10 ปี ขสมก.ขาดทุนสะสม – หนี้ท่วมกว่า 1.3 แสนล้านบาท กระทบโครงสร้างรายได้ จากเดิมมีรายได้หลักจากการเดินรถ นำมาสู่การขอ “งบอุดหนุน” จากรัฐบาล เป็นรายได้หลัก
47 ปี หลังจากวันที่เริ่มก่อตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ‘ขสมก.’ จนถึงวันนี้ยังขาดทุนบักโกรก จนต้องขออนุมัติ ครม. กู้เงินเสริมสภาพคล่องทุกๆ ปี เพื่อชำระค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างเหมาซ่อมบำรุงรถ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายตามมา ขณะที่การจัดหารถใหม่ทดแทนรถเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ไม่ว่าจะเป็นการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และการจ้างเอกชนมาเดินรถอีก 1,500 คัน ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ขสมก.ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ฐานะการเงินของ ขสมก. จึงยังอยู่ในอาการหนักต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลใน รายงานประจำของ ขสมก. ปี 2564 พบว่า ยอดขาดทุนสะสมและหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปีงบประมาณ 2555 ผลประกอบการของ ขสมก. มียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 85,529 ล้านบาท ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2564 ยอดขาดทุนสะสม 133,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47,760 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.84% ส่วนหนี้สินในปีงบประมาณ 2555 มียอดรวมอยู่ที่ 81,928 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เป็น 132,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,414 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.53%
ทำไมหนี้ท่วม? เปลี่ยน!จาก ‘รายได้เดินรถ’ สู่ขอ ‘งบอุดหนุน’ เป็นรายได้หลัก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขสมก. มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในระดับ 7,796 ล้านบาท/ปี แต่ถ้าไปดูรายละเอียดของโครงสร้างรายได้จะมีประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในช่วง 6 ปีแรก ขสมก. มีรายได้จากการเดินรถเป็นรายได้หลัก แต่พอมาถึงช่วง 4 ปีหลัง ปรากฏว่ารายได้จากการเดินรถมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากปีงบประมาณ 2561 พบว่า ขสมก. มีรายได้จากการเดินรถลดลงมาเหลือ 4,512 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีรายได้จากการเดินรถ 6,982 ล้านบาท รายได้ส่วนนี้ลดลงไป 2,469 ล้านบาท หรือ ลดลง 35% ปีงบประมาณ 2562 มีรายได้จากการเดินรถ 4,573 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงมาเหลือ 3,799 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ลดลงมาเหลือ 2,518 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนในช่วง 4 ปีหลัง พบว่า ขสมก. มีรายได้จากเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ขสมก. มีรายได้จากเงินอุดหนุน 2,259 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียง 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,450 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 179% , ปีงบประมาณ 2562 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2,252 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2563 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาท 4,476 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 5,063 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65.37% ของรายได้รวม 7,745 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการเดินรถอยู่ที่ 2,518 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.51% ของรายได้รวม และรายได้อื่นๆ อีก 164 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.12% ของรายได้รวมในปีนี้ รวม 10 ปี รัฐบาลจัดงบอุดหนุนให้ ขสมก. ไป 18,408 ล้านบาท นี่คือสถานการณ์รายได้ของ ขสมก.
อ่านเพิ่มเติม 10 ปี ขสมก. แก้แบบไหน? ทำไมเหลือแต่ซาก-หนี้ท่วมแสนล้าน!!