ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลปกครอง สั่งถอนคดีซื้อรถเมล์ NGV ระบุ “สยาม สแตนดาร์ดฯ” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

ศาลปกครอง สั่งถอนคดีซื้อรถเมล์ NGV ระบุ “สยาม สแตนดาร์ดฯ” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

8 พฤศจิกายน 2018


เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดตัวรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) รุ่นใหม่ ณ บริเวณลานจอดรถ อาคารสำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ถนนวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Das Acs Jing Kkw

ตามที่ศาลปกครองกลาง เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 โดยสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมบำรุง จำนวน 489 คัน ระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO [บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)] เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามที่บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561

คำสั่งของศาลปกครองครั้งนั้น ทำให้กระบวนการจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก. ต้องหยุดชะงักชั่วคราว และไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่ารถเมล์ให้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้ นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ขสมก. จึงไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุด ส่วนกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ในฐานะที่ได้รับความเดือดร้อน ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 โดยศาลฯมีคำสั่งรับคำร้องของกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561

  • เปิดคำร้อง ขสมก. อุทธรณ์คำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ยันบอร์ดลงมติซื้อรถเมล์ NGV ชอบด้วย กม.
  • ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว – ระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์ 489 คัน ขสมก. เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
  • หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน หรือทุเลาการบังคับมติบอร์ด ขสมก. ที่สั่งให้ ขสมก. ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV กับ ขสมก. ไปแล้ว แต่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่ง “เพิกถอน คำสั่งรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี (บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด) ไว้พิจารณา และการดำเนินการทั้งหลายต่อจากนั้น รวมทั้งมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ” หลังจากศาลปกครองกลางได้วินิจฉัย “ประเด็นที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ ไว้พิจารณาก่อนหน้านี้ เป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่”

    ผลปรากฏว่า ในทางนิตินัย บริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่บอร์ดของ ขสมก. มีมติให้ ขสมก. เข้าทำสัญญาซื้อ-ขาย รถเมล์ NGV กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ดังนั้น กรณีที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 จึงถือเป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเสนอคำฟ้องและตรวจคำฟ้อง ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบนั้นได้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่เห็นสมควร ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งเพิกถอน ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

    ที่มาคดีนี้ เริ่มต้นจากการที่ ขสมก. ประกาศประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมบำรุง ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 โดยมีบริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ (ผู้ฟ้องคดี) เข้ามาซื้อซองประกวดราคากับ ขสมก. แต่ไม่ได้ยื่นซอง

    ต่อมา ขสมก. ประกาศยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น เพราะไม่มีผู้เข้าร่วมประกวดราคา ขสมก. จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่ จากเดิมใช้วิธี e-bidding เปลี่ยนมาใช้ “วิธีการคัดเลือก” กำหนดราคากลางไว้ที่ 4,020 ล้านบาท จากนั้น ขสมก. จึงส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมการคัดเลือก ซึ่งรวมถึงบริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ ผู้ฟ้องคดีด้วย โดยในหนังสือเชิญชวนลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 กำหนดให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เหลือเวลาจัดเตรียมเอกสารแค่ 10 วันทำการ ทำให้ทางบริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ จัดเตรียมเอกสารไม่ทัน จึงไม่ได้ยื่นข้อเสนอ แต่การจัดซื้อโดยใช้วิธีคัดเลือกครั้งนั้น ปรากฏว่ามีกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว

    ที่มาภาพ: http://www.bmta.co.th/

    จากนั้น คณะกรรมการจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก. จึงทำเรื่องเสนอที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 วันที่ 18 ธันวาคม 2560 พิจารณา โดยที่ประชุมบอร์ด ขสมก. มีมติอนุมัติให้ ขสมก. ทำสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV พร้อมระบบซ่อมบำรุงกับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ต่อมาฝ่ายบริหาร ขสมก. ได้นำมติดังกล่าวส่งให้ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ลงมติรับรองการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 และได้มีการลงนามในสัญญาซื้อรถเมล์ NGV กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560

    ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 บริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ (ผู้ฟ้องคดี) มีความเห็นว่า กรณีบอร์ด ขสมก. มีมติให้ทำสัญญากับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเพิกถอนมติบอร์ด ขสมก. ดังกล่าว และระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณาวันที่ 27 มีนาคม 2561 และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวันที่ 10 เมษายน 2561

    ในระหว่างการไต่สวน ผู้ฟ้องคดีได้ให้การต่อศาลว่า ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะให้ศาลพิพากษาหรือเพิกถอนประกาศของ ขสมก. ที่เกี่ยวกับการประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV วันที่ 4 ตุลาคม 2560 และเพิกถอนหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมประกวดราคาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แต่อย่างใด

    เมื่อศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำฟ้องช่วงท้าย ระบุ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนมติบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 กรณีอนุมัติให้ ขสมก. เข้าทำสัญญาฯ กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO และมติบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 กรณีรับรองการประชุมครั้งที่ 15/2560

    เมื่อศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงมีความเห็นว่า มติบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 และมติบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 เป็นกระบวนที่เกิดขึ้นภายหลังการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการจัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการ และการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว กรณีบอร์ด ขสมก. มีมติดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO

    ถึงแม้บริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับหนังสือเชิญชวนจาก ขสมก. แต่ก็ไม่ได้ยื่นข้อเสนอ ดังนั้น บริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ (ผู้ฟ้องคดี) จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงจากกรณีที่ ขสมก. มีมติดังกล่าว

    ส่วนกรณีที่บริษัท สยาม แสตนดาร์ดฯ (ผู้ฟ้องคดี) อ้างว่า การฟ้องคดีครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ เพราะการจัดซื้อครั้งนี้มีราคาสูงเกินจริง ทำให้ผู้เสียภาษีและรัฐเสียหายนั้น ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีสามารถไปร้องขอให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบได้ ซึ่งผู้ฟ้องก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ตามที่ระบุในคำฟ้อง

    เมื่อศาลได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วจึงมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่บอร์ด ขสมก. มีมติดังกล่าว กรณีที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง สุดท้ายจึงมีคำสั่งเพิกถอนคดี ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ