และมุ่งสู่การก้าวสู่หนึ่งในฮับด้านแรงงานชิปของโลก
นอกจากนี้ยังจะเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัย การออกแบบ การผลิต บรรจุภัณฑ์ และการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงเวลาที่วางไว้
ในระยะแรกคาดว่าจะมีบริษัทออกแบบชิปอย่างน้อย 100 แห่ง โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 1 แห่ง และโรงงานบรรจุและทดสอบชิป 10 แห่ง
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศร้อยละ 10-15 และมีวิศวกร 50,000 คน
เวียดนามจะมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกในช่วงระยะที่สองของยุทธศาสตร์ระหว่างปี 2573 ถึง 2583
โดยจะจัดตั้งเครือข่ายของบริษัทออกแบบชิปอย่างน้อย 200 แห่ง โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 2 แห่ง และโรงงานบรรจุและทดสอบชิป 15 แห่ง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมส่งเสริมความเป็นอิสระในด้านเทคโนโลยีและการผลิตการออกแบบชิป
ระยะที่สองมีเป้าหมายเพื่อให้เวียดนามได้รับเงินหมุนเวียน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากอุตสาหกรรมชิป โดยมีมูลค่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 20 และมีพนักงานด้านเทคโนโลยี 100,000 คน
ในช่วงสุดท้ายของยุทธศาสตร์ เวียดนามต้องการเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่พัฒนาแล้ว
รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะจัดสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการมีบริษัทออกแบบอย่างน้อย 300 แห่ง โรงงานผลิตชิป 3 แห่ง และโรงงานบรรจุและทดสอบ 20 แห่งในช่วงปี 2583-50 ให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ด้วยความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ เวียดนามจะสร้างรายได้ 100,000 ล้านดอลลาร์จากอุตสาหกรรมต่อปี โดยมีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 เปอร์เซ็นต์
ในระยะนี้จะได้เห็นระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในเวียดนาม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงนี้ รัฐบาลได้กำหนดภารกิจและแนวทางแก้ไขที่มุ่งขยายอุตสาหกรรมชิปในปีต่อๆ ไป โดยจะมุ่งเน้นไปที่ชิปเฉพาะด้าน อิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาบุคลากรด้านชิป ขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้มีความสามารถและนักลงทุนต่างชาติ
รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติสำหรับการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญสำหรับอุตสาหกรรมชิปที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะเพิ่มเงินทุนสำหรับกิจกรรมการผลิตและวิจัยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิปอีกด้วย รวมไปถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
โครงการริเริ่มอื่นๆ ได้แก่ การดำเนินการตามกฎระเบียบเกี่ยวกับการบำบัดของเสียที่เป็นพิษในระหว่างการสกัดทรัพยากรและการผลิตชิป การสนับสนุนความสามารถในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญของโครงการสีเขียว
บริษัทเวียดนาม-สหรัฐฯ ทำ MoU ด้านพลังงาน-AI-ดาต้าเซ็นเตอร์
บริษัทของเวียดนามและสหรัฐฯลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อความร่วมมือในด้านพลังงาน ปัญญาประดิษฐ์(AI) และดาต้าเซ็นเตอร์รัฐบาลเวียดนามเปิดเผยการลงนามในบันทึกความเข้าใจมีขึ้นในเวทีธุรกิจในสหรัฐฯ รัฐบาลระบุในแถลงการณ์ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวครอบคลุมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานที่ลงนามโดยบริษัทน้ำมันของรัฐ PetroVietnam กับ Kellogg Brown & Root, ความร่วมมือ LNG ระหว่างบริษัทลูก PTSC ของ PetroVietnam และ Excelerate Energy ตลอดจน AI และการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ระหว่าง Sovico Group และ Supermicro
สายการบินเวียตเจ็ทของเวียดนาม ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด กล่าวว่า ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์กับ Honeywell Aerospace Technologies บริษัทสหรัฐฯ จะให้บริการด้านการบินและเทคนิคการบินแก่ฝูงบินของเวียตเจ็ท
ประธานาธิบดีโต เลิ่ม ของเวียดนามได้เข้าร่วมเวทีธุรกิจด้วย และมีกำหนดพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนิวยอร์ก
ประธานาธิบดีเลิ่มกล่าวว่า มีหลายด้านที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันได้ และเวียดนามหวังว่าสหรัฐฯ จะกลายเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด และหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมรับรองเวียดนามในฐานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในเร็วๆ นี้
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะยังคงจัดเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่กลไกตลาด หากเวียดนามยื่นอีกครั้ง หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ จะใช้เวลาหลายเดือนในการตัดสินใจ
เวียดนามพยายามให้ได้การเลื่อนสถานะขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาเป็นเวลานาน เพราะจะช่วยจะลดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ในลักษณะการลงโทษ ที่เรียกเก็บจากเศรษฐกิจที่ไม่ใช่กลไกตลาด ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกด้านจะมาจากภาครัฐ
มาเลเซียเปิดตัวกรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน
วันที่ 25 กันยายน 2567 กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (Miti) มาเลเซียได้เปิดตัวกรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปโมเดลอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งแนวทางปฏิบัติในการเติบโตสีเขียวตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิต
เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรุล อับดุล อาซิส รัฐมนตรี กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอบการทำงานนี้เน้นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปที่แต่ละช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Extended Producer Responsibility:EPR) ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ผลิตในประเทศจะรับผิดชอบต่อวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ของตนจนกว่าจะถูกกำจัดในที่สุด
“เป้าหมายของ EPR ไม่ใช่การลงโทษผู้ผลิต แต่เพื่อให้ผู้ผลิตรวมต้นทุนของการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้นไปพร้อมกัน และเพื่อให้บรรลุความเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน กระทรวงฯต้องการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมและผู้ผลิตทุกรายคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินงาน และใช้แนวทางที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน”
เต็งกูซาฟรุลกล่าวว่า กรอบนโยบายมีความสำคัญด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซีย จากฐานปัจจุบันที่ 24% แต่ผ่านวิถีทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ประการที่สอง คือเพื่อให้แน่ใจว่าภาคส่วนนี้จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกจาก 20% ในปัจจุบัน ตามการรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติของประเทศ
เต็งกูซาฟรุลกล่าวว่า กรอบนโยบายนี้ออกมา เพื่อเสริมเป้าหมายที่วางไว้สูงของแผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030(New Industrial Master Plan 2030) แผนงานการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งชาติ( National Energy Transition Roadmap) กรอบอุตสาหกรรมแห่งชาติสำหรับ ESG(National Industry Framework for ESG) และยุทธศาสตร์การลงทุนสีเขียว(Green Investment Strategy)
“เราจะมุ่งมั่นที่จะแสวงหาการลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตซ้ำและการตกแต่งใหม่ การจัดการขยะอุตสาหกรรม และการรีไซเคิลขั้นสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผลิตอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืน ซึ่งเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับอุตสาหกรรมของเรา”
รัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงฯหวังที่จะดึงดูดการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการนำกรอบนโยบายนี้ไปใช้และช่วยให้เศรษฐกิจสีเขียวเติบโตได้
ในระดับภูมิภาค เต็งกูซาฟรุลกล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจสูญเสีย GDP มากถึง 11% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากล้มเหลวในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น จากการที่มาเลเซียเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนภายในสิ้นปี กระทรวงฯวางแผนที่จะเพิ่มแรงผลักดันให้กับความพยายามด้านความยั่งยืนของภูมิภาคนี้ แต่ก็คำนึงถึงขีดความสามารถที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศไปด้วย
“การเร่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศในอาเซียน และการนำกรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างรวดเร็ว จะช่วยกำหนดแนวทางสำหรับเป้าหมายที่วางไว้”