ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ทางรถไฟลาว-เวียดนามเริ่มก่อสร้างพฤศจิกายนนี้

ASEAN Roundup ทางรถไฟลาว-เวียดนามเริ่มก่อสร้างพฤศจิกายนนี้

20 มีนาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 มีนาคม 2565

  • ทางรถไฟลาว-เวียดนามเริ่มก่อสร้างพฤศจิกายนนี้
  • ฟิลิปปินส์เปิด 12 เหมืองขุดนิกเกิลปีนี้
  • กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเสื้อผ้า-รองเท้า
  • อินโดนีเซียกลับลำยกเลิกห้ามส่งออกปาล์มหันขึ้นภาษีแทน
  • RCEP มาเลเซียมีผล 18 มีนาคม
  • McLaren ซูเปอร์คาร์อังกฤษบุกเวียดนาม
  • กรุงศรีเปิดตัวดิจิทัลแบงก์กิ้งบุกตลาดฟิลิปปินส์
  • ทางรถไฟลาว-เวียดนามเริ่มก่อสร้างพฤศจิกายนนี้

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Work53.php

    การก่อสร้าง ทางรถไฟเชื่อมเมืองเวียงจันทน์กับท่าเรือหวุงอ๋างในจังหวัดห่าติ๋ญตอนกลางของเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้

    ทางรถไฟซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเส้นทางที่รัฐบาลลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนา จะช่วยให้ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลสามารถเข้าถึงท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นท่าเรือที่เป็นไปได้ที่ใกล้เวียงจันทน์มากที่สุด

    การศึกษาความเป็นไปได้ของทางรถไฟระยะทาง 554 กิโลเมตรเพิ่งเสร็จสมบูรณ์ นายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม รายงานต่อนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว

    เส้นทางรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link ที่ PetroTrade ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ PTL Holding Company Limited ได้รับไฟเขียวให้ร่วมมือกับรัฐบาลลาวและเวียดนามในการพัฒนา

    ผู้พัฒนาลาวกำลังจะส่งผลการศึกษาความเป็นไปได้ทางรถไฟในส่วนของลาวไปยังกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งเพื่อขออนุมัติ

    ในขณะเดียวกัน มีการว่าจ้างรัฐวิสาหกิจของเวียดนามให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในส่วนเวียดนาม การศึกษานี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน และจากนั้นจะถูกส่งไปสภาแห้งชาติเวียดนามเพื่อขออนุมัติในกลางปีนี้

    ก่อนหน้านี้ การศึกษาความเป็นไปได้ของรถไฟที่เสนอ ดำเนินการโดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (KOICA) ซึ่งได้ผลว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการได้จริง

    นายจันทอน ซึ่งเป็นรองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว กล่าวว่า บริษัทของเขาใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ในการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมในเส้นทางอื่นตามการสำรวจพื้นที่ โดยได้นำผลการศึกษาที่จัดทำโดย KOICA มาประมวลร่วมด้วย

    รัฐบาลเวียดนามได้เสนอแนะ FLC Group ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 องค์กรที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามและผู้ดำเนินการ Bamboo Airways เป็นพันธมิตรกับลาวในการผลักดันโครงการรถไฟให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการลาวและเวียดนามคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงร่วมทุนภายในสิ้นเดือนนี้ ในระหว่างการเยือนลาวตามแผนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม และคาดว่าจะลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการในเดือนหน้า

    ในขั้นต้น ผู้พัฒนาหวังที่จะสร้างส่วนของทางรถไฟที่วางแผนไว้ซึ่งเชื่อมอำเภอมหาไซในแขวงคำม่วนกับท่าเรือ หากการเตรียมการเป็นไปตามแผน “พิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มการก่อสร้างจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน” นายจันทอนรายงานประธานสภาแห่งชาติลาว

    “หากไม่มีปัญหาในส่วนของเวียดนาม จะใช้เวลาสองปีครึ่งในการก่อสร้างทางรถไฟจากมหาไซไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง”

    ดร.ไชสมพอน ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการนี้ในระหว่างการเยี่ยมชมท่าบกท่านาแล้งและเยี่ยมชมกิจการ เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์คในเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Lao Logistics Link

    ทางรถไฟจะเชื่อมตลาดขนส่งสินค้าของไทยและเมียนมาโดยตรงกับท่าเรือหวุงอ๋าง ซึ่งลาวถือหุ้นใหญ่ รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบให้ลาวถือหุ้น 60% ในท่าเรือ

    Lao-Vietnam Vung Ang Port State Enterprise ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 51% และ PetroTrade ถือหุ้น 49% คาดว่าจะบริหารบริหารท่าเรือในเดือนกรกฎาคม

    ท่าเรือนี้อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการเป็น gateway ระหว่างเวียดนามกลาง ลาวกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

    การขนส่งสินค้าผ่านท่าบกนี้ ครอบคลุมจากภาคอีสานของไทยไปยังตลาดใหญ่ของเอเชีย เช่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง ถือเป็นทางเลือกที่ประหยัดต้นทุน ในขณะเดียวกัน สินค้าขาเข้ามายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้มีจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นอกจากนี้ ทางรถไฟยังถูกเชื่อมโยงกับการรถไฟลาว-จีน และต่อไปยังเครือข่ายรถไฟที่เชื่อมต่อถึงกัน ที่สามารถเข้าถึงตลาดยุโรปได้

    ฟิลิปปินส์เปิด 12 เหมืองขุดนิกเกิลปีนี้

    ที่มาภาพ : https://www.bworldonline.com/a-dozen-new-mines-to-begin-operations-this-year-mostly-nickel/

    สำนักงานเหมืองแร่และธรณีศาสตร์ (Mines and Geosciences Bureau:MGB)ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่า ในปีนี้จะมี เหมืองโลหะใหม่ประมาณ 12 แห่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิกเกิล ที่มีแนวโน้ม “สดใส” เนื่องจากมีราคาสูง

    MGB ยังระบุในรายงานอีกว่า การผลิตนิกเกิลของฟิลิปปินส์ในปีที่แล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 386,359 ตัน สูงกว่าการผลิตในปีก่อนหน้า 17% และสูงที่สุดในรอบ 6 ปี

    หลังจากที่อินโดนีเซียสั่งห้ามส่งออกตั้งแต่ปี 2020 ฟิลิปปินส์เป็นซัพพลายเออร์แร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดให้กับจีน และพยายามพัฒนาห่วงโซ่อุปทานครบวงจรซึ่งรวมถึงการแปรรูปโลหะที่ใช้ในเหล็กกล้าและแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    แนวโน้มระยะกลางสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่สดใส “เว้นแต่ว่าสงครามในยูเครนจะลามมาถึงเอเชียและทำให้การค้าหยุดชะงัก” วิลเฟรโด จี. มอนคาโน ผู้อำนวยการ MGB กล่าว

    มอนคาโนหวังว่า รัฐบาลใหม่จะสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีโรดริโก อาร์. ดูแตร์เต ซึ่งจะหมดวาระในเดือนมิถุนายน รวมถึงการยกเลิกการห้ามทำเหมืองเปิดสำหรับทองแดง ทองคำ เงิน และแร่ที่มีคุณสมบัติเชิงซ้อน ที่มีผล 4 ปี

    ในขณะที่ผู้ขุดนิกเกิลในประเทศรายเดิม “มีกำลังการผลิตที่เหมาะสมอยู่เสมอ” การเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่จะเพิ่มผลผลิตแร่ในประเทศ” นายดังเต้ อาร์บราโว ประธานของ Global Ferronickel Holdings Inc. ซึ่งเป็นผู้ขุดนิกเกิลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศกล่าว

    แม้ราคาแร่สูง แต่นายบราโวกล่าวว่า ยังคงมีความท้าทายอยู่สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งขณะนี้แบกรับภาระจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การขาดแคลนกำลังคน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และอาจรวมถึงค่าขนส่งที่สูงขึ้น

    สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่าสัญญาซื้อขายอายุ 3 เดือนนิกเกิลลดลง 12% ในเช้าวันศุกร์ไปถึงราคาฟลอร์จากแรงเทขายที่ต่อเนื่องใน London Metal Exchange (LME) หลังจากเปิดเทรดที 36,915 ดอลลาร์ต่อตัน

    ก่อนหน้านี้วันที่ 8 มีนาคมราคานิกเกิลเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงทะลุ 100,000 ดอลลาร์ต่อตัน หลังจากที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน China’s Tsingshan Holding Group ซื้อในปริมาณมาก ส่งผลให้มีการหยุดซื้อขายชั่วคราว เพราะทำให้ราคายิ่งปรับขึ้นไปอีกจากที่สูงอยู่แล้วด้วยผลสงครามรัสเซียและยูเครน

    จากนั้นในวันพุธ LME พยายามที่จะเปิดซื้อขายนิกเกิลอีกครั้ง แต่ “ข้อผิดพลาดของระบบ” ทำให้การซื้อขายได้ไม่มากนักและต่ำกว่าราคาฟลอร์รายวันที่กำหนดใหม่ และตลาดระงับการซื้อขายอีกครั้ง

    ในวันพุธ LME กำหนดช่วงการซื้อขายขึ้นลงอยู่ที่ 5% ขยายเป็น 8% ในวันพฤหัสบดี และขยายอีกครั้งเป็น 12% ใวันศุกร์

    กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเสื้อผ้า-รองเท้า

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501044129/cambodia-garment-footwear-and-travel-goods-gft-sector-development-strategy-2022-2027-to-be-launched-monday/

    ในวันจันทร์นี้ (21 มี.ค.) กัมพูชาจะเปิดตัว ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวกับเดินทาง(Garment, Footwear and Travel Goods :GFT)ปี 2565-2570

    นายอัน พรมณีโรท รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการเงินจะเป็นประธานในพิธีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้แทนจากกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้อง สถานทูต พันธมิตรด้านการพัฒนาภาคประชาสังคม สมาคมธุรกิจ และภาคเอกชนเข้าร่วม

    กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังระบุว่า รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเตรียมและดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวกับเดินทางของกัมพูชา (GFT) พ.ศ. 2565-2570” เพื่อกำหนดแนวทาง วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งมาตรการเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมนี้ให้สอดคล้องกับบริบทที่กัมพูชากำลังก้าวไปสู่สถานการณ์ที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส ตลอดจนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิภาคและระดับโลก

    โดยรวมแล้ว วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์นี้คือการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการปรับตัว และมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์ราคาสูง และมีคุณลักษณะที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงและสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยพื้นฐาน

    อินโดนีเซียกลับลำยกเลิกห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มหันขึ้นภาษีแทน

    ที่มาภาพ: https://www.arabnews.com/node/2039176/business-economy

    เมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.)รัฐมนตรีการค้าของประเทศอินโดนีเซียเปิดเผยว่า จะยกเลิกข้อห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม แต่จะเพิ่มภาษีส่งออกแทน ซึ่งเป็นการปรับมาตรการในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันพืชรายใหญ่ที่สุดของโลกช็อกตลาดด้วยการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดขึ้น

    นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว อินโดนีเซียได้กำหนดให้บริษัทต่างๆ นำน้ำมันปาล์มดิบหรือโอเลอีนที่วางแผนจะส่งออกในสัดส่วน 30% มาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 20% ที่กำหนดไว้ในเดือนมกราคม ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่าตลาดภายในประเทศ (DMO) เพื่อให้อุปทานในประเทศมีเพียงพอท่ามกลางการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร

    ในการชี้แจงต่อรัฐสภา นายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีการค้ากล่าวว่า จะยกเลิก DMO และได้เห็นชอบกับอนุมัติระเบียบไปแล้วในวันพฤหัสบดี

    นายลุตฟีกล่าวว่า แต่จะเพิ่มเพดานภาษีและอากรส่งออกปาล์มแทน จากมูลค่ารวมกันสูงสุดที่ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันเป็น 675 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจะใช้อัตราภาษีน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) สูงสุดเมื่อราคาสูงไปถึง 1,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน

    “นี่คือกลไกของตลาด และหวังว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านอุปทานให้กับประชาชนได้”

    ราคาน้ำมันปาล์มดิบโลก ซึ่งอินโดนีเซียนำมาใช้สำหรับน้ำมันประกอบอาหาร ได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการผลิตที่น้อยจากผู้ผลิตชั้นนำทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย

    อินโดนีเซียผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่จำกัดการส่งออกเป็นครั้งแรก หลังจากที่ราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารซึ่งทำจากน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดแล้ว เพิ่มขึ้นมากกว่า40% เมื่อต้นปี ท่ามกลางราคาโลกที่พุ่งสูงขึ้น

    แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะเพิ่มอุปทานในประเทศ แต่ผู้บริโภคบ่นว่าไม่มีน้ำมันสำหรับประกอบอาหารจำหน่ายตามร้านค้าปลีกหลายแห่งทั่วประเทศ

    ในสัปดาห์นี้รัฐบาลยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารแบบบรรจุหีบห่อ ขณะที่ให้เงินอุดหนุนน้ำมันประกอบอาหารแบบขายส่ง

    นายลุตฟีอธิบายถึงการตัดสินใจว่า มีความแตกต่างด้านราคาระหว่าง DMO กับราคาในตลาดที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด และอินโดนีเซียได้พิจารณาออกใบอนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์สกัด 3.5 ล้านตันในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

    RCEP มาเลเซียมีผล 18 มีนาคม

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-says-rcep-regional-trade-pact-comes-force

    ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)มี ผลบังคับใช้สำหรับมาเลเซียในวันศุกร์ (18 มีนาคม) ซึ่งเป็นการปูทางประเทศในการรวมเข้ากับข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (FTA) ที่เกี่ยวข้องกับ 15 ประเทศและมีประชากรรวมกันทั้งหมดกว่า 2.2 พันล้านคน

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (MITI) กล่าว RCEP เป็นก้าวสำคัญในการเติบโตและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างสดใส

    ระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ (rule-based multilateral trading System) จะช่วยให้มาเลเซียได้รับผลบวกจากระบบนิเวศการค้าและการลงทุนระดับโลก โดยได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรระหว่างสมาชิกประมาณ 90%

    “ข้อดีอื่นๆ ที่จะได้รับ ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าเพิ่มเติม รวมถึงการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(non-tariff barriers) การอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เพิ่มขึ้น การขจัดการกีดกันภาคบริการ รวมถึงการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผ่านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลและอีคอมเมิร์ซ” กระทรวงระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์

    จากรายงานของ MITI การจัดตั้ง RCEP ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของการค้าโลก กระตุ้นการค้าภายในภูมิภาคขึ้นเกือบ 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (176.55 พันล้านริงกิต)

    “ในกลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่ามาเลเซียจะเป็นผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่ที่สุดของข้อตกลงในแง่ของการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 200 ล้านดอลลาร์” รายงานระบุ

    รายงานระบุว่า RCEP ซึ่งเป็นส่วนเสริมวาระการพัฒนาขององค์การการค้าโลก จะส่งเสริมการยอมรับบทบาทของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงกิจการขนาดเล็ก ในการมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และนวัตกรรม

    “จุดเด่นคือ ข้อกำหนดของการปฏิบัติพิเศษและแตกต่างสำหรับสมาชิกที่พัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน” กระทรวงระบุ

    MITI ระบุว่า ในขณะที่โลกค่อยๆ ฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ RCEP เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทั่วทั้งภูมิภาคลงอย่างเห็นได้ชัด

    นอกเหนือจากการเสริมสร้างเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว รายงานระบุอีกว่า RCEP จะจุดประกายให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจในประเทศเมื่อเข้าสู่ระบบนิเวศการค้าโลก

    “ประชาคมธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก ควรใช้ประโยชน์จากโอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น และการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มาจากข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่นี้”

    RCEP ถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการลงนามใน 15 ประเทศ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 หลังจากผ่านการเจรจาถึง 31 รอบในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

    ประเทศสมาชิกประกอบด้วย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

    โดยรวมแล้วทั้ง 15 ประเทศมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลกและ GDP โลก

    McLaren ซูเปอร์คาร์อังกฤษบุกเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/car-marker-mclaren-to-enter-vietnam-4440541.html

    ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอังกฤษ McLaren จะเปิดโชว์รูมแห่งแรกของบริษัทในเขต 1 ของนครโฮจิมินห์ในเวียดนาม โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

    เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทประกาศว่า S&S Automotive ซึ่งตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตในเวียดนาม S&S Automotive ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์หรูยี่ห้อโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นแบรนด์รถหรูร่วมชาติของ McLaren

    เวียดนามเป็นตลาดที่ 41 ของ McLaren โดยมีตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต ก่อนหน้านี้ รถยนต์ของ McLaren ได้เผยโฉมในเวียดนามผ่านเกรย์ มาร์เก็ตแล้ว

    สำหรับแบรนด์หรูอื่นที่เ้ข้าเวียดนาม ได้แก่ Ferrari, Lamborghini และ Aston Martin

    ในปี 2019 Mike Flewitt ซีอีโอของ McLaren กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ได้พยายามหาตัวแทนจำหน่ายในเวียดนามและฟิลิปปินส์

    McLaren ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 เป็นบริษัทย่อยของ McLaren Group สำนักงานใหญ่และโรงงานประกอบด้วยตนเองตั้งอยู่ที่เมือง Woking ใน Surrey County ประเทศอังกฤษ

    นอกจากซูเปอร์คาร์ ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก บริษัทยังผลิตรถสปอร์ตที่มีระดับราคาย่อมลงมาอีกด้วย

    กรุงศรีเปิดตัวดิจิทัลแบงก์กิ้งบุกตลาดฟิลิปปินส์


    เมื่อวันที่ 15 มีนาคม กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เดินหน้าตอกย้ำการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) นำดิจิทัลแบงก์กิ้งบุกตลาดประเทศฟิลิปปินส์ ผ่าน เอสบี ไฟแนนซ์ (SB Finance) ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกรุงศรีและซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (SBC) สถาบันการเงินชั้นนำในประเทศฟิลิปปินส์ ล่าสุดเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชั่นใหม่ ซึ่งมาพร้อมดิจิทัลเลนดิ้งเต็มรูปแบบ ให้ลูกค้าชาวฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

    นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจ​องค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงตลาดในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด ในปีที่ผ่านมา เอสบี ไฟแนนซ์ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกรุงศรีและซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (SBC) เน้นสร้างการรับรู้ในเรื่องของแบรนด์ผ่านแคมเปญการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและเปิดตัวผลิตภัณฑ์เรือธง หรือ Flagship products อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช (Car4Cash) โดยนำความรู้และความเชี่ยวชาญของกรุงศรีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยเฉพาะในเรื่องผลิตภัณฑ์และการตลาดไปปรับใช้ให้สามารถตอบโจทย์กับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี ณ สิ้นปี 2564 เอสบี ไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ราว 4,300 ล้านบาท โดย กรุงศรีได้ให้การสนับสนุน เอสบี ไฟแนนซ์ และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด วันนี้เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ เอสบี ไฟแนนซ์ กำลังขยับขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการยกระดับประสบการณ์ทางการเงินให้กับลูกค้าฟิลิปปินส์ผ่านการเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งสามารถผนึกรวมบริการดิจิทัลเลนดิ้งเข้าไปเป็นฟีเจอร์หลัก ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าและสร้างความผูกพันด้วยประสบการณ์ทางการเงินที่ดีผ่านช่องทางดิจิทัล”

    แอบบี้ คาซาโนวา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสบี ไฟแนนซ์ กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของเอสบี ไฟแนนซ์ คือ การเป็นพันธมิตรทางการเงินที่ชาวฟิลิปปินส์นึกถึงและไว้วางใจ (Trusted and Preferred Financial Partner) ช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจเรื่องการเงิน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตนเองในเวลานั้นได้ ส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่กล่าวถึงนั้นก็คือ การส่งมอบประสบการณ์การใช้งานในด้านดิจิทัล โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่าน zukì (ซูกี) โมบายแอปพลิเคชันที่เราเปิดตัวล่าสุดนี้”

    เอสบี ไฟแนนซ์ มีเป้าหมายในการยกระดับความรู้ทางการเงินของลูกค้าและช่วยสร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินใหม่ให้กับลูกค้าผ่าน zukì โมบายแอปพลิเคชัน จากเดิมที่บริการทางเงินเดิมเป็นเรื่องซับซ้อน สู่บริการที่เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ความต้องการ และยกระดับประสบการณ์ในด้านดิจิทัล

    เมื่อลูกค้าชาวฟิลิปปินส์ดาวน์โหลด zukì โมบายแอปพลิเคชัน จะสามารถเข้าถึง 4 ผลิตภัณฑ์ในการขอสินเชื่อของเอสบี ไฟแนนซ์ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระสินค้า (Hoologan) สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ (MotorsikLOAN) สินเชื่อเพื่อคนมีรถ คาร์ ฟอร์แคช (Car4Cash) และสินเชื่อส่วนบุคคล

    เกี่ยวกับกรุงศรี

    กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในหกสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 76 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อรายย่อย การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 641 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 602 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 39 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 32,527 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 9.6 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)) อีกด้วย

    กรุงศรีมีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

    เกี่ยวกับเอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี (SBF)

    เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี (SBF) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินชั้นนำ ซีเคียวริตี้ แบงก์ ในประเทศฟิลิปปินส์ และ กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา) ในประเทศไทย การเป็นพันธมิตรร่วมกันในครั้งนี้เป็นเป้าหมายในการขยายพันธมิตรทั่วโลกและสร้างความเติบโตและความเชี่ยวชาญในประเทศต่างๆ ของซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เอสบี ไฟแนนซ์ มุ่งสนับสนุนความต้องการของผู้บริโภคเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนและความเป็นเลิศในธุรกิจทางการเงินมากว่า 100 ปี เอสบี ไฟแนนซ์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในฟิลิปปินส์ให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการส่งมอบให้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ดีที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคในตลาดฟิลิปปินส์

    เกี่ยวกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG)

    มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี MUFG มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,500 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานกว่า 170,000 คน MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงก์กิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ MUFG มีเป้าหมายที่จะเป็น “กลุ่มสถาบันทางการเงินที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก” ด้วยการผสานศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าโดยคำนึงถึงสังคมและการแบ่งปัน สู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MUFG กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.mufg.jp/english