ThaiPublica > เกาะกระแส > CPTPP (ตอน1): ไทยจะอยู่ตรงไหน อย่างไรในกติกาการค้าโลก

CPTPP (ตอน1): ไทยจะอยู่ตรงไหน อย่างไรในกติกาการค้าโลก

29 มิถุนายน 2021


จากซ้าย นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก, นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สหราชอาณาจักรได้ยื่นขอเจรจาเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

ปัจจุบัน CPTPP มีประเทศให้สัตยาบันแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เม็กซิโก สิงคโปร์ และเวียดนาม และรอให้สัตยาบันอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เปรู ชิลี มาเลเซีย และบรูไนฯ

CPTPP เป็นความตกลงขนาดใหญ่ เพราะสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 13% ของเศรษฐกิจโลก มีปริมาณการค้าระหว่างกันรวม 15% ของการค้าโลก และมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และยังเป็นความตกลงการค้าระดับสูง ที่ไม่เพียงลดภาษีสินค้า แต่ยังกำหนดกฎระเบียบใหม่ในเรื่องบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล และรัฐวิสาหกิจ

CPTPP ซึ่งมี 30 ข้อบท เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมการค้าสินค้าและบริการ และมีข้อบทเกี่ยวกับการเปิดเสรีภาคโทรคมนาคม การลงทุน การบริการทางการเงิน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนกำหนดให้คุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยลักษณะสำคัญของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูงนี้คือมีอัตราการลดภาษีเป็นศูนย์เพื่อเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกือบทุกประเภท และมีข้อบทที่กำกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้หรือเกินกว่าที่ตกลงกันในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ในลักษณะ “WTO-Plus” จึงทำให้ประโยชน์ของความตกลง FTA ยุคใหม่นี้ไม่ได้มากจากการลดภาษีศุลกากรเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและยกระดับมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางการค้าด้วย

หลายฝ่ายมองว่า การยื่นเข้าเป็นภาคี CPTPP ของสหราชอาณาจักรเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด เพราะเป็นการวางกติกาการค้าใหม่ รวมทั้งปรับปรุงข้อตกลงการค้าที่มีอยู่เดิมกับ 11 ประเทศคู่ค้า ด้วยการเจรจาเพียงรอบเดียว

สำหรับประเทศไทยได้กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP และได้เสนอ คณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2563 เพื่อขอให้พิจารณาเห็นชอบให้ไทยขอเจรจาเจ้าร่วม CPTPP แต่ท้ายที่สุดขอถอนเรื่องออกไปเพราะเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมยังเห็นต่างอยู่มาก จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศและกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้จัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership -CPTPP) กับสื่อมวลชน ครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนภาคสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ประกอบด้วย นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก, นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการกองนโยบายระบบการค้าสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมวิชาการเกษตร

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดการหารือครั้งนี้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่เห็นชอบให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ศึกษาความพร้อมของไทยในการเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯ โดยขยายเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบที่สุดสำหรับประกอบการพิจารณาเริ่มขั้นตอนการเข้าร่วม CPTPP ของไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสและข้อท้าทายของการเข้าร่วมฯ

ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่ไหนของโลก

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เริ่มการแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยการชวนคิดเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า โลกมีพลวัตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีหลายด้านที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ ประเทศไทย ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล กฎระเบียบการค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมีมากขึ้น การชะงักงันของระบบการค้าระบบพหุภาคีได้จุดชนวนให้หลายประเทศหันมาทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับการระบาดของโควิดที่นอกจากนำโลกไปสู่ new normal แล้วยังมีส่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและมากขึ้น ประเทศไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์หลักในการสร้างความเติบโต

“ไทยไม่ใช่ nobody ในภูมิภาค แต่จะเป็น nobody ถ้าเราไม่ทำตัวเอง ประเทศไทยจะต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ใน global value chain ต้องหาแนวทางที่ให้ไทยพูดภาษาเดียวกับโลกภายนอก อยู่ในสังคมและอยู่ในกติกาที่ไทยบริโภคสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ เพราะเราเป็นชาติที่คู่ควรจะอยู่ตรงนั้น” นายเชิดชายกล่าว

สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ การระบาดของโควิด ทำให้อนาคตวิ่งเข้ามาหาประเทศไทยมากขึ้น เกิดความปกติใหม่หรือ new normal หากประเทศไทยไม่สามารถถอดความหมายของความปกติใหม่ออกมา ประเทศไทยเดินไม่ได้ ประเทศกับการต่างประเทศแยกกันไม่ออก ประเทศไทยอยู่ใน regional value chain มานานแล้ว ประเทศไทยไม่สามารถอยู่ในโลกปิดได้ และเป็นประเทศที่เปิดมาตลอด

นายเชิดชายกล่าวว่า อยากจะให้มอง FTA ในโลกสมัยใหม่ ไม่อยากให้มอง FTA เป็นแค่เรื่อง ภาษี FTA มีการปรับเปลี่ยนเป็นยุคๆ โดยในยุคแรก FTA ที่อิงกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) มุ่งไปที่ภาษีศุลกากรเป็นหลัก ต่อมาเป็น WTO-Plus เป็นความตกลงทางการค้าที่เป็นเรื่องใหม่ๆ และไม่มีในข้อตกลง WTO โดยมีเรื่องการเสริมขีดความสามารถเข้าไป เห็นได้จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ปี 2007 ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการลดภาษี อีกครึ่งหนึ่งอีกครึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือที่ไทยได้ผลประโยชน์ ซึ่งนับเป็นความตกลง FTA ในระยะแรกๆ

นายเชิดชายกล่าวว่า FTA ในยุคต่อไปจะมีมาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น สิทธิแรงงาน โดยทั่วไปจะเรียก FTA ที่มีมาตรฐานสูงว่าเป็น new generation นอกจากนี้ FTA อาจจะไม่ได้มีมาตรฐานสูงเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะขยายออกในด้านข้าง ที่อาจจะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อไป

“CPTPP อาจจะเป็น เจนเนอเรชันที่ 2 ของ FTA” นายเชิดชายกล่าว

ที่มา: การนำเสนอโดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจจะต้องเปรียบเทียบไทยกับเวียดนาม โดยนายเชิดชายกล่าวว่า ประเทศไทยมี FTA จำนวน 14 ฉบับ เวียดนามก็มี FTA ในจำนวนที่ใกล้เคียงกันราว 14-15 ฉบับ แต่การเข้าเป็นสมาชิก FTA ของเวียดนามครอบคลุม 53 ประเทศ

จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศที่ได้ศึกษาไว้ในปี 2560 ก่อนที่เวียดนามสรุปข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปในปี 2562 เปรียบเทียบประโยชน์จากการเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีของไทยกับเวียดนาม พบว่า อัตราร้อยละของภาษีสินค้าของเวียดนามที่จะต้องจ่ายกับอัตราร้อยละภาษีสินค้าของไทยแตกต่างกันกันมาก แม้แต่ในญี่ปุ่นที่ไทยมีข้อตกลง FTA แบบทวิภาคี อัตราภาษีสินค้าที่เวียดนามต้องจ่ายต่ำกว่าไทย มีเพียงสหรัฐฯ ที่ไทยดีกว่าเวียดนาม เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ใน CPTPP

ที่มา: การนำเสนอโดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ภาพนี้สะท้อนขีดความสามารถในการที่จะเข้าไปอยู่ในการค้าระหว่างประเทศ ประเทศมีแผน มีการพัฒนาคนบ้าง มีโครงสร้างพื้นฐาน แต่ที่เรากำลังตกขบวนมากๆ คือ เราไม่อยู่ในกติกาการค้าโลกไม่ได้อยู่ใน global supply chain ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ เรายังคิดว่าเรายังไม่จำเป็นต้องผูกพันกับใคร โดยที่ไม่ได้มองภาพใหญ่ ประเทศไทยก็จะยังไม่เข้าสู่ระดับโลก” นายเชิดชายกล่าว

ไทยไม่มีประเด็นใหม่ใน FTA

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน โดยกล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 2005 ที่ไทยทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีการลดภาษีสินค้าและบริการ กับออสเตรเลีย หลายเรื่องของประเทศไทยยังอยู่ที่จุดเดิม เวลาผ่านไปราว 15-16 ปีไทยยังอยู่ที่จุดเดิม”

ประเด็นใหม่ที่เกี่ยวกับการค้า เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิ่งแวด ล้อม กติกาที่มาควบคุมรัฐวิสาหกิจ หรือ UPOV 1991 ไม่มีใน FTA ของไทยเป็นแต่เพียงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกัน

นายรัชวิชญ์กล่าวว่า หลังจากให้สัตยาบัน FTA ไทย-ออสเตรเลียแล้ว ไทยมีการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญของไทย 2 ราย คือ สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป โดยเจรจากับสหรัฐฯ ในปี 2005-2006 และเจรจากับสหภาพยุโรปในปี 2010 ซึ่งก็มีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาหากมีการจดทะเบียนยาช้า การคุ้มครองข้อมูลการทดลองยาในคน ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีผลต่อการจดทะเบียนยาสามัญ การเอาสิทธิบัตรยาเก่ามาเพิ่มเติมเล็กน้อยแล้วจดเป็นสิทธิบัตร การขยายอายุคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 70 ปี

“การเจรจาคือการหาพื้นที่กลางที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย มีประโยชน์ที่คุ้มค่า หรือมีประโยชน์ในระยะยาว แต่ที่น่าสังเกตคือ เรื่องพวกนี้เราเต้นวนอยู่ข้างนอกตลอด เราไม่รับอย่างเดียว คุยกันหลายรอบแล้วยังไม่เอา ก็ชะงักงัน ถ้าเดินหน้าต่อก็ไม่จบ หรือกรณีที่นโยบายเคาะลงมา เราก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมท่าทีในการขอดูในภาพใหญ่ที่เกี่ยวพันกันไปหมด เวลาก็ไม่พอ ซึ่งเรื่องพวกนี้นักเจรจาตัดสินใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบายระดับสูง และเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง อาจจะต้องถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจ” นายรัชวิชญ์กล่าว

“หากไทยจะเจรจากับสหภาพยุโรปก็มีประเด็นเหล่านี้ หนีไม่พ้น ซึ่ง CPTPP ก็มี แต่มีความยืดหยุ่น ทั้งระยะเวลาในการปรับตัว การยกเว้นสินค้าหรือธุรกิจบางประเภทก็เป็นทางออก” นายรัชวิชญ์กล่าว

นายรัชวิชญ์กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศหารือกับกระทรวง หน่วยงานอื่น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นสัญญาณว่าระดับนโยบายดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดพร้อมที่จะให้การสนับสนุน หากจะตัดสินใจในที่สุดว่าจะเดินหน้าต่อ ซึ่งประสบการณ์ของทีมเจรจาไทยตั้งแต่การเจรจากับสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ ถือว่าไทยอยู่ในจุดที่มีความพร้อมในทางเทคนิค แต่สิ่งที่สำคัญต้องดำเนินการในระดับบนลงล่าง

“อย่างไรก็ตาม FTA มีผลกระทบแน่นอน การค้าของเรากับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้น 200-300% ส่วนการค้ากับประเทศที่ไม่มี FTA เพิ่มขึ้นกว่า 100% ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็จะเงียบ ผู้ที่เสียประโยชน์ก็จะส่งเสียง แต่รัฐบาลมีเครื่องมือ มีงบประมาณ มีทุกอย่างที่จะนำมาใช้บริหารจัดการเพื่อผลกระทบ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรรายเล็ก หรือ SMEs ซึ่งช่วยได้ในเรื่องของเงิน การออกนโยบายมาสนับสนุน รวมทั้งการมีนวัตกรรมเข้ามา เพื่อให้การใช้เงินสนับสนุนมีประสิทธิภาพ และทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจะไม่เดือดร้อนมาก” นายรัชวิชญ์กล่าว

ถ้าเปรียบเทียบ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค: Regional Comprehensive Economic Partnership) กับ CPTPP ความสำคัญของ RCEP คือเป็นตลาดใหญ่และใหญ่ว่า CPTPP ประเทศไทยค้ากับ RCEP ประมาณ 57% ของการค้ากับทั้งโลกและค้ากับ CPTPP ประมาณ 29% ของการค้ากับทั้งโลก แต่ความสำคัญของ CPTPP อยู่ที่จะช่วยทำให้ไทยยกมาตรฐานของกฎหมาย กฎระเบียบการค้าการลงทุนให้เป็นสากลมากขึ้น และทำให้ค้าขายกับต่างประเทศ กับ CPTPP กับประเทศที่มีมาตรฐานสินค้าในระดับสูงได้สะดวก และหากต้องการที่จะขายสินค้าให้ได้ก็ต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ การมี FTA เจรจาต่อรองกันได้ แต่หากไม่มี FTA การเจรจาไม่ยืดหยุ่น ต้องปฏิบัติตามมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศที่ทำการค้าด้วย

“CPTPP มีจุดเด่นคือเป็นแรงขับเคลื่อนแรงผลักดันให้เราปรับปรุงกฎหมาย ยกมาตรฐานสินค้าและบริการ การลงทุนให้เป็นสากล เมื่อมาตรฐานสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันต้องพัฒนากันต่อไป ประเทศจะเติบโตอย่างยั่งยืน” นายรัชวิชญ์กล่าว

FTA ที่ไทยมีโอกาสจะทำกับสหภาพยุโรปก็มีเงื่อนไข 3-5 เรื่องที่สหภาพยุโรปยืนยันว่าจะต้องมีและเป็นเรื่องใหม่ที่ไทยไม่เคยทำมาก่อน ถ้าไทยไม่รับ FTA ก็ไม่เกิด เงื่อนไขเหล่านี้หลายเรื่องก็อยู่ใน CPTPP และอาจจะนำไปสู่ FTA อื่นที่มีมาตรฐานสูงได้ มิฉะนั้นแล้ว FTA ของไทยมีแต่เรื่องสินค้าและบริการกับความร่วมมือ

ผลการศึกษาชี้ถ้าไม่เข้าเสียโอกาสแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

นายรัชวิชญ์ ให้ข้อมูลความเป็นมาของ CPTPP ว่า CPTPP เริ่มต้นมาจากการที่ 12 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ต้องการสร้างเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership (TPP) แต่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกในภายหลัง

ประเทศสมาชิก 11 ประเทศที่เหลือผลักดันให้เดินหน้าต่อ และมีการปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงให้ตอบโจทย์ทั้ง 11 ประเทศ คือมีการถอดถอนเรื่องที่สหรัฐฯ ผลักดัน เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มากกว่ามาตรฐานองค์กรการค้าโลก การขยายระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรยาหากจดทะเบียนล่าช้า เรื่องการขยายอายุลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 70 ปี เรื่องการจดสิทธิบัตรยาก็ปรับปรุงใหม่จากที่มีอยู่เดิมก็ถอนออกไป

“ปัจจุบัน CPTPP ไม่มีเรื่องพวกนี้อีกแล้ว แต่จะเอาเข้ามาอีกหรือไม่ ซึ่งคิดว่าประเทศกำลังพัฒนาในCPTPP หลายประเทศคงไม่อนุญาตให้เอาเข้ามาง่ายๆ ทั้ง 11 ประเทศได้มีการเจรจาลงนามไปในปี 2561 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วมี 7 ประเทศคือ แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม และความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว” นายรัชวิชญ์กล่าว

โดยที่ข้อบทที่มีการชะลอส่วนใหญ่เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก CPTPP ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่ทุกประเทศสมาชิกจะเห็นชอบให้มีการนำข้อบทดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง

ประเทศ CPTPP ทั้ง 11 ประเทศมีประชากรรวมกัน 500 ล้านคนคิดเป็น 6.7% ของประชากรโลก มีGDP รวมกัน 10.5 ล้านล้านเหรียญคิดเป็น 12.5% ของ GDP โลก การค้าของไทยกับประเทศ CPTPP มีมูลค่า 125.3 พันล้านเหรียญคิดเป็น 28.6% ของการค้ารวมของไทย ส่วนการส่งออกของไทยไปประเทศ CPTPP มีมูลค่า 67.9 พันล้านเหรียญคิดเป็น 29.4% ของการค้าไทยที่มีกับโลก

สำหรับการดำเนินการของประเทศไทย ได้มีการให้ความรู้และการจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจากทุกภาคส่วน มีการลงพื้นที่ในต่างจังหวัดมีประชาชนจาก 40 จังหวัดมาร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น 1,400 คน นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดจ้างที่ปรึกษาภายนอกทำการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบ ทั้งกรณีที่ประเทศไทยเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม

ผลการศึกษาในส่วนของ CPTPP ของที่ปรึกษาสรุปว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP จะเพิ่มขึ้นไม่มากราว 7,790-23,039 ล้านบาท แต่การลงทุนจะขยายตัวประมาณ 5-6.6% การส่งออกจะขยาย 3.4-4%

ที่มา: จากการนำเสนอโดยนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์

“ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งหากว่าเราเข้าร่วม คือ จะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบในประเทศที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีความเป็นสากลมากขึ้น มีความโปร่งใส และเป็นธรรม ผลก็คือจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และในระยะยาวภาคเอกชนของไทยรวมถึงภาคเกษตรจะเติบโตอย่างยั่งยืน ธุรกิจสามารถจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคได้” นายรัชวิชญ์กล่าว

ในกรณีที่ไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ผลการศึกษาพบว่า GDP ประเทศไทยจะลดลง 0.25-1% การลงทุนจะลดลง 0.5-2% การส่งออกสินค้าและบริการจะลดลง 0.75%

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยจะเสียโอกาสและแรงผลักดันในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้า มาตรฐานสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกประสบความยากลำบากในการทำธุรกิจในการส่งออกไปยังประเทศ CPTPP ที่มีข้อตกลงสิทธิพิเศษ เพราะประเทศคู่แข่งที่มีข้อตกลง CPTPP ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ทางด้านมาตรฐานต่างๆ ได้รับความสะดวกมากกว่าไทย 2 ด้าน และประเทศไทยจะหลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค”

ด้านผลการรับฟังความคิดเห็น ในภาพรวมเห็นว่าการเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยจะได้ประโยชน์แต่ยังมีข้อกังวล คือ UPOV 1991 การเปิดตลาดสินค้าที่สูง การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในภาคเกษตร เห็นว่ารัฐควรช่วยเหลือเกษตรให้แข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภาคเอกชนสนับสนุนให้เข้าร่วม แต่ต้องการความช่วยเหลือในการส่งเสริมการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME

ส่วนภาคประชาสังคมมีข้อกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยเฉพาะการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ หรือการฟ้องร้องในระดับอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายแทนการฟ้องร้องต่อศาลไทย หากไม่พอใจมาตรการของรัฐบาล

ส่วนการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์หลังจากรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา CPTPP ด้วย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นประธานหารือกับ 33 หน่วยงานตั้งแต่ปี 2561-2563 สรุปผลทั้งหมดเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และ กนศ. ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ในช่วงก่อนที่จะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ได้ชะลอการเสนอเรื่องโดยเห็นว่า ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่ควรที่จะเสนอเรื่อง

ต่อมาในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจเรื่องนี้จึงได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาผลกระทบของ CPTPP มีการศึกษาอย่างละเอียดโดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมศึกษาหารือในช่วงมิถุนายนถึงกันยายน

รายงานระบุว่า ถ้าไทยยังไม่พร้อมในปัจจุบัน แต่ต้องเตรียมความพร้อม รายงานฉบับนี้สภาผู้แทนฯ มีมติส่งให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับทราบและมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นให้รายงาน ครม. และมอบหมายให้ กนศ. ศึกษาต่อในเรื่องการเตรียมความพร้อม

ที่มา: จากการนำเสนอโดยนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์

กนศ. เตรียมสรุปผลเสนอครม.

นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการกองนโยบายระบบการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ข้อมูลว่า กระบวนการเรื่อง CPTPP มีความต่อเนื่องจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินไว้ โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ทำเรื่องต่างๆ ดังนี้

    1) จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงานการดำเนินการ เพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมด้วย
    2)รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมและเงื่อนเวลาในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือความไม่พร้อมของไทย แล้วส่งผลการพิจารณาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 90 วันเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นางสาวนลินทิพย์กล่าวว่า คณะกรรมการ กนศ. ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจฯ ได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้งในปีนี้ พร้อมตั้งตั้งคณะอนุกรรมการ 8 คณะ เพื่อศึกษาในประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุไว้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

    คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง CPTPP รายประเด็น จำนวน 8 คณะ ได้แก่
    1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านเกษตรและพันธุ์พืช มี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
    2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน
    3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
    4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ มี รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน
    5. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
    6. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ มี รมว.คลังเป็นประธาน
    7. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านแรงงาน มี รมว.แรงงาน เป็นประธาน
    8. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน

คณะรัฐมนตรีสั่งการโดยให้เวลาในการศึกษาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน แต่เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องหารือเพิ่มเติม จึงได้ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 50 วัน ไปสิ้นสุดวันที่ 24 มิถุนายน

นางสาวนลินทิพย์กล่าวว่า ในช่วง 50 วันของเวลาที่ขยายเพิ่มเติม คณะกรรมการ กนศ. ได้มีการหารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ได้รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัล กระทรวงการคลัง พร้อมได้รับฟังความเห็นของผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ และตัวแทนจากสมาร์ทฟาร์เมอร์ ซึ่งข้อมูลที่ได้มีความครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลเสนอไปที่คณะกรรมการ กนศ.

“คณะกรรมการกนศจะประชุมหารือในรายละเอียดกันอีกว่า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ข้อเท็จจริงแบบนี้ แล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป” นางสาวนลินทิพย์กล่าว

โดยสิ่งที่ กนศ. จะเสนอให้ ครม. พิจารณาจะเป็นการตัดสินใจว่าไทยควรจะไปขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ยังไม่ใช่การเข้าร่วม CPTPP

นอกจากนี้ จากการหารือ การประชุมร่วมกับรัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง และหารับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พบว่า แต่ละกระทรวงของประเทศคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนมาก โดยเห็นจากประเด็นที่เป็นข้อกังวลต่างๆ ซึ่งสะท้อนมาจากคณะกรรมาธิการ

“เรื่องสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ได้รับทราบว่ามีข้อกังวลอะไรบ้าง มาตรการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลและการมีมาตรการด้านสาธารณสุข เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องนำไปคุยกับต่างประเทศที่เข้า CPTPP ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งประเด็นสาธารณสุขในภาพรวม และประเด็นเฉพาะ เช่น แอลกอฮอล์ เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลเห็นความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประชาชน” นางสาวนลินทิพย์กล่าว

สำหรับด้านเกษตร เรื่องเมล็ดพันธุ์ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร เรื่องความมั่นคงทางการเกษตร ยังคงได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ส่วนเรื่องดิจิทัล ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องทำต่อไป เช่น digital tax ซึ่งเป็นอนาคตของโลก อีกทั้งดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ขณะที่กระทรวงการคลังมีหลายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขด้วย เช่น องค์การเภสัช

“ถ้ามองในแง่ประชาชน ประชาชนถือว่าโชคดีมากที่ยังมีส่วนราชการคำนึงถึงเรื่องตรงนี้อย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เราจะไปตอบกับ CPTPP ว่าเราจะทำอย่างไรในเรื่องพวกนี้ ด้านแง่ผลประโยชน์ของประเทศไทยในภาพรวมก็เกิด แต่บางภาคมีความอ่อนไหวไม่เท่ากัน ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องรักษาความสมดุลให้ได้ ส่วนภาคเอกชนเห็นประโยชน์ของการไปต่อ ทั้งเรื่องการเข้าสู่ตลาด และการพัฒนาโอกาสที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศและรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพันธมิตร การมีมาตรฐานเปรียบเทียบที่จะทำให้ภาคเอกชนและทุกคน ทุกภาคยกระดับไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นอีก” นางสาวนลินทิพย์กล่าว

ด้านประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คณะอนุกรรมการฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่จากการหารือกับกระทรวงการคลังมุ่งไปที่เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดไว้ คือ โรงพยาบาลรัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชฯ ซึ่งจะนำประเด็นนี้ไปหารือกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป และยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับการเปิด ประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกด้านนี้ของ WTO แต่ประเด็นนี้เป็นความตกลงของ CPTCP ที่ของประเทศที่มีความก้าวหน้า

รัฐบาลต้องตัดสินใจสำรวจทุกโอกาสที่ประเทศได้ประโยชน์

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกภาคีกลุ่มใดก็ตามต้องใช้เวลา เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกลไก การเป็นภาคี CPTPP ก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านกระบวนการ

“การเข้าเป็นภาคี CPTPP ขั้นแรก เราจะต้องถามตัวเองก่อน ซึ่งผมคิดว่ากำลังถาม และถามมาหลายปีแล้วว่ามีประโยชน์อย่างไร มีข้อกังวลอย่างไร รัฐบาลต้องตัดสินใจว่ามีประโยชน์หรือไม่ที่จะเข้าไปลอง ไปหาโอกาส โอกาสของประเทศเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเรื่องปกติในโลกที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ความเสี่ยงในการดำเนินความสัมพันธ์ประเทศเป็นเรื่องปกติ” นายเชิดชายกล่าว

สำหรับขั้นตอนการเข้าเป็นภาคี CPTPP นายเชิดชายกล่าวว่า เมื่อมั่นใจว่าพร้อม มีตรรกะในการเข้าไปเจรจาก็ทำหนังสือเพื่อขอเจรจา ขั้นตอนที่ 2 คณะกรรมาธิการ CPTPP ก็จะรับพิจารณาคำขอ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือประเทศใดก็ตาม และจะตั้งคณะทำงานขึ้น

ในขั้นตอนที่ 1 ไทยยังไม่ได้เริ่ม แต่สหราชอาณาจักรเริ่มไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน คณะกรรมาธิการ CPTPP ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาคำขอซึ่งในที่สุดสหราชอาณาจักรจะเข้าขั้นตอนที่ 3 คือกระบวนการเจรจาซึ่งจะใช้เวลาพอสมควร อาจเป็นไปได้ว่าต้องใช้เวลาเป็นปี ก่อนที่จะเข้าตอนที่ 4 เมื่อพิจารณากันได้เสร็จสิ้นแล้ว ตกลงกันได้แล้ว รวมทั้งมีข้อสงวน เรื่องก็จะอยู่ที่คณะกรรมาธิการ CPTPP ว่าจะเห็นชอบให้รับเข้าเป็นภาคี เข้ามาทำภาคยานุวัติหรือไม่

“ผมขอเน้นตรงคณะกรรมาธิการ เพราะขั้นตอนที่ 4 เราอาจจะไม่ต้องทำเรื่องกลับที่รัฐสภาของเราก็ได้ หากเขาไม่รับเรา ถ้าข้อสงวนของไทยมีมาก แต่หากเขาเห็นว่า เรามีคุณค่าก็จะยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะให้เราเข้าทำภาคยานุวัติ จากนั้นเราก็จะเข้าสู่กระบวนการภายในของเรา รัฐสภาก็จะพิจารณาโหวตรับหรือไม่รับ หากรัฐสภาเห็นว่าสิ่งที่ได้มาไม่ตอบโจทย์ของประเทศ และเสียประโยชน์ก็โหวตไม่รับได้ ก็จะไม่เกิดขั้นตอนที่ 5” นายเชิดชายกล่าว

“การที่เราจะไปถึงขั้นตอนที่ 5 มีกระบวนการชัดเจน สิ่งที่อยากจะเน้นคือ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลของฝ่ายบริหารที่จะต้องตัดสินใจใช้สำรวจจากทุกโอกาสที่ประเทศไทยพึงจะได้ประโยชน์ แม้ว่าในที่สุดผลการเจรจาอาจออกมาไม่เป็นอย่างที่เราต้องการก็ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องทำ”นายเชิดชายกล่าว

“กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเราจะใช้ความเห็นแบบมืออาชีพของเราเขียนอย่างตรงไปตรงมาว่ารัฐบาลต้องเริ่มขอให้มีการเจรจา เพราะถ้าผมเห็นเป็นอื่น ถือว่าผมไม่ได้ทำในหน้าทำหน้าที่ในฐานะวิชาชีพ” นายเชิดชายกล่าว

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ หากไทยยื่นขอเข้าหลังจากที่สหราชอาณาจักรได้เข้าเป็นภาคี CPTPP แล้วการเจรจาก็อาจจะยากขึ้นอีก เพราะนอกจากต้องเจรจากับประเทศภาคีเดิมแล้วยังต้องเจรจากับสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูง

การตัดสินใจเรื่อง CPTPP เป็นการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ซึ่งมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตัวบ่งชี้ด้านหนึ่งที่ได้จากกระบวนการในสภาที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อการตัดสินใจ คือ รายงานข้อสรุปของคณะกรรมาธิการสรุปที่มีด้วย 4 ข้อ ได้แก่

    1) ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจ รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าตอนนี้มีข้อมูลที่เพียงพอหรือไม่
    2) การเตรียมความพร้อมในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญสุดใน 4 ข้อ ต้องเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะความพร้อมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการปรับตัวหรือความสามารถในการเยียวยา
    3) กรอบการเจรจา เมื่อตัดสินใจเดินทางไปเจรจา และเป็นหน้าที่ของคณะเจรจาภาครัฐ
    4) กองทุนเยียวยา

“ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นตัวบ่งชี้ของการตัดสินใจหรือไม่ ตอบยาก แม้ว่าเป็นข้อสรุปจากเอกสารที่เป็นทางการจากคณะกรรมาธิการ แต่การตัดสินใจขับเคลื่อนนโยบายเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร กระบวนการกรรมาธิการ 120 วันจริงๆ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ต้องให้เครดิตรัฐบาลที่เปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่มีสูตรตายตัวแต่เป็นการใช้สำนึกในเรื่องนโยบาย การใช้สำนึกความเป็นผู้นำ ในการขับเคลื่อนประเทศ ในทุกรัฐบาลในทุกการบริหารของโลกเดิมพันด้วยเรื่องพวกนี้ทั้งนั้น” นายเชิดชายกล่าว

ยื่นแล้วเจรจาไม่ถูกใจถอนได้ตลอดเวลา

ศาตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขอเข้าเป็นภาคี CPTPP ก็ไม่ได้หมายว่าจะเข้าได้ในทันที เพราะต้องใช้เวลาตามขั้นตอน และอีกนานว่าจะได้คำตอบว่าประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไร โดยประเมินจากการศึกษาเฉพาะบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (IP Chapter) ภายใต้ CPTPP เรื่องเดียวยังใช้เวลา 1 ปี อีกทั้งข้อมูลหาได้ยาก

“CPTPP มี 30 บท แล้วมีครึ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ไทยไม่คุ้นชิน มีเครื่องมือและมีบทแนบท้ายจำนวนมาก การเข้าเป็นภาคี CPTPP ไม่ได้ง่าย” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

ศาสตราจารย์ทัชมัยกล่าวว่า หนทางการเข้าเป็นภาคีความตกลง CPTPP ของไทย คือ ข้อแรก ต้องใช้สถานะเป็นสมาชิก APEC ตามมาตรา 30 วรรค 4 ข้อสอง ต้องมีการยื่นขอเข้าเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตจำนง แล้วคณะกรรมาธิการ CPTPP จะตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจา

“สำหรับไทยในกรณีที่ยื่นก็ไม่รู้ว่า ณ วันนั้น จำนวนสมาชิก CPTPP จะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะวันนี้มีประเทศที่แสดงความสนใจเพิ่มขึ้น คือ ฟิลิปปินส์ ไทเป และจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนต้องขอเทียบกับจีนที่ออกจาก GATT ไปช่วงหนึ่งและหันกลับเข้ามา WTO ซึ่งกว่าจะกลับเข้า WTO ได้นั้นใช้เวลากว่า 10 ปี”ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

“ดังนั้นประเทศไทย ถ้าศึกษาเสร็จแล้วตอนนั้น ผู้บริหารประเทศนายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่เอา ก็ถอนตัวได้ตลอดเวลา ทำไมเราไม่ให้โอกาสตัวเราเองลองดูจะได้ไม่ต้องตก regional value chain การที่เราให้โอกาสตัวเราเองได้เรียนรู้ นอกจากเราจะรู้ว่าเราเข้าไม่เข้าแล้ว ยังรู้ว่าเข้าไปแล้วได้อะไร เสียอะไร และต้องบอกด้วยว่าถ้าไม่เข้าแล้วจะเสียอะไร โอกาสที่เราจะสูญเสียคืออะไร” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวต่อว่า เวียดนามในช่วงที่เข้า CPTPP ได้ใช้สิทธิขอเวลาปรับตัวทั้งหมดทุกด้าน โดยดูได้จากเอกสารวิเคราะห์ผลสำเร็จที่เกิดประโยชน์กับประเทศที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเวียดนามหลังจากที่เข้า CPTPP แล้ว

“แม้ว่าไทยจะยื่นเอกสารเข้าเป็นสมาชิกก็ต้องไปต่อคิวอังกฤษกว่าจะเข้าสู่กระบวนการการพูดคุยเจรจา แล้วระหว่างที่เรารอ ทำไมเราไม่ทำไปด้วย คิดไปด้วย ศึกษาไปด้วย เพราะทุกอย่างต้องมีข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการที่เราจะตัดสินใจ” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

สำหรับกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า ในเมื่อไทยเข้าเป็นสมาชิก RCEP แล้ว จำเป็นที่จะต้องเป็นภาคี CPTPP อีกหรือ เพราะสมาชิกของความตกลงทั้งสองกลุ่มก็ใกล้เคียงกัน ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวว่า FTA แต่ละฉบับไม่เหมือนกัน เช่น การลดภาษีระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่น ที่ได้จาก JTEPA กับ การลดภาษีการค้าที่ไทยจะได้จากญี่ปุ่นใน CTPP หรือ RCEP ต่างกัน เช่น สินค้าที่ไทยได้รับภาษีจาก JTEPA อาจจะเป็นตัวเลขหนึ่ง แต่สินค้าชนิดเดียวกันเมื่อเจรจาภายใน CPTPP หรือ RCEP ก็อาจจะเป็นอีกตัวเลขหนึ่งได้ เนื่องจากขอบเขตและตัวบทการบังคับใช้ไม่เหมือนกัน

“ในฐานะประเทศไทยเราจะสูญเสียโอกาสในการศึกษาไปทำไม เพราะเป็นมูลค่าเพิ่มของเราเองในการที่จะได้รู้จัก CPTPP และในที่สุดเมื่อคนตัดสินคือผู้นำประเทศว่าจะเอาหรือไม่เอา การศึกษาก็คือการให้โอกาสตัวเองมีทางเลือกต้องตัดสินใจและมีข้อมูลให้มาก” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

ทางด้านนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการเจรจา FTA หรือการค้าระหว่างประเทศ ในระดับแรกจะมีการตัดสินใจก่อนว่าจะเจรจาหรือไม่เจรจา ถ้าเห็นว่าควรเจรจาก็ไปเจรจา ในระหว่างการเจรจาก็มีการหารือปรับเปลี่ยนท่าที หาข้อมูลเพิ่มเติม หารือกับภาคส่วนมาตลอด ซึ่งจะนำมาสู่จุดที่ว่าตกลงกันได้หรือตกลงกันไม่ได้

CPTPP จะแตกต่างจาก FTA อื่นที่ไทยเคยทำมา โดย CPTPP เป็นความข้อตกลงที่ 11 ประเทศตกลงกันไป สิ่งที่ประเทศที่ยื่นจะไปเจรจาคือ เจรจาเพื่อขอเข้าไม่ใช่มาเจรจาเพื่อขอเขียนข้อบท หน้าที่ความรับผิดชอบ จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร แต่เป็นการเจรจาเน้นเพื่อขอความยืดหยุ่น ขอผ่อนผัน ขอยกเว้น ขอระยะเวลาในการปรับตัวมากกว่า หรือขอเอาภาคธุรกิจหรือสินค้าที่ไม่พร้อมออกมาจากขอบเขตการบังคับใช้ก่อนให้ได้มากที่สุด ต่างจาก FTA ที่ทำมา

สำหรับเรื่องเงื่อนไขเวลาว่าไทยควรจะยื่นขอเข้าเมื่อไร นายรัชวิชญ์ชี้แจงว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม เช่น เกาหลีใต้ แต่ในการเจรจานั้นภาคี CPTPP คงเจรจาเป็นรายประเทศ ไม่ได้เจรจาหลายประเทศในพร้อมๆ กันในครั้งเดียว โดยจะคัดเลือกเจรจากับประเทศที่ได้รับประโยชน์มากกว่าและมีโอกาสมากกว่า และการเข้าไปเจรจาหลังจากที่มีจำนวนภาคี CPTPP เพิ่มขึ้นก็จะมีผลให้ประเทศที่เข้ามาภายหลังอาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นหากดำเนินการได้เร็วก็จะยิ่งมีผลดีต่อประเทศ

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การยื่นขอเข้าเจรจา จะยื่นเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงว่าจำนวนสมาชิกภาคีเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา

“อยากจะให้มองอีกประเด็นหนึ่ง ภาคส่วนเราในช่วงหลายปีที่ผ่านไม่ได้ปรับตัว เราเข้า RCEP เราแทบไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย และไม่มีการปรับตัว ดังนั้น เราต้องถามตัวเอง ถามสังคมไทยว่า สังคมไทยอยากแข่งขันได้หรือไม่ ที่ผ่านมาเราพูดถึงการปฏิรูปหลายเรื่อง การเดินไปข้างหน้าก็เป็นประเด็นที่เราต้องสนใจว่า เราควรจะเข้าไปอยู่ในวงที่มีมาตรฐานสูงหรือไม่” นายเชิดชายกล่าว

กระบวนการภายในของไทยและกระบวนการขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP

  • กระบวนการขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP สรุปได้ดังนี้
    • ภาคีที่ขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP ควรหารืออย่างไม่เป็นทางการกับทุกประเทศสมาชิก CPTPP เกี่ยวกับความสนใจที่จะขอเข้าร่วมความตกลงฯ ก่อนที่จะยื่น Formal Request ขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP
    • ภาคีที่ขอเจรจาฯ ต้องยื่น Formal Request ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาเพื่อขอเริ่มเจรจา
    • หากคณะกรรมาธิการ CPTPP เห็นชอบโดยฉันทามติกับข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คณะเจรจาฯ เสนอมา จะกำหนดเวลา 6 เดือน (อาจขยายเพิ่มเติมได้) ให้ภาคีที่ขอเจรจาฯ ยื่นภาคยานุวัติสารระบุว่ายอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับการภาคยานุวัติแก่ผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา (นิวซีแลนด์)
    • ประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP จะแจ้งผลการพิจารณาขอภาคยานุวัติเข้าร่วม CPTPP ให้แก่ภาคีที่ขอเจรจาฯ อย่างเป็นทางการ
    • เมื่อภาคีที่ขอเจรจาฯ ได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศที่เกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะยื่น ภาคยานุวัติสารให้แก่ผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา และภาคี CPTPP จะต้องแจ้งผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาเช่นกันว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยอมรับการเข้าเป็นภาคีใหม่ของภาคีที่ขอเจรจาฯ เรียบร้อยแล้ว
    • ภาคีที่ขอเจรจาฯ จะถือเป็นสมาชิก CPTPP หลังครบ 60 วัน เมื่อทำตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) วันที่ภาคีฯ ได้ยื่นภาคยานุวัติสารแก่ผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา หรือ (2) วันที่ภาคี CPTPP ทุกประเทศได้แจ้งผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว (แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นหลังสุด)
    • หากภาคี CPTPP เห็นชอบให้เริ่มการเจรจา ก็จะจัดตั้งคณะเจรจาเพื่อภาคยานุวัติความตกลง (Accession Working Group) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลของประเทศภาคีแต่ละประเทศ ในกรณีที่มีภาคีที่ขอเจรจาฯ มากกว่า 1 ภาคี คณะกรรมาธิการ CPTPP สามารถกำหนดให้มีคณะเจรจาฯ แยกสำหรับแต่ละภาคีที่ขอเจรจาฯ หรือจะให้จัดตั้งคณะเจรจาฯ เพียงคณะเดียวเพื่อหารือกับหลายภาคีที่ขอเจรจาฯ ก็ได้ (สหราชอาณาจักรอยู่ในขั้นตอนนี้)
    • ในการประชุมครั้งแรกของคณะเจรจาฯ ภาคีที่ขอเจรจาฯ จะต้องแจ้งผลการดำเนินการเพื่อให้กฎหมายภายในและกฎระเบียบต่างๆ สอดคล้องกับ CPTPP รวมทั้งการปรับเปลี่ยนใดๆ ที่จำเป็นเพื่อการดังกล่าว
    • ภายใน 30 วัน นับจากการประชุมคณะเจรจาฯ ครั้งแรก ภาคีที่ขอเจรจาฯ จะต้องนำส่งข้อเสนอ การเปิดตลาด/ข้อสงวน (ในด้านสินค้า บริการ บริการทางการเงิน การลงทุน การเข้าเมืองชั่วคราวของนักธุรกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และรัฐวิสาหกิจ) ให้แก่คณะเจรจาฯ ซึ่งหากว่าคณะเจรจาฯ พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วเห็นว่าสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนด คณะเจรจาฯ จะยืนยัน/นำส่งข้อผูกพันการเปิดตลาดของตนให้แก่ภาคีที่ขอเจรจาฯ (ภาคีที่ขอเจรจาฯ จะต้องเจรจากับคณะเจรจาฯ รวมทั้งเจรจากับรายประเทศแบบทวิภาคี (ตามความเหมาะสม) เพื่อเจรจาการเปิดตลาดและนำเสนอว่าข้อเสนอดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ CPTPP กำหนดไว้อย่างไร
    • เมื่อเจรจาจนได้ข้อสรุปแล้ว คณะเจรจาฯ จะนำส่งรายงานเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับ การภาคยานุวัติเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของภาคีที่ขอเจรจาฯ ให้แก่คณะกรรมาธิการ CPTPP โดยรายงานดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นฉันทามติจากคณะเจรจาฯ

    เมื่อ ครม. เห็นชอบให้ไทยเจรจาขอเข้าร่วม CPTPP และต่อกรอบการเจรจา รัฐบาลถึงสามารถยื่น formal request ต่อนิวซีแลนด์ได้ (ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนนี้ กล่าวคือ กนศ.จะเสนอให้ ครม. พิจารณาว่าไทยควรขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯหรือไม่)

    รัฐบาลต้องนำผลการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอรับความเห็นชอบ ก่อนที่จะสามารถดำเนินการภาคยานุวัติต่อไป

อ่านต่อ CPTPP (ตอนจบ): ไขปม 3 ข้อกังวล สิทธิเก็บเมล็ดพันธ์-CL ยา-จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ