ThaiPublica > เกาะกระแส > บอร์ด ขสมก.บอกเลิกสัญญาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เดินหน้าเช่ารถเมล์ไฟฟ้า 1,250 คัน

บอร์ด ขสมก.บอกเลิกสัญญาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เดินหน้าเช่ารถเมล์ไฟฟ้า 1,250 คัน

27 มีนาคม 2024


บอร์ด ขสมก.ไฟเขียวบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันกับกลุ่มบริษัท ช.ทวี พร้อมเดินหน้าเช่ารถเมล์ไฟฟ้า 8 ปี 1,250 คัน วงเงินรวม 15,355 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ได้มีมติรับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน อายุสัญญา 10 ปี กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน))ที่มีบริษัท ช ทวี เป็นแกนนำ (Lead Firm) เนื่องจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่จ่ายซ่อมบำรุงให้กับบริษัทรับเหมาช่วง (Sub Contactor) จึงหยุดงานประท้วง ทำให้ ขสมก.ต้องหยุดเดินรถโดยสารปรับอากาศ NGV มาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่ง ขสมก.ได้นำรถโดยสารปรับอากาศจากเส้นทางอื่นมาวิ่งแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ขสมก.ยังมีมติเห็นชอบโครงการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV)

“คนใน ขสมก.จึงมีคำถามตามมามากมายว่าทำไมผู้บริหารของ ขสมก.ไม่เรียกบริษัทรับเหมาช่วงมาเจรจา เพื่อจ้างเหมาซ่อมโดยตรง หรือ เปิดคัดเลือกบริษัทใหม่ เข้ามารับงานซ่อมบำรุงแทน แต่กลับจอดรถทิ้งไว้ที่อู่เฉยๆ ทั้งที่รถเมล์ NGV ทั้งหมด 489 คัน ยังใช้งานได้ต่อได้อีกไม่น้อยกว่า 6 ปี ตามสัญญา ไม่ได้ชำรุดเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ซึ่งค่าเหมาซ่อมเฉลี่ยตกวันละ 1,750 บาท/คัน เหตุใดจึงใช้วิธีจัดหารถโดยสารปรับอากาศพลังงานสะอาด หรือ “รถเมล์ไฟฟ้า” มาให้บริการประชาชน” แหล่งข่าวจาก ขสมก. กล่าว

แหล่งข่าวจาก ขสมก. กล่าวต่อว่า การใช้วิธีจัดหารถเมล์ EV ใหม่ โดยวิธีการเช่า อาจทำให้ ขสมก.มีภาระขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องจ่ายค่าเช่ารถไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 บาท/คัน ขณะที่ ขสมก.มีรายได้จากการเดินรถเฉลี่ยวันละ 3,800 บาท/คัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้อาจทำให้ ขสมก.ขาดทุนเพิ่มขึ้นวันละ 1,200 บาท/คัน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าจ้างพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บเงิน คำถามต่อมา รถเมล์ NGV ทั้งหมด 489 คัน เป็นทรัพย์สินของ ขสมก.ที่ซื้อมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ต้องซ่อมบำรุง หรือ ไม่

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม.วันที่ 30 มกราคม 2567 มีมติอนุมัติแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีประจำปีงบประมารณ 2568 ของ ขสมก.วงเงินรวม 15,355.60 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) จำนวน 1,520 คัน ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 – 2575 โดยในปีงบประมาณ 2568 ขอตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่าย 368.40 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2569 ขอตั้งวังเงินงบประมาณ 2,219.20 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2570 ตั้งวงเงินงบประมาณ 2,219.20 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2571 ตั้งวงเงินงบประมาณ 2,225.28 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2572-2575 ตั้งวงเงินงบประมาณ 8,323.52 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อทดแทนรถโดยสารธรรมดาที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี โดยใช้วิธีเช่า ซึ่งรวมค่าซ่อมบำรุงรักษา พร้อมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยจะนำมาบรรจุในเส้นทางตามแผนปฏิรูปจำนวน 107 เส้นทาง ที่ขสมก.ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดตามนโยบาย Carbon Neutrality ของรัฐบาล และลดปัญหา PM 2.5 อีกทั้งยังส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นอย่างทั่วถึง ซึ่งในขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ และกำหนดร่างขอบเขตของคุณลักษณะของงาน (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

โดยในวันนั้น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีว่า ให้ ขสมก.เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการ และเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแผนขับเคลื่อนกิจการ เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินกิจการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ โดยเฉพาะในส่วนของจำนวน และประเภทรถโดยสารที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจะจัดหาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการและมีระดับการให้บริการตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด”

ส่วนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้ความเห็นว่า “ให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการดำเนินงาน และยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมาย หรือ ประชาชนจะได้รับอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปี ให้เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนด ตามนัยมติ ครม.วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 รวมทั้งจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป”

นอกจากนี้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) เป็นโครงการจัดหารถโดยวิธีการเช่า พร้อมการซ่อมแชม บำรุงรักษาและจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่ง ขสมก.ต้องจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นซอบ และอนุมัติก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น จึงเห็นควรให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย

  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ
  • ขสมก. 10 ปี ขาดทุนสะสม – หนี้ท่วมกว่า 1.3 แสนล้านบาท