ThaiPublica > เกาะกระแส > CPTPP (ตอนจบ): ไขปม 3 ข้อกังวล สิทธิเก็บเมล็ดพันธุ์-CL ยา-จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

CPTPP (ตอนจบ): ไขปม 3 ข้อกังวล สิทธิเก็บเมล็ดพันธุ์-CL ยา-จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

1 กรกฎาคม 2021


ต่อจากตอนที่ 1

  • ไทยจะอยู่ตรงไหน อย่างไรในกติกาการค้าโลก
  • เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สหราชอาณาจักรได้ยื่นขอเจรจาเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

    CPTPP เป็นความตกลงขนาดใหญ่ เพราะสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 13% ของเศรษฐกิจโลก มีปริมาณการค้าระหว่างกันรวม 15% ของการค้าโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และยังเป็นความตกลงการค้าระดับสูง ที่ไม่เพียงลดภาษีสินค้า แต่ยังกำหนดกฎระเบียบใหม่ในเรื่องบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล และรัฐวิสาหกิจ

    CPTPP มี 30 ข้อบท เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมการค้าสินค้าและบริการ และมีข้อบทเกี่ยวกับการเปิดเสรีภาคโทรคมนาคม การลงทุน การบริการทางการเงิน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนกำหนดให้คุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    โดยลักษณะสำคัญของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูงนี้คือมีอัตราการลดภาษีเป็นศูนย์เพื่อเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกือบทุกประเภท และมีข้อบทที่กำกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้หรือเกินกว่าที่ตกลงกันในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ในลักษณะ “WTO-Plus” จึงทำให้ประโยชน์ของความตกลง FTA ยุคใหม่นี้ไม่ได้มากจากการลดภาษีศุลกากรเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและยกระดับมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางการค้าด้วย

    หลายฝ่ายมองว่า การยื่นเข้าเป็นภาคี CPTPP ของสหราชอาณาจักรเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด เพราะเป็นการวางกติกาการค้าใหม่ รวมทั้งปรับปรุงข้อตกลงการค้าที่มีอยู่เดิมกับ 11 ประเทศคู่ค้า ด้วยการเจรจาเพียงรอบเดียว

    สำหรับประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP และได้เสนอ คณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2563 เพื่อขอให้พิจารณาเห็นชอบให้ไทยขอเจรจาเจ้าร่วม CPTPP แต่ท้ายที่สุดขอถอนเรื่องออกไปเพราะเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมยังเห็นต่างอยู่มาก จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ

    วันที่ 18 มิถุนายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศและกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้จัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership -CPTPP) กับสื่อมวลชน ครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนภาคสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ประกอบด้วย นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก, นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการกองนโยบายระบบการค้าสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมวิชาการเกษตร

    CPTPPP กับ UPOV 1991 คนละเรื่องเดียว

    นางสาวธิดากุญ แสนอุดม ผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงประเด็นข้อกังวลที่ว่า การเข้าเป็นภาคี CPTPP จะส่งผลให้มีการลิดรอนสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร

    โดยให้ข้อมูลว่า UPOV 1991 คือ การให้การคุ้มครองพันธุ์พืช และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งด้านพันธุ์พืช

    ประเด็นของ CPTPP กับ UPOV 1991 อยู่ตรงที่มาตรฐานของ UPOV 1991 สูงกว่ากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทย ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี CPTPP จำเป็นต้องยกระดับการคุ้มครองขึ้นใหม่ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะลิดรอนสิทธิของเกษตร

    การยกระดับครั้งนี้เป็นการให้สิทธิ์กับผู้คิดค้นพันธุ์ใหม่หรือนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้นจากที่เดิมได้เคยได้รับสิทธิ์ เช่น เดิมได้รับสิทธิ 5 ประการจะได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ประการ บางกลุ่มบางคนอาจจะมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเกษตรกรและเพิ่มเสียงให้กับผู้พิทักษ์พันธุ์

    “สิ่งที่เป็นประเด็นมากๆ คือ ขอบเขตของการคุ้มครองตาม UPOV 1991 เพราะมีขอบเขตการคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชที่คิดขึ้นใหม่เท่านั้น ซึ่งใหม่หมายถึง ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ และใหม่ในเชิงการตลาด คือ ออกสู่ตลาดไม่นาน คำว่าไม่นานก็คืออยู่ที่ 1 ปีหรือ 4 ปี แต่ถ้าประดิษฐ์ใหม่และออกสู่ตลาดนานแล้วก็ไม่สามารถยื่นจดได้ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญอันแรกที่ต้องเข้าใจว่า UPOV อยู่ที่เม็ดพันธุ์พืชที่ขึ้นใหม่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และมีเป้าหมายในเชิงการตลาด” นางสาวธิดากุญกล่าว

    ดังนั้น พันธุ์พืชเดิมในป่า พันธุ์พืชพบใหม่ในป่า ในภูเขาและอุทยาน จะไม่อยู่ภายใต้ UPOV 1991

    ประเด็นที่ 2 ที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ และเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจ คือ อายุการคุ้มครองสำหรับพันธุ์พืชใหม่

      อนุสัญญา UPOV 1991 คืออนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญาทางด้านพืช มีความเกี่ยวข้องกับความตกลง TPP โดยภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญากำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ด้วย (ที่มา: https://www.dtn.go.th/th/faq/de63c3df-bdb4-a8ee-6a66-27c7361df722)

    นางสาวธิดากุญกล่าวพร้อมยกตัวอย่างประกอบว่า เช่น แตงโม กฎหมายของไทยคุ้มครอง 12 ปี แต่หากนักปรับปรุงพันธุ์ประดิษฐ์แตงโมพันธุ์ใหม่ออกมา ความคุ้มครองตามกฎหมายไทยในการขายเมล็ดพันธุ์ในตลาด มีสิทธิทำการพาณิชย์แต่ผู้เดียวแค่ 12 ปี แต่การคุ้มครองสิทธิตาม UPOV ของแตงโม นักปรับปรุงพันธุ์จะได้สิทธิเดียวอย่างน้อย 20 ปี

    ส่วนมะม่วงหากยื่นจดตามกฎหมายคุ้มครองของไทยจะขายพันธุ์แต่เพียงผู้เดียวได้ 17 ปี ขณะที่ UPOV 1991 คุ้มครองอย่างน้อย 25 ปี แตกต่างจากแตงโม เนื่องจากแตงโมสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลผลิตไว้ปลูกและขายผลผลิตต่อได้ แต่มะม่วง ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ

    “ภายใต้ UPOV 1991 การเก็บเมล็ดพันธุ์มะม่วงจะทำไม่ได้ จะทำได้ต่อเนื่องเจ้าของแต่ละประเทศออกกฎหมายให้ทำได้ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บเมล็ดพันธุ์” นางสาวธิดากุญกล่าว

    ความแตกต่างของมะม่วงกับแตงโม นอกจากประเภทการเป็นพืชยืนต้นกับพืชล้มลุกแล้วยังมีเรื่องการขยายพันธุ์ มะม่วงขยายพันธุ์ด้วยกิ่ง ไม่ได้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หากขยายพันธุ์มะม่วงด้วยการเพาะเมล็ด ใน 10 ต้นน่าจะมีเพียงต้นเดียวที่เหมือนต้นแม่ แต่แตงโมขยายพันธุ์โดยเมล็ดโดยธรรมชาติ

    หลักการของ UPOV 1991 คือ พืชที่ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จะไม่อนุญาตให้เก็บเมล็ดพันธุ์ต่อ เหตุผลก็คือมะม่วงหนึ่งต้นปลูกแล้วเก็บผลขายได้ตลอดเป็น 10 ปีไม่ต้องซื้อพันธุ์ใหม่มาปลูกให้ทุกรอบการผลิต เป็นการสร้างสมดุลให้ผู้ที่คิดพัฒนาพันธุ์สามารถจะได้ผลตอบแทนการลงทุนคืนด้วย เนื่องจากต้องใช้ทุนในการวิจัยสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เพราะมะม่วงปลูกแล้วเต็มพื้นที่เก็บผลได้ 10-20 ปี ไม่มีใครกลับไปซื้อพันธุ์เพิ่มฉะนั้นการคิดค้นพันธุ์ใหม่ๆ ก็ไม่อาจจะไม่เกิดขึ้น บริษัทเอกชนก็จะไม่ลงทุนทำวิจัยและพัฒนา แต่หากเป็นประเภทเมล็ดพันธุ์ก็จะได้ทุนคืน สามารถจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไปทำการวิจัยและพัฒนาต่อ

    “การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ใหม่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พื้นที่การเกษตรลดลง ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป สภาพอากาศเปลี่ยนไป ประชาชนต้องการความปลอดภัยมากขึ้น การปรับปรุงพันธุ์พืชจะทำให้สามารถทำการเกษตรได้ นี่เป็นหลักการที่ UPOV 1991 มอง”

    CPTPP กับ UPOV เป็นคนละเรื่องเดียวกัน โดย CPTPP เรื่องของการค้าตัวของ FTA อยู่เพราะเป็นอนุสัญญาเฉพาะเรื่องเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาและพันธุ์พืช แต่ข้อกำหนดของ CPTPP ในข้อบทที่ 18 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบังคับว่า ถ้าหากจะร่วมเป็นภาคีกับ CPTPP การคุ้มครองพันธุ์ใหม่ต้องมีมาตรฐานเท่ากันทั้งหมดคือ UPOV 1991

    นางสาวธิดากุญกล่าวถึงขีดความสามารถในการปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยว่า จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ไทยเป็นหนึ่งในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืชของอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกเมล็ดพันธุ์ติดอันดับท็อป 5 ของเอเชียไม่เกินท็อป 10

    รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชในภูมิภาค นอกจากนี้ สมาคม Asia-pacific Certification ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย อีกทั้งมีมุมมองจากภาคเอกชนว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์

    สิ่งที่น่ากังวลก็คือในสวนเกษตรกรรายย่อยที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ของภาคเอกชนซึ่งเป็นเมล็ดพันธ์ดีแต่ราคาสูงดังนั้นในส่วนของเกษตรกรรายย่อยยังพึงพึ่งพิงเมล็ดพันธ์ของรัฐ ภาคราชการ หรือหน่วยงานกำกับของรัฐบาล ดังนั้นเราก็น่าที่จะดูแลเกษตรกรที่ใช้ในส่วนนี้ ซึ่งทุกวันนี้ภาครัฐจะไม่สามารถที่จะผลิตผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ เมล็ดพันธุ์ที่ดีให้ตอบสนองได้

    “จึงมีการเสนอว่า ถ้าจะสร้างความมั่นใจว่าลดข้อกังวลที่จะเดิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลก็ต้องดูแลส่งเสริมในการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงไปยังเกษตรกรรายย่อยเพื่อเป็นทางเลือกที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพิงภาคเอกชน โดยที่ภาคเอกชนยังพัฒนาเมล็ดพันธ์ต่อไป แต่รัฐบาลดูแลในส่วนนี้ ในแง่ศักยภาพจากข้อมูลที่มีภาคเอกชนสามารถทำได้ แต่ในมุมมองของเกษตรกรรายย่อยในมุมของภาครัฐยังไม่พร้อม” นางสาวธิดากุญกล่าว

    วันนี้ CL ยา ทำได้อย่างไร เข้า CPTPP ทำแบบนั้น

    ศาตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ใช้เวลากว่า 1 ปีในการศึกษา เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ CPTPP กล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายกังวล ซึ่งได้แก่ การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือมักเรียกสั้นๆ ว่าการทำ CL ยา โดยเกรงว่าเมื่อเข้าเป็นภาคี CPTPP แล้วจะไม่สามารถทำ CL ยาได้อีก

      การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory licensing: CL) คือการที่กฎหมายอนุญาตให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้สิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิ เมื่อมีเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เหมาะสม แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการบังคับใช้สิทธิ พร้อมทั้งต้องแจ้งการบังคับใช้สิทธิให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบด้วย (ที่มา: http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/news_20012011012152_102.pdf)
      CL ยาเป็นมาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Flexibilities) ที่อนุญาตให้ทุกประเทศสามารถป้องกันสาธารณสุขของประเทศได้และส่งเสริมการเข้าถึงยาของมวลชน โดยให้ประเทศสามารถผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ติดสิทธิบัตรได้ หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน เกิดวิกฤติภายในประเทศหรือเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ (ที่มา: https://www.hitap.net/168376)

    ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวว่า “วันนี้เราทำ CL ยาได้อย่างไร เข้า CPTPP ก็ยังทำได้เหมือนเดิม ในมาตรา 18 วรรค 6 ของ CPTPP ระบุว่า การตัดสินว่าประเทศมีวาระเร่งด่วนหรือภาวะฉุกเฉิน ประเทศที่เป็นภาคีเป็นผู้ตัดสินใจ ตราบใดที่ใช้ CL ตาม TRIPS” ซึ่งประเทศไทยใช้มาตลอด

    “WTO เกิดขึ้นในปี 2538 เราก็ใช้ CL มาตลอด เราเข้า CPTPP เรื่องนี้เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน เรื่อง CL ทำได้ไม่ต้องกังวล” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวและเพิ่มเติมว่า ข้อมูลการทำ CL ยา ที่ศึกษาได้ใช้ข้อมูลจาก จากเว็บไซต์ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อว่าข้อมูลน่าเชื่อถือได้

    สำหรับกรณีที่กังวลว่า การทำ CL จะเป็นการเวนคืนโดยอ้อมหรือทำให้รัฐต้องถูกฟ้องจากเอกชนหรือไม่ เพราะ CL เป็นการถ่ายโอนเทคโนโลยี แต่การที่ใช้หมายถึงการมีภาวะฉุกเฉินมีสถานการณ์เร่งด่วน ศาตราจาย์ทัชมัยกล่าวว่า ในมาตรการ 9 วรรค 8 Expropriation and Compensation เขียนไว้ชัดเจนเป็นข้อบทกำหนดไม่ให้นำเรื่องนักลงทุนฟ้องรัฐมาใช้กับกรณีการใช้มาตรการ CL ที่สอดคล้องกับ WTO และ TRIPs

    การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเจรจายกเว้นสินค้า-หน่วยงานได้

    ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวถึงกรณีที่พบข้อกังวลกันมากเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐว่า ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในภาคี Government Procurement ซึ่งอยู่ใน Annex ที่ 4 ของ WTO ซึ่งเลือกได้ว่าจะเข้าหรือไม่เข้าเป็นภาคีก็ได้

    “กรณีที่ไทยจะเข้า CPTPP จะต้องผูกพันตามมาตรา 15 แต่การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของประเทศที่เข้าร่วม CPTPP ไม่ใช่ทุกกรณี ที่จะตกอยู่ภายใต้กติกานี้ ทุกประเทศภาคีสามารถขอยกเว้นได้โดยระบุไว้ใน Annex15-A” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

    โดยพบว่า ประเทศภาคี CPTPP ทุกประเทศที่เป็นผู้เริ่มก่อตั้งที่น่าจะมีศักยภาพในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐต่างก็มีการจัดทำ Annex 15-A ของตนขึ้นมาทั้งสิ้น ทั้งญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

    ศาตราจารย์ทัชมัยยกเวียดนามขึ้นมาเป็นตัวอย่าง Annex 15-A โดยชี้ว่า ประเทศภาคีสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำที่ต่างชาติสามารถเข้าแข่งขันในการประมูลได้ ถ้าต่ำกว่าที่กำหนดต่างชาติเข้ามาแข่งไม่ได้ รวมทั้งกำหนดได้ว่าหน่วยงานที่จะอยู่หรือไม่อยู่ในการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถกำหนดสินค้าและบริการที่จะจะอยู่หรือไม่อยู่ในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐก็ได้ และสามารถกำหนดหัวข้ออื่นไว้ได้

    (ก) กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าโครงการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และยังกำหนดระยะเวลาการปรับตัวไว้
    (ข) กำหนด “หน่วยงาน” ที่จะอยู่/ไม่อยู่ในขอบข่ายของข้อบทนี้ไว้เป็นการเฉพาะได้
    (ค) กำหนด “สินค้าและบริการที่จะอยู่ในขอบเขตของข้อบทนี้” ได้
    (ง) กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ รวมทั้งระยะเวลาการปรับตัวของหน่วยงานอื่นที่ต่างไปจากที่ระบุไว้ใน (ก) และ (ค)
    (จ) กำหนดขอบเขตของหน่วยงานที่จะใช้หรือไม่ใช้ข้อบทนี้ได้ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในสินค้ายาพร้อมทั้งกำหนดได้ด้วยว่าจะไม่ใช้ข้อบทในส่วนนี้กับประเทศใด
    (ฉ) กำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในสินค้ายาได้
    ภายใต้ข้อ (จ) และ (ฉ) สินค้ายา กับองค์การเภสัชยังสามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม

    มาตรา 15 วรรค 2 พูดถึง Annex15-A เป็นตาราง A-J ขอบเขตของการใช้มาตรานี้ (scope of application)

    ศาตราจารย์ทัชมัยได้ใช้เวียดนามเป็นตัวอย่างในการใช้ Annex 15-A โดยเวียดนามเขียนเรื่องสินค้าบริการและการก่อสร้าง รวมทั้งระบุว่าหน่วยงานใดที่จะไม่อยู่หรืออยู่ในการแข่งขันกับต่างชาติกติกานี้ ในเรื่องสินค้าและบริการเวียดนามใช้เวลา 5 ปีและในปีที่ 6 กำหนดวงเงินไว้ที่ 3 ล้าน SDR หมายความว่า ต่ำกว่านี้ ต่างชาติเข้ามาแข่งขันไม่ได้ แต่สูงกว่านี้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้

    ส่วนเรื่องก่อสร้างเวียดนามขอสงวนไว้ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ CPTPP มีผลบังคับใช้ ซึ่งในปีที่ 21 กำหนดวงเงินไว้ที่ 15 ล้าน SDR

    “นี่เป็นตัวเลขที่เวียดนามสงวนไว้ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่ง ในเมื่อเวียดนามทำได้ ทำไมไทยจะทำไม่ได้ ถ้าเรามองว่าเราอยู่ในระดับเดียวกับเวียดนาม เราน่าจะร้องขอได้ ส่วนตัวเลขเหล่านี้อยู่ที่การเจรจาทั้งสิ้น” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

    ส่วนเรื่องยาจากข้อมูลที่มีองค์การเภสัชมีสัดส่วนในการจัดซื้อจัดจ้าง 30% ของการจัดซื้อจัดจ้าง เวียดนามระบุไว้ใน Annex15-A Section D ว่า ขอเวลา 15 ปี แต่เมื่อครบกำหนดก็ไม่ได้ให้เต็ม เวียดนามยังสามารถทำให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างยาได้ด้วยตัวเอง โดยที่ต่างชาติไม่สามารถเข้ามาได้ในปีที่ 16 เป็นต้นไปนอกจากจะเจรจาใหม่แต่ตามตัวบทยังได้ 50% ซึ่งสูงกว่า 30% ขององค์การเภสัชของไทย

    “เรื่องของยาเราสามารถบอกว่า เราต้องการระยะเวลาปรับตัว นอกจากปรับตัวแล้วยังสามารถตีตั๋วเด็ก เวียดนามตีตั๋วเด็กได้ 50% เขียนไว้มากใช้น้อยได้ แต่เขียนไว้น้อยใช้มากไม่ได้” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

    ประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐกับสินค้า remanufactured โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเครื่องมือแพทย์ ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวว่า ข้อบทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐไม่มีการกล่าวถึงสินค้า remanufactured แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐจะไม่รวมถึงสินค้า remanufactured

    “การที่ไม่ได้มีไว้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มาประมูลงานของรัฐจะไม่สามารถเสนอ สินค้า remanufactured ได้ ในมาตรา 1 ของ CPTPP ระบุว่า ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเหมือนใหม่ และมีการรับประกันเสมือนเป็นสินค้าใหม่” ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว

    สำหรับแนวทางการดำเนินการกรณีที่เข้า CPTPP และต้องยอมรับการนำเข้าสินค้า remanufactured หากมีคุณภาพ ต้องอ้างอิงจากมาตรา 2 ของ CPTPP ที่เปิดให้ใช้ technical requirement คือการใช้มาตรฐานประเภทสินค้ามาจัดการ สินค้า remanufactured เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพได้ เช่น การติดป้ายว่าเป็น สินค้า remanufactured

    ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าวถึงแนวทางการจัดการของเวียดนามว่า จะระบุประเภทสินค้าที่จัดเป็นสินค้า remanufactured และขอยกเว้นตาม Annex 2-B

    ส่วนอีกข้อกังวล ว่า SMEs จะไม่มีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐนั้น ก็สามารถกำหนดให้ SMEs มีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐได้โดยกำหนดเป็นข้อยกเว้นใน Annex 15-A รวมทั้งการกำหนดวงเงิน

    “การกำหนดเพดาน หมายความว่าจะมีวงเงินใต้เพดานที่ SMEs สามารถเข้ามาประมูลได้ ในกรณีของออสเตรเลียได้ระบุสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับ SMEs ไว้ ข้อนี้เป็นการตอบข้อกังวลของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร”ศาตราจารย์ทัชมัยกล่าว