ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถอย โต้นักวิชาการทุกประเด็น ยันใช้งบฯปี’67 เป็นหลัก

‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถอย โต้นักวิชาการทุกประเด็น ยันใช้งบฯปี’67 เป็นหลัก

9 ตุลาคม 2023


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับนาย กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันชี้แจงความคืบหน้าของโครงการ Digital Wallet ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถอย “จุลพันธ์” นำทีมแถลงข่าวโต้นักวิชาการทุกประเด็น ยันใช้แหล่งเงินงบประมาณปี 2567 เป็นหลัก สั่งสำนักงบ ฯทบทวนคำขอใช้งบฯส่วนราชการ – รีดไขมันส่วนเกิน เตรียมขยายรัศมีการใช้จ่ายเงินเป็นจังหวัด ชงคณะกรรมการชุดใหญ่เคาะรายละเอียดโครงการ 24 ตุลาคมนี้

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับนาย กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันชี้แจงความคืบหน้าของโครงการ Digital Wallet ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

หลังจากที่มีนักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คน ลงชื่อไม่เห็นด้วยนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลเศรษฐา โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจที่มีการถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้างเกี่ยวกับนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นกันมาเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ทั้งที่นโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันในเรื่องความคุ้มค่าในเรื่องการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่เจริญเติบโตเต็มศักยภาพ ประเทศไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนยังอยู่ในความเปราะบาง”

“นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ถูกออกแบบมา เพื่อจุดชนวนและกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกที่ และให้หมุนเวียนนในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน เกิดจ้างงาน ภาคธุรกิจก็จะขยายการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ ตรงนี้เป็นหลักคิดที่รัฐบาลวางแผนไว้ตั้งแต่ต้น และเราเชื่อมั่นนโยบายเติมเงินดิจิทัลจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่เราวางแผนไว้ได้ โดยรัฐบาลจะได้รับเงินกลับคืนมาในรูปของภาษี ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และมุ่งสู่ e – Government ในอนาคต” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า นโยบายนี้ไม่ได้มีเพียงนโยบายเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เราเดินหน้าทำตามสิ่งที่เราได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟรีวีซ่า ลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันดีเซล ควบคุมราคาสินค้า การดึงดูเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศ การเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติ เช่น เอลนีโญ และการจัดทำงบประมาณที่เน้นในเรื่องประสิทธิภาพ เดินหน้าในเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลอยากจะเห็นเศรษฐกิจไทยโต 5% ต่อปี ในช่วง 3-4 ปี ข้างหน้า เป็นเป้าหมายของเรา

ถามว่าทำไมต้องมีโครงการ Digital Wallet นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่าประเทศไทยมีปัญหาสะสมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประสบความยากลำบาก ในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนลงไปถามประชาชนต่างจังหวัด ร้อยทั้งร้อย รอนโยบายนี้ด้วยความหวัง แต่แน่นอนรัฐบาลไม่ได้ละเลยเสียงสะท้อน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความหวังของประชาชน ที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง และรัฐบาลได้นำเสนอนโยบายนี้ต่อรัฐสภา แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายนี้ให้สำเร็จ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ได้

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้มีตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆชี้ชัดหลายตัว เช่น รายได้เกษตรกรที่ลดลง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง หนี้ภาคเรือนเพิ่มสูงขึ้น เป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง จึงมีความจำเป็นต้องมีโครงการเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่สามารถรีสตาร์ทชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อีกครั้งหนึ่ง สร้างเม็ดเงินให้กระจายไปทั่วประเทศ และก็เป็นที่ทราบกันดี GDP ของประเทศไทยเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ซึ่งเราไม่ได้ดูแค่ตัวเลขที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ดูไปถึงในอนาคตจะเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าภูมิภาคมาโดยตลอด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลายคนสงสัยเงินดิจิทัลคืออะไร บางคนพูดว่า เป็นเงินคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งจะมีการไปซื้อตุนเอาไว้จากนั้นเอามาให้ประชาชนใช้กัน ซึ่งต้องขอชี้แจงให้ชัดเจนว่า เงินดิจิทัลไม่ใช่เป็นการเสกเงินขึ้นมาใหม่ หรือ ผลิตตัวเงิน หรือ พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ เงินเหล่านี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนมูลค่า เพราะจะถูกหนุนหลังด้วยเงินบาทไทย แบบบาทต่อบาท เป็นเพียงแค่เงินที่จะใช้ผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ เพื่อทำให้เกิดหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น กำหนดให้มีการใช้ในครั้งแรกก่อน 6 เดือน รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล สินค้าและบริการที่ห้ามใช้ ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบที่ว่านโยบายนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายในอดีตที่ผ่านมา เพราะด้วยเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้จะบังคับให้เงินเหล่านี้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า ไม่สามารถนำไปเก็บออม ชดใช้หนี้สิน หรือ ซื้ออบายมุข ทุกบาทที่ใช้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนรัศมีที่จะเปิดให้มีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านที่มีการถกเถียงกันมาก ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายรัศมีการใช้จ่ายออกไปเป็นตำบล อำเภอ หรือ จังหวัด ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2566

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า หลายคนสงสัยในเรื่องของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ตนขอเรียนว่า ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะยึดมั่นในหลักของวินัยการเงินการคลัง ถ้าย้อนไปดูประสบการณ์การบริหารงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยในอดีต เราชำระหนี้ IMF ก่อนกำหนด และสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ สำหรับเงินในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เราจะใช้จากงบประมาณปี 2567 เป็นหลักใหญ่ แต่จะเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบได้ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งจะมีการแถลงข่าว ยืนยันว่าเราจะใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

“ส่วนที่มีข้อห่วงใยในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเรายึดอยู่กับกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ต่อปี เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดกับดักของความลำบากได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างให้สังคม เศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตที่เหมาะสมภายใต้พื้นฐานของความมีเสถียรภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และขอยืนยันอีกครั้ง เรารับฟังเสียจากทุกภาคส่วน ทั้งที่สนับสนุน และที่คัดค้าน รวมถึงภาคเอกชนที่รอการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประชาชนที่รอความหวัง ผมจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะประชุมนัดแรกในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 และครั้งที่ 2 เพื่อเร่งหาข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินโครงการ Digital Wallet ตามข้อเรียกร้องของนักวิชาการ หรือ ลดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงินดิจิทัลลงหรือไม่

นายจุลพันธ์ ตอบว่า “คำถามที่ว่าจะไม่ทำโครงการนี้ไปต่อหรือไม่ ผมขอเรียนว่าไม่มีอยู่ในความคิด เพราะรัฐบาลได้รับมอบหมายมาจากประชาชน และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามที่ประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามา อยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้า ซึ่งข้อเรียกร้องที่ไม่ให้เราไม่ทำนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะพยายามพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ของกฎหมาย ภาระต่องบประมาณ และวินัยทางการเงินการคลัง ส่วนคำถามที่ 2 จะลดกลุ่มเป้าหมายลงหรือไม่ รัฐบาลรับฟังความเห็นทางทุกภาคส่วน แต่สุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกคนคงจะรู้กันในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แหล่งเงินงบประมาณปี 2567 ที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้มีเพียงพอหรือไม่

นายจุลพันธ์ ตอบว่า “มีครับ ขณะนี้สำนักงบประมาณกำลังมีการทบทวนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยขณะนี้ส่วนราชการจะมีการส่งคำขอตั้งวงเงินงบประมาณกลับไปที่สำนักงบประมาณใหม่ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาดูรายละเอียดของงบประมาณ ตรงส่วนไหนที่เป็นไขมันส่วนเกิน ก็จะมีการปรับลดลง เพื่อบริหารการใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อจะนำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์อื่นๆของรัฐบาล ขอย้ำว่าไม่ใช่เพียงแค่นโยบาย Digital Wallet เพียงนโยบายเดียวน่ะ ส่วนรายละเอียดจะทบทวยนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อย่างไร ขอให้ไปถามสำนักงบประมาณ”

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อเสนอให้มีการ Cap วงเงิน หรือ ตัดกลุ่มคนที่มีรายได้สูงออก หรือ แบ่งจ่ายเงินดิจิทัลออกเป็น2 งวด รัฐบาลก็รับไว้พิจารณา แต่ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้ ทางกระทรวงการคลังคงต้องขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาว่าแต่ละกลุ่มมีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขมาแล้วก็สามารถตัดสินใจได้ชัดเจนขึ้น ตอนนี้ต้องขอให้รอก่อนว่าจะปรับปรุงอย่างไร แต่ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักของโครงการ เช่น เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ การกระจายเม็ดเงิน หากไม่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ และสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ รัฐบาลก็ยินดีที่จะรับไปดำเนินการ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นที่นักวิชาการระบุว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ไม่ถึง 1 ว่า ประเด็นแรกการเติมเงินในครั้งนี้ไม่เหมือนกับในอดีต ตรงที่มีการกำหนดเงื่อนไข ทั้งรัศมีของการใช้จ่ายเงินดิจิทัล กรอบระยะเวลา ร้านที่จะขอคืนเงินได้ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายเม็ดเงินแบบเดิม ๆ ซึ่งในอดีตเป็นแบบอนาล็อก แต่ปัจจุบันจะใช้รูปแบบของดิจิตอล กล่าวคือจะมีความง่ายกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยสูงกว่า จึงไม่สามารถใช้ตัวเลขตัวทวีคูณในอดีต หรือ งานวิจัยในอดีตมาเปรียบเทียบได้

ประเด็นที่ 2 การกระจายเม็ดเงินในลักษณะนี้เป็นเม็ดเงินที่สูงถึง 10,000 บาทต่อคน ซึ่งแตกต่างจากการจ่ายเงินในอดีต แบบ “กะปริบกะปรอย” และไม่ใช่การนำเงินไปกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว ด้วยจำนวนเงินที่มากพอ และเงื่อนไขที่กำหนดให้แต่ละครัวเรือนรวมกันนำเงินไปลงทุนขนาดเล็กในชุมชน ไม่ได้มีความหมายแค่คำว่าบริโภคเท่านั้น ดังนั้น การคิดคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะลืมไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์จากการสร้างอาชีพใหม่ การสร้างการลงทุนใหม่ใหม่ การให้ประชาชนในพื้นที่ลืมตาอ้าปากได้จากรายได้ใหม่ และลดความเหลื่อมล้ำ ควรจะต้องนำมาคิดรวมอยู่ในผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วย

ประเด็นที่ 3 สิ่งที่วงการวิชาการไม่ค่อยจะพูดถึง แต่จะมองในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว นั่นคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “Digital Economy” ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลที่ยังไม่ได้พูดถึง ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้น อาจไม่ครบถ้วน รัฐบาลมองไปถึงเรื่องการสร้างซุปเปอร์แอปพลิเคชันที่จะรวบรวมความสะดวกต่าง ๆ ด้วย

ประเด็นที่ 4 โครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลไม่ได้มีแค่โครงการเดียว แต่เป็นเพียงหนึ่งในโครงการที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น การมองเพียงนโยบาย Digital Wallet ถือว่ายังไม่ครบถ้วน เราวางแผนไว้อย่างดี นอกจากโครงการ Digital Wallet จะมีอีกหลายโครงการตามมา ทั้งในเรื่องของการดึงดูดนักท่องเที่ยว การดึงดูดนักลงทุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และโครงการสนับสนุนภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆที่จะกำลังเกิดขึ้น รวมถึงภาคบริการสมัยใหม่ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่จะสูงขึ้นจากการดำเนินโครงการ Digital Wallet นี่คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะต้องนำมารวมคำนวณด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างคำว่า ‘เสถียรภาพ’ กับ ‘ศักยภาพ’ ที่ผ่านมาประเทศไทยโตแบบมีเสถียรภาพ ตนยอมรับว่าใช่ แต่โตต่ำ และโตไม่เพียงพอ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า ถามว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ หรือไม่ ก็อย่างที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวไปแล้ว วันนี้ประเทศไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตของประเทศลดลง และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ถือว่าไปผิด เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับไปเจริญเติบโตอยู่ในระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ ทำได้กี่มาตรการตรงนี้คือความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องไปให้ถึง

“การดำเนินนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังจะต้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้นโยบายการคลังอาจจะเน้นในเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินเน้นที่เสถียรภาพ ทั้งสองเรื่องนี้จะต้องไปด้วยกัน เสมือนการขับรถยนต์นโยบายการคลังเร่งเครื่อง ส่วนนโยบายการเงินคอยเหยียบเบรก แต่จะต้องมีจังหวะในการขับรถคันนี้ให้ไปด้วยกัน โดยจะเร่งเมื่อไหร่ จะเบรกเมื่อไหร่ ต้องผสมผสานกัน การขับขี่รถคันนี้ถึงจะปลอดภัย เราไม่อยากเห็นเหยียบคันเร่งไปพร้อมๆกับเหยียบเบรก แบบนี้คงไม่เกิดประโยชน์อะไรกับรถยนต์คันนี้ หรือ ประเทศนี้ ผมคงต้องหารือกับแบงก์ชาติ ซึ่งเราทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รับรู้ความตั้งใจของรัฐบาล และทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า เราไม่ได้ละเลยในเรื่องของเสถียรภาพ แต่เราต้องพูดความจริงกัน วันนี้ถ้า GDP โตต่ำกว่าศักยภาพ มันจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวต่อว่า GDP โต หมายถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชน เศรษฐกิจดีมีรายได้ภาษีกลับเข้ามา ซึ่งรัฐบาลมีโครงการที่จะต้องดำเนินการต่อไปอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับ GDP โดยรัฐบาลประกาศเป้าหมายชัดเจน ก็คือ อยากจะให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต 5% ต่อปี ซึ่งเป็นความท้าทาย

“ขอให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในเรื่องของการรักษาวินัยการเงินการคลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการนี้จะมาจากไหน ใช้จ่ายอย่างไร หรือ ใช้คืนอย่างไร ทั้ง 3 เรื่อง จะประกาศออกมาอย่างชัดเจน แต่ในขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และอยู่ในระหว่างการออกแบบนโยบาย และเราพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อท้วงติงที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด ส่วนรายละเอียดของโครงการนี้จะชัดเจนในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้”

  • 99 นักเศรษฐศาสตร์ จี้รัฐบาลยกเลิกแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
  • ครม.ไฟเขียวส่วนราชการยื่นคำขอตั้งงบลงทุนปี’67 – งบผูกพันวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท
  • ‘เศรษฐา’ วางกรอบใช้จ่ายงบฯปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท อัดเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน มั่นใจช่วง 4 ปี จีดีพี 5 %
  • คลังพับแผนเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ยันไม่กระทบงบฯปี’67 คาดเงินดิจิทัล ปั้มรายได้เข้าคลัง 1 แสนล้านบาท
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้
  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?
  • 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?
  • 8 ปี “รัฐบาลประยุทธ์” ฉีกวินัยการคลัง (อีกแล้ว)