ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 มีนาคม-6 เมษายน 2567
กัมพูชา-ฟิลิปปินส์ ติดท้อป 5 ประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วสุดในเอเชีย
กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ เป็นสองประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดใน 5 อันดับแรกของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย จากรายงานข่าว 20 Fastest Growing Economies in Asia in 2024 บนเว็บไซต์ Yahoo Financeรายงานข่าวระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียจะมีส่วนในการเติบโตของโลกในปี 2567 ถึง 2 ใน 3 ด้วยการเติบโตทั่วโลกที่เห็นชัดแล้วว่ามีความแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดไว้ และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตรา 3.1% ในปี 2567 เท่ากับปีก่อนหน้า
เมื่อมองไปข้างหน้า การเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1% เป็น 3.2% ในปี 2568 และเช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตทั่วโลกที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง การคาดการณ์การเติบโตของเอเชียก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากรายงานของ IMF เมื่อวันที่ 30 มกราคม การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปี 2566 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% จาก 4.6%ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2566
การคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคในปี 2567 ก็ดีขึ้นเช่นกัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5% เทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4.2% ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินเดีย ที่อุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง และการใช้จ่ายที่สูงขึ้นของจีนในโครงการฟื้นฟูภัยพิบัติและการฟื้นฟู เป็นปัจจัยหลักของการปรับประมาณการขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ การขยายตัวเชิงบวกในปี 2566 สภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้ออำนวย การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ความต้องการเทคโนโลยีสูงขึ้น และการกระตุ้นนโยบายเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น จีนและไทย
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ภูมิภาคนี้กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเป็นผู้นำการเติบโตของโลกในปี 2567 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะมีส่วนสนับสนุน 2 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจเอเชีย ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอยของจีน ความผันผวนทางการเงินของประเทศที่มีหนี้สูงบางแห่ง ห่วงโซ่อุปทานที่ติดขัดมานาน และต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น ในด้านบวก นโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพในการจัดการภัยคุกคามเหล่านี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอีก เมื่อวันที่ 30 มกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า IMF เชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนอาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ หากรัฐบาลทำการปฏิรูปทรัพย์สินและโครงสร้างเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
สำหรับประเทศอาเซียนที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียมีเกือบครบทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว บรูไน ดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยกเว้น สิงคโปร์ และเมียนมา
ในทั้ง 8 ประเทศมี 3 ประเทศที่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกองประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย นำโดยกัมพูชา ซึ่งติดอันดับที่ 3 และคาดว่า GDP ปี 2567 ขยายตัว 6.1% และ GDP ต่อหัวปี 2567 จะเติบโตในอัตรา 6.34% ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ ที่ติดอันดับ 5 และคาดว่า GDP ปี 2567 ขยายตัว 5.9% และ GDP ต่อหัวปี 2567 จะเติบโตในอัตรา 8.03%
สำหรับประเทศอื่นๆ เวียดนามติดอันดับที่ 6 โดยปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 5.8% และGDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 7.41%
อินโดนีเซียติดอันดับที่ 10 โดยปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 5% และGDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 7.83%
มาเลเซียติดอันดับที่ 14 โดยปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4.3% และGDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 6.75%
สปป.ลาว ติดอันดับที่ 18 โดยปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4% แต่ GDP ต่อหัวปี 2567จะติดลบในอัตรา 2.38%
บรูไน ดารุสซาลาม ติดอันดับที่ 19 โดยปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.5% และGDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 4.16%
และไทยติดอันดับที่ 20 ซึ่ง GDP ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และ GDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 5.94%
สำหรับอันดับ 1 ของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ได้แก่ มาเก๊า เขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งคาดว่า GDP ปี 2567 จะขยายตัว 27.2% และGDP ต่อหัวปี 2567จะเติบโตในอัตรา 29.16% ส่วนประเทศที่ติดอันดับ 2 คือ อินเดีย ที่คาดว่า ในปี 2567 GDP จะขยายตัว ุ6.3% และGDP ต่อหัวจะเติบโตในอัตรา 9.00%
ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนติดอันดับที่ 17 ที่คาดว่า ในปี 2567 GDP จะขยายตัว ุ4.2% และGDP ต่อหัวจะเติบโตในอัตรา 4.90%
สำหรับการจัดอันดับ 20 ประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียในปี 2567 รายงานใช้อัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงและอัตราการเติบโตของ GDP ต่อหัว ซึ่งตัวชี้วัดทั้งสองนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการวัดภาวะและความก้าวหน้าของเศรษฐกิจ โดยใช้อัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของปี 2567 จากฐานข้อมูล IMF และคำนวณการเติบโตของ GDP ต่อหัวต่อปีสำหรับแต่ละประเทศระหว่างปี 2566 ถึง 2567 โดยใช้ GDP ต่อหัว ณ ข้อมูลราคาปัจจุบัน(current prices)จาก IMF แล้วนำอัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริง (2567)มาจัดอันดับจากน้อยไปมาก
มาเลเซียขึ้นแท่นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อานิสงส์สหรัฐฯงัดข้อชิปกับจีน
มาเลเซียกำลังกลายเป็นแหล่งสำคัญสำหรับโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องกระจายการดำเนินงาน“มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและมีประสบการณ์ราวห้าทศวรรษใน ‘แบ็กเอนด์’ ของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะในการประกอบ การทดสอบ และบรรจุ” จากความเห็นของ เคนดริก ชาน หัวหน้าโครงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดิจิทัลของ LSE IDEAS ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศของ London School of Economics and Political Science
เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ กลายเป็นศูนย์กลางของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ในเดือนธันวาคม 2564 บริษัทอินเทล(Intel) ยักษ์ใหญ่ชิปของอเมริกา กล่าวว่าจะลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบชิปในมาเลเซีย โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567
“การตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียมาจากกลุ่มผู้มีความสามารถที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง” ไอค์ คีน ชอง กรรมการผู้จัดการของ อินเทล มาเลเซีย(Intel Malaysia) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี(CNBC)
โรงงานผลิตในต่างประเทศแห่งแรกของอินเทล คือ โรงงานประกอบในปีนังที่เปิดตัวในปี 2515 ด้วยเงินลงทุน 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทลงทุนต่อเนื่องด้วยการตั้งศูนย์ทดสอบเต็มรูปแบบ รวมถึงศูนย์การพัฒนาและการออกแบบในมาเลเซีย
GlobalFoundries บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีกแห่งได้เปิดศูนย์ในปีนังเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตทั่วโลกควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และยุโรป
“นโยบายที่มีแนวคิดไปข้างหน้าและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรอย่าง InvestPenang ได้สร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเจริญเติบโต” ตัน ยิว กง(Tan Yew Kong) รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ GlobalFoundries Singapore กล่าว
Infineon ผู้ผลิตชิปชั้นนำของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม 2565 กล่าวว่า จะสร้างโมดูลการผลิตเวเฟอร์แห่งที่สามในเมืองคูลิม(Kulim) ในขณะที่ Newways ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ASML กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมืองกลัง(Klang)
“ความได้เปรียบของมาเลเซียมาโดยตลอดคือ แรงงานที่มีทักษะในด้านการบรรจุ การประกอบ และการทดสอบ อีกทั้งต้นทุนการดำเนินงานต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้การส่งออกสามารถแข่งขันได้มากขึ้นทั่วโลก” อิงหลาน ตัน(Yinglan Tan) หุ้นส่วนผู้จัดการผู้ก่อตั้งของ Insignia Ventures Partners กล่าวและว่า สถานะเงินริงกิตปัจจุบันทำให้มาเลเซียเป็นสถานที่ที่น่าดึงดูดสำหรับผู้เล่นต่างชาติ
มาเลเซียมีส่วนแบ่ง 13% ของตลาดโลกสำหรับบริการบรรจุภัณฑ์ชิป การประกอบ และการทดสอบ หน่วยงานพัฒนาการลงทุนของมาเลเซียระบุในรายงานเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ การส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมเพิ่มขึ้น 0.03% เป็น 387.45 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (81.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2566 ท่ามกลางความต้องการชิปทั่วโลกที่อ่อนแอ
ดาโต๊ะ สรี หว่อง ซิ่ว ไห่ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งมาเลเซีย กล่าวว่า บริษัทจีนจำนวนมากกระจายการผลิตบางส่วนไปยังมาเลเซีย โดยจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในนโยบาย China Plus One (นโยบายการค้า +1 ที่มองหาตลาดใหม่เพื่อกระจาย Supply Chain เพิ่มเพิ่มโอกาสทางการค้าและ ลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ)
ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียกล่าวกับ CNBC เมื่อเดือนมกราคมว่า มาเลเซียมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นไปที่ “ฟร้อนท์ เอ็นด์” ของกระบวนการผลิตชิป แทนที่จะเป็นเพียง “แบ็กเอ็นด์” กระบวนการ Front End คือ ขั้นตอนการนำแผงวงจรที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิมพ์ขึ้นรูปบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ ขณะที่กระบวนการ backend มุ่งเน้นไปที่การบรรจุและการประกอบ
เพื่อผลักดันการขยายระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและดึงดูดการลงทุน ในเดือนมกราคมมาเลเซียได้จัดตั้งคณะทำงานเชิงกลยุทธ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับชาติ สื่อท้องถิ่นรายงาน
ในทำนองเดียวกัน ประเทศอย่าง อินเดียและญี่ปุ่นได้ชักชวนบริษัทต่างชาติให้เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ เนื่องจากตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางชิปหลัก ที่ตีคู่ไปกับสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ในเดือนกุมภาพันธ์ อินเดียอนุมัติการก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่งด้วยการลงทุนมากกว่า 15 พันล้านดอลลาร์ และในเดือนมิถุนายนอินเดียได้อนุมัติแผนงานของ Micron ชิปหน่วยความจำยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในการจัดตั้งหน่วยเซมิคอนดักเตอร์เซ
ในเดือนเดียวกัน TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกได้เปิดโรงงานแห่งแรกในญี่ปุ่น เป็นการกระจายการผลิตออกจากไต้หวันท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน
สหรัฐฯออกกฎที่ครอบคลุมในเดือนตุลาคม 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูงของจีน ท่ามกลางความกังวลว่าจีนอาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้ประกาศกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ Nvidia ผู้ออกแบบชิปในสหรัฐฯ ขายชิป AI ขั้นสูงให้กับประเทศจีน
“มาเลเซียและเอเชียโดยทั่วไปมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจสูงสุดทางเทคโนโลยีระดับโลก” เมย์-แอน์ ลิม(May-Ann) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการกำกับดูแลข้อมูลจาก Access Partnership บริษัทที่ปรึกษากล่าว
แม้มาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากสงครามชิประหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ปัญหาสมองไหลกลับก่อให้เกิดความท้าทายเมื่อคนงานออกจากประเทศเพื่อหางานทำที่ดีขึ้นและเงินเดือนที่สูงขึ้น
“นี่อาจเป็นสาเหตุที่บริษัทต่างๆ ไม่อยากลงทุนในการยกระดับทักษะแรงงานในมาเลเซีย เพราะต้องสูญเสียคนงานให้กับคู่แข่งอื่นๆ ทั่วภูมิภาคเมื่อพวกเขามีทักษะแล้ว” ลิมกล่าว
ผลการศึกษาอย่างเป็นทางการที่ดำเนินการในปี 2565 เผยให้เห็นว่าคนงานชาวมาเลเซีย 3 ใน 4 คนในสิงคโปร์มีทักษะหรือกึ่งมีฝีมือ ตอกย้ำว่ามาเลเซียมีปัญหาสมองไหล
“ความต้องการที่เกิดจากการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานจะสอดคล้องกับการจัดหาบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอในประเทศหรือไม่ ยังคงเป็นความท้าทายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” ตัน จาก Insignia Ventures Partners กล่าว
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียกล่าวในเดือนกันยายนว่า รัฐบาลกำลังหาทางที่จะดึงชาวมาเลเซียที่มีทักษะให้กลับมาและช่วยเหลือประเทศ
Nvidia วางแผนสร้างศูนย์ AI ในอินโดนีเซียรุกเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Nvidia กำลังวางแผนที่จะสร้างศูนย์ปัญญาประดิษฐ์(AI) มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซีย โดยร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ Indosat Ooredoo Hutchison เพื่อรุกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี(CNBC)จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศของอินโดนีเซีย บูดิ อารี เซติอาดี(Budi Arie Setiadi) โรงงานแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ในเมืองสุราการ์ตา ในจังหวัดชวากลาง ซึ่งจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรัพยากรมนุษย์ และความสามารถด้านดิจิทัลในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม Indosat ไม่ตอบสนองต่อการขอความคิดเห็นจาก CNBC ขณะที่ Nvidia ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว Indosat ประกาศว่า พร้อมที่จะรวมสถาปัตยกรรมชิปรุ่นใหม่ของ Nvidia อย่าง Blackwell เข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ด้วย”เป้าหมายในการขับเคลื่อนอินโดนีเซียเข้าสู่ยุคใหม่ของ AI และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”
Indosat Ooredoo Hutchison เป็น บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซีย หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง Ooredoo ของกาตาร์และ CK Hutchison ของฮ่องกงในปี 2565
การที่ Nvidia มีธุรกิจมากขึ้นในอินโดนีเซียแสดงให้เห็นถึงการรุกคืบเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงกว้างมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากความต้องการข้อมูลในภูมิภาคเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
ในเดือนมกราคม Singtel ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ได้ประกาศความร่วมมือกับ Nvidia เพื่อปรับใช้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ในศูนย์ข้อมูลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Singtel กล่าวในเดือนมีนาคมว่า ความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้ธุรกิจในภูมิภาคสามารถเข้าถึงพลังการประมวลผล AI ที่ล้ำสมัยของ Nvidia ภายในปีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าลงทุนและจัดการโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูลที่มีราคาแพงด้วยตนเอง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้หลักสำหรับ Nvidia จากการยื่นรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่ารายรับของบริษัทประมาณ 15% หรือ 2.7 พันล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาสสิ้นสุดเดือนตุลาคมมาจากสิงคโปร์
สิงคโปร์ตามหลังสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสัดส่วนในรายได้ของ Nvidia อยู่ 34.77% ไต้หวัน 23.91% และจีนและฮ่องกง 22.24% จากการจัดอันดับยอดขายในไตรมาสนั้น
รายได้จากสิงคโปร์ในไตรมาสนั้นเพิ่มขึ้น 404.1% จาก 562 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแซงหน้าการเติบโตของรายได้โดยรวมของ Nvidia และทำให้เป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของบริษัท
จากรายงานผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดของ Nvidia ศูนย์ข้อมูลเป็นรายได้หลัก สร้างรายได้ 18.40 พันล้านดอลลาร์จากกระแส AI ทั่วโลก
GAC Aion ประกาศเข้าตลาดอินโดนีเซียพร้อมวางแผนสร้างโรงงาน
จีเอซี ไอออน(GAC Aion) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเครือ GAC Group ได้ประกาศเข้าสู่อินโดนีเซีย เพื่อเจาะตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแผนจะสร้างโรงงานอีกด้วยGAC Aion ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Indomobil Group ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 เมษายน และประกาศเข้าสู่ตลาดท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ จากเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน
ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์โรงงานคู่ “ประเทศไทย + อินโดนีเซีย” ของ GAC Aion และมอบทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าให้กับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม GAC Aion ไม่ได้ระบุกรอบเวลาการก่อสร้างโรงงานในอินโดนีเซียอย่างชัดเจน
GAC Aion จะร่วมมือกับ Indomobil ในด้านต่างๆ เช่น การผลิตยานยนต์ การขายและการบริการยานยนต์ พลังงาน และตลาดการขับเคลื่อน
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่นิกเกิล และมีข้อได้เปรียบด้านนโยบายและทรัพยากรในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์
สื่อท้องถิ่น Jakarta Globe อ้างคำพูดของ กู้ หุยหนาน(Gu Huinan) ผู้จัดการทั่วไปของ GAC Aion ว่า แบรนด์จะเปิดตัวที่งาน Gaikindo Indonesia International auto show (GIIAS) ในเดือนมิถุนายน และจะเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 4 รุ่นในงานในปีหน้า
ปัจจุบัน GAC Aion ได้เข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และกำลังสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศแห่งแรกในประเทศไทย
ในอนาคต GAC Aion จะเข้าสู่เอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา เพื่อสร้างฐานการผลิตและการตลาดระดับโลก
GAC Aion ลงนามบันทึกความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายไทยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 เพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 9 กันยายนปีที่แล้ว GAC Aion เปิดตัว Aion Y Plus อย่างเป็นทางการในประเทศไทย และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม แบรนด์ Hyper ของ GAC Aion ได้ประกาศจำหน่าย Hyper HT ล่วงหน้าในงานแสดงรถยนต์ที่กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 31 มกราคม GAC Aion กล่าวว่าได้เริ่มก่อสร้างโรงงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแห่งแรกในต่างประเทศ
โรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดระยองในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย โดยมีแผนการลงทุน 2.3 พันล้านบาท (63 ล้านดอลลาร์) มีกำลังการผลิตออกแบบ 50,000 ยูนิตต่อปี และจะสร้างขึ้นใน 2 เฟส โดยเฟสแรกมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567
รถรุ่นแรกที่วางแผนจะผลิตที่โรงงานในไทยคือ Aion Y Plus รุ่นพวงมาลัยขวา โดยจะมีรุ่นอื่นๆ ที่จะผลิตที่โรงงานแห่งนี้ในอนาคต
Chery ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนจะสร้างโรงงานในเวียดนาม
Omoda & Jaecoo ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Chery ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติ Geleximco ของเวียดนาม เพื่อ สร้างโรงงานผลิตในจังหวัดท้ายบิ่ญภายใต้ข้อตกลงร่วมทุนระหว่างบริษัทจีนและหุ้นส่วนในเวียดนามที่ลงนามเมื่อวันพฤหัสบดี(4 เมษายน 2567) จะมีการสร้างโรงงานมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นใน 3 ระยะ โดยกำหนดเริ่มการก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าระยะแรกจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2569
เมื่อเสร็จสิ้นระยะแรก จะมีกำลังการผลิต 50,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะขยายเป็น 200,000 คันเมื่อเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ แต่ก่อนที่โรงงานจะเริ่มผลิตรถยนต์ Omoda & Jaecoo จะนำเข้ารถยนต์จากอินโดนีเซีย โดยจะเปิดตัว Omoda C5 และ E5 ในเวียดนามในไตรมาสที่สามของปีนี้ และตามมาด้วย Jaecoo 7 และ 7 PHEV ในไตรมาสที่สี่
Chery Automobile เป็นรัฐวิสาหกิจผลิตรถยนต์ของรัฐ ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 ในมณฑลอันฮุย ปีที่แล้วส่งออกรถยนต์ได้ 937,148 คัน และสามารถรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆ ของประเทศเป็นปีที่ 21 ติดต่อกัน
Chery เข้าเวียดนามครั้งแรกในปี 2552 ด้วยรถ QQ3 ซึ่งผลิตในประเทศผ่านความร่วมมือกับ Vietnam Motors Corporation แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บริษัทได้เปิดตัวรถสามรุ่นภายใต้แบรนด์ Omoda และ Jaecoo ในฮานอย รวมถึงรถซีดาน Omoda S5 และรถครอสโอเวอร์
ลาวเรียกร้องให้คนทำงานในประเทศหลังยังเจอวิกฤติขาดแรงงาน
ลาวกำลังเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง เนื่องจากเยาวชนแสวงหาค่าจ้างที่สูงขึ้นผ่านโอกาสการจ้างงานในต่างประเทศมากขึ้น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งพยายามที่จะรักษาแรงงานไว้ในประเทศ จึงได้ออกคำเชิญชวนเร่งด่วนต่อชาวลาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้พิจารณาโอกาสการจ้างงานภายในประเทศลาวนอกจากนี้ จากการที่ค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพยังคงส่วนต่างกันอยู่มาก ส่งผลให้ชาวลาวจำนวนมากมองหาโอกาสในต่างประเทศ ซึ่งมีการให้ค่าจ้างที่แข่งขันได้ ประเทศต่างๆ เช่น ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับแรงงานอพยพชาวลาว ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายด้านอุปทานแรงงานในประเทศ
ประกาศที่ออกโดยกระทรวงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับคนงานในทุกภาคธุรกิจ ในประเทศลาว ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร
หน่วยงานท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาวลาวตามหมุ่บ้านต่างๆที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จำนวนผู้ว่างงาน และผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต้องการโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น ประกาศดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำในการแก้ปัญหาการว่างงาน โดยเน้นถึงผลกระทบเชิงลบของสถิติการจ้างงานที่ไม่เพียงพอในกระบวนการจัดหางานและตัวชี้วัดตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ยังแนะนำผู้หางานอายุน้อยควรเยี่ยมชมศูนย์จัดหางานที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจัดตั้งขึ้น หรือตรวจสอบเว็บไซต์ของกระทรวงเพื่อหาโอกาสในการทำงานที่ตรงกับทักษะของพวกเขา แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยในการค้นหางานและช่วยระบุตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมตามข้อมูลของรัฐบาลลาว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามที่จะรักษาแรงงานไว้ในประเทศ แต่ลาวยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าจ้างที่ต่ำ อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินที่อ่อนค่าลง แม้ว่ารัฐบาลได้ริเริ่มมาตรการเพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่นายจ้างบางรายไม่เต็มใจที่จะปรับค่าจ้างจึงทำให้แก้ไขวิกฤติไม่คืบหน้า บริษัทหลายแห่งทั่วประเทศยังไม่เต็มใจที่จะปรับค่าแรงให้เพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน
ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนในลาวอยู่ที่ 1.6 ล้านกีบ (76.22 ดอลลาร์สหรัฐ) มีเพียง 10% ขององค์กรทั้งหมดทั่วประเทศที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำตามความคิดริเริ่มของรัฐบาล
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ได้แก่ การริเริ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรต่างๆ เช่น สหพันธ์สหภาพแรงงานลาว และสมาคมธุรกิจการจ้างงานลาว ความพยายามเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับคนงาน ส่งเสริมแนวปฏิบัติทางอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการเจรจากับนายจ้างและหน่วยงานที่มีอำนาจ
จากวิกฤติการขาดแคลนแรงงานของประเทศ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมลาวได้จัดงานจ็อบแฟร์ ขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อหาคนเข้าทำงานอย่างเร่งด่วนในตำแหน่งงาน 560 ตำแหน่งในบริษัท 56 แห่ง ซึ่งต้องใช้พนักงานประมาณ 1,800 คน โดยภายในงานมีผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้หางานจำนวนมากเข้าร่วมงาน
ลาวเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนแรงงานมาตั้งแต่ปี 2566 โดยคนงานเดินทางออกนอกประเทศเนื่องจากค่าจ้างที่ต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินกีบลาว แม้จะมีความพยายามในการรักษาแรงงานไว้ในประเทศ แต่หลายคนยังคงแสวงหาโอกาสในต่างประเทศเพื่อรับค่าจ้างและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย แรงงานอพยพชาวลาวส่วนใหญ่ได้รับการว่าจ้างในประเทศไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น และมีจำนวนมากที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องในบางประเทศ
บริษัทไทยในเวียดนามเล็งขยายธุรกิจ
ผลสำรวจโดย HSBC เผยว่า 66% ของบริษัทไทยที่ดำเนินกิจการในเวียดนามสนใจที่จะขยายธุรกิจ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดไม่ว่าเทียบประเทศไหน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยบริษัทจากมาเลเซีย (58%) และอินโดนีเซีย (55%)
การสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของอาเซียน ได้สำรวจบริษัท 600 แห่งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ในบรรดาธุรกิจของไทย 93% เชื่อมั่นต่อการเติบโตของบริษัทในเวียดนาม รองจากธุรกิจเวียดนาม (98%) และสิงคโปร์ (95%) เท่านั้น
ประเทศไทยยังคงเป็นนักลงทุนหลักในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนาม โดยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับที่ 9 ด้วยมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารใหญ่ของไทยกล่าวว่าจะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในเวียดนามภายในปี 2570
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ธนาคารใหญ่อีกแห่งของไทยประกาศแผนการที่จะซื้อบริษัทสินเชื่อผู้บริโภค Home Credit Vietnam ในมูลค่าประมาณ 800 ล้านยูโร (866 ล้านดอลลาร์)
ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ (87%) ต้องการลงทุนภายในภูมิภาคนี้ด้วยเหตุผลด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ไกลนักและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม
ปีที่แล้วเวียดนามดึงดูด FDI ได้ 36.61 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2565