ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ศูนย์โลจิสติกส์เชียงกก” ต่อยอดสะพานมิตรภาพ รัฐฉาน-ลาว

“ศูนย์โลจิสติกส์เชียงกก” ต่อยอดสะพานมิตรภาพ รัฐฉาน-ลาว

27 กุมภาพันธ์ 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทเอ็นซีซี ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือระดับสากลริมแม่น้ำโขง ในเขตเมืองเซียงกกต่อเนื่องกับเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

หลังจากสะพานมิตรภาพ “เมียนมา-ลาว” ข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมเมืองเชียงลาบ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน กับบ้านห้วยกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ได้กลับมาเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 เป็นต้นมา

ผ่านไปเพียง 3 สัปดาห์ รัฐบาล สปป.ลาว ก็ได้ประกาศโครงการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อจะขยายศักยภาพและบทบาทของสะพานมิตรภาพแห่งนี้ จากปัจจุบันที่เป็นเพียงจุดเชื่อมต่อท้องถิ่นของ 2 ประเทศ ให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคในอนาคต

โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างกระทรวงแผนการและการลงทุน กับบริษัทเอ็นซีซี จำกัดผู้เดียว ในโครงการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือระดับสากลขึ้น บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพฝั่งลาว ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเชียงกกกับเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา

ผู้ลงนามใน MOU ได้แก่ สะถาบันดิด อินสีเชียงใหม่ รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ในนามตัวแทนรัฐบาลลาว กับบัววง จำปาพัน ประธานและผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเอ็นซีซี จำกัดผู้เดียว มีผู้บริหารหน่วยงานระดับสูงในรัฐบาลลาวหลายคนมาร่วมเป็นสักขีพยาน เช่น ลิดตา ขัดทิยะ รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ไซนะคอน อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิงคำ แก้วหนูจัน รองรัฐมนตรีห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรี อ่อนจัน คำพาวง รองเจ้าแขวงหลวงน้ำทา ฯลฯ

รวมถึงสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการรัฐบาล ชาวลาวเชื้อสายจีนไหหลำจากเมืองหลวงพระบาง ผู้ซึ่งมีบทบาทสูงต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างลาวกับจีนหลากหลายโครงการ ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

บริษัทเอ็นซีซี จำกัดผู้เดียว ผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ปัจจุบันทำธุรกิจหลักเป็นตัวแทนจำหน่ายหวยพัฒนา สาขาหวยพญานาค มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโพนไซ นครหลวงเวียงจันทน์ และเพิ่งได้รับรางวัลองค์กร 5 ดี ของจากอาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม 2566

หนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา” ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ รายงานไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า โครงการสร้างศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือริมแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงกกต่อเนื่องกับเมืองลอง เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำทรัพยากรธรรมชาติของลาวมาสร้างประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงป้องกันประเทศ กระทรวงแผนการและการลงทุน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ รวมถึงกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังเป็นการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ที่ต้องการพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่ได้มาตรฐานสากล ตามสัญญาการเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ของ 4 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือ(โครงการ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ) ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว และไทย รองรับการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวทางน้ำ ที่สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมหลากหลายรูปแบบของแต่ละประเทศ และยังเป็นการพัฒนาการขนส่งทางน้ำของลาวซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงงานป้องกันประเทศและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศของลาวเองด้วย

ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการออกมามากนัก มีเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่าพื้นที่ซึ่งจะนำมาใช้ทำโครงการครอบคลุมบ้านเชียงกกกับอีก 11 บ้านใกล้เคียง ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ในเขตเมืองลอง และเมืองสิง คิดเป็นเนื้อที่รวม 44,260,311 ตารางเมตร หรือประมาณ 28,000 ไร่ ภายในประกอบด้วย เขตโลจิสติกส์ระดับและท่าเรือระดับสากล ศูนย์ขนถ่ายสินค้า เขตพาณิชย์-บริการ เขตเกษตรกรรม และเขตการท่องเที่ยว

……

บริเวณที่จะสร้างศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือ ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเชียงกกกับเมืองลอง

ตามที่ได้เคยรายงานไว้ในบทความครั้งที่แล้วว่า สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว เป็นข้อต่อสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางเส้นใหม่เชื่อมทิศตะวันออกกับตะวันตก เป้าหมายใหญ่ของระเบียงเศรษฐกิจเส้นนี้ ไม่เพียงเชื่อมท้องถิ่นของเมียนมากับลาวเท่านั้น แต่ยังขยายบทบาทเชื่อมโยงตั้งแต่ประเทศอินเดีย ผ่านเมียนมา ลาว จีน ไปจนถึงเวียดนาม

ในเนื้อหาข่าวของ “ลาวพัฒนา” ยังรายงานอีกว่า จุดเด่นของศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือที่จะสร้างขึ้นที่เมืองเชียงกก จะเป็นจุดรวมและกระจายสินค้าที่เชื่อมโยงการขนส่งทางบกระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 ของเมียนมา ข้ามสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 17A และ 17B(เมืองลอง-เมืองสิง-เมืองหลวงน้ำทา)ของลาว และยังเชื่อมต่อไปถึงท่าบกและศูนย์โลจิสติกส์ที่สามแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา กับท่าบกเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว

ศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือที่เมืองเชียงกกที่ลาวกำลังวางแผนจะสร้าง ยังจะมีบทบาทเป็นจุดเชื่อมประกบ ระหว่างระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางที่พาดตัดกับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตามแนวของแม่น้ำโขง ตามโครงการความร่วมมือ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ จีน เมียนมา ลาว ไทย อีกด้วย

ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง(Agreement on Commercial Navigation on Lancang-Mekong River) ที่จีน เมียนมา ลาว และไทย ได้ร่วมลงนามกันไว้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2543 และเริ่มเปิดเดินเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสาร ระหว่างท่าเรือเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ของจีน กับท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ของไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2544 นั้น ได้กำหนดให้มีท่าเรือทางการตามข้อตกลงนี้ไว้ 14 แห่ง แบ่งเป็นท่าเรือในจีน 4 แห่ง ลาว 6 แห่ง เมียนมา 2 แห่ง และไทยอีก 2 แห่ง

ปัจจุบันริมแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงกก มีท่าเรือเชียงกกซึ่งเปิดให้บริการอยู่แล้ว 1 แห่ง และเป็น 1 ใน 14 ท่าเรือทางการตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงด้วย

ตำแหน่งของศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ เป็นจุดตัดระหว่างระเบียงเศรษฐกิจแนวขวางที่มีสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว เป็นจุดเชื่อม กับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตามแนวแม่น้ำโขง

รายละเอียดเบื้องต้นของท่าเรือทั้ง 14 แห่ง ประกอบด้วย

1.ท่าเรือซือเหมา(Simao) อยู่ในเขตซือเหมา จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน เขตซือเหมาอยู่ห่างจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ทางบก 401 กิโลเมตร ส่วนท่าเรือซือเหมาอยู่ห่างจากท่าเรืองเชียงรุ่งทางแม่น้ำโขง 90 กิโลเมตร

2.ท่าเรือเชียงรุ่ง(Xinghong) ตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา เมืองเชียงรุ่งอยู่ห่างจากนครคุนหมิง ทางบก 576 กิโลเมตร ที่ตั้งท่าเรืออยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรุ่ง 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสนทางแม่น้ำโขง 380 กิโลเมตร

3.ท่าเรือเหมิ่งหาน(Menghan) ตั้งอยู่ที่เมืองหล้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เหมิ่งหานเคยเป็นเมืองท่าเก่าแก่และเป็นเมืองวัฒนธรรมของชาวไตลื้อ อยู่ห่างจากเมืองเชียงรุ่ง ทางบก 31 กิโลเมตร ตัวท่าเรือตั้งอยู่ระหว่างท่าเรือเชียงรุ่งกับท่าเรือกวนเหล่ย ถูกใช้สำหรับการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก

4.ท่าเรือกวนเหล่ย(Guanlei) ตั้งอยู่ที่เมืองหล้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา อยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสนทางแม่น้ำโขง 265 กิโลเมตร ท่าเรือกวนเหล่ยเป็นท่าเรือหลักในการค้าและขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขงระหว่างไทย เมียนมา ลาว และจีน ตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือเป็นเขตสามเหลี่ยมทองคำด้านบน เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ จีน เมียนมา และลาว ในการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือเชียงแสนทวนน้ำขึ้นไปยังท่าเรือกวนเหล่ย ใช้เวลา 3 วัน ส่วนการเดินเรือเที่ยวล่องตามน้ำ จากท่าเรือกวนเหล่ยลงมายังท่าเรือเชียงแสน ใช้เวลาเพียงวันเดียว

5.ท่าเรือบ้านซาย(Ban Sai) หรือท่าเรือหัวของ ตั้งอยู่ที่เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา เป็นท่าเรือริมแม่น้ำโขงจุดแรกของลาว

6.ท่าเรือเชียงกก(Xiengkok) ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงกก แขวงหลวงน้ำทา

7.ท่าเรือเมืองมอม(Muangmom) ตั้งอยู่ที่เมืองมอม แขวงบ่อแก้ว ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามคือท่าเรือบ้านโป่ง ของรัฐฉาน ตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือเมืองมอม เป็นจุดตรวจการผ่านแดนของเรือทุกลำในแม่น้ำโขง

8.ท่าเรือบ้านควน(Ban Khouane) ตั้งอยู่ในแขวงบ่อแก้ว

9.ท่าเรือห้วยซาย(Houaysai) ตั้งอยู่ในเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

10.ท่าเรือหลวงพระบาง(Luangprabang) ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง เป็นท่าเรือเน้นด้านการเดินทางและท่องเที่ยวเป็นหลัก

11.ท่าเรือบ้านเจียง(Wan Seng) ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน เป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากเรือในแม่น้ำโขงไปยังเขตเศรษฐกิจสำคัญภายในรัฐฉาน

12.ท่าเรือบ้านโป่ง(Wan Pong) ตั้งอยู่ที่เมืองพง จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน อยู่ตรงข้ามกับท่าเรือเมืองมอม ของลาว เป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากเรือในแม่น้ำโขงไปยังตัวเมืองท่าขี้เหล็กและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

13.ท่าเรือเชียงแสน ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเขตสามเหลี่ยมทองคำด้านใต้ พื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทย เมียนมา และลาว ท่าเรือเชียงแสนจึงเป็นท่าเรือหลักสำหรับการค้า การขนส่งสินค้า และการเดินทางท่องเที่ยว ทางแม่น้ำโขงของไทย โดยเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับจีน ปริมาณเรือและสินค้าจากเรือที่มาขึ้น-ลงยังท่าเรือเชียงแสนมีเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ขึ้น ห่างจากท่าเรือแห่งแรกไปประมาณ 6 กิโลเมตรทางแม่น้ำโขง

14.ท่าเรือเชียงของ ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นท่าเรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว และจุดขนถ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ทางแม่น้ำโขง จากประเทศไทยไปยังเมืองหลวงพระบางของลาว

ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 การค้าไทย-จีนและการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านแม่น้ำโขง ระหว่างท่าเรือกวนเหล่ยกับท่าเรือเชียงแสนเป็นไปอย่างคึกคัก ประมาณว่าแต่ละปี มูลค่าสินค้าที่ถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้สูงถึงกว่า 20,000 ล้านบาท

หลังจากโควิด-19 ระบาด ทางการจีนได้สั่งปิดท่าเรือกวนเหล่ยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าไทย-จีน และการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขง รวมถึงสร้างความแออัดอย่างมากในการจราจรและการขนส่งทางถนน ตามเส้นทางสาย 13 เหนือ และ R3a ของลาว โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน

ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ทั้งจากไทยและลาวต่างร้องขอให้หน่วยงานรัฐของตนช่วยเจรจากับทางการมณฑลยูนนานให้เปิดท่าเรือกวนเหล่ยเพื่อช่วยบรรเทาความแออัดดังกล่าว กระทั่งล่าสุด สำนักงานท่าเรือมณฑลยูนนาน ได้กลับมาเปิดให้มีการขนส่งสินค้าทางเรือที่ท่าเรือกวนเหล่ยอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2565 เป็นต้นมา

นอกจากท่าเรือทางการตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ทั้ง 14 แห่งข้างต้นแล้ว ตลอดแนวแม่น้ำโขงตั้งแต่ชายแดนจีนลงมาถึงชายแดนไทย ยังมีอีกหลายท่าเรือที่มีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งสินค้า การเดินทางและท่องเที่ยว ได้แก่ ท่าเรือสบหลวย ที่เมืองยอง จังหวัดเชียงตุง ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสน 195 กิโลเมตร , ท่าเรือเชียงลาบ ที่เมืองเชียงลาบ จังหวัดท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสน 106 กิโลเมตร และท่าเรือสามเหลี่ยมทองคำ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

……

โครงการศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือริมแม่น้ำโขงในเขตเมืองเชียงกกกับเมืองลอง ที่ลาวกำลังศึกษาเพื่อสร้างขึ้นใหม่ น่าจะเป็นการต่อยอด ช่วยให้สะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว ที่เพิ่งกลับมาเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์เชื่อมต่อการขนส่ง การเดินทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบกและทางน้ำ ของ 4 ประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ในอนาคต…

  • สะพานข้ามโขง “รัฐฉาน-ลาว” … เส้นทางการค้าทางเลือก
  • 10 ข้อเสนอรับมือคอขวด ค้าชายแดน”ลาว-จีน” ที่บ่อเต็น
  • แม่น้ำโขง … ยังคงชีวิตชีวา แม้มีทางรถไฟลาว-จีน