ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ขึ้นภาษีคนรวย รถหรู อสังหาไฮเอนด์

ASEAN Roundup สิงคโปร์ขึ้นภาษีคนรวย รถหรู อสังหาไฮเอนด์

20 กุมภาพันธ์ 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2565

  • สิงคโปร์ขึ้นภาษีคนรวย รถหรู อสังหาไฮเอนด์
  • มาเลเซียทำแผนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แห่งชาติ
  • เวียดนามผู้รับประโยชน์หลักจาก RCEP
  • เวียดนามตลาดทองคำใหญ่สุดในเอเชียตะวันอกเฉียงใต้
  • สปป.ลาวไฟเขียวเหมืองขุดทอง
  • สิงคโปร์ขึ้นภาษีคนรวย รถหรู อสังหาไฮเอนด์


    สิงคโปร์จะปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้สูง รวมทั้งปรับขึ้นภาษีทรัพย์สินและการเก็บภาษีรถยนต์หรูเพิ่มขึ้น

    อัตราภาษีใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ “การปรับปรุงที่สำคัญ” ของระบบภาษีของสิงคโปร์ จากการประกาศของนายลอว์เรนซ์ วอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการชี้แจงงบประมาณประจำปี 2565 เมื่อวันศุกร์ (18 ก.พ.)

    ในการชี้แจง นายลอว์เรนซ์ ได้เปิดเผยกรอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้นและมาตรการระยะยาวเพื่อการลงทุนในเศรษฐกิจและแรงงานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคม การปรับเปลี่ยนอัตราภาษีจึงมีความจำเป็นต่อการจัดเก็บรายได้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการที่เตรียมไว้บรรลุผล

    นายลอว์เรนซ์กล่าวว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังมีพื้นที่ให้ปรับขึ้นได้อีก เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้มากขึ้นมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้ในระดับสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเริ่มจากการประเมินปี 2567

    รายได้พึงประเมินที่เกิน 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะถูกเก็บภาษี 23% เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปัจจุบันซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บจากเงินได้พึงประเมินที่เกิน 320,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

    สำหรับรายได้พึงประเมินที่เกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเพิ่มขึ้นเป็น 24% จากปัจจุุบัน 22%

    อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดที่มีสัดส่วน 1.2%

    ทั้งนี้คาดว่าจะมีรายรับจากภาษีเพิ่มขึ้น 170 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี

    ที่มาภาพ:https://www.channelnewsasia.com/singapore/budget-2022-higher-personal-income-tax-property-tax-luxury-cars-2506711

    ด้านภาษีทรัพย์สิน นายลอว์เรนซ์กล่าวว่าเป็น “หลักการในการเก็บภาษีความมั่งคั่ง” ของสิงคโปร์ก็จะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยดำเนินการเป็นสองระยะในอีกสองปีข้างหน้า

    ระยะแรก อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมดจะถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับบน

    ปัจจุบันอัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวอยู่ที่ 10- 20% ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 11- 27%ในปี 2566 จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 12- 36% ในปี 2567

    ตัวอย่างเช่น บ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของและอยู่ในพื้นที่กลางเมืองซึ่งมีมูลค่า 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี จะเก็บภาษีทรัพย์สินประจำปีประมาณ 43,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 24,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

    ระยะที่สอง อัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยที่เจ้าของครอบครองซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปีก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

    ในปัจจุบัน อัตราภาษีอยู่ระหว่าง 4- 16% สำหรับมูลค่าประจำปีของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่อัตราภาษีใหม่จะเก็บ 5-23% จาก 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แรก ภายในปี 2566 จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 6-32% ในปี 2567

    การปรับขึ้นอัตราภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่มีเจ้าของในกลุ่ม 7% แรกเช่น คอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ใจกลางของสิงคโปร์ และที่ดินผืนใหญ่ โดยจะมีการขึ้นภาษีในอัตราสูงสำหรับกลุ่มบนสุด

    เมื่อนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะทำให้รายได้ภาษีทรัพย์สินของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นประมาณ 380 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี

    สิงคโปร์จะเริ่มเก็บภาษีที่สูงขึ้นสำหรับรถหรู เพื่อให้ระบบภาษีรถยนต์เป็นอัตราก้าวหน้ามากขึ้น โดยจะปรับเพิ่มภาษี Additional Registration Fee (ARF เป็นภาษีที่กำหนดเมื่อมีการลงทะเบียนรถยนต์ คำนวณโดยอิงตามเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดที่เปิด (Open Market Value:OMV) ของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ) อีกขั้นใหม่ ในอัตรา 220% สำหรับ OMV ที่เกิน 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

    (OMV เป็นค่าใช้จ่ายของยานพาหนะที่นำเข้ามาในสิงคโปร์ ได้รับการประเมินโดยศุลกากรของสิงคโปร์โดยคำนึงถึงราคาซื้อ ค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าจัดส่งและการจัดส่งอื่น ๆ)

    อัตราใหม่จะใช้กับรถยนต์ทุกคันที่ลงทะเบียนขอสิทธิ์ครอบครองรถยนต์(Certificate of Entitlement : COE) และที่ได้รับสิทธิ์จากการประมูล COE รอบที่สองของเดือน การเก็บภาษีรถหรูคาดว่าจะเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี

    [Land Transport Authority(LTA) ของสิงคโปร์ มีหน้าที่กำกับดูแล ได้กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะซื้อและครอบครองรถยนต์ ต้องยื่นขอสิทธิ์ครอบครองรถยนต์หรือ COE ก่อนซื้อรถยนต์ โดย LTA จะเปิดให้มีการประมูล COE ทุกเดือนเป็นไปตามจำนวนที่ควบคุม และการประมูลตามขนาดของเครื่องยนต์ (ซีซี) และประเภทของรถยนต์ที่ LTA จำแนกไว้]

    ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การปรับเปลี่ยนทางภาษีที่สำคัญและการใช้จ่ายทางสังคมที่เพิ่มขึ้นในงบประมาณ 2565 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการ ลดความเหลื่อมล้ำและกำลังลงทุนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคมของสิงคโปร์

    สี เว่ยฮวา หุ้นส่วนด้านภาษีของ KPMG สิงคโปร์กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีทรัพย์สินขั้นบนสุดเป็น 36% ส่งผลให้อัตราภาษีทรัพย์สินโดยรวมกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วในปี 2521

    “อัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในประเทศ โดยที่อสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนที่สำคัญของทรัพย์สินของบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง”

    แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การขึ้นภาษีนี้และภาษีความมั่งคั่งอื่นๆ จะไม่ทำให้ความน่าดึงดูดใจของสิงคโปร์ที่มีต่อคนรวยลดลง

    อวี้ หลิ่วชิง นักวิเคราะห์กลุ่มประเทศเอเชียของ EIU กล่าวว่า ภาษีกำไรจากการขาย(capital gain tax) ซึ่งน่าจะสำคัญที่สุดสำหรับบุคคลที่มีรายได้สูง ยังคงอยู่ “นอกแผน” และ “แนวโน้มที่ดี” สำหรับความน่าสนใจของสิงคโปร์

    “อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะทุ่มเทไปกับการกระจายรายได้และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นมีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง(high net worth individuals)บางคนไม่สบายใจ”

    มาเลเซียทำแผนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แห่งชาติ

    ที่มาภาพ: https://news.microsoft.com/en-my/2021/02/19/mydigital-malaysias-catalyst-to-drive-native-policies-and-digital-first-economy/
    ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เปิดเผยว่า มาเลเซียจะจัดทำแผนหุ่นยนต์แห่งชาติ (National Robotics Roadmap:NRR) เพื่อยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้มีการใช้เป็นกระแสหลักในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ

    โรดแมปนี้จะช่วยลดการพึ่งพากำลังคนจากต่างประเทศและลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศได้

    ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราส่วนการใช้หุ่นยนต์จาก 55 หน่วยต่อพนักงาน 10,000 คนในปี 2562 เป็น 195 หน่วยต่อพนักงาน 10,000 คนภายในปี 2573 นายกรัฐมนตรีระบุในแถลงการณ์เผยแพร่วันที่ 17 กุมภาพันธ์

    นายอิสมาอิล ซาบรีกล่าวว่า แผนงานที่เสนอเป็นหนึ่งในข้อสรุปของการประชุม National Digital Economy and Fourth Industrial Revolution Council ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมีรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ยังได้รับรองแนวคิดโครงการเร่งการขับเป้าหมายตาม MyDIGITAL Aspiration

    ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงาน MyDIGITAL Catalytic Projects Task Force เพื่อเลือกโครงการที่เหมาะสมและติดตามการดำเนินงานในรูปความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน(Public-Private Partnership:PPP) โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุน และรัฐบาลจะอำนวยความสะดวก

    โครงการที่จะดำเนินการภายใต้แนวคิดนี้ ได้แก่ การแพทย์อัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายจัดตั้งโรงพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเมืองอัจฉริยะ

    นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สรุปความคืบหน้าของแผนเครือข่ายดิจิทัลแห่งชาติ (JENDELA) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ถึงธันวาคม 2564 โดยไฟเบอร์ออปติกครอบคลุมสถานที่ใหม่ถึง 1.89 ล้านแห่ง และมีการสร้างเสาสัญญาน 4G ใหม่ อีกทั้งมีประชากรถึง 95% ได้ใช้เครือข่าย 4G

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับรายงานด้วยว่า Digital Nasional Berhad (DNB) ได้เริ่มเปิดบริการเครือข่าย 5G เพื่อรายใหญ่ โดยมีการเปิดใช้งานไซต์ 5G จำนวน 500 แห่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในเมืองปุตราจายา ไซเบอร์จายา และกัวลาลัมเปอร์

    “DNB ตั้งเป้า 3,500 แห่ง เทียบเท่ากับพื้นที่ครอบคลุม 36% ในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ ภายในสิ้นปี 2565”

    ภายใต้โครงการ Digital Empowerment of Small Entrepreneurs (PUPUK) ศูนย์ Keluarga Malaysia Digital Economic Centers (PEDi) ได้เปิดดำเนินการแล้ว ขณะที่อีก 28 แห่งจะเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 31 มีนาคม ทั่วประเทศ

    และในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของ Malaysia Digital Economy Action Framework (RTEDM) และการเปิดตัว MyDIGITAL จะมีการเปิดตัวอีกหลายโครงการตลอดเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

    “ผลการดำเนินการของ MyDIGITAL จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการก้าวสู่ดิจิทัลของมาเลเซีย”

    เวียดนามผู้รับประโยชน์หลักจาก RCEP

    นายกรัฐมนตรี เหงียนซวนฟุก (ซ้าย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เจิ่น ตวน อานห์ ในพิธีลงนาม RCEP ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-inks-world-s-largest-trade-pact-rcep-4192071.html

    DBS ระบุในรายงานเมื่อวันจันทร์ (14 ก.พ.) ว่า เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเป็น ผู้รับผลประโยชน์หลักจาก ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีสมาชิก 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ผ่านการลดภาษีศุลกากรและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

    ทั้งนี้ RCEP มีผลบังคับใช้กับ 11 ประเทศจากทั้งหมด 15 ประเทศ โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศสมาชิกล่าสุดที่ได้บังคับใช้ความตกลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่ RCEP ของเวียดนามมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม พร้อมกับอีก 9 ประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์

    ฉั่ว ฮั่น เถิง นักเศรษฐศาสตร์ของดีบีเอส เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับเอเชียเหนือ แต่ภายในกลุ่มอาเซียนคาดว่าเวียดนามจะได้รับประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ

    ฉั่วชี้ว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เช่น ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ มีที่ตั้งใกล้กับจีน มีเสถียรภาพทางการเมือง และรัฐบาลมีแผนที่จะขยายภาคการผลิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเดียวของ RCEP สำหรับสินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนำไปสู่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ฉั่วยังชี้ว่า เวียดนามติดอันดับ 3 ใน 6 ประเทศอาเซียนที่ได้รับกระแสเงินลงทุนไหลเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นคู่แข่งกับจีน

    ฉั่วมองว่า ความสำคัญของจีนสำหรับภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ต่อเวียดนาม เนื่องจากมีส่วนแบ่งในการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งสูงถึง 33% ของการนำเข้ารวมในปี 2564

    ผลิตภัณฑ์ของเวียดนามที่ผลิตจากวัตถุดิบของจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการค้า โดยเฉพาะในภาคสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และอิเล็กทรอนิกส์

    ในด้านสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า เวียดนามได้กลายเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับจีน แม้จะยังพึ่งพาประเทศใหญ่อย่างมาก สำหรับปัจจัยการผลิตที่มากกว่า 50%

    เวียดนามยังพึ่งพาจีนเป็นอย่างมากสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง โดยนำเข้ามากกว่า 40% ของการนำเข้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 28%ในทศวรรษที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สูงที่สุดที่ 35%เช่นกัน

    ขณะเดียวกัน จีนนำเข้าสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 20% จากเวียดนาม เพิ่มขึ้นจาก 3.4% ในปี 2553 นอกจากนี้ จีนยังได้เริ่มนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนาม หลังจากที่เพิ่มการพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำเข้าเป็น 9% ในปี 2564

    สำหรับภาษีสินค้าของเวียดนาม ฉั่วเชื่อว่าเวียดนามจะได้รับประโยชน์ในระดับปานกลางจาก RCEP เนื่องจากการเปิดกว้างทางการค้าในระดับสูง แม้มีข้อตกลงการค้าทวิภาคีอยู่แล้ว และภาษีศุลกากรสำหรับการค้าภายใน RCEP ที่ต่ำมากอยู่แล้ว

    หากบริษัทเวียดนามเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ถูกลงและปรับตัวเข้ากับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ฉั่วมองว่า การมีส่วนร่วมใน RCEP จะทำให้มีโอกาสในการเพิ่มการส่งออกและส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคมากขึ้น แม้บริษัทเวียดนามจะส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเหลือ 27%

    เวียดนามตลาดทองคำใหญ่สุดในเอเชียตะวันอกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-largest-gold-market-in-southeast-asia-study-4272214.html

    เวียดนามเป็นตลาดทองคำแท่ง และเหรียญทองคำรายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว และติดใน 10 อันดับแรกของโลก โดยที่ความต้องการของเวียดนามทะลุ 31.1 ตัน สูงกว่า 28.7 ตันในไทย และ 19.8 ตันของอินโดนีเซีย จากการรายงานของสภาทองคำโลก

    หากรวมทองรูปพรรณเข้าไปด้วยความต้องการของเวียดนามจะสูงถึง 43 ตัน สูงเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียที่มี 46.8 ตัน

    เวียดนามเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในเอเชียสำหรับทองคำแท่งและเหรียญทอง รองจากอินเดีย ศรีลังกา และจีน และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก

    ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับนักลงทุนเวียดนามในสัดส่วน 72% จากการสำรวจนักลงทุน 2,000 คนในปีที่แล้ว

    แนวโน้มยังเป็นไปในทางบวก โดย 81% ของนักลงทุนที่เคยลงทุนในทองคำกล่าวว่า จะพิจารณาลงทุนในทองคำอีก และเมื่อเทียบกับ 72% ของนักลงทุนจีน 67% ของนักลงทุนอินเดีย และทั่วโลกที่ 45%

    นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้เปิดเสรีตลาดทองคำในเวียดนาม โดย 76% ของนักลงทุนกล่าวว่า ควรจะอนุญาตให้เปิดบัญชีการลงทุนทองคำที่ธนาคารเพื่อทำให้ตลาดทองคำเป็นตลาดทางการ ขณะที่ 55% เรียกร้องให้ตั้งตลาดซื้อขายทองคำหรือพัฒนาแพล็ตฟอร์มซื้อขายที่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางเวียดนาม

    ราคาทองคำของเวียดนาม ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์อยู่ที่ 62.9 ล้านด่องต่อ 1 ตำลึง สูงกว่าราคาในตลาดโลกอยู่ 11.6 ล้านด่อง และใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 63.5 ล้านด่อง (2,787 ดอลลาร์) ดองต่อ 1 ตำลึง ณ วันที่ 25 มกราคม โดย 1 ตำลึงเท่ากับ 37.5 กรัม หรือ 1.2 ออนซ์

    สปป.ลาวไฟเขียวเหมืองขุดทอง

    ทีมาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/laos-ministry-gives-nod-gold-mining-operation

    รัฐบาลลาวได้อนุญาตให้บริษัทในประเทศ ขุดแร่ทองคำบนพื้นที่ 18.28 ตารางกิโลเมตรเป็นเวลา 20 ปี

    ข้อตกลงในโครงการได้มีการลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน นายคำจัน วงแสนบุน และบริษัท โดยบริษัทจะลงทุนประมาณ 46 ล้านดอลลาร์ในการขุดและสร้างโรงงานมาตรฐานสากลในพื้นที่

    การลงทุนดังกล่าวถือเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและจะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในพื้นที่

    บริษัทได้จ่ายเงิน 2 ล้านดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมล่วงหน้าสำหรับโครงการนี้ และมอบเงิน 24 พันล้านกีบ (2.10 ล้านดอลลาร์) สำหรับการก่อสร้างถนนระยะทาง 48 กิโลเมตร ที่เชื่อมอำเภอขามในแขวงเชียงขวางไปยังอำเภอเฮี้ยมในแขวงหัวพัน

    กระทรวงยังได้ลงนามข้อตกลงกับสหภาพเยาวชนปฏิวัติประชาชนลาวเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อดำเนินโครงการจัดฝึกอบรมสายอาชีพในเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาส

    นอกจากนี้ กระทรวงฯ และบริษัทท่าเรือบกท่าแขก จำกัด ได้ลงนามในสัญญาสัมปทาน 30 ปี เพื่อดำเนินการท่าเรือบกท่าแขก ในแขวงคำม่วน