ThaiPublica > สู่อาเซียน > “สามเหลี่ยมพัฒนา : 3 ประเทศ 1 ปลายทาง” ลาว-เขมร-เวียดนาม ในยุคผู้นำรุ่นใหม่

“สามเหลี่ยมพัฒนา : 3 ประเทศ 1 ปลายทาง” ลาว-เขมร-เวียดนาม ในยุคผู้นำรุ่นใหม่

21 มีนาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การประชุมส่งเสริมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 13 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มาภาพ : เพจข่าวสารออนไลน์ อัตตะปือ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา แขวงอัตตะปือในภาคใต้ของลาว ได้เป็นเจ้าภาพจัดหลากหลายกิจกรรมตามกรอบความร่วมมือ “เขตสามเหลี่ยมพัฒนา กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม” หรือ CLV-DTA (Cambodia-Lao-Viet Nam Development Triangle Area)

กิจกรรมหลักคือการประชุมส่งเสริมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มีสะถาบันดิด อินสีเชียงใหม่ รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ของลาว เป็นประธาน มีรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กัมพูชา รองหัวหน้าหน่วยงานลงทุนต่างประเทศเวียดนาม รวมถึงนักธุรกิจ นักลงทุน และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐของ 3 ประเทศ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ตามรายงานของสำนักข่าวสารประเทศลาว การประชุมครั้งนี้เป็นการขยายผลต่อเนื่องหลังจากเมื่อวันที่ 5-6 ธันวาคม 2566 ได้มีการประชุมสุดยอดสภาแห่งชาติกัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ครั้งที่ 1 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อทบทวนผลปฏิบัติงานตามสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ตามกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ขนส่งทางบก การสร้างถนนเชื่อมลาว กัมพูชา และเวียดนาม การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า การพัฒนาการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตสามเหลี่ยมพัฒนาให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านั้น ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2566 คณะผู้แทนจากสภาแห่งชาติกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ลงพื้นที่พบกับตัวแทนจาก 12 จังหวัด รวมถึงเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ถือเป็นครั้งแรกของสภาแห่งชาติจาก 3 ประเทศ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกรอบความร่วมมือนี้

ผู้แทนจากสภาแห่งชาติกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้ากรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2566 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุเวียดนาม

ตามข่าวของสถานีวิทยุเวียดนาม คณะผู้แทนสภาแห่งชาติของ 3 ประเทศ ได้เสนอมาตรการ 9 ข้อ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้สำนักงานนิติบัญญัติของกัมพูชา ลาว เวียดนาม เพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สาธารณสุข การท่องเที่ยว การศึกษาและฝึกอบรม เสนอให้รัฐบาลของ 3 ประเทศเพิ่มเป้าหมายการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมการพัฒนาเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ต่อการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตชายแดน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การค้า การเดินทางของประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอให้พัฒนาระเบียงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา เสนอให้รัฐบาลของ 3 ประเทศ ร่วมมือในการค้นหาและนำส่งอัฐิทหารเวียดนามที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีนกลับภูมิลำเนา…

ในที่ประชุมส่งเสริมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 13 ที่แขวงอัตตะปือ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา เช่น ปี 2564 ลาวส่งออกสินค้าไปเวียดนามรวมมูลค่า 1,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลัก คือ น้ำดื่ม ยางพารา และวัว รวม 520 ล้านดอลลาร์ หรือ 42% ของยอดส่งออกสินค้าของลาวไปเวียดนามทั้งหมด ปีเดียวกัน ลาวยังส่งออกสินค้าไปกัมพูชาเป็นมูลค่า 131 ล้านดอลลาร์ ในนี้ 83% หรือ 109 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออกพลังงานไฟฟ้า

ณ สิ้นปี 2566 นักธุรกิจเวียดนามได้เข้ามาลงทุนอยู่ในลาวเป็นมูลค่ารวม 4,200 ล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับที่ 3 ของนักลงทุนต่างประเทศในลาว ส่วนนักธุรกิจกัมพูชาเข้ามาลงทุนในลาวรวม 118 ล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับที่ 16

9 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวลาว 3.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 164% ในนี้ 1.6 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากเวียดนาม 837,600 คน และจากกัมพูชา 19,900 คน

การประชุมส่งเสริมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา เป็นกลไกสำคัญของกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่หลังจากกัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อปี 2562 เวทีประชุมนี้ต้องถูกระงับไปถึง 4 ปี เพราะเกิดการระบาดของโควิด-19 กระทั่งลาวได้กลับมาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งที่ 13 ในปีนี้

……

กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เริ่มต้นโครงการความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนของ 3 ประเทศ ตามข้อเสนอของสมเด็จฮุนเซน แห่งกัมพูชา ในการประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อปี 2542 เริ่มต้นจากพื้นที่ 7 จังหวัด 3 ประเทศ ต่อมาในปี 2547 ได้ขยายเป็น 10 จังหวัด และเพิ่มเป็น 13 จังหวัดในปี 2553 แบ่งเป็น

    – 4 แขวงของลาว ได้แก่ อัตตะปือ เซกอง สาละวัน และจำปาสัก
    – 4 จังหวัดของกัมพูชา คือ สตึงแตรง, รัตนคีรี, มณฑลคีรี และกระแจะ
    – 5 จังหวัดของเวียดนาม ประกอบด้วย ดั๊กลัก, ยาลาย, กอนตูม, ดั๊กโนง และบิ่ญเฟื้อก

ทั้ง 13 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่ 144,341 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรรวม 7.87 ล้านคน

กรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา เน้นไปยัง 8 กิจการหลัก ประกอบด้วย

    – การคมนาคมขนส่ง
    – การค้าและการลงทุน
    – อุตสาหกรรม
    – พลังงาน
    – โทรคมนาคมและการสื่อสาร
    – การท่องเที่ยว
    – การเกษตร
    – การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

นับแต่เริ่มกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา มีโครงการสำคัญหลายโครงการเกิดขึ้น เช่น มีการวางแผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา มีความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเวียดนามได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนของลาวและกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเส้นทางเชื่อม 3 ประเทศ การก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากประเทศเพื่อนมิตร และประเทศคู่ร่วมพัฒนา เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยเหลือลาวเป็นเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงเส้นทางสาย 1H ยาว 20 กิโลเมตร จากเมืองท่าแตง แขวงเซกอง ไปถึงแขวงสาละวัน โครงการสร้างโรงเรียนระดับประถม 8 แห่ง สร้างโรงพยาบาลที่เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน 1 แห่ง โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเซกะหมาน 2 ตามเส้นทางสาย 1J ในแขวงอัตตะปือ ฯลฯ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำเขตสามเหลี่ยมพัฒนาเมื่อปี 2561 ทั้ง 3 ประเทศ มีฉันทามติร่วมกันที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา จากเดิมที่จำกัดไว้เพียง 13 จังหวัด เพิ่มเป็นครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งประเทศ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

การประชุมสุดยอดผู้นำเขตสามเหลี่ยมพัฒนาครั้งที่ 11 ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถูกจัดผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ผู้นำของลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะมุ่งมั่นร่วมกันสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และลดปัญหาความยากจนของประชาชนใน 3 ประเทศ

ที่ประชุมยังได้มีการรับรองแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแบบยั่งยืนภายในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับเขตสามเหลี่ยมพัฒนา

วันที่ 10 มีนาคม 2564 ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว เหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม และนายกรัฐมนตรี ฮุนเซ็น ของกัมพูชา เห็นชอบร่วมกันผ่านการประชุมทางออนไลน์ ในการร่างแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมของ 3 ประเทศ จากผลกระทบของโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ยังเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายของแผนแม่บทความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนา โดยมองไปถึงขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีก 10 ข้างหน้า จนถึงปี 2573 ผ่านโครงการต่างๆและเห็นพ้องที่จะใช้คำขวัญร่วมกันว่า “3 ประเทศ 1 ปลายทาง”

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 กระทรวงแผนการและการลงทุน ของลาว ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบและพัฒนาเขตเศรษฐกิจตัวเมืองทันสมัยบริเวณชายแดนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาระบบตรวจคนข้ามแดนของด่านสากลพูเกือ ในเมืองพูวง แขวงอัตตะปือ

พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตัวเมืองทันสมัยบริเวณชายแดนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า

สถานีวิทยุแห่งชาติลาวรายงานว่า หากแผนการของบริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจรได้รับอนุมัติ เมืองพูวงจะถูกพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแขวงอัตตะปือ จะเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ มีด่านสากลที่ทันสมัย เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยวแบบผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติ และการเกษตร ในอนาคต

บริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ที่เมืองสามักคีไซ แขวงอัดตะปือ มีทุนจดทะเบียน 18.68 พันล้านกีบ ทำธุรกิจเหมืองแร่ การค้าและการบริการครบวงจร

……

งานแสดงสินค้าเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ซึ่งจัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : เพจข่าวสารออนไลน์ อัตตะปือ
การชุมนุมรอบกองไฟของคณะเยาวชนกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ช่วงค่ำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มาภาพ : เพจข่าวสารออนไลน์ อัตตะปือ

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นอกจากการประชุมส่งเสริมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักแล้ว ในแขวงอัตตะปือ ยังมีกิจกรรมร่วมอื่นๆที่ถูกจัดขึ้นในโอกาสเดียวกันนี้ ประกอบด้วย

  • งานแสดงสินค้าเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นบริเวณลานด้านหน้าสำนักว่าการแขวงอัตตะปือ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม มีผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน จาก 3 ประเทศรวม 118 แห่ง นำสินค้าหลากหลายประเภทมาออกบูธจัดแสดง ทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรม ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม สถาบันการเงิน ฯลฯ ในนี้ เป็นผู้ประกอบการของลาว 107 แห่ง จากกัมพูชา 6 แห่ง และจากเวียดนามอีก 5 แห่ง
  • การประชุมคณะเยาวชนเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 9 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จากนั้น ในคืนวันรุ่งขึ้น 28 กุมภาพันธ์ คณะเยาวชนทั้งหมดได้นัดชุมนุมและมีการละเล่นรอบกองไฟ
  • การประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานระดับจังหวัด เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยมีหัวข้อหลักคือการทบทวนผลการปฏิบัติงานตามมติที่ประชุมสุดยอดผู้นำเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563
  • วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งที่ 12 เพื่อสรุปผลการทำงานตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ถึงปี 2563 และร่วมกันร่างแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ฉบับใหม่ ที่จะทำถึงปี 2573 โดยเปลี่ยนชื่อเรียกจากแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม เขตสามเหลี่ยมพัฒนา เป็นวิสัยทัศน์เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ถึงปี 2573
  • นอกจากนี้ ยังมีการร่างแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ประเทศ ถึงปี 2573, แผนพัฒนาการท่องเที่ยวเขตสามเหลี่ยมพัฒนา, พิจารณาสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้า ในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา และแผนอุตสาหกรรมยางพาราในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ซึ่งผลการประชุมในวันนี้ ถูกนำไปรายงานต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์

  • วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการสังคมและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 10 ซึ่งมีวาระหลักคือพิจารณาความร่วมมือในงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ครั้งที่ 12 หัวข้อหลักคือความร่วมมือในการรักษาความสงบ เรียบร้องบริเวณชายแดน การเดินทางเข้าออกของผู้คนจาก 3 ประเทศ
  • วันที่ 29 กุมภาพันธ์ มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เขตสามเหลี่ยมพัฒนา เพื่อพิจารณาผลการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมถึงพิจารณาร่างวิสัยทัศน์เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ถึงปี 2573 ข้อสรุปจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ได้ถูกนำไปรายงานต่อคณะกรรมการประสานงานร่วมเขตสามเหลี่ยมพัฒนา เพื่อลงนามร่วมกันในวันที่ 1 มีนาคม 2567
  • การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เขตสามเหลี่ยมพัฒนา ครั้งต่อไป กำหนดจัดขึ้นในปี 2569 โดยมีประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพ

    ……

    ความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนาริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 จากข้อเสนอของสมเด็จฮุนเซ็น ในการประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์

    ในปี 2542 สมเด็จฮุนเซ็น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของกัมพูชา ส่วนในลาว มีลุงคำไต สีพันดอน เป็นประธานประเทศ

    นายกรัฐมนตรี 3 ประเทศเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (ซ้าย) เวียดนาม สอนไซ สีพันดอน (กลาง) ลาว และ ฮุน มาเนต (ขวา) กัมพูชา หารือร่วมกันระหว่างรับประทานอาหารเช้าที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์

    ในการประชุมผู้นำอาเซียน 2023 (ASEAN Summit 2023) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 ผู้นำกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ประชุมนอกรอบระหว่างรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน (Working Breakfast) หนึ่งในหัวข้อหลักที่ผู้นำทั้ง 3 ประเทศหารือและเห็นพ้องต้องกัน คือการผลักดันกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนาให้เดินหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ

    ผู้นำทั้ง 3 ได้แก่…

    1. พล.อ. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรี กัมพูชา บุตรชายคนที่ 2 ของสมเด็จฮุนเซ็น ผู้เสนอให้มีเกิดความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมพัฒนาเมื่อปี 2542 โดย พล.อ. ฮุน มาเนต เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากพ่อของเขาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566

    2. สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี ลาว บุตรชายของลุงคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศลาวในปี 2542 ผู้ซึ่งปัจจุบัน ยังคงเป็นผู้มากบารมีอยู่ในลาว ลุงคำไตเป็นชาวเมืองโขง แขวงจำปาสัก เมืองชายแดนที่อยู่ติดกับจังหวัดสตรึงแตรง ของกัมพูชา ส่วนสอนไซ ลูกชาย เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพันคำ วิลาวัน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565

    3. พล.ต.ท. ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ที่เข้าดำรงตำแหน่งต่อจากเหวียน ซวน ฟุก ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564

    ด้วยความผูกพันธ์แนบแน่นระหว่างกันที่มีมาช้านาน ในฐานะ 3 ประเทศอินโดจีน กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมพัฒนา กัมพูชา ลาว เวียดนาม ในยุคของผู้นำรุ่นใหม่ที่รับไม้ต่อมาจากพ่อ ถือเป็นความเคลื่อนไหวระดับภูมิภาคที่หลังจากนี้ น่าจะส่งผลต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน…

  • วิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของลาว