ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามรั้งอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดึงการลงทุนสตาร์ทอัพ

ASEAN Roundup เวียดนามรั้งอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดึงการลงทุนสตาร์ทอัพ

5 พฤษภาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 28 เมษายน-4 พฤษภาคม 2567

  • เวียดนามรั้งอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดึงการลงทุนสตาร์ทอัพ
  • เวียดนามยกระดับความพร้อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
  • FDI งวด 4 เดือนเวียดนามสูงสุดรอบ 5 ปี
  • ไมโครซอฟต์ประกาศลงทุนมูลค่า 2.2 พันล้านดอลล์ ในคลาวด์และ AI ของมาเลเซีย
  • ไมโครซอฟต์ประกาศการลงทุน 1.7 พันล้านดอลล์ดันเป้าหมายคลาวด์- AI อินโดนีเซีย
  • สิงคโปร์ผู้นำการลงทุนขาเข้าข้ามพรมแดนในเอเชียแปซิฟิก
  • รถไฟบรรทุกสินค้าเชื่อม 4 ประเทศเดินขบวนแรกแล้ว

    เวียดนามรั้งอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านดึงดูดการลงทุนสตาร์ทอัพ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-ranks-third-in-southeast-asia-in-startup-investment-attraction-post285182.vnp
    เวียดนามยังครองตำแหน่งที่สามในจำนวนข้อตกลงการลงทุน และกลับมาอยู่ในอันดับที่สามในแง่ของการลงทุนรวมในสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย ในปี 2566 สตาร์ทอัพในเวียดนามได้รับเงินลงทุนรวม 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สิงคโปร์เป็นผู้นำทั้งในด้านจำนวนข้อตกลงและเงินลงทุนทั้งหมดสำหรับสตาร์ทอัพ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ตามรายงานการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมปี 2024 ที่เผยแพร่ที่งาน Vietnam Innovation Forum 2024 เมื่อวันที่ 26 เมษายน โดยศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) และกองทุน Do Ventures Investment ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    รายงานนี้ยังระบุอีกว่าในปี 2566 เงินลงทุนรวมในสตาร์ทอัพเวียดนามมีจำนวน 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

    ในปี 2566 กองทุนเกือบ 100 กองทุนได้ทุ่มทุนให้กับสตาร์ทอัพในเวียดนาม โดยนักลงทุนที่แข็งขันมากที่สุดมาจากสิงคโปร์ ตามมาด้วยนักลงทุนเวียดนาม

    โดยภาคการดูแลสุขภาพได้รับการลงทุนสูงสุด พุ่งสูงขึ้นถึง 391% จากปีก่อนหน้า ภาคการศึกษายังได้รับเงินทุนจำนวนมากเพิ่มขึ้น 107% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    เจิ่น ดุย ดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวในการเสวนาว่า เวียดนามจะร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพ ธุรกิจ องค์กร และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    เวียดนามขยับขึ้น 2 อันดับในดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index:GII) ในปี 2566 โดยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 132 ประเทศและเขตปกครอง ตามรายงานของ GII ที่เผยแพร่โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organisation:WIPO)

    เวียดนามยกระดับความพร้อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-making-new-moves-in-multibillion-dollar-semiconductor-industry-post269573.vnp
    โด แทงห์ จุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่า เวียดนามได้ปรับตัวด้วยการพัฒนาสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยในการแถลงข่าวของรัฐบาลที่จัดขึ้นเป็นประจำเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม เพื่อตอบคำถามของสื่อเกี่ยวกับความสนใจของธุรกิจต่างชาติรายใหญ่ในตลาดเวียดนาม

    จุง ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจต่างชาติลงทุนไม่ใช่แค่ในเวียดนามแต่ยังลงทุนในหลายประเทศ การตัดสินใจลงทุนของพวกเขาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยหลัก คือ สภาวะการณ์ทั่วไป วัตถุประสงค์และความต้องการ และความพร้อมของเวียดนาม

    สภาวะการณ์ทั่วไป ได้แก่ สถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจในโลก ภูมิภาคและเวียดนาม แนวโน้มการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่วัตถุประสงค์และความต้องการ ได้แก่ กลยุทธ์การลงทุนและเป้าหมายของธุรกิจ ความเหมาะสมของแต่ละประเทศและภูมิภาค ทรัพยากร และความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

    ในขณะเดียวกัน รัฐบาล กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) และกระทรวงและภาคส่วนอื่นๆ พยายามที่จะส่งเสริมความพร้อมด้านสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนของเวียดนามเพื่อดึงดูดบริษัทเหล่านั้น จุงกล่าว

    ในแง่ของกฎระเบียบ จุงอธิบายว่า เวียดนามได้ปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย กลไก และนโยบายเพื่อปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุน นอกจากนี้ ยังพิจารณากลไกเฉพาะและสิ่งจูงใจที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และชิป

    เวียดนามได้ดำเนินการเพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการผลิต เช่น ไฟฟ้า รวมทั้งยังมีการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมไฮเทคและศูนย์นวัตกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุน

    ในด้านทรัพยากรบุคคล ได้มีการจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรม จุงกล่าวต่อว่า นอกเหนือจากหน่วยงานที่สามารถฝึกอบรมและวิจัยเช่นมหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดใหญ่แล้ว รัฐบาลและนายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ กระทรวงฯจัดทำร่างแผนฝึกอบรมวิศวกรจำนวน 50,000 คนสำหรับ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และได้ส่งเสนอร่างให้พิจารณาแล้ว

    จุงเปิดเผยว่า ธุรกิจต่างประเทศให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิป นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว นักลงทุนจากญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ยังมีไต้หวัน (จีน) ก็ได้ย้ายไปลงทุนในเวียดนามด้วย

    รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ แสดงความเชื่อว่าด้วยความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะเห็นผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต

    FDI งวด 4 เดือนเวียดนามสูงสุดรอบ 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/singapore-tops-foreign-investors-in-vietnam-in-first-quarter/283635.vnp
    สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งหมดที่เบิกใช้เงินทุนในเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ น่าจะสูงถึง 6.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดของงวด 4 เดือนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากรายงานของสำนักงานสถิติ

    ภาคการผลิตและแปรรูปมีมูลค่ามากที่สุดที่ 4.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 78.5% ของ FDI ทั้งหมดที่มีการเบิกจ่ายในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
    รองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ก๊าซ น้ำร้อน ไอน้ำ และเครื่องปรับอากาศ 259.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ ณ วันที่ 20 เมษายน FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามมีมูลค่าเกือบ 9.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากยอดทั้งหมด มีการใช้เงิน 7.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับโครงการใหม่ 966 โครงการ เพิ่มขึ้น 28.8% ในแง่จำนวนโครงการ และ 73.2% ของจำนวนเงินทุน

    เงินทุน FDI ที่จดทะเบียนใหม่ในภาคการแปรรูปและการผลิตมีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในบรรดา 50 ประเทศและเขตปกครองที่มีโครงการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ในเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนสูงสุดด้วยมูลค่า 2.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 36.4% ของทั้งหมด ฮ่องกง (จีน) ตามมาเป็นอันดับสองด้วยจำนวน 898.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ญี่ปุ่นครองอันดับที่สามด้วยมูลค่า 814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มทุน 1.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 345 โครงการ ลดลง 25.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ นักลงทุนต่างชาติก็ใช้เงิน 929.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าลงทุนในหุ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน

    สำนักงานสถิติยังรายงานด้วยว่าใ นช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามลงทุน 98.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการใหม่ 36 โครงการในต่างประเทศ ลดลง 29.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และใส่เงิน 580,000 ดอลลาร์สหรัฐในโครงการที่ดำเนินการอยู่ 3 โครงการ

    เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศได้รับเงินลงทุนสูงสุดจากเวียดนามในบรรดา 14 ประเทศและเขตปกครองที่เวียดนามเข้าไปลงทุน ด้วยมูลค่า 54.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ไมโครซอฟต์ประกาศลงทุนมูลค่า 2.2 พันล้านดอลล์ ในคลาวด์และ AI ของมาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://news.microsoft.com/apac/2024/05/02/microsoft-announces-us2-2-billion-investment-to-fuel-malaysias-cloud-and-ai-transformation/

    วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ไมโครซอฟต์ประกาศว่าจะลงทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสี่ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของมาเลเซีย ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 32 ปีในประเทศ

    การลงทุนของไมโครซอฟต์ประกอบด้วย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ในมาเลเซีย,สร้างโอกาสด้านทักษะ AI ให้กับผู้คนเพิ่มเติม 200,000 คนในมาเลเซีย, เสริมสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้าน AI และเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ, สนับสนุนการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาของมาเลเซีย

    การลงทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ไมโครซอฟต์ ในการพัฒนามาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางการประมวลผลบนคลาวด์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง รวมถึง generative AI ซึ่งจะสนับสนุนการผลิตของประเทศ ความสามารถในการแข่งขัน ความยืดหยุ่น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    “เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้าน AI ของมาเลเซีย และดูแลให้มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวมาเลเซียทุกคน” สัตยา นาเดลลา ประธานและซีอีโอของไมโครซอฟต์กล่าว “การลงทุนของเราในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและทักษะจะช่วยให้ธุรกิจ ชุมชน และนักพัฒนาของมาเลเซียใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ”

    เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียกล่าวว่า “การที่ไมโครซอฟต์อยู่ในมาเลเซียถึง 32 ปี แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ลึกซึ่งสร้างขึ้นจากความไว้วางใจ แท้จริงแล้ว ตำแหน่งของมาเลเซียในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่คึกคักกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นจากชื่อที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เนื่องมาจากระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างดีของเรา ซึ่งตอกย้ำด้วยข้อเสนอคุณค่าของเราที่ว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นของระดับโลก”

    “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ที่สำคัญของไมโครซอฟต์ควบคู่ไปกับโอกาสในการมีทักษะด้าน AI จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ และยกระดับตำแหน่งของเราในภูมิทัศน์เทคโนโลยีระดับโลก จากการร่วมมือกับไมโครซอฟต์เรามุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับ SMEs ของเราและงานที่มีรายได้ดียิ่งขึ้นสำหรับคนของเรา ในขณะที่เราขับเคลื่อนการปฏิวัติ AI เพื่อผลักดันการเติบโตที่เสริมศักยภาพทางดิจิทัลของมาเลเซียอย่างรวดเร็ว”

    “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกรอบ AI แห่งชาติ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้น AI นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการไม่แบ่งแยกโดยการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน ดังนั้นชาวมาเลเซียทุกคนจึงสามารถเติบโตได้ในโลกดิจิทัลใหม่นี้ ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยคิดและวางแผนล่วงหน้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมผ่านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล” แอนเดีรย เดลลา แมทเทีย ประธานไมโครซอฟต์ อาเซียน กล่าว

    สำหรับความร่วมมือกับมาเลเซียได้แก่
    ขยายความสามารถทางดิจิทัลของมาเลเซียเพื่อคว้าโอกาสด้าน AI
    การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเกิดขึ้นจากโครงการ Bersama Malaysia (Together with Malaysia) ของไมโครซอฟต์ ซึ่งประกาศในเดือนเมษายน 2564 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ซึ่งรวมถึงแผนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภูมิภาคแห่งแรกของบริษัทในมาเลเซีย

    การลงทุนที่ประกาศในครั้งนี้จะช่วยให้ไมโครซอฟต์สามารถตอบสนองความต้องการบริการประมวลผลบนคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นในมาเลเซีย นอกจากนี้ยังช่วยให้มาเลเซียใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจและการผลิตที่สำคัญที่นำเสนอโดยเทคโนโลยี AI ล่าสุด

    งานวิจัยของ Kearney พบว่า AI สามารถสร้างรายได้เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573 โดยมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่งถึง 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เตรียมความพร้อมให้ผู้คนมีทักษะเพื่อการเติบโตในยุค AI

    ไมโครซอฟต์ได้ประกาศขยายความมุ่งมั่นในการมอบโอกาสด้านทักษะด้าน AI แก่ผู้คน 2.5 ล้านคนในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ภายในปี 2568 การฝึกอบรมและการสนับสนุนนี้จะดำเนินการร่วมกับรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหากำไร และองค์กรธุรกิจ และ ชุมชนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

    ความมุ่งมั่นด้านการเสริมสร้างทักษะของไมโครซอฟต์คาดว่า 200,000 คนในมาเลเซียจะได้ประโยชน์ผ่าน

    • การศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมนักเรียนให้มีทักษะ AI ผ่านโครงการ AITEACH Malaysia
    • ผู้หญิงจะมีโอกาสและจะสนับสนุนในการสร้างอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านโปรแกรม Ready4AI&Security
    • เยาวชนจะได้รับการฝึกอบรมความชำนาญด้าน AI เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจ้างงานและความพร้อมในการทำงานของผู้ที่มาจากชุมชนที่ด้อยโอกาส
    • พนักงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีความรู้และทักษะด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัล

    ความมุ่งมั่นดังกล่าวต่อยอดมาจากกิจกรรมส่งเสริมทักษะอื่นๆ ของไมโครซอฟต์ในประเทศมาเลเซีย รวมถึงความสำเร็จในการมอบทักษะดิจิทัลให้กับชาวมาเลเซียมากกว่า 1.53 ล้านคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่ม Bersama Malaysia

    ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์

    ไมโครซอฟต์จะยังคงร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียต่อไปเพื่อยกระดับระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI ระดับชาติโดยร่วมมือกับหน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลของมาเลเซีย เพื่อขับเคลื่อนการนำ AI ไปใช้ในอุตสาหกรรมหลักๆ ขณะเดียวกันก็ดูแลให้มีการกำกับดูแลด้าน AI และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ยังรวมถึงการบุกเบิกการใช้ AI ในภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ด้วย

    • กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) จะวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของคู่เจรจาต่างๆ ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ดีขึ้น
    • Cradle ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย ได้ใช้ประโยชน์จากบริการ Azure OpenAI เพื่อพัฒนาผู้ช่วยข้อมูลเสมือนจริงสำหรับแพลตฟอร์ม MYStartup ซึ่งเป็นSingle Window สำหรับระบบนิเวศสตาร์ทอัพของมาเลเซีย ได้เปิดตัวที่การประชุมสุดยอด KL20 เมื่อเร็วๆ นี้
    • Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) และ Malaysia Energy Commission ซึ่งจะนำ Copilot มาใช้สำหรับ Microsoft 365 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในที่ทำงาน

    ไมโครซอฟต์ จะร่วมมือกับ National Cyber ​​Security Agency of Malaysia (NACSA) ผ่านโครงการริเริ่ม Perisai Siber (Cyber ​​Shield) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ความร่วมมือจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในภาครัฐผ่านการประเมินความปลอดภัยและการเสริมสร้างขีดความสามารถ

    นอกจากนี้ไมโครซอฟต์ จะสนับสนุน NACSA ​​ในด้านบทบาทในฐานะหน่วยงานชั้นนำของมาเลเซียในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะที่กำลังกำหนดขั้นตอนต่อไปของยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ ทั้งสององค์กรยังจะสำรวจความร่วมมือเชิงลึกในการพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น โปรแกรม Ready4AI&Security ของ Microsoft

  • เสริมศักยภาพให้นักพัฒนาใช้ประโยชน์ AI

    ไมโครซอฟต์จะยังคงช่วยส่งเสริมการเติบโตของวงการนักพัฒนาในมาเลเซียผ่านโครงการริเริ่มใหม่ ๆ เช่น AI Odyssey ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นักพัฒนามาเลเซีย 2,000 รายกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และได้รับความเชื่อถือจากการผ่านการส่งเสริมของไมโครซอฟต์

    มาเลเซียเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วบน GitHub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมของไมโครซอฟต์ นักพัฒนาของประเทศเกือบ 680,000 รายใช้ GitHub ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 28%

    นอกจากนี้ องค์กรในมาเลเซียหลายแห่งกำลังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเร่งสร้างนวัตกรรมโดยใช้โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI ของ ไมโครซอฟต์

    ไมโครซอฟต์ประกาศการลงทุน 1.7 พันล้านดอลล์ดันเป้าหมายคลาวด์- AI อินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://news.microsoft.com/apac/2024/04/30/microsoft-announces-us1-7-billion-investment-to-advance-indonesias-cloud-and-ai-ambitions/

    วันที่ 30 เมษายน 2567 ไมโครซอฟต์ประกาศว่าจะลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้าในโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ใหม่ในอินโดนีเซีย รวมถึงโอกาสในการมีทักษะด้าน AI สำหรับ 840,000 คน และการสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาที่กำลังเติบโตของประเทศ นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 29 ปีของไมโครซอฟต์ในอินโดนีเซีย

    ด้วยความร่วมมือกันโครงการริเริ่มเหล่านี้จะช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ Golden Indonesia 2045 ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก

    “AI รุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของผู้คนทุกที่ รวมถึงในอินโดนีเซียด้วย” สัตยา นาเดลลา ประธานและซีอีโอของ Microsoft กล่าว “การลงทุนที่เราประกาศในวันนี้ ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทักษะ และการสนับสนุนสำหรับนักพัฒนา จะช่วยให้อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในยุคใหม่นี้”

    บูดี อารี เซติอาดี(Budi Arie Setiadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของอินโดนีเซียกับไมโครซอฟต์ ที่จะทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ Golden Indonesia 2045 “ความร่วมมือของอินโดนีเซียกับ Microsoft ในด้าน AI สอดคล้องกับความทะเยอทะยานของเราสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนโดย นวัตกรรมดิจิทัล ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับอินโดนีเซีย โดยไม่เพียงแต่วางตำแหน่งเราในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีระดับโลกอีกด้วย”

    ดาร์มา สิโมรังกีร์ ประธานผู้อำนวยการไมโครซอฟต์ อินโดนีเซีย กล่าวว่า “การลงทุนของเราได้สร้างหมุดหมายใหม่ให้กับภูมิทัศน์ดิจิทัลของอินโดนีเซีย เรามุ่งหวังที่จะเสริมศักยภาพชาวอินโดนีเซียด้วยโครงสร้างพื้นฐานและทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค AI ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ระดับชาติของเราในด้านความยอดเยี่ยมทางดิจิทัล นับเป็นก้าวสำคัญในการทำให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางสำหรับความสามารถและนวัตกรรมด้านดิจิทัล”

    สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงของ AI
    การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาจากโครงการริเริ่ม Berdayakan Indonesia (Empower Indonesia) ของไมโครซอฟต์ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม ซึ่งรวมถึงแผนการจัดตั้งภูมิภาคศูนย์ข้อมูลแห่งแรกของบริษัทในประเทศ

    การลงทุนที่ประกาศในครั้งนี้จะช่วยให้ไมโครซอฟต์สามารถตอบสนองความต้องการบริการประมวลผลบนคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังจะช่วยให้อินโดนีเซียใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจและการผลิตที่สำคัญด้วยเทคโนโลยี AI ล่าสุด

    จากการวิจัยของ Kearney พบว่า AI สามารถมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (GDP) เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ซึ่งอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่ง 366 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    มุ่งเน้นทักษะเพื่อปลดล็อกเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI
    ไมโครซอฟต์ยังได้ประกาศขยายความมุ่งมั่นในการมอบโอกาสด้านทักษะด้าน AI แก่ผู้คน 2.5 ล้านคนในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ภายในปี 2568 การฝึกอบรมและการสนับสนุนนี้จะดำเนินการร่วมกับรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหากำไร องค์กรธุรกิจ และชุมชนใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

    ความมุ่งมั่นด้านทักษะของ Microsoft คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน 840,000 คนในอินโดนีเซีย โดย

    • นักเรียนที่มีการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมทักษะ AI ผ่านโปรแกรม AI TEACH สำหรับอินโดนีเซีย
    • ผู้หญิงที่มีโอกาสและการสนับสนุนในการสร้างอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านโปรแกรม Ready4AI&Security ใหม่
    • เยาวชนที่ได้รับการฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจ้างงานและความพร้อมในการทำงานของผู้ที่มาจากชุมชนที่ด้อยโอกาสและด้อยโอกาส
    • พนักงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีความรู้และทักษะด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัล

    ช่วยให้นักพัฒนาได้ประโยชน์จากศักยภาพ AI ของอินโดนีเซีย

    นาเดลลาย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของนักพัฒนาในการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเติมเต็มศักยภาพของอินโดนีเซียในฐานะเศรษฐกิจดิจิทัล ไมโครซอฟต์จะยังคงช่วยส่งเสริมการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาของประเทศผ่านโครงการริเริ่มใหม่ ๆ เช่น AI Odyssey ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นักพัฒนาอินโดนีเซีย 10,000 รายกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และได้รับความเชื่อถือจากการผ่านการส่งเสริมของไมโครซอฟต์

    นักพัฒนากว่า 3.1 ล้านคนในอินโดนีเซียใช้ GitHub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมของไมโครซอฟต์ ซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียเป็นที่ตั้งของชุมชนนักพัฒนาที่ใหญ่เป็นอันดับสามบน GitHub ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากอินเดียและจีน คาดว่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนนักพัฒนา 5 อันดับแรกบน GitHub ทั่วโลกภายในปี 2569

    อินโดนีเซียยังเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค โดยมีจำนวนนักพัฒนาบน GitHub เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี 2566 นอกจากนี้จำนวนโครงการ AI สาธารณะบนแพลตฟอร์มในปี 2566 ยังเติบโต 213% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    องค์กรหลายแห่งในอินโดนีเซียกำลังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเร่งสร้างนวัตกรรมโดยใช้โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย generative AI ของw,F8i:va9N ซึ่งรวมถึง DANA บริษัทฟินเทคชั้นนำของอินโดนีเซีย, PT Kereta Api Indonesia ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการรถไฟสาธารณะรายใหญ่ของประเทศ และ Telkomsel หนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

    สิงคโปร์ผู้นำการลงทุนขาเข้าข้ามพรมแดนในเอเชียแปซิฟิก

    ที่มาภาพ: https://housing.com/news/singapore-leads-apac-cross-border-inbound-investment-report/

    การลงทุนข้ามพรมแดนในสิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเพิ่มขึ้น 22.8% และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี จากการวิเคราะห์โดยทีมวิจัยเอเชียแปซิฟิกของไนท์แฟรงค์(Knight Frank) เงินทุนข้ามพรมแดนได้หนุนกิจกรรมตลาดการลงทุนโดยรวม โดยสิงคโปร์ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงสุด 45.6% ในตลาดเอเชียแปซิฟิกในช่วงไตรมาสดังกล่าว

    รายงานระบุว่า นักลงทุนสถาบันมีบทบาทสำคัญ โดยเป็นผู้ซื้อ 6 รายจาก 11 ราย และมีส่วนสนับสนุนการทำธุรกรรมมูลค่า 906 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความต้องการที่แข็งแกร่งของกลุ่มนี้ในภาคการบริการเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมการเข้าซื้อกิจการที่เพิ่มขึ้นในตลาดการบริการของสิงคโปร์ ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ด้านบริการต้อนรับมากขึ้น

    คริสติน หลี่ หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไนท์แฟรงค์ กล่าวว่า “งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่กิจกรรมข้ามพรมแดนทั่วเอเชียแปซิฟิกลดลง 29% เมื่อเทียบรายไตรมาส สิงคโปร์กลับสวนทางกับแนวโน้มนี้ ภาคการบริการดึงดูดความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนสถาบันด้วยมุมมองเชิงบวกและตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ดีขึ้น ตลาดพร้อมแล้วสำหรับกิจกรรมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมักถูกดึงดูดให้เข้าถึงโอกาสที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเติบโตและการพัฒนาที่มีศักยภาพภายในภาคส่วนนี้”

    ภาคการประชุมองค์กร การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล, การจัดประชุมนานาชาติ, และการจัดแสดงสินค้า (MICE) ควบคู่ไปกับโครงการริเริ่มของรัฐบาล เช่น การยกเว้นวีซ่ารวม 30 วันระหว่างจีน-สิงคโปร์ ล้วนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยว

    หลี่กล่าวอีกว่า “ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างนักลงทุนและนักพัฒนากำลังเกิดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพในการเพิ่มกิจกรรมการลงทุนในภาคการบริการของสิงคโปร์ ความร่วมมือเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ใหม่ ผลักดันอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นและการแข็งแกร่งของเงินทุน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ได้รับแรงผลักดันในไตรมาสแรก ด้วยการผนึกกำลังกัน นักลงทุนและนักพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากมูลค่าของสินทรัพย์ด้านการบริการชั้นนำผ่านการเปลี่ยนตำแหน่งเชิงกลยุทธ์”

    รถไฟบรรทุกสินค้าเชื่อม 4 ประเทศเดินขบวนแรกแล้ว

    ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2024-05-01/1st-China-Laos-Thailand-Malaysia-express-freight-train-leaves-Chengdu-1tfghK441Xi/p.html

    รถไฟบรรทุกสินค้าด่วนจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย ขบวนแรกได้ออกเดินทางจากเมืองเฉิงตูทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าระดับภูมิภาค

    รถไฟขบวนนี้บรรทุกจอ LCD และยานยนต์พลังงานใหม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ 30 ตู้ โดยจะเดินทางผ่านทางรถไฟจีน-ลาว จากนั้นจึงเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายรถไฟในประเทศลาวและไทย ก่อนที่จะถึงท่าเรือแกลงในมาเลเซีย

    การเดินทางด้วยรถไฟทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียง 5 วันสู่ประเทศไทยและ 8 วันไปถึงมาเลเซีย ซึ่งช่วยลดเวลาการขนส่งลงได้ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับเส้นทางทะเลจากเมืองชินโจว

    การเปิดตัวเส้นทางใหม่นี้จะขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการรถไฟจีน-ลาว ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ