ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลปกครองไต่สวนคดีขอคุ้มครองชั่วคราวซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 11 ชม.- ระบุกรรมการรับรองมติอนุมัติซื้อรถ 489 คันแค่ 2 เสียง ไม่รับรอง 3 งดออกเสียง 1

ศาลปกครองไต่สวนคดีขอคุ้มครองชั่วคราวซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 11 ชม.- ระบุกรรมการรับรองมติอนุมัติซื้อรถ 489 คันแค่ 2 เสียง ไม่รับรอง 3 งดออกเสียง 1

5 เมษายน 2018


มหากาพย์โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน พร้อมระบบซ่อมบำรุงรักษาวงเงิน 4,260 ล้านบาท ยังวุ่นไม่เลิก หลังจากศาลปกครองกลางรับคำฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวไว้พิจารณาใน คดีหมายเลขดำที่ 709/2561 ระหว่างบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองกลางตรวจสอบการลงมติของคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) กรณีคัดเลือกกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO [บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)] เข้าทำสัญญากับ ขสมก. นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติบอร์ด ขสมก. และในระหว่างที่ศาลกำลังตรวจสอบการลงมติดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลสั่ง ขสมก. ระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV ไว้ก่อน จนกว่าศาลตรวจสอบการลงมติของบอร์ด ขสมก. แล้วเสร็จ และมีคำพิพากษาในคดีนี้

วันที่ 22 มีนาคม 2561 ศาลปกครองกลางออกหมายเรียกครั้งที่ 1 นัดคู่ความมาไต่สวน ชั้น 2 ห้องไต่สวน 1 ศาลปกครองกลางในวันที่ 26 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 น. ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดี คือ ขสมก. ไม่มา

ศาลปกครองกลาง ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2561 ส่งถึงบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก. ทั้ง 9 คน มาให้ถ้อยคำต่อศาลในฐานะพยาน วันที่ 3 เมษายน 2561 เวลา 14.30 น. ห้องไต่สวน 1 ชั้น 2 ศาลปกครองกลาง

ถึงกำหนดเวลานัดหมาย ทีมทนายความของบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี, เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ ขสมก. ผู้ถูกฟ้องคดี และคณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก. เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อศาลในฐานะพยาน (ไม่ใช่ผู้ถูกฟ้อง) มี 4 คน ได้แก่ รศ.คณิต วัฒนวิเชียร, รศ.พัชรา พัชราวนิช, พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ส่วนกรรมการที่เหลืออีก 6 คน ไม่มาให้ถ้อยคำต่อศาล ได้แก่ นายณัฐชาติ จารุจินดา, พล.อ. วราห์ บุญญะสิทธิ์, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, นายสมศักดิ์ ห่มม่วง, รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ และนายชัยชนะ มิตรพันธ์

ก่อนไต่สวน ศาลจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลส่งจดหมายถึงคณะกรรมการบริหารองค์การของ ขสมก. ทั้ง 6 คน ที่ไม่มาพบศาล โดยขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่มาพบศาล พร้อมหลักฐาน ส่งให้ศาลพิจารณาภายใน 3 วัน

เริ่มกระบวนการไต่สวนเวลา 14.30 น.ถึง 01.10 น. ศาลปกครองกลางใช้เวลาไต่สวนผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี และพยานบุคคล 4 ปาก เกือบ 11 ชั่วโมง โดยให้ผู้ฟ้องคดีแถลงต่อศาลถึงสาเหตุความจำเป็นที่มาขอให้ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราวและตรวจสอบการลงมติของบอร์ด ขสมก. กรณีอนุมัติให้ ขสมก. ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยผู้ฟ้องคดี ได้อ้างถึงรายงานการถอดเทปที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 และการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงต่อสื่อมวลชน โดยผู้ฟ้องคดีก็ได้รับทราบเอกสารนี้จากสื่อมวลชน และเมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าได้ว่า การประชุมบอร์ด ขสมก. ทั้ง 2 ครั้ง บอร์ด ขสมก. ยังไม่ได้มีการลงมติ ให้ทำสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV โดยเฉพาะในการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 วันที่ 20 ธันวาคม 2560 มีการสรุปรายงานการประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 ส่งให้ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. รับรอง การประชุมครั้งนั้นมีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 6 คน ปรากฏว่ามีกรรมการไม่รับรองรายงานการประชุม 3 คน รับรองรายงานการประชุม 2 คน และงดออกเสียง 1 คน ทางผู้ฟ้องคดีจึงนำหลักฐานรายงานทอดเทปการประชุมบอร์ด ขสมก. ทั้ง 2 ครั้งที่ได้รับจากสื่อมวลชนมามอบให้ศาล เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดี

จากนั้นศาลปกครองกลางได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ ขสมก. ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงต่อศาล ยืนยันตามที่ ขสมก. เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 9 คน ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น แต่สุดท้ายก็ไม่มีกรรมการคนใดคัดค้าน ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของ ขสมก. หากไม่มีกรรมการยกมือคัดค้าน หรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ถือว่าเห็นชอบให้ทำสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV แล้ว

ส่วนการประชุมครั้งที่ 16/2560 เพื่อรับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว มีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 6 คน รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 15/2560 จำนวน 3 คน ไม่รับรอง 3 คน ในจำนวนนี้มีกรรมการ 1 คน ไปบอกเจ้าหน้าที่ ขสมก. ว่าตนของดออกเสียง หลังปิดการประชุมแล้ว ซึ่งรายละเอียดอยู่ในเอกสารรายงานการประชุม และรายงานการทอดเทปที่ประชุมบอร์ด ขสมก. อย่างเป็นทางการทั้ง 2 ครั้ง ที่ ขสมก. ได้มอบให้ศาลไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี

ระหว่างที่คู่ความชี้แจงนั้น ศาลได้ให้ผู้ฟ้องคดี แถลงถึงเหตุผลความจำเป็น ที่ต้องมาขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับตามสัญญาฯ เอาไว้ก่อน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ขณะนี้ ขสมก. ยังไม่ได้ตรวจรับรถ หากรอให้ศาลมีคำพิพากษาต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะทำให้สัญญาซ่อมบำรุงจะมีผลผูกพันถึง 10 ปี ทำให้ ขสมก. เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น อาจเป็นการยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ปัจจุบัน ขสมก. มีรถเมล์ที่จะให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับตามสัญญาฯ ผู้ฟ้องคดี เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ขสมก. ชี้แจงประเด็นนี้ต่อศาลว่า หากศาลมีคำสั่งทุเลาหรือคุ้มครองชั่วคราวการดำเนินการตามมติบอร์ดของ ขสมก. จะทำให้การบริการของ ขสมก. ต่อสาธารณะมีปัญหาอุปสรรค และเกิดความเสียหายต่อ ขสมก. เนื่องจาก ขสมก. ได้ลงนามในสัญญาซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ซึ่งมีผลผูกพันไปแล้ว กำหนดส่งมอบรถภายใน 180 วัน นับจากวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีการลงนามในสัญญา และคู่สัญญาได้นำรถลอตแรก 100 คัน มาส่งมอบให้ ขสมก. แล้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ตามสัญญาฯ ขสมก. ต้องจ่ายเงินให้คู่สัญญาภายใน 30 วัน นับจากวันที่ส่งมอบรถ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการอนุมัติจ่าย หากศาลมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการตามสัญญาหรือทุเลา ทาง ขสมก. อาจถูกคู่สัญญาฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาได้

เจ้าหน้าที่ ขสมก. ชี้แจงต่อว่า หากศาลไม่ออกคำสั่งทุเลาหรือคุ้มครองชั่วคราว ผู้ฟ้องคดีก็ไม่เดือดร้อนหรือได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ฟ้องได้นำประเด็นเรื่องการลงมติของบอร์ด ขสมก. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารแล้ว และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพราะจะเกิดความเสียหายต่อ ขสมก.

จากนั้นศาลปกครองได้ไต่สวนกรรมการ ขสมก. ทั้ง 4 คนที่มาให้ถ้อยคำต่อศาลในชั้นของการไต่สวน โดยกรรมการทั้ง 4 คน ให้การต่อศาลว่า การประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 วันที่ 20 ธันวาคม 2560 มีกรรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 6 คน มีกรรมการคัดค้านไม่รับรองรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 วันที่ 18 ธันวาคม 2560 โดยแสดงออกอย่างชัดเจนจำนวน 3 คน และยืนยันว่ามีกรรมการ 1 คน งดออกเสียง ก่อนปิดการประชุม ส่วนกรรมการ ขสมก. ที่เหลืออีก 2 คนนั้น ในจำนวนนี้มี 1 คน แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเห็นชอบกับรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ส่วนกรรมการอีก 1 คน ไม่ได้มีความเห็นคัดค้าน ตามประเพณีปฏิบัติในการประชุมบอร์ดของ ขสมก. อาจถือได้ว่าเห็นชอบหรือรับรองรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ส่วนการลงมติอนุมัติให้ ขสมก. ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 9 คน ช่วงที่มีลงมติอนุมัติจัดซื้อรถเมล์ NGV มีกรรมการ 1 คน เดินออกไปรับโทรศัพท์ที่หน้าห้องประชุม 1 ชั้น 5 สำนักงานใหญ่ ขสมก.

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ศาลกำลังจัดเตรียมเอกสารสรุปสำนวนคดี ทางผู้บริหาร ขสมก. ได้แจ้งต่อศาลว่า ปัจจุบันมีกรรมการ ขสมก. ได้ยื่นหนังสือลาออกและมีผลบังคับแล้ว 6 คน คงเหลือกรรมการที่ยังไม่ลาออกจำนวน 4 คน หลังจากนั้นศาลได้ให้เจ้าหน้าที่ศาลพิมพ์สรุปสำนวนคดี ให้คู่ความและพยานตรวจสอบบันทึกถ้อยคำเรียบร้อยแล้ว ศาลปกครองกลางได้กล่าวปิดการพิจารณาคดีในเวลา 01.10 น. โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้กรรมการ ขสมก. ที่ไม่มาพบศาลตามหมายเรียกจำนวน 6 คน ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลต่อศาลพร้อมหลักฐานภายใน 3 วัน